(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
China criticizes US for blacklisting more chip firms
By JEFF PAO
17/12/2022
มีรายงานว่า เนเธอร์แลนด์ได้ยินยอมเห็นพ้องในหลักการที่จะเข้าร่วมการควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีให้แก่จีน ซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นหัวเรือใหญ่ในเรื่องนี้ ทว่า บริษัท ASML ผู้นำอันดับหนึ่งของโลกทางด้านเครื่องจักร lithography ที่มีความสำคัญมากในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับล้ำยุค บอกว่าตนเองได้เสียสละมามากพอแล้ว
รัฐบาลจีนวิพากษ์วิจารณ์อย่างขุ่นเคืองเรื่องที่สหรัฐฯ เพิ่มรายชื่อบริษัทเซมิคอนดักเตอร์จีน 36 แห่งเข้าไปในบัญชีดำ “entity list” ของอเมริกา “ซึ่งจะจำกัดบริษัทเหล่านี้ในการซื้อหาสินค้าและบริการต่างๆ ของอเมริกัน”
ตามคำแถลงของสำนักงานอุตสาหกรรมและความมั่นคง (Bureau of Industry and Security หรือ BIS) แห่งกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ บริษัทจีนที่ถูกแซงก์ชันรอบล่าสุดนี้ รวมถึงบริษัทแยงซี เมโมรี เทคโนโลจีส์ คอมพานี (Yangtze Memory Technologies Co หรือ YMTC) ที่เป็นผู้ผลิตชิปความจำแบบ NAND flash รายใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก และบริษัท แคมบริคอน เทคโนโลจีส์ (Cambricon Technologies) บริษัทสตาร์ทอัปซึ่งดำเนินกิจการด้านชิปปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence chip)
ทางด้านกระทรวงการต่างประเทศของจีนแถลงตอบโต้ว่า จีนจะป้องกันสิทธิและผลประโยชน์อันชอบด้วยกฎหมายของทางบริษัทจีนและสถาบันของจีนอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ ขณะที่พวกเจ้าหน้าที่หลายรายพูดว่า จีนกับสหภาพยุโรปควรที่จะจับมือกันคัดค้านความเคลื่อนไหวใดๆ ซึ่งมุ่งส่งเสริมให้มีการหย่าร้างแยกขาดห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนพฤติการณ์แบบลัทธิกีดกันการค้า ที่อ้างว่าเป็นการพิทักษ์ป้องกันความมั่นคงแห่งชาติ
พวกนักวิจารณ์ให้ความเห็นผ่านสื่อ (คอมเมนเตเตอร์) ชาวจีนบางรายบอกว่า ประชาชนไม่ควรวิตกกังวลจนเกินไปเกี่ยวกับการแซงก์ชันของสหรัฐฯ ซึ่งจะไม่อาจสร้างความเสียหายให้แก่จีน ตราบเท่าที่แดนมังกรยังคงสามารถผลิตชิปขนาด 28 นาโนเมตรได้ด้วยตนเอง แต่มีนักวิเคราะห์บางรายเตือนว่า พวกผู้ผลิตชิปของจีนจะเหมือนถูกตีกระหน่ำใส่อย่างรุนแรงทีเดียว ถ้าหากเอเอสเอ็มแอล (ASML) ผู้ผลิตเครื่องจักรทำชิปสัญชาติดัตช์ ถูกสั่งห้ามไม่ให้ขายเครื่องพิมพ์ lithography รุ่นที่ใช้เทคโนโลยี deep ultraviolet (DUV) ซึ่งอันที่จริงถือเป็นเทคโนโลยีรุ่นเก่าแล้วให้แก่พวกบริษัทจีนเหล่านี้
ก่อนหน้านี้ ภายหลังจาก YMTC และบริษัท ตลอดจนสถาบันของจีนแห่งอื่นๆ อีก 30 แห่ง ซึ่งมีทั้งพวกบริษัททำชิป กิจการเทคโนโลยีชีวภาพ ตลอดนมหาวิทยาลัยหลายรายถูก BIS ใส่ชื่อเข้าไปในบัญชี “รายชื่อกิจการและหน่วยงานที่ไม่สามารถตรวจสอบยืนยันได้” (unverified list) เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา มีรายงานว่าผู้ถูกขึ้นบัญชีบางรายใช้วิธีการเป็นฝ่ายริเริ่มเชื้อเชิญให้ทางเจ้าหน้าที่การค้าสหรัฐฯ มาตรวจสอบสายการผลิตของพวกเขา ในความพยายามที่จะเคลียร์เพื่อให้ถอนชื่อของพวกเขาออกจากบัญชีดังกล่าวนี้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://public-inspection.federalregister.gov/2022-21714.pdf)
ต่อมา ในวันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม BIS แถลงว่ากำลังดำเนินการถอนชื่อของกิจการและหน่วยงานจีน 25 แห่งออกไปจากบัญชี unverified list เนื่องจากสามารถดำเนินการตรวจสอบผู้ใช้ปลายทางได้อย่างสมบูรณ์น่าพอใจ ตลอดจนได้ดำเนินการพิสูจน์ยืนยันความสุจริตใจของกิจการและหน่วยงานเหล่านี้ โดยรวมไปถึงความร่วมมือที่พวกเขามีอยู่กับรัฐบาลจีนด้วย
อย่างไรก็ตาม BIS ได้เพิ่มชื่อกิจการของจีน 36 แห่งเข้าไปในบัญชีดำ “entity list” ซึ่งมีข้อกำหนดว่า พวกที่อยู่ในบัญชีดำนี้หากต้องการจะซื้อหาเข้าถึงสินค้าโภคภัณฑ์ ซอฟต์แวร์ และเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งมีอเมริกันเกี่ยวข้องอยู่ด้วยแล้ว จะต้องยื่นขอใบอนุญาตเป็นกรณีไป โดยที่ในทางปฏิบัติจะมีการพิจารณาอนุมัติใบอนุญาตกันอย่างเข้มงวด จึงเท่ากับเป็นการจำกัดไม่ให้กิจการและหน่วยงานเหล่านี้สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการของอเมริกันนั่นเอง
BIS ระบุว่า YMTC และบริษัทเซี่ยงไฮ้ ไมโคร อิเล็กทรอนิกส์ อีควิปเมนต์ (กรุ๊ป) จำกัด (Shanghai Micro Electronics Equipment (Group) Co Ltd) ถูกย้ายจากบัญชี unverified list มายังบัญชีดำ entity list เนื่องจากพวกเขาทำท่าจะสร้างความเสี่ยงขึ้นมาอย่างสำคัญจากการเข้าเกี่ยวข้องในกิจกรรมต่างๆ ที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์ด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือผลประโยชน์ด้านนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ คำแถลงนี้บอกว่าการเปลี่ยนแปลงคราวนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่รัฐบาลจีนมีการปฏิบัติการเพื่อมุ่งขัดขวางไม่ให้ดำเนินการตรวจเช็กผู้ใช้ปลายทางจนเสร็จสิ้นสมบูรณ์
คำแถลงยังกล่าวหา YMTC บริษัทแยงซี เมโมรี เทคโนโลยีส์ (ญี่ปุ่น) อิงค์ (Yangtze Memory Technologies (Japan) Inc) และบริษัทเหอเฟย คอร์ สตอเรจ อิเล็กทรอนิกส์ จำกัด (Hefei Core Storage Electronic Ltd) ว่า กำลังจัดหาจัดส่งผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้แก่กิจการและหน่วยงานที่มีชื่ออยู่ในบัญชีดำ entity list ตลอดจนให้แก่บริษัทที่โดนแซงก์ชั่นไปแล้ว อย่าง หัวเว่ย เทคโนโลจีส์ และ หางโจว ฮิควิชั่น ดิจิตอล เทคโนโลยี (Hangzhou Hikvision Digital Technology)
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://public-inspection.federalregister.gov/2022-27151.pdf?utm_source=federalregister.gov&utm_medium=email&utm_campaign=pi+subscription+mailing+list)
“กฎต่างๆ ที่ประกาศในวันนี้ เป็นการเพิ่มพูนความพยายามของคณะบริหารไบเดนในการปฏิเสธไม่ให้สาธารณรัฐประชาชนจีนสามารถเข้าถึงพวกเทคโนโลยีก้าวหน้า เพื่อการปรับปรุงการทหารให้ทันสมัยของพวกเขา และเพื่อการล่วงละเมิดทางด้านสิทธิมนุษยชนของพวกเขา” เป็นคำกล่าวของ เธีย ดวอช รอซแมน เคนด์เลอร์ (Thea Dwosh Rozman Kendler) ผู้ช่วยรัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ ฝ่ายบริหารการส่งออก
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://public-inspection.federalregister.gov/2022-21714.pdf)
นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา รัฐสภาสหรัฐฯ ยังผ่านร่างกฎหมายฉบับหนึ่งซึ่งจะขัดขวางไม่ให้รัฐบาลสหรัฐฯ สามารถซื้อหาหรือใช้เซมิคอนดักเตอร์ที่ผลิตโดย YMTC, SMIC (Semiconductor Manufacturing International Corporation เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์เปอเรชั่น) และฉางซิน เมโมรี เทคโนโลยีส์ (ChangXin Memory Technologies) ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีความเชื่อมโยงกับองค์การด้านความมั่นคงและข่าวกรองแห่งรัฐของจีน
ทางด้าน หวัง เหวินปิน (Wang Wenbin) โฆษกผู้หนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศจีน แถลงว่า “สหรัฐฯ กำลังพยายามขยายแนวความคิดในเรื่องความมั่นคงแห่งชาติให้ครอบคลุมเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเข้าเกี่ยวข้องพัวพันกับการปฏิบัติอย่างมุ่งแบ่งแยกกีดกัน และไม่เป็นธรรม เพื่อเล่นงานวิสาหกิจต่างๆ ของประเทศอื่นๆ และทำให้ประเด็นปัญหาทางเศรษฐกิจและทางวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี กลายเป็นประเด็นปัญหาทางการเมือง ตลอดจนนำมาใช้เป็นอาวุธของตน” เขาบอกว่า “นี่คือการใช้อำนาจบังคับในทางเศรษฐกิจและการข่มเหงรังแกในทางเศรษฐกิจอย่างโจ่งแจ้งในปริมณฑลทางเทคโนโลยี”
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม กระทรวงพาณิชย์ของจีนบอกว่า ได้ยื่นคำร้องเรียนด้านการค้าไปที่องค์การการค้าโลก (WTO) แล้ว เพื่อคัดค้านมาตรการควบคุมการส่งออกชิปของทางการสหรัฐฯ
ในส่วนของภาคเอกชนจีน คอมเมนเตเตอร์ที่ตั้งฐานอยู่ในมณฑลเจียงซูผู้หนึ่ง ได้เขียนบทความเผยแพร่เมื่อวันที่ 12 ธันวาคมว่า YMTC และฉางซิน เมโมรี เทคโนโลจีส์ ถูกแซงก์ชัน เนื่องจากสหรัฐฯ วิตกกังวลที่เห็นการเติบโตขยายตัวอย่างแข็งแรง ตลอดจนความสามารถในการทะลุทะลวงทางเทคโนโลยีของพวกเขาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักวิจารณ์ให้ความเห็นผ่านสื่อผู้นี้บอกด้วยว่า ถึงแม้บริษัททั้งสองอาจจะสูญเสียลูกค้าจำนวนหนึ่งจากการที่พวกเขาถูกสหรัฐฯ แซงก์ชัน แต่พวกเขาก็จะสามารถอยู่รอด และยังคงเติบโตต่อไปได้ในระยะยาวไกล
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://tech.ifeng.com/c/8LgUWQcmKYL)
เมื่อเดือนกรกฎาคม สหรัฐฯ ออกคำสั่งห้ามพวกผู้ผลิตเครื่องจักรอุปกรณ์ทำชิปของสหรัฐฯ เอง เป็นต้นว่า เคแอลเอ คอร์ป (KLA Corp) แลม รีเสิร์ช คอร์ป (Lam Research Corp) และแอปพลายด์ แมตทีเรียลส์ อิงค์ (Applied Materials Inc) ไม่ให้จัดส่งพวกเครื่องจักรอุปกรณ์ในการทำชิปขนาด 14 นาโนเมตร หรือเล็กกว่านั้นไปให้บริษัทจีน
หลี่ ชี่ (Li Qi) คอลัมนิสต์ชาวจีนผู้หนึ่งกล่าวว่า ผลกระทบในทางลบของมาตรการแซงก์ชันของสหรัฐฯ ที่มุ่งเล่นงานกิจการด้านชิปของจีนนั้นเป็นสิ่งที่สามารถรับมือได้ เนื่องจากยักษ์ใหญ่ด้านชิป อย่างเช่น SMIC อันที่จริงก็ไม่ได้รับออเดอร์สั่งซื้อชิปที่มีขนาดตั้งแต่ 14 นาโนเมตรลงมาอยู่แล้ว เขาบอกอีกว่าพวกบริษัทของจีนจะไม่ได้รับความกระทบกระเทือนจากการแซงก์ชันใดๆ ในทันทีที่พวกเขาสามารถทำชิปขนาด 28 นาโนเมตรได้ด้วยตนเองอย่างสมบูรณ์แบบ
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://zhuanlan.zhihu.com/p/575897153)
ขณะที่ แอนดรูว์ หว่อง (Andrew Wong) ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทอานลี่ โฮลดิงส์ (Anli Holdings) โดยที่ตัวเขาเองยังเป็นนักวิเคราะห์หุ้นอีกด้วย กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า เทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ของจีนยังกำลังตามหลังของสหรัฐฯ และยุโรปอยู่ราว 5-10 ปี หว่องบอกว่ามันจะเป็นการฟาดกระหน่ำอย่างหนักหน่วงยิ่งใส่พวกกิจการชิปจีน ถ้าหากพวกเขาไม่สามารถซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์ระดับใช้เทคโนโลยี DUV เพิ่มมากขึ้นอีกจากบริษัท ASML เนื่องจากจะต้องใช้เวลาถึงราว 1 ทศวรรษทีเดียวกว่าที่จีนจะสามารถสร้างเครื่อง lithography ระดับนี้ด้วยตัวเองได้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://column.etnetchina.com.cn/column-list-EtnetcolB268/102989.htm)
มีรายงานหลายชิ้นทางสื่อมวลชนว่า รัฐบาลจีนกำลังจะใช้จ่ายงบประมาณจำนวน 1 ล้านล้านหยวน (143,000 ล้านดอลลาร์) ซึ่งหลักๆ แล้วจะอยู่ในรูปของมาตการอุดหนุนและการให้ประโยชน์ทางภาษี เพื่อสนับสนุนพวกบริษัทที่สามารถพัฒนา หรือผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของตนเองได้ในช่วงเวลา 5 ปีข้างหน้า
ขณะที่เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม มีรายงานข่าวว่า ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์ได้ตกลงเห็นชอบในหลักการที่จะเข้าร่วมใช้มาตรการควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีที่มีสหรัฐฯ เป็นหัวเรือใหญ่ อย่างไรก็ดี ปีเตอร์ เวนนิงค์ (Peter Wennink) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ ASML บอกกับ NRC ที่เป็นหนังสือพิมพ์ในเนเธอร์แลนด์ว่า บริษัทของเขาได้สูญเสียมากพอแล้วจากพวกข้อจำกัดต่างๆ ที่นำออกมาบังคับใช้กันก่อนหน้านี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศจีนของบริษัท โดยรวมถึงการสั่งห้ามส่งออกเครื่องจักร lithography รุ่นที่ใช้เทคโนโลยี extreme ultraviolet หรือ EUV ซึ่งเป็นเทคโนโลยีรุ่นที่ก้าวหน้าล้ำยุคที่สุด
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bnnbloomberg.ca/asml-s-ceo-pushes-back-on-further-export-restrictions-to-china-1.1859197#:~:text=(Bloomberg)%20%2D%2D%20Dutch%20chip%2D,Executive%20Officer%20Peter%20Wennink%20said.)
ฟู่ ชง (Fu Cong) เอกอัครราชทูตจีนประจำสหภาพยุโรป กล่าวในการประชุมแบบเสมือนจริงของรายการสนทนากับซีอีโอและอดีตเจ้าหน้าที่อาวุโส จีน-อียู (China-EU CEOs and Former Senior Officials Dialogue) เมื่อวันที่ 16 ธันวาคมว่า จีนกับยุโรปควรทำงานร่วมกันเพื่อให้แน่ใจว่าจะมีการจัดส่งผลิตภัณฑ์ไปมาระหว่างจีนกับอียูอย่างราบรื่น ฟู่ เตือนว่า การค้าตามปกติไม่ควรถูกขัดขวางแทรกแซงด้วยประเด็นปัญหาทางการเมืองหรือทางอุดมการณ์
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://big5.www.gov.cn/gate/big5/www.gov.cn/xinwen/2022-12/16/content_5732345.htm)
ขณะที่รองนายกรัฐมนตรี หลิว เหอ (Liu He ) ของจีน กล่าวว่า จีนคาดหวังที่จะได้ทำงานกับอียู ทั้งในด้านการค้า สีเขียว ดิจิทัล การเงิน และเทคโนโลยี หลิวบอกว่า เขาเชื่อว่าทั้งสองฝ่ายจะพบหนทางในการผลักดันสร้างความคืบหน้าให้แก่ข้อตกลงรอบด้านทางด้านการลงทุนจีน-อียู (China-EU Comprehensive Agreement on Investment) ซึ่งมีการเสนอเอาไว้ตั้งแต่ปี 2013 แต่จนบัดนี้ยังคงไม่ได้มีการลงนามกัน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.baidu.com/link?url=nR-I4crdNCmpdYh_OXFEKxkDOTuQGc1w0P7HZ5HiABOkCZBj3TIHugmxROaQ2rHD&wd=&eqid=f5556bcc0000300000000006639c6539)