(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Pentagon, Chinese analysts agree US can’t win in Taiwan Strait
By DAVID P. GOLDMAN
06/12/2022
สหรัฐฯ กำลังพิจารณาที่จะใช้ยุทธศาสตร์ “เผาเรียบทำลายเรียบ” ในไต้หวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำลายฐานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ให้เสียหายยับเยิน แทนที่จะหาทางพิทักษ์ป้องกันเกาะแห่งนี้จากการบุกของจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเพนตากอนกำลังยอมรับว่าไม่สามารถที่จะทำได้
ดาวเทียมจีนมีสมรรถนะครอบคลุมพื้นที่ในอาณาบริเวณแปซิฟิกตะวันตกเพิ่มสูงขึ้นอีกเท่าตัวนับตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา เพนตากอน (กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ) ระบุเอาไว้เมื่อช่วงสิ้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ในรายงานประจำปีประเมินสภาพทางการทหารของจีนฉบับล่าสุด สมรรถนะดังกล่าวนี้หมายถึงความสามารถของจีนในการเฝ้าติดตามเรือผิวน้ำต่างๆ ของอเมริกัน ด้วยตัวเซ็นเซอร์จับสัญญาณเรียงรายกันเป็นชุดๆ ซึ่งคอยทำหน้าที่นำทางให้ขีปนาวุธติดตั้งบนภาคพื้นจำนวน 2,000 ลูกของแดนมังกร เคลื่อนเข้าไปสู่เป้าหมายที่จะโจมตี โดยรวมถึงพวกเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯ ด้วย
รายงานที่ใช้ชื่อว่า “พัฒนาการทางการทหารและความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับสาธารณรัฐประชาชนจีน (Military and Security Developments Involving the People’s Republic of China) เผยแพร่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2022 ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ฉบับนี้ สะท้อนถึงการขบคิดทบทวนอย่างสอดคล้องกับความเป็นจริงอันขึงขังน่ากลัวเกี่ยวกับศักยภาพทางการทหารของประเทศจีนในยุทธบริเวณบ้านเกิดของพวกเขา
(ดูรายงานฉบับนี้ได้ที่ https://media.defense.gov/2022/Nov/29/2003122279/-1/-1/1/2022-MILITARY-AND-SECURhttps:/media.defense.gov/2022/Nov/29/2003122279/-1/-1/1/2022-MILITARY-AND-SECURITY-DEVELOPMENTS-INVOLVING-THE-PEOPLES-REPUBLIC-OF-CHINA.PDFITY-DEVELOPMENTS-INVOLVING-THE-PEOPLES-REPUBLIC-OF-CHINA.PDF)
พวกสายเหยี่ยวที่ต้องการให้ใช้ไม้แข็งกร้าวกับจีนอย่าง เอลบริดจ์ โคลบี (Elbridge Colby) ผู้เรียกร้องสนับสนุนคนสำคัญคนหนึ่งให้สหรัฐฯ เร่งสร้างสมกำลังทหารในแปซิฟิกตะวันตกเพื่อปฏิเสธไม่ให้จีนสามารถเข้าถึงเขตทะเลต่างๆ ที่อยู่ใกล้ๆ แดนมังกรได้ ทวีตเอาไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนว่า “พวกนายทหารผู้รับผิดชอบระดับอาวุโสกำลังพูดกันว่า เราอยู่ในวงโคจรที่จะถูกบดขยี้ในสงครามที่กระทำกับจีน ซึ่งน่าที่จะเป็นสงครามครั้งสำคัญที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ขอพระเจ้าได้โปรดขัดขวางไม่ให้เป็นเช่นนั้นเถิด”
ข้อสรุปย่อๆ ในทางยุทธศาสตร์ก็คือว่า สหรัฐฯ จะไม่สามารถเป็นผู้ชนะในการสู้รบตอบโต้กันที่เกิดขึ้นมาใกล้ๆ กับชายฝั่งของจีน และไม่สามารถที่จะพิทักษ์ป้องกันไต้หวันได้ไม่ว่าสหรัฐฯ จะต้องการป้องกันหรือไม่ก็ตามที จากทัศนะเช่นนี้ในกระทรวงกลาโหมของคณะบริหารโจ ไบเดน นั่นเอง ที่โน้มน้าวให้ประธานาธิบดีผู้นี้เปิดการเจรจาหารือเรื่อง “แนวรั้วกั้น” ต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเผชิญหน้าทางทหารระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ณ การประชุมสุดยอดของเขากับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
พวกสายเหยี่ยวที่เป็นชาวพรรครีพับลิกันดูเหมือนจะบรรลุข้อสรุปแบบเดียวกัน โรเบิร์ต โอไบรเอน (Robert O’Brien) อดีตที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติในยุคคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ บอกกับการประชุม ณ มูลนิธิริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon Foundation) เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ว่า ถ้าหากสาธารณรัฐประชาชนจีนบุกเข้ายึดเกาะแห่งนี้ สหรัฐฯ จะต้องใช้นโยบายเผาเรียบทำลายเรียบ (scorched-earth policy) ด้วยการทำลายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวันให้แหลกลาญ เว็บไซต์ army-technology.com รายงานเอาไว้เช่นนี้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.army-technology.com/features/us-wont-let-china-take-taiwan-chip-makers-intact/)
“ถ้าหากจีนยึดไต้หวัน และยึดโรงงานเหล่านี้เอาไว้ในแบบที่ยังใช้การได้ --ซึ่งผมไม่คิดว่าเราจะยินยอมให้เป็นเช่นนั้น – พวกเขาก็จะมีอำนาจผูกขาดเหนือชิป ในหนทางเดียวกับที่ โอเปกมีอำนาจผูกขาดเหนือน้ำมัน หรือกระทั่งยิ่งกว่าหนทางที่ โอเปก มีอำนาจผูกขาดเหนือน้ำมันเสียอีก” โอไบรเอน กล่าวเอาไว้เช่นนี้
ก่อนหน้านั้นไปอีก วิทยาลัยสงครามกองทัพบกสหรัฐฯ (Army War College) เผยแพร่รายงานการศึกษาชิ้นหนึ่งในปีนี้และได้รับความสนใจกันมาก รายงานนี้เขียนโดยอาจารย์ 2 คน (คือ จาเร็ด เอ็ม แมคคินนีย์ และปีเตอร์ แฮร์ริส -ผู้แปล) ซึ่งเสนอแนะว่า “สหรัฐฯ และไต้หวันควรวางแผนการต่างๆ สำหรับการใช้ยุทธศาสตร์เผาเรียบทำลายเรียบ ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้ ไต้หวัน ไร้ความดึงดูดใจไปเลยถ้าหากจะต้องใช้กำลังเข้าไปยึดครอง แต่ยังตะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในการดูแลรักษาอีกด้วย”
“เรื่องนี้สามารถกระทำได้อย่างทรงประสิทธิผลที่สุด ด้วยการข่มขู่คุกคามที่จะทำลายพวกโรงงานสถานที่ต่างๆ ของบริษัทไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง คอมพานี (Taiwan Semiconductor Manufacturing Company หรือ TSMC) ผู้ผลิตชิปรายสำคัญที่สุดในโลก และเป็นซัปพลายเออร์รายสำคัญที่สุดของจีน”
(ดูรายงานการศึกษาชิ้นนี้ได้ที่ https://press.armywarcollege.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=3089&context=parameters ทั้งนี้ ผู้เขียน 2 คนของรายงานชิ้นนี้คือ จาเร็ด เอ็ม แมคคินนีย์ (Jared M Mckinney) เป็นหัวหน้าภาควิชายุทธศาสตร์และความมั่นคงศึกษา ณ วิทยาเขตออนไลน์สำหรับการศึกษาด้านวิชาชีพการทหารระดับหลังปริญญาตรี (eSchool of Graduate Professional Military Education) มหาวิทยาลัยแอร์ (Air University) ซึ่งเป็นระบบมหาวิทยาลัยสำหรับการศึกษาด้านวิชาชีพการทหารของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ส่วน ปีเตอร์ แฮร์ริส (Peter Harris) เป็นรองศาสตราจารย์วิชารัฐศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยโคโลราโดสเตท (Colorado State University) -ผู้แปล)
เกี่ยวกับเหยี่ยวเรียกร้องให้ใช้ไม้แข็งกับจีนอย่าง โอไบรเอน คำพูดของเขาย่อมเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่า เขาเห็นพ้องกับการประเมินของเพนตากอนที่ว่าสหรัฐฯ ไม่สามารถชนะในสงครามในช่องแคบไต้หวันได้ ดังนั้นเขาจึงเห็นเป็นจังหวะเวลาอันเหมาะเหม็งที่จะเสนอคำคมเท่ๆ ซึ่งมีชื่อเสียงกระฉ่อนที่สุดในยุคสงครามเวียดนาม นั่นคือ ให้ทำลายเกาะแห่งนี้ เพื่อที่จะได้สามารถรักษามันเอาไว้ได้
พวกขีปนาวุธต่อสู้เรือ (Anti-ship missiles) คืออาวุธแห่งยุคศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีคุณค่าเทียบเคียงได้กับตอร์ปิโด และยุทธวิธีการใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดให้ดำดิ่งลงมาตรงๆ เพื่อปล่อยระเบิดใส่เป้าหมาย (dive bombers) ที่ทำให้กองทัพเรือของประเทศต่างๆ เลิกต่อเรือประจัญบาน (battleship) กันไปเลย หลังจากเมื่อปี 1941 เรือประจัญบาน “บิสมาร์ก” (Bismarck) ของนาวีเยอรมนี ถูกโจมตีจมทะเลโดยสหราชอาณาจักร และเรือ “รีเพลาส์” กับเรือ “ปรินซ์ออฟเวลส์” (Prince of Wales) ของสหราชอาณาจักร ก็จมด้วยฝีมือของญี่ปุ่น พวกเรือรบผิวน้ำทั้งหลาย รวมทั้งเรือบรรทุกเครื่องบินด้วย ไม่สามารถป้องกันตัวเองเมื่อต้องเผชิญกับขีปนาวุธสมัยใหม่ที่สามารถดาวน์ลิงก์ข้อมูลชี้นำทางจากดาวเทียมตรวจการณ์
รายงานชิ้นนี้ของเพนตากอนระบุว่า กองกำลังอาวุธจรวด (Rocket Force) ของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน มีขีปนาวุธต่อสู้เรือ (ASBM) “CSS-5 Mod 5 (DF-21D) ASBM ที่ติดหัวรบธรรมดา เวอร์ชันหลายหลาก ซึ่งทำให้กองทัพปลดแอกประชาชนจีนมีสมรรถนะในการโจมตีอย่างแม่นยำจากระยะไกล เพื่อเล่นงานเรือต่างๆ รวมทั้งเรือบรรทุกเครื่องบินด้วย ที่อยู่ไกลออกไปในแปซิฟิกตะวันตก”
กำลังขีปนาวุธติดตั้งทางภาคพื้นดิน (ของกองทัพอากาศแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน) ถือเป็นสิ่งที่เสริมเติมสมรรถนะการโจมตีอย่างแม่นยำของขีปนาวุธยิงจากอากาศและยิงจากทะเลของ PLAAF (People’s Liberation Army Air Force กองทัพอากาศแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน) และ PLAN (People’s Liberation Army Navy กองทัพเรือแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน) ... ขีปนาวุธแบบ DF-21 D มีพิสัยทำการไกลกว่า 1,500 กิโลเมตร และได้รับการติดตั้งเอาไว้กับยานนำกลับที่สามารถเคลื่อนที่ได้ (maneuverable reentry vehicle หรือ MaRV) ทั้งนี้มีรายงานด้วยว่า มันมีศักยภาพที่จะบรรจุใหม่ได้อย่างรวดเร็วเมื่ออยู่ในภาคสนาม
“กองทัพอากาศแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ยังมีการเพิ่มเติมขีปนาวุธ DF-26 IRBM (intermediate-range ballistic missile ขีปนาวุธทิ้งตัวพิสัยปานกลาง) เข้าไว้ในคลังแสงของตนอย่างต่อเนื่อง ขีปนาวุธรุ่นนี้ถูกนำออกเผยโฉมครั้งแรกในปี 2015 และนำเข้าสู่ภาคสนามในปี 2016 DF-21 ซึ่งเป็นขีปนาวุธอเนกประสงค์ได้รับการออกแบบให้สามารถสลับสับเปลี่ยนติดตั้งหัวรบธรรมดา หรือหัวรบนิวเคลียร์ได้อย่างรวดเร็ว และมีศักยภาพที่จะดำเนินการโจมตีอย่างแม่นยำทั้งในแบบการโจมตีภาคพื้นดินและการต่อสู้เรือ ไปยังเป้าหมายในอาณาบริเวณแปซิฟิกตะวันตก มหาสมุทรอินเดีย และทะเลจีนใต้ โดยยิงจากจีนแผ่นดินใหญ่
“ในปี 2020 จีนได้ยิงขีปนาวุธทิ้งตัวต่อต้านเรือใส่เป้าหมายที่กำลังเคลื่อนที่ในทะเลจีนใต้”
มาถึงปัจจุบัน จีนได้ทดสอบอาวุธเหล่านี้อย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว โดยที่รายงานฉบับนี้ของเพนตากอน แจกแจงเอาไว้ดังนี้:
ในปี 2021 กองทัพอากาศแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ยิงขีปนาวุธทิ้งตัวประมาณ 135 ลูกเพื่อการทดสอบและการฝึก มากกว่าที่อื่นๆ ของโลกรวมกัน ยกเว้นพวกขีปนาวุธทิ้งตัวซึ่งถูกนำออกประจำการในพื้นที่ขัดแย้งต่างๆ ขีปนาวุธ DF-17 นั้นสามารถผ่านการทดสอบจำนวนมากด้วยความสำเร็จ และถูกนำออกประจำการเพื่อใช้ในการปฏิบัติการ
“ขณะที่ DF-17 โดยเบื้องต้นแล้วอยู่ในแพลตฟอร์มอาวุธแบบธรรมดา แต่ก็อาจนำเอาหัวรบนิวเคลียร์ไปติดตั้งได้ เมื่อปี 2020 ผู้เชี่ยวชาญทางทหารซึ่งตั้งฐานอยู่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนผู้หนึ่ง บรรยายถึงวัตถุประสงค์แรกสุดของขีปนาวุธ DF-17 ว่า ใช้เพื่อการโจมตีพวกฐานทัพทางทหารต่างชาติ และกองเรือต่างชาติในแปซิฟิกตะวันตก”
กุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ความมีประสิทธิผลของขีปนาวุธต่อสู้เรือ ย่อมได้แก่ ข่าวกรองจากดาวเทียม และเครื่องมือต่างๆ ในด้านการสงครามอิเล็กทรอนิกส์ อย่างที่รายงานของเพนตากอน พูดเอาไว้ดังนี้:
“จีนนำเอา สมรรถนะ ISR (intelligence/surveillance/reconnaissance การหาข่าวกรอง/การเฝ้าตรวจ/การลาดตระเวน) อันแข็งแกร่ง ที่ตั้งฐานอยู่ในอวกาศ (หมายถึง ดาวเทียมที่มีสมรรถนะเช่นนี้นั่นเอง -ผู้แปล) ซึ่งออกแบบมาเพื่อเพิ่มพูนความตระหนักรับรู้ถึงสถานการณ์ทั่วโลกของตน เข้าประจำการ ระบบดาวเทียม ISR ของจีนเหล่านี้ที่ถูกนำมาใช้ทั้งทางการทหารและด้านพลเรือน ดำเนินภารกิจทั้งในเรื่องการตรวจจับสัญญาณและการทำแผนที่จากระยะไกล การลาดตระเวนในอวกาศและทางทะเล และการเก็บรวบรวมข่าวกรอง มันมีศักยภาพในการให้ผลลัพธ์เป็นภาพแบบ electro-optical และภาพแบบ synthetic aperture radar (SAR) เช่นเดียวกับผลลัพธ์ที่เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และเป็นสัญญาณข้อมูลข่าวกรอง”
แล้วที่สำคัญที่สุด ก็คือ:
ณ สิ้นปี 2021 กองดาวเทียม ISR ของจีนประกอบไปด้วยดาวเทียมต่างๆ จำนวนมากกว่า 260 ระบบ --อันเป็นปริมาณที่มากเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยเป็นรองเฉพาะสหรัฐฯ เท่านั้น ปัจจุบันระบบดาวเทียมที่อยู่ในวงโคจรแล้วของจีนมีจำนวนเพิ่มขึ้นเกือบเป็น 2 เท่าตัวทีเดียว นับตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา”
สัญญาณดาวเทียมย่อมเป็นสิ่งที่สามารถเข้าไปรบกวน หรือเข้าไปหลอกลวงได้ (เข้าไปชี้นำอย่างผิดๆ เพื่อให้แสดงพิกัดที่ตั้งที่ไม่ถูกต้อง) แต่ว่า
“กองทัพปลดแอกประชาชนจีน มีการลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับปรุงยกระดับสมรรถนะต่างๆ ของตนในเรื่อง การหาข่าวกรอง/การเฝ้าตรวจ/การลาดตระเวน (intelligence, surveillance, and reconnaissance หรือ ISR) ชนิดที่ใช้อวกาศเป็นฐาน การสื่อสารคมนาคมผ่านดาวเทียม และการใช้ดาวเทียมนำทาง ... กองทัพปลดแอกประชาชนจีนยังดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาพวกสมรรถนะการตอบโต้ชนิดต่างๆ หลายหลากที่อิงอยู่กับอวกาศ ซึ่งสร้างขึ้นมาเพื่อจำกัดหรือป้องกันการใช้ทรัพย์สินที่อยู่ในอวกาศของฝ่ายศัตรู ในระหว่างช่วงเวลาวิกฤต หรือเกิดการสู้รบขัดแย้งขึ้นมา
“นอกเหนือจากการพัฒนาในด้านการควบคุมสั่งการพวกอาวุธที่มีพลัง และพวกตัวก่อกวนดาวเทียมแล้ว กองทัพปลดแอกประชาชนจีนยังมีขีปนาวุธต่อสู้ดาวเทียม (anti-satellite หรือ ASAT) ชนิดตั้งฐานอยู่ที่ภาคพื้นดินซึ่งพร้อมสำหรับการปฏิบัติการ โดยเป็นอาวุธซึ่งมุ่งติดตามเล่นงานเป้าหมายที่เป็นพวกดาวเทียมที่มีวงโคจรต่ำๆ ใกล้ๆ พื้นโลก มีความเป็นไปได้ว่ากองทัพปลดแอกประชาชนจีนยังมีความตั้งใจที่จะเสาะแสวงหาอาวุธ ASAT เพิ่มเติมขึ้นอีก โดยมุ่งที่อาวุธ ASAT ซึ่งมีศักยภาพในการทำลายดาวเทียมชนิดต่างๆ กระทั่งพวกดาวเทียมที่มีวงโคจรพ้องคาบกับวงโคจรของโลก (geosynchronous Earth orbit)
“พวกหน่วยทหาร (ทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์) ของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน มีการฝึกอยู่เป็นประจำให้สามารถดำเนินการปฏิบัติการก่อกวน และการปฏิบัติการต่อต้านการก่อกวน เพื่อเล่นงานระบบสื่อสารและระบบเรดาร์อันสบลับซับซ้อน ตลอดจนระบบดาวเทียมของระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก (Global Positioning System หรือ GPS) ในระหว่างที่มีการฝึกซ้อมแบบกำหนดฉากทัศน์ว่าเกิดสถานการณ์ร้ายแรงขึ้นมา
“การฝึกซ้อมเช่นนี้ เป็นการทดสอบความเข้าใจของหน่วยปฏิบัติการในเรื่องเกี่ยวกับ อาวุธ เครื่องมืออุปกรณ์ และกระบวนวิธีของการทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic warfare หรือ EW) นอกจากนั้น การฝึกซ้อมเช่นนี้ยังสามารถทำให้ผู้ปฏิบัติการได้ปรับปรุงยกระดับความเชื่อมั่นในความสามารถของพวกเขาที่จะปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในสภาพแวดล้อมทางคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอันสลับซับซ้อน”
ทั้งนี้ รายงานของเพนตากอนบอกว่า การทหารของจีนมีการปรับปรุงยกระดับในด้านคุณภาพเฉกเช่นเดียวกับด้านปริมาณ โดยรายงานบอกว่า:
การที่สมรรถนะ ISR ที่ใช้อวกาศเป็นฐานของจีน มีการปรับปรุงยกระดับยิ่งขึ้นในระยะหลังๆ มานี้ เน้นย้ำให้เห็นถึงการพัฒนา การจัดหา และการใช้ดาวเทียมที่มีศักยภาพมากขึ้นด้วยเทคโนโลยีกล้องระบบดิจิทัล ตลอดจนเรดาร์ชนิดใช้อวกาศเป็นฐาน ซึ่งสามารถปฏิบัติงานครอบคลุมตลอด 24 ชั่วโมง และในทุกๆ สภาพอากาศ
“การปรับปรุงยกระดับเหล่านี้ เป็นการเพิ่มพูนสมรรถนะในการเฝ้าติดตามของจีน –ซึ่งก็รวมถึงการติดตามสังเกตการณ์เรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯ หมู่เรือโจมตีที่อยู่ระหว่างออกปฏิบัติการของสหรัฐฯ ตลอดจนฝูงอากาศยานที่ถูกส่งออกมาปฏิบัติการของสหรัฐฯ สมรรถนะต่างๆ ในอวกาศจะเพิ่มพูนความสามารถของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนในการออกปฏิบัติการต่างๆ ทางการทหาร ในอาณาบริเวณห่างไกลออกไปจากพื้นที่ชายฝั่งของจีน”
กล่าวโดยรวมแล้ว การประเมินของเพนตากอนเกี่ยวกับสมรรถนะด้านขีปนาวุธและด้านดาวเทียมของจีนเช่นนี้มีความละม้ายคล้ายคลึงในทางเป็นจริงกับการประเมินของพวกนักวิเคราะห์ชาวจีน เป็นต้นว่า เฉิน เฟิง (Chen Feng) คอลัมนิสต์ด้านการทหารที่มีผู้ติดตามอ่านอย่างกว้างขวาง ในเว็บไซต์ภาษาจีนแห่งสำคัญมากที่ใช้ชื่อว่า guancha.cn (guancha เป็นคำภาษาจีนแปลว่า ผู้สังเกตการณ์” จึงมีผู้ขนานนามเว็บไซต์นี้เป็นภาษาอังกฤษว่า The Observer) ทั้งนี้ในรายงานที่โพสต์เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เฉิน อธิบายแจกแจงว่าทำไมพวกดาวเทียมดวงเล็กๆ เรียงรายกันเป็นชุดใหญ่ จึงสามารถทำภารกิจชี้เป้าหมายสถานที่ได้ในแบบเรียลไทม์ ดังนี้:
พวกดาวเทียมดวงเล็กๆ ไม่เพียงแต่มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา และราคาต่ำเท่านั้น แต่ยังปฏิบัติการในวงโคจรระดับต่ำ เมื่อพิจารณากันในด้านการปฏิบัติภารกิจ ISRในอวกาศแล้ว ดาวเทียมเช่นนี้ 1 ดวงมีคุณค่าเกือบๆ เท่ากับ 3 ดวงทีเดียว เรื่องนี้เป็นความจริงทั้งในด้านการให้ภาพถ่ายที่เป็นแบบ optical และแบบเรดาร์ ตลอดจนในด้านการรบกวนสัญญาณ ดังนั้นศักยภาพความสามารถที่แท้จริงในการลาดตระเวนของพวกดาวเทียมขนาดเล็กๆ จึงไม่ได้ย่ำแย่กว่าพวกดาวเทียมดวงใหญ่เลย ทั้งนี้ ดาวเทียมขนาดเล็กๆ ที่สามารถถ่ายภาพแบบ Synthetic Aperture Radar ทั้งของสหรัฐฯ และของจีน มีความสามารถที่จะให้รายละเอียดของภาพซึ่งมีระดับความคมชัดที่ 0.5 เมตรทีเดียว
“การถ่ายภาพแบบ Optical มักเคยมีข้อได้เปรียบเสมอมาในเรื่องการให้ภาพที่มีรายละเอียดความคมชัดสูงกว่า จนทำให้เทคโนโลยีนี้กลายเป็นเทคโนโลยีที่เติบโตเต็มที่มากๆ แต่ในยุคการถ่ายภาพแบบดิจิทัล มันไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปแล้วที่จะต้องใช้แคปซูลเพื่อการส่งกลับ (re-entry capsule) สำหรับการส่งฟิล์มที่ถ่ายแล้วกลับลงมายังภาคพื้นดิน ในเมื่อดาวเทียมขนาดเล็กดวงนั้น สามารถอยู่ในตำแหน่งตรงเหนือศีรษะของเราอยู่แล้ว”
(ดูข้อเขียนภาษาจีนชิ้นนี้ของเฉิน เฟิงได้ที่ https://m.guancha.cn/ChenFeng3/2022_11_27_668701.shtml?s=08)
เฉินอธิบายต่อไปว่า การถ่ายภาพในแบบ Synthetic aperture radar (ISR) “ไม่สามารถนำมาใช้กับพวกเป้าหมายที่กำลังเคลื่อนที่ กระนั้นข่าวกรองส่วนใหญ่ทีเดียวสามารถที่จะตีความโดยอาศัยพวกภาพนิ่ง ทั้งนี้ ข้อแตกต่างระหว่างภาพนิ่งที่ถ่ายก่อนกับที่ถ่ายไว้ทีหลัง ย่อมสามารถใช้บ่งชี้ให้เห็นถึงความเคลื่อนไหว
ดาวเทียมดวงที่นำอยู่ข้างหน้าอาจตรวจจับพบวัตถุที่น่าสงสัย และดาวเทียมดวงอื่นๆ ที่ติดตามมา “สามารถที่จะถูกสั่งการให้ปรับเข้าสู่โหมด (mode) การตรวจสอบอย่างละเอียด และดำเนินการส่งต่อผลลัพธ์ของการตรวจสอบอย่างละเอียดดังกล่าวนี้” นอกจากนั้น ดาวเทียมดวงอื่นๆ ที่ติดตั้งตัวจับสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้า (electromagnetic sensors) ไม่ใช่ตัวจับสัญญาณแสง (optical sensors) ยังสามารถดำเนินการตรวจสอบแบบสามเส้า (triangulation) แบบเรียลไทม์ได้อีกด้วย
นอกเหนือจากอาศัยสมรรถนะทางด้าน ISR ของดาวเทียมจีนแล้ว เฉินบอกว่า อีกราวครึ่งหนึ่งของสมรรถนะด้านการตรวจการณ์ลาดตระเวนของจีน มาจากการผสมผสานกันของ “อากาศยานไร้คนขับ เรือไร้คนขับ เรือดำน้ำ และเรดาร์ที่ติดตั้งทางภาคพื้นซึ่งมีการเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย ตลอดจนการเฝ้าติดตามสังเกตการณ์เสียงในน้ำใต้ทะเล”
เฉิน สรุปว่า จีนยังไม่ได้มีสมรรถนะด้าน ISR ในระดับครอบคลุมทั่วโลก “แต่บรรลุความสำเร็จในระดับครอบคลุมเหนือยุทธบริเวณแล้ว”
ในอดีต กองทัพเรือสหรัฐฯ ยืนกรานเรื่อยมาว่า การผสมผสานกันระหว่างเครื่องมือทางการสงครามอิเล็กทรอนิกส์ กับการป้องกันที่มุ่งต่อสู้ขีปนาวุธ สามารถที่จะพิทักษ์คุ้มครองเรือใหญ่ๆ ของสหรัฐฯ จากการโจมตีของจีนได้ อย่างที่ พล.ร.อ.โจนาธาน กรีเนิร์ต (Jonathan Greenert) ที่เป็นผู้บัญชาการทหารเรือสหรัฐฯ (chief of naval operations) ในเวลานั้น เคยบอกกับพวกผู้สื่อข่าว (เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2012 -ผู้แปล) ว่า จากการใช้วิธีลวง (ป้อนพิกัดตำแหน่งผิดๆ ให้แก่ขีปนาวุธที่กำลังเคลื่อนเข้ามา) การอำพรางไอเสียอิเล็กทรอนิกส์ ผสมผสานกับการใช้ระบบต่อสู้ขีปนาวุธอย่างเช่น ระบบเอจิส (Aegis) ก็จะสามารถพิทักษ์ปกป้องเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯ ได้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.wired.com/2012/03/killing-chinas-carrier-killer/)
แต่ดังที่ เกเบรียล ฮอนราดา (Gabriel Honrada) รายงานเอาไว้ในเอเชียไทมส์ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา ระบบต่อสู้ขีปนาวุธของสหรัฐฯ อย่าง เอจิส หรือแพทริออต (Patriot) ไม่มีประสิทธิภาพเมื่อเผชิญกับพวกขีปนาวุธที่เคลื่อนที่เข้ามาจากวงโคจรที่อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ DF-21 ของจีนและพวกขีปนาวุธต่อสู้เรือชนิดอื่นๆ ต่างถูกออกแบบมาให้พุ่งทะยานขึ้นสู่บรรยากาศระดับสูงมากชั้นสตราโตสเฟียร์ (stratosphere) ก่อนที่จะดำลงเข้าโจมตีเป้าหมายในแนวดิ่ง
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2022/08/taiwans-patriot-missiles-to-get-massive-us-upgrade/)
ยิ่งไปกว่านั้น พวกเครื่องมือตอบโต้ทางอิเล็กทรอนิกส์จะกลายเป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพด้อยลง เมื่อต้องต่อสู้กับระบบที่มีการใช้ตัวเซ็นเซอร์หลายหลาก และระบบของจีนนั้นก็มีลักษณะเป็นระบบหลายๆ ชั้นซ้อนๆ กันอยู่ โดยมีทั้งดาวเทียมลาดตระเวนที่ติดตั้งตัวเซ็นเซอร์ optical ปะปนไปกับดาวเทียมที่ติดตั้งตัวเซ็นเซอร์แม่เหล็กไฟฟ้า แล้วยังผสมผสานด้วยโดรนทางอากาศ และโดรนทางทะเลเข้าไปอีก ดังนั้นจึงทำให้มีความยากลำบากเพิ่มขึ้นมาก ถ้าหากไม่ถึงกับเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะลวงดาวเทียมด้วยการป้อนข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ขณะเดียวกันกองกำลังขีปนาวุธของจีนยังมีขนาดใหญ่มาก จนกระทั่งยังคงสามารถสร้างความเสียหายในระดับหายนะได้อยู่ดี แม้กระทั่งเมื่อมันมีอัตราความผิดพลาดสูงมากก็ตาม
นอกเหนือจากมีขีปนาวุธชนิดธรรมดาจำนวนน่าเกรงขามอยู่ในคลังแสงแล้ว จีนยังเพิ่งประสบความสำเร็จในการพัฒนายานร่อนที่สามารถประกอบติดตั้งขีปนาวุธ ซึ่งมีความเร็วระดับไฮเปอร์โซนิก (เร็วกว่าความเร็วเสียง 5 เท่าขึ้นไป) โดยที่เวลานี้ยังไม่มีระบบป้องกันขีปนาวุธตามแบบแผนชนิดใดๆ สามารถหยุดยั้งยานร่อนความเร็วระดับไฮเปอร์โซนิกเช่นนี้ได้
นอกจากกองกำลังขีปนาวุธแล้ว จีนยังมีเครื่องบินขับไล่รุ่นเจเนอเรชันที่ 4 อีกราวๆ 800 ลำ ประจำการอยู่ตามแนวชายฝั่งของตน และเครื่องบินขับไล่เจเนอเรชันที่ 5 (มีเทคโนโลยีสเตทธ์) อีกเกือบๆ 200 ลำ ไม่เพียงเท่านั้น ก็อย่างที่รายงานของเพนตากอนฉบับนี้ชี้เอาไว้ จีนเพิ่งประสบความสำเร็จในการแก้ไขจุดบกพร่องสำคัญที่สุดในการผลิตเครื่องบินรบภายในประเทศของตน ซึ่งได้แก่ เครื่องยนต์ไอพ่น โดยรายงานของเพนตากอนพูดเอาไว้ดังนี้:
ความพยายามอย่างยาวนานหลายทศวรรษของจีนที่จะปรับปรุงยกระดับการผลิตเครื่องยนต์ของอากาศยานภายในประเทศ กำลังเริ่มผลิดอกออกผล ด้วยการที่เครื่องบินขับไล่ รุ่น J-10 และ J-20 กำลังเปลี่ยนไปใช้เครื่องยนต์ WS-10 ซึ่งผลิตขึ้นภายในประเทศนับตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2021 นอกจากนั้น เครื่องยนต์ high-bypass turbofan ชนิดแรกที่จีนผลิตขึ้นภายในประเทศ นั่นคือ เครื่องยนต์ WS-20 ยังกำลังเข้าสู่ขั้นตอนการทดสอบขณะอยู่ในเที่ยวบิน โดยติดตั้งไว้กับเครื่องบินบรรทุกหนักแบบ Y-20 โดยที่บางทีอาจจะสามารถแทนที่เครื่องยนต์นำเข้าจากรัสเซียได้ภายในสิ้นปี 2022 นี้”
มีจุดหนึ่งที่มีคุณค่าควรแก่การสังเกตใส่ใจในรายงานของเพนตากอนฉบับใหม่นี้ นั่นก็คือว่า เวลานี้จีนมีกำลังทหารนาวิกโยธินเพียงแค่ 30,000 คน เปรียบเทียบกับกำลังทหารเหล่านาวิกโยธินสหรัฐฯ ที่มีประมาณ 200,000 คนเมื่อรวมเอากำลังทหารสำรองเข้าไปด้วยแล้วก็มีทหารนาวิกโยธินจีนเพียงแค่ 200 คนเท่านั้นซึ่งถูกส่งไปประจำการนอกประเทศ นั่นคือที่ฐานทัพในต่างแดนเพียงแห่งเดียวของจีนที่ประเทศจีบูติ ขณะเดียวกัน จีนมีกำลังทหารหน่วยรบพิเศษอยู่ราว 14,000 คน เปรียบเทียบกับของอเมริกันซึ่งมีประมาณ 75,000 คน สภาพเช่นนี้จึงไม่สอดคล้องกันเลยกับที่รายงานฉบับนี้อ้างว่า จีนต้องการที่จะ “สำแดงอำนาจในระดับทั่วโลก”