xs
xsm
sm
md
lg

รัสเซียสอย‘โดรนยูเครน’ที่แอบเข้ามา ตกใกล้ๆ ฐานทัพอากาศสำคัญ ขณะเคียฟโวยถูกจรวดหมีขาวถล่มเมืองต่างๆทั่วปท.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ทหารยูเครนติดตามดูภาพที่ส่งมาจากโดรนลำหนึ่ง จากศูนย์บัญชาการใต้ดินซึ่งตั้งอยู่ในเมืองบัคมุต แคว้นโดเนตสก์ เมือวันอาทิตย์ (25 ธ.ค.)  ทั้งนี้ บัคมุต เป็นสมรภูมิที่ฝ่ายยูเครนกับฝ่ายรัสเซียสู้รบกันมายาวนาน
มอสโกแถลงในวันจันทร์ (26 ธ.ค.) ว่า กองกำลังของตนยิงโดรนยูเครนลำหนึ่งตก ในพื้นที่ติดกับฐานทัพที่ตั้งอยู่ลึกเข้าไปในรัสเซีย และมีเครื่องบินทิ้งระเบิดพิสัยไกลประจำการอยู่ ขณะเดียวกัน ยูเครนระบุว่าฝ่ายรัสเซียใช้จรวดและปืนใหญ่ถล่มอย่างหนักใส่เมืองต่างๆ ของตนในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา

สำนักข่าวท้องถิ่นของรัสเซียรายงานว่า ฐานทัพอากาศเองเกลส์ ใกล้เมืองซาราตอฟ ที่อยู่ห่างจากมอสโกทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 730 กิโลเมตร และห่างจากแนวรบในยูเครนหลายร้อยกิโลเมตร ถูกโจมตีเป็นครั้งที่ 2 ในเดือนนี้เมื่อวันจันทร์ โดยครั้งแรกนั้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ที่ยูเครนส่งโดรนโจมตีฐานทัพ 2 แห่งของรัสเซียในวันเดียวกัน ทั้งนี้ฐานทัพอากาศเองเกลส์ มีฝูงเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์พิสัยไกลของแดนหมีขาวประจำการอยู่

ด้านกระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุในคำแถลงว่า โดรนที่ล่วงล้ำเข้ามาโจมตี ถูกสอยตกลงมาใกล้ๆ ฐานทัพ และมีบุคลากรของกองทัพอากาศ 3 คนเสียชีวิตจากซากโดรนที่ตกลงมา ทว่าไม่มีเครื่องบินได้รับความเสียหาย

ขณะที่มีบัญชีโซเชียลมีเดียทั้งของรัสเซียและของยูเครนอ้างว่า มีเครื่องบินจำนวนหนึ่งถูกทำลายเสียหาย แต่สำนักข่าวรอยเตอร์ซึ่งรายงานข่าวนี้บอกว่า ไม่สามารถพิสูจน์ยืนยันอย่างเป็นอิสะว่าข่าวนี้จริงหรือไม่

ก่อนหน้านั้น ในวันอาทิตย์ (25) ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ประกาศอีกครั้งว่า รัสเซียเปิดกว้างสำหรับการเจรจา แต่ยูเครนและพันธมิตรตะวันตกต่างหากที่ไม่ยอมเข้าร่วม

ทว่า วอชิงตันโต้แย้งตั้งแต่ก่อนหน้านี้ว่า มอสโกไม่ได้มีเจตนาเจรจาจริงเนื่องจากยังคงโจมตียูเครนไม่หยุดหย่อน

มิกไคโล โปโดลยัค ที่ปรึกษาประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ ของยูเครน คัดค้านเช่นเดียวกันว่า การโจมตีฝ่ายเดียวและสังหารพลเรือนยูเครนของรัสเซียฟ้องว่า รัสเซียไม่ได้อยากเจรจาแต่พยายามหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ

ด้านเซเลนสกี้สำทับว่า การที่รัสเซียโจมตีโรงไฟฟ้าและทำให้ชาวยูเครนนับล้านไม่มีไฟฟ้าใช้แสดงให้เห็นว่า มอสโกต้องการให้ยูเครนส่งท้ายปี 2022 ด้วยความมืดมิดและยากลำบาก

ในตอนเช้าวันจันทร์ (26) กองทัพยูเครนแถลงว่า ฝ่ายรัสเซียระดมยิงจรวดถล่มเมืองนับสิบแห่งในแคว้นลูฮันสก์ โดเนตสก์ คาร์คีฟ เคียร์ซอน และซาโปริซเซียในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา โดยกองกำลังยูเครนก็ได้โจมตีเป้าหมายของรัสเซียกว่า 20 จุด

ทางฝั่งกระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุเมื่อวันอาทิตย์ว่า รัสเซียได้สังหารทหารยูเครนราว 60 นายในวันเสาร์ (24) ในบริเวณเส้นแบ่งเขต คูเปียนสก์-ลีมาน และทำลายอาวุธจำนวนมากของยูเครน

เครมลินประกาศว่า จะรบจนกว่าจะได้ดินแดนที่ตั้งเป้าไว้ทั้งหมด ขณะที่เคียฟลั่นวาจาจะไม่ยอมแพ้จนกว่าจะขับไล่ทหารรัสเซียทุกนายออกจากยูเครนสำเร็จ

ระหว่างการให้สัมภาษณ์ในวันอาทิตย์ เมื่อถูกถามว่า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กับตะวันตกมาถึงระดับที่อันตรายแล้วหรือไม่ ปูตินตอบว่า เขาไม่คิดแบบนั้น

ประมุขวังเครมลินยังกล่าวหาว่า ศัตรูทางภูมิรัฐศาสตร์พยายามแบ่งแยกและครอบครองรัสเซียที่เป็นมาในประวัติศาสตร์ ซึ่งหมายถึงแนวคิดที่ระบุว่า คนรัสเซียและยูเครนเป็นชาติเดียวกัน ดังนั้นจึงเป็นความชอบธรรมที่มอสโกรุกรานยูเครน

ปูตินประกาศว่า รัสเซียเดินมาถูกทางแล้วเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติและประชาชน

ผู้นำรัสเซียยังย้ำว่า ไม่ได้เกรงกลัวระบบต่อสู้ขีปนาวุธ แพทริออต ที่อเมริกาเตรียมส่งมอบให้ยูเครน และจะทำลายทิ้งทั้งหมด

ขณะเดียวกัน ลิโอนิด คาซินสกี้ เจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงกลาโหมเบลารุส โพสต์บนเทเลแกรมเมื่อวันอาทิตย์ว่า อิสกันเดอร์ ระบบขีปนาวุธทางยุทธวิธีของรัสเซียที่สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ และระบบป้องกันภัยทางอากาศ เอส-400 ได้รับการติดตั้งในเบลารุสแล้วและได้รับการเตรียมพร้อมเต็มที่สำหรับปฏิบัติการเพื่อวัตถุประสงค์ที่ต้องการ นอกจากนั้นทหารเบลารุสยังได้รับการฝึกฝนให้ใช้อาวุธเหล่านี้แล้วเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดี ไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า มีการติดตั้งระบบอิสกันเดอร์ในเบลารุสจำนวนเท่าใด

ระบบอิสกันเดอร์-เอ็ม ซึ่งเป็นระบบขีปนาวุธแบบทิ้งตัว ที่สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างคล่องตัว ถูกใช้แทนจรวดสกั๊ด รุ่นเก่าสมัยโซเวียต โดยมีระยะโจมตีไกลถึง 500 กิโลเมตร และสามารถติดตั้งหัวรบทั่วไปหรือหัวรบนิวเคลียร์ได้

ส่วนระบบเอส-400 เป็นระบบสกัดขีปนาวุธจากพื้นผิวสู่อากาศ ซึ่งเคลื่อนที่ได้อย่างคล่องตัว สามารถจัดการเครื่องบิน โดรน ขีปนาวุธร่อน รวมทั้งมีสมรรถนะในการต่อสู้กับขีปนาวุธทิ้งตัวที่อยู่ในระยะดำดิ่งพุ่งเข้าสู่เป้าหมายภายหลังจากกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก หรือที่เรียกว่า ระยะ terminal

ทั้งนี้ ปูตินเพิ่งเดินทางเยือนเบลารุสเมื่อวันที่ 19 ที่ผ่านมา ทำให้มีการคาดเดากันว่า ผู้นำรัสเซียอาจกดดันให้เบลารุสร่วมการโจมตีครั้งใหม่ในการรุกรานยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ

ก่อนหน้านี้ กองกำลังรัสเซียใช้เบลารุสเป็นฐานโจมตีกรุงเคียฟในเดือนกุมภาพันธ์ และช่วงหลายเดือนมานี้สองประเทศทำกิจกรรมทางทหารร่วมกันอย่างคึกคัก

(ที่มา: รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น