xs
xsm
sm
md
lg

เพจดังวิเคราะห์! สาเหตุเบื้องต้น ทำเรือหลวงสุโขทัย จมลงนอกชายฝั่งบางสะพาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพจดังเผยบทวิเคราะห์เบื้องต้น ในเหตุเรือหลวงสุโขทัย จมนอกชายฝั่งบางสะพาน ระบุเกิดจากคลื่นลมแรง ส่งผลให้เครื่องไฟฟ้าดับ เครื่องจักรใหญ่หยุดทำงาน ไม่สามารถควบคุมเรือได้ และทำให้น้ำเข้าภายในตัวเรืออย่างรวดเร็วจนทำให้เรือเอียง โดยน้ำเข้าเรือมากจากท่อไอเสียจนเรือจมนั่นเอง

วันนี้ (19 ธ.ค.)เพจ “ThaiArmedForce.com” ได้โพสต์ข้อเขียนวิเคราะห์เบื้องต้นเหตุการณ์ “#เรือหลวงสุโขทัย จมลงนอกชายฝั่งบางสะพาน Disclaimer: การวิเคราะห์ต่อไปนี้อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่กองทัพเรือแถลงอย่างเป็นทางการ ซึ่งยังไม่ใช่ข้อมูลที่ครบถ้วน ดังนั้นควรถือว่าเป็นความเห็นเบื้องต้น ไม่ใช่ข้อสรุปทั้งหมด เนื่องจากยังมีข้อมูลอีกมากที่เรายังไม่ทราบ ขอสงวนสิทธิ์ไม่ควรไปอ้างอิงว่าบทวิเคราะห์นี้คือข้อสรุปสาเหตุของอุบัติเหตุในครั้งนี้

เราอ่านคำแถลงการณ์อย่างเป็นทางการของ โฆษกกองทัพเรือ อีกครั้ง คิดว่าน่าจะพอระบุสาเหตุในเบื้องต้นได้คือ “เนื่องจากขณะนั้นบริเวณดังกล่าวมีคลื่นลมแรง ทำให้เรือเอียงจนทำให้มีน้ำทะเลบางส่วนไหลเข้าระบบเครื่องไฟฟ้าผ่านท่อไอเสียข้างเรือ ส่งผลให้เครื่องไฟฟ้าดับส่งผลต่อเครื่องจักรใหญ่หยุดทำงาน ซึ่งผลจากเครื่องจักรใหญ่และเครื่องจักรช่วยหยุดทำงานดังกล่าว เป็นเหตุให้ไม่สามารถควบคุมเรือได้ และส่งผลให้น้ำเข้าภายในตัวเรืออย่างรวดเร็วจนทำให้เรือเอียง เรือหลวงกระบุรี ได้เดินทางไปถึงจุดเกิดเหตุ เมื่อเวลา 20.40 น. และพยายามเข้าเทียบเรือหลวงสุโขทัย เพื่อส่งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่และช่วยเหลือกำลังพลจำนวน 106 นาย แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากคลื่นลมยังคงรุนแรง ต่อมาเรือหลวงสุโขทัย มีอาการเอียงมากขึ้นและได้จมลงเมื่อเวลา 00.12 น.”

ซึ่งสรุปคร่าว ๆ ก็คือ น้ำเข้าเรือมากจากท่อไอเสียจนเรือจมนั่นเอง

เรื่องนี้มีจุดที่น่าสนใจคือ

1. ท่อไอเสียที่เราคาดน่าจะเป็นท่อไอเสียบริเวณแนวน้ำ ซึ่งโดยปกติแล้วถ้าเครื่องยนต์ทำงานก็จะมีแรงผลักน้ำออกมาตลอด และมีกลไกไม่ให้น้ำเข้าเรือ และโดยปกติถ้าน้ำเข้าเรือก็จะมีการสูบน้ำออก ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ อย่างไรก็ตาม ไม่แน่ชัดว่าการที่น้ำทะเลไหลเข้าท่อไอเสียมากจนทำให้เครื่องจักรใหญ่หรือเครื่องยนต์หยุดทำงานนั้นเกิดจากอะไร

แต่ทั้งนี้ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้วถ้าน้ำเข้าเรือ เรือรบจะสามารถควบคุมความเสียหายได้ด้วยการปิดท่อ ถ้าปิดไม่สำเร็จก็จะต้องทำการปิดห้องที่น้ำท่วม ซึ่งก็จะทำให้เรือแม้จะเสียสมดุลไปบ้างแต่ก็ยังลอยอยู่ได้ แต่การที่เรือเอียงลงมาน่าจะหมายถึงการควบคุมความเสียหายไม่สำเร็จจนทำให้น้ำทะลักเข้ามามากขึ้นเรื่อย ๆ จนจมลงในที่สุด ซึ่งนี่คือหนึ่งใน Chain of Event ที่นำไปสู่การจมของเรือ

2. เรือหลวงกระบุรีพยายามเข้าเทียบเพื่อส่งเครื่องสูบน้ำให้กับเรือหลวงสุโขทัย แต่ไม่สามารถเทียบได้เพราะคลื่นลมแรง ตรงนี้มีสิ่งที่น่าสนใจคือน่าจะมีปัญหาบางอย่างกับเครื่องสูบน้ำของเรือหลวงสุโขทัยที่ทำงานไม่ได้หรือทำงานได้แต่ไม่สำเร็จหรือไม่ และแม้แต่เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่บนเรือหลวงสุโขทัยก็ยังไม่สามารถควบคุมความเสียหายได้จนต้องหาทางนำเครื่องสูบน้ำจากเรืออื่นมาช่วยกู้เรือ เครื่องสูบน้ำก็น่าจะเป็นอีกหนึ่ง Chain of Event เช่นเดียวกัน

3. เราไม่ทราบภาวะและเงื่อนไขของการที่ทำให้การควบคุมความเสียหายหรือ Damage control ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งคงต้องมีการสอบสวนต่อไป แต่เป็นได้ทั้งการที่กำลังพลทำทุกอย่างถูกต้องตามหลักแต่ไม่สามารถควบคุมความเสียหายได้เนื่องจากสภาวะที่เกิดขึ้นรุนแรงเกินไป หรือการควบคุมความเสียหายไม่สำเร็จจากความผิดพลาดของคนหรืออุปกรณ์ อันนี้ยังไม่มีทางที่จะรู้ได้ในตอนนี้

แต่สิ่งที่น่าเป็นกังวลก็คือ ดูสถานการณ์แล้วน่าเป็นห่วงเหมือนกันว่า ทำไมการควบคุมความเสียหายถึงไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งที่สถานการณ์ไม่น่าจะรุนแรงขนาดนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวัดจากสาเหตุคือน้ำเข้าท่อไอเสีย ไม่ใช่เรือพลิกคว่ำ การควบคุมความเสียหายน่าจะลดความรุนแรงได้ ตรงนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่ากำลังพลผิดเสียทีเดียว แต่ควรเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสนใจ

4. เมื่อถอยออกมามองนั้น ไม่แน่ใจว่าการประเมินข่าวอากาศก่อนที่จะส่งเรือออกปฏิบัติการนั้นมีการประเมินมากน้อยเพียงใด เพราะเรือหลวงสุโขทัยเป็นเรือขนาดไม่ใหญ่นัก โดยมีขนาดไม่ถึง 1 พันตัน การทนทะเลจึงน้อยกว่าเรือใหญ่ลำอื่น ถ้ามีการแจ้งเตือนล่วงหน้า อาจจะต้องดูว่าการประเมินสถานการณ์และสภาพอากาศก่อนส่งเรือออกไปนั้นทำอย่างสมบูรณ์แล้วหรือไม่ หรือสภาพที่เกิดขึ้นเป็นสถานการณ์เฉพาะหน้าที่ไม่มีเหตุแจ้งเตือนมาก่อน เพราะในพื้นที่ก็มีเรือขนส่งของเอกชนล่มจากสภาพอากาศเช่นกัน

5. เรือมีกำลังพลที่ไม่ใช่ประจำเรือร่วมเดินทางไปราว 30 กว่าคน ไม่แน่ใจว่าจะส่งผลต่อเสถียรภาพของเรือหรือไม่ แต่ถ้าให้ TAF คิดไว ๆ ก็น่าจะส่งผลแต่ไม่น่าจะมากขนาดนั้น ตรงนี้ยังไม่แน่ใจ ส่วนอื่นก็อาจจะส่งผลคือเมื่อมีคนเพิ่มขึ้น อุปกรณ์กู้ภัยเช่นแพยางหรือเรือยางอาจจะไม่พอ หรือกำลังพลที่ขึ้นเรือมานั้นได้รับการบรรยายสรุปถึงการหนีภัยหรือกู้ภัยหรือไม่

แต่สิ่งที่แน่ใจได้คือการเตรียมการ เพราะมีรายงานว่ากำลังพลที่ไม่ใช่ประจำเรือนั้นไม่มีเสื้อชูชีพ ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงมากที่อาจจะมีผู้เสียชีวิตได้ อันนี้น่าจะเป็นเรื่องเดียวที่ค่อนข้างมั่นใจได้ว่ามีความผิดพลาดชัดเจน

6. ย้อนกลับไปที่การควบคุมความเสียหาย ถ้าเกิดจากอุปกรณ์ที่ไม่พร้อมจริง ๆ นั้น จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเกิดจากการซ่อมบำรุงเรือ ซึ่งการซ่อมบำรุงเรือมีปัญหามากในช่วงหลัง โดยเฉพาะหลังจากที่กองทัพเรือจัดหาเรือดำน้ำซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก รวมถึงมีโครงการเกี่ยวเนื่องแต่ไม่เป็นความเร่งด่วนอย่างการจัดหาเรือหลวงช้างที่กองทัพเรือบอกว่านำมาสนับสนุนการปฏิบัติการเรือดำน้ำ ซึ่งต้องใช้งบประมาณรวมมากกว่า 7 พันล้านบาท

ผู้บัญชาการทหารเรือท่านที่แล้วกล่าวอย่างชัดเจนว่าเรือและอากาศยานของกองทัพเรือจำนวนมากไม่ได้รับการซ่อมบำรุงตามวงรอบจนส่งผลต่อความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจ ในปีงบประมาณ 2566 กองทัพเรือจึงของบประมาณซื้ออาวุธน้อย แต่เน้นไปที่การซ่อมบำรุงเรือมากกว่า

ซึ่งถ้าสาเหตุเกิดจากความไม่พร้อมของอุปกรณ์จริง ก็ถือว่าผู้บัญชาการทหารเรือท่านที่แล้ววางแผนได้ถูกต้อง แต่แค่เหตุการณ์มาเกิดก่อนเท่านั้น แต่ก็ถือว่าเป็นหนึ่งผลกระทบที่เกิดจากการวางแผนและเปลี่ยนแผนของผู้บัญชาการทหารเรือในอดีตที่เปลี่ยนมาจัดหาเรือดำน้ำและเรือบัญชาการยกพลขึ้นบกจนทำให้ไม่มีทรัพยากรมากพอในการซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์ในภาพรวม
ปกติแล้ว กองทัพไทยมักจะวางแผนงบประมาณในการจัดหายุทโธปกรณ์ แต่แผนในการส่งกำลังบำรุงและซ่อมบำรุงนั้นไม่ชัดเจน หรือทำไม่ได้ตามแผนและเลือกไปจัดซื้อยุทโธปกรณ์มากกว่าจะซ่อมบำรุง ซึ่งกองทัพไทยยังมีโครงการจัดซื้ออาวุธที่มีราคาแพงและมีค่าซ่อมบำรุงแพงอีกหลายโครงการ เช่นโครงการจัดหาเรือดำน้ำ หรือโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ F-35 ตรงนี้ก็น่าเป็นห่วงว่า การจัดซื้ออาวุธราคาแพงจะดึงทรัพยากรโดยรวมของกองทัพทำให้ความพร้อมรบต่ำลงหรือไม่

7. โดยสรุปก็คือต้องย้ำอีกครั้งว่า บทความนี้ไม่ได้สรุปสาเหตุของการเกิดอุบัติในครั้งนี้ เพราะเรายังไม่มีข้อมูลมากไปกว่าคำแถลงการณ์อย่างเป็นทางการของกองทัพเรือ ดังนั้นสาเหตุอาจจะเป็นไปได้ทุกอย่างตั้งแต่กำลังพลและกองทัพเรือทำทุกอย่างถูกต้องตามขั้นตอน แต่สภาวะธรรมชาติที่ต้องเผชิญมากเกินกว่าจะรับมือไหว หรือมีความผิดพลาดบางอย่างที่ทำให้สถานการณ์ที่ควรจะควบคุมได้กลายเป็นความคุมไม่ได้และต้องเสียเรือทั้งลำไปในที่สุด ตรงนี้ต้องมีข้อมูลมากกว่านี้ถึงจะสามารถสรุปได้

แต่สิ่งที่จะพูดได้ก็คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้มาจากสาเหตุเดียว แต่น่าจะมาจาก Chain of Events หลายเหตุการณ์ที่ประกอบกันจนทำให้เกิดเหตุในที่สุด และข้อต่อที่ควรพิจารณามากที่สุดคือ การควบคุมความเสียหายหรือ Damage Control ที่ทำได้ตามขั้นตอนหรือไม่ หรือมีอุปกรณ์สำคัญสำหรับการควบคุมความเสียหายพร้อมใช้งานหรือไม่ ซึ่งการควบคุมควาเสียหายจะเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญของการค้นหาสาเหตุของอุบัติเหตุในครั้งนี้

8. สำหรับเกร็ดความรู้จากอุบัติเหตุครั้งนี้ก็คือ นี่เป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีที่กองทัพเรือมีเรือจม โดยเหตุการณ์เรือจมใหญ่ ๆ ของกองทัพเรือในอดีตคือ
- เหตุการณ์เรือหลวงธนบุรีจมในยุทธนาวีเกาะช้าง ซึ่งเรือหลวงธนบุรีถูกกองเรือฝรั่งเศสยิงจนจมลง เหตุการณ์เกิดขึ้นในปี 2484 ในกรณีพิพาทอินโดจีน ที่ถือเป็นยุทธนาวีครั้งแรกและครั้งเดียวของกองทัพเรือไทย
- เหตุการณ์เรือหลวงสมุยถูกจมโดยเรือดำน้ำ USS Sealion ของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อปี 2488 โดยเรือหลวงสมุยไปรับน้ำมันจากสิงคโปร์ และถูกเรือดำน้ำยิงจมลง
- เหตุการณ์เรือหลวงศรีอยุทธยา ถูกจมลงในเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตันในปี 2494 ซึ่งเรือถูกระดมยิงและถูกทิ้งระเบิดจากกองทัพอากาศ โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องกระโดดเรือหนีออกมา

9. อีกเกร็ดหนึ่งก็คือ ในกองทัพเรือไทยนั้นมีหลักการตั้งชื่อเรือคอร์แวตต์ซึ่งจะตั้งชื่อตามเมืองหลวงและยุคสมัยของไทย ทำให้เรามีเรือที่มีชื่อครบทั้งสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ สิ่งที่น่าสนใจคือเรือส่วนใหญ่ที่ถูกตั้งชื่อนั้นมีจุดจบที่ไม่ปกติทั้งสิ้น อย่างเรือหลวงธนบุรีถูกจมลงหลังจากทำการรบกับฝรั่งเศส เรือหลวงศรีอยุทธยาจมจาเหตุการณ์ทางการเมือง และล่าสุดคือเรือหลวงสุโขทัยจมลงเมื่อวานนี้ ยังคงเหลือเรือหลวงรัตนโกสินทร์ที่ยังใช้งานได้อยู่

10. มูลค่าความเสียหายจากเหตุการณ์นี้น่าจะมากกว่า 5 พันล้านบาท นอกจากความเสียหายจากตัวเงินแล้ว ยังมีความเสียหายที่เกิดกับขีดความสามารถของกองทัพเรือ เพราะเรือหลวงสุโขทัยเป็นเรือรบเพียงหนึ่งใน 5 ลำของกองทัพเรือไทยที่ถือว่าเป็นเรือชั้นแนวหน้าที่มีขีดความสามารถสูง ปฏิบัติการรบได้สามมิติคือบนฟ้า ผิวน้ำ และใต้น้ำ การสูญเสียในครั้งนี้ทำให้กองทัพเรือไทยเหลือเรือผิวน้ำชั้นแนวหน้าเพียง 4 ลำเท่านั้นคือเรือหลวงรัตนโกสินทร์ เรือหลวงนเรศวร เรือหลวงตากสิน และเรือหลวงภูมิพล”

คลิกโพสต์ต้นฉบับ


กำลังโหลดความคิดเห็น