xs
xsm
sm
md
lg

ตะวันออกกลางเปลี่ยนอย่างแรง! เมื่อการเยือนของ ‘สีจิ้นผิง’ นำไปสู่ยุคใหม่ของสายสัมพันธ์ ‘จีน-ซาอุดีอาระเบีย’ แต่ก็ทำให้ ‘อิหร่าน’ ขุ่นเคือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร ***


เจ้าชายมกุฎราชกุมาร โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน แห่งซาอุดีอาระเบีย ต้อนรับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ก่อนหน้าการประชุมซัมมิตระหว่างจีน-GCC ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงริยาด เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม (ภาพจากสำนักข่าวของทางการซาอุดีฯ)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

New era of China-Saudi ties riles Iran
By M.K. BHADRAKUMAR
17/12/2022

การลงนามใน “แผนการเพื่อทำให้เกิดความสอดคล้องกลมกลืนกัน” ระหว่างวิสัยทัศน์ ปี 2030 ฝ่ายซาอุดีอาระเบีย กับแผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ของฝ่ายจีน มีความสำคัญในระดับของการเป็นตัวเปลี่ยนเกม

การต้อนรับอย่างโอ่อ่าสง่างาม และเป็นพิธีการซึ่งประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนได้รับขณะเยือนซาอุดีอาระเบีย เมื่อไม่นานมานี้ มักถูกนำมาเปรียบเทียบกับบรรยากาศของความธรรมดาชวนให้น่าเบื่อและความเย็นชาที่แวดล้อมทริปเดินทางไปราชอาณาจักรแห่งนี้ ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ความแตกต่างซึ่งสำคัญที่สุดยังคงอยู่ตรงที่ว่า ฝ่ายซาอุดีอาระเบีย เป็นตัวตั้งตัวตีจัดการประชุมซัมมิตระดับภูมิภาคถึง 3 งานซ้อนๆ ขึ้นมาเพื่อการต้อนรับ สี ในครั้งนี้ -- โดยนอกจากซัมมิตทวิภาคีระหว่างซาอุดีฯ กับจีนแล้ว ยังมีการประชุมซัมมิตงานที่ 2 ที่ สี พบปะหารือกับพวกผู้นำของชาติอาหรับใน “สันนิบาตอาหรับ” (Arab League) จำนวน 21 ประเทศ และซัมมิตงานที่ 3 ซึ่ง สี เจรจากับพวกผู้ปกครองของ 7 ประเทศคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council หรือ GCC)

การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมซัมมิต “ทรี-อิน-วัน” ขึ้นมาเช่นนี้เป็นการส่งสัญญาณอันถนัดชัดเจนว่า ซาอุดีอาระเบีย เวลานี้ยืนอยู่ตรงหัวใจของการดำเนินการทางการทูตของจีนในโลกอาหรับ มันช่างเป็นความแตกต่างอย่างตรงกันข้ามกับความสัมพันธ์พื้นๆ แบบมุ่งแลกเปลี่ยนทำธุรกรรมกัน ซึ่งพันธมิตรสหรัฐฯ-ซาอุดีฯ ที่เคยยิ่งใหญ่มาอย่างยาวนานหลายสิบปี ได้ตกต่ำลงไปอยู่แค่ระดับนั้นเสียแล้วในเวลานี้

ระหว่างการเยือนของ สี คราวนี้ ได้มีการทำข้อตกลงด้านพลังงานและการลงทุนเกือบๆ 30 ฉบับ ซึ่งจะส่งผลในทางปกปักรักษาแกนกลางแห่งผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของซาอุดีอาระเบีย-จีน

ข้อตกลงเหล่านี้ครอบคลุมพื้นที่ความร่วมมืออย่างใหม่ๆ ดังเช่น เทคโนโลยีสารสนเทศ พลังงานสีเขียว บริการคลาวด์คอมพิวติ้ง โครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณสุข รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มพูนความสำนึกของการจับมือรวมกลุ่มเป็นพันธมิตรกันระหว่างแผนการใหญ่ของฝ่ายริยาด ที่มุ่งกระจายแตกแขนงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตน (โดยมีชื่อเรียกขานกันว่า “วิสัยทัศน์ปี 2030” หรือ Vision 2030) กับโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative หรือ BRI) ของจีน ที่มุ่งขับดันการพัฒนาของพวกอุตสาหกรรมอัจฉริยะ และโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูง โดยรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล ซึ่งมีศักยภาพที่จะเสริมกระชับการต่อเชื่อมกันในระดับภูมิภาคในระยะเวลาหลายๆ ทศวรรษต่อจากนี้ไป

อย่างที่บทวิจารณ์ชิ้นหนึ่งของฝ่ายจีนได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ เป็นที่คาดหมายกันว่า การลงทุนของทางปักกิ่งในเรื่องไฮโดรเจนสีเขียว และพลังงานแสงอาทิตย์ จะสามารถเป็นตัวเสริมเติมให้แก่แรงผลักดันมุ่งหน้าสู่พลังงานสะอาดของทางริยาด รวมทั้งก่อให้เกิดความร่วมมือกัน “ในการสร้างความแข็งแกร่งแก่โครงสร้างพื้นฐานที่สามารถปรับตัวและขยายตัวไปในโลกอาหรับ”

ยกตัวอย่างเช่น ข้อตกลงฉบับสำคัญมากที่ฝ่ายซาอุดีอาระเบียลงนามกับหัวเว่ย บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคของจีน ซึ่งจะเปิดประตูไปสู่การสร้างกลุ่มอาคารไฮเทคตามเมืองใหญ่ต่างๆ ของซาอุดีฯ โดยโครงการเหล่านี้จะมีการเชื่อมโยงกับการพัฒนาการสื่อสารระบบ 5 จีที่จีนมีความร่วมมือกับรัฐอ่าวอาหรับหลายๆ ประเทศอยู่แล้ว (ตัวอย่างเช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต, และกาตาร์)

ขณะที่ ซาอุดีอาระเบีย จัดลำดับความสำคัญในภาคพลังงานของตนให้อยู่ในจังหวะเวลาเดียวกับที่จีนมุ่งโฟกัสเรื่องการทำให้ห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคเอเชียตะวันตกมีความหยุ่นตัวเพื่อให้สามารถเป็นตัวสนับสนุนได้ดียิ่งขึ้น มันจึงสามารถทำให้ราชอาณาจักรแห่งนี้เสนอตัวเองต่อโรงงานต่างๆ ของจีนในฐานะที่เป็นศูนย์กลางแห่งสำคัญแห่งหนึ่งของภูมิภาค แล้วเรื่องนี้จะกลายเป็นแผนการที่ทำให้ทุกๆ ฝ่ายเป็นผู้ชนะ เนื่องจากห่วงโซ่อุปทานด้านพลังงานที่มีเสถียรภาพ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและลู่ทางโอกาสในการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจของชาติอาหรับจำนวนมากในภูมิภาค

สามารถที่จะกล่าวได้ว่า กระทั่งถ้าหากการจับมือเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างจีน-ซาอุดีอาระเบีย ส่งผลทำให้เกิดพลังหนุนเสริมกันและกันเพื่อการพัฒนาอย่างใหม่ๆ ขึ้นมา รวมทั้งทำให้เกิดการร่วมมือประสานงานกันในหลายๆ ภาคเศรษฐกิจ จนกระทั่งความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์นี้พุ่งลิ่วก้าวไปไกลสู่อีกระดับหนึ่งกันทีเดียว ภูมิภาคอาหรับโดยรวมก็ยังจะสามารถเก็บเกี่ยวผลปะโยชน์อันมหาศาลที่เกิดจากผลกระทบซึ่งต่อเนื่องมาจากการเปลี่ยนผ่านของหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ดังกล่าวนี้อยู่นั่นเอง

คำแถลงร่วมที่ออกมาภายหลังการเยือนของ สี ได้พูดถึงความสำคัญของการขยายความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียกับจีน “ภายในกรอบโครงระหว่างประเทศ และเป็นการสร้างตัวอย่างของความร่วมมือกัน ความสมานฉันท์ และการที่ต่างฝ่ายต่างได้รับประโยชน์ สำหรับประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย”
(ดูเพิ่มเติมคำแถลงร่วมนี้ได้ที่ https://saudigazette.com.sa/article/627825)

ในคำแถลงนี้ยังกล่าวอีกว่า “ฝ่ายซาอุดีฯ ยังเน้นย้ำความสำคัญของการดึงดูดบริษัทจีนระดับระหว่างประเทศให้มาเปิดสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคขึ้นในราชอาณาจักรแห่งนี้ รวมทั้งมีความซาบซึ้งใจสำหรับความสนใจของบริษัทจำนวนหนึ่งในเรื่องนี้ ดังเห็นได้จากการที่บริษัทเหล่านี้กำลังยื่นขอใบอนุญาตเพื่อการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคของพวกเขาขึ้นในราชอาณาจักรแห่งนี้ ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ผลประโยชน์สูงสุดจากประสบการณ์และสมรรถนะที่พิเศษโดดเด่นของจีน เพื่อผลประโยชน์ของระบบเศรษฐกิจของประเทศทั้งสอง”

ชัดเจนมากว่า การลงนามใน “แผนการเพื่อทำให้เกิดความสอดคล้องกลมกลืนกัน” ระหว่างวิสัยทัศน์ 2030 กับแผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง มีความสำคัญระดับเป็นตัวเปลี่ยนเกม

ขณะเดียวกัน การประชุมซัมมิตจีน-คณะมนตรีรัฐอ่าวอาหรับ ครั้งแรก และการประชุมซัมมิตจีน-สันนิบาตอาหรับ ซึ่งเป็นครั้งแรกเช่นเดียวกัน ก็มีความโดดเด่นเมื่อพิจารณาจากสภาพแวดล้อมในทางระหว่างประเทศในปัจจุบัน รวมทั้งยังเป็นสร้างลู่ทางโอกาสของ “ความร่วมมือกันแบบรวมหมู่” ระหว่างจีนกับบรรดาประเทศอาหรับอีกด้วย

พวกเขาเห็นชอบกับการปฏิบัติการร่วมกันของซาอุดีอาระเบียและจีน ในเรื่องการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ความสัมพันธ์แบบเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างบรรดารัฐคณะมนตรีอ่าวอาหรับ (GCC) และจีน การบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีระหว่าง GCC กับ จีน และการทำให้การประชุมระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจและการค้าระหว่าง GCC-จีน กลายเป็นการปฏิบัติที่กระทำกันเป็นประจำ ในรูปแบบ “6+1” ระหว่าง GCC กับจีน

ในทำนองเดียวกัน เกี่ยวกับด้านการทูต คำแถลงร่วมบอกว่า “ฝ่ายจีนยกย่องคุณูปการในทางบวกและความสนับสนุนอันโดดเด่นที่ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียทำให้แก่การส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพทั้งในระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศ”

สิ่งที่ต้องสังเกตกันเอาไว้ให้ดีเป็นพิเศษ ก็คือ การที่จีนแสดงการรับรองเห็นชอบอย่างแข็งขันกับจุดยืนของซาอุดีอาระเบียในเรื่องเยเมน โดยมีการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการให้ความสนับสนุนแก่สภาคณะผู้นำแห่งประธานาธิบดีของชาวเยเมน (Yemeni Presidential Leadership Council)

ไม่น่าประหลาดใจอะไรเลย การเยือนซาอุดีอาระเบียของ สี ทำให้เกิดความกระสับกระส่ายขึ้นในเตหะราน โครงข่ายของพันธมิตรระดับภูมิภาคที่ ริยาด ถักทอขึ้นมาเพื่อให้จีนได้เข้าร่วมนั้น เป็นเรื่องเฉพาะของบรรดาประเทศอาหรับ และสิ่งที่สร้างความขุ่นเคืองให้แก่อิหร่านมากที่สุดก็คือ ซาอุดีอาระเบีย และพันธมิตรอาหรับจะกลายเป็นชิ้นแม่แบบที่สำคัญยิ่งยวดที่สุดในยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาคของจีนในเอเชียตะวันตกและในภูมิภาคต่างๆ ของแอฟริกา

เป็นไปไม่ได้เลยที่อิหร่านจะสามารถรับมือกับพัฒนาการเช่นนี้ด้วยการวางตัวเป็นศูนย์อำนาจที่เป็นคู่แข่งอีกรายหนึ่งขึ้นมา ขณะเดียวกัน พัฒนาการอันน่าวิตกเช่นนี้ยังเกิดขึ้นมา ณ ช่วงเวลาซึ่งอิหร่านกำลังพุ่งผงาดไปข้างหน้า ในฐานะเป็นประเทศซึ่งน่าจะมีอนาคตสดใสกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอ่าวด้วยกัน โดยที่การจับกลุ่มเป็นพันธมิตรสำคัญกับของสหรัฐฯ ของซาอุดีอาระเบีย กลับกำลังตกต่ำจมลงสู่สภาพชำรุดทรุดโทรมที่ไร้ความหวัง

สิ่งที่ เตหะราน ต้องรู้สึกเจ็บปวดจากการรู้สึกว่าถูกหมิ่นหยามมากที่สุด น่าจะเป็นเรื่องที่ว่า ถึงแม้ จีน คือผู้เข้าร่วมรายหนึ่งในการเจรจาเพื่อฟื้นฟู (ข้อตกลงให้อิหร่านเหนี่ยวรั้งโครงการนิวเคลียร์ของตนเพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่นานาชาติจะยอมยกเลิกมาตรการแซงก์ชัน อันเป็นข้อตกลงที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า) แผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม (Joint Comprehensive Plan of Action หรือ JCPOA) แต่คำแถลงร่วมระหว่างจีนกับซาอุดีอาระเบียบครั้งนี้ กลับมีข้อความระบุว่า ปักกิ่ง และริยาด “เรียกร้องอิหร่านให้ความร่วมมือกับทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency หรือ IAEA) ในการคงไว้ซึ่งระบบการไม่แพร่กระจาย (อาวุธนิวเคลียร์) และเน้นย้ำให้ความเคารพหลักการต่างๆ ของการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี และการไม่เข้าแทรกแซงในกิจการภายในของรัฐต่างๆ”

ในอีกตอนหนึ่ง คำแถลงร่วมกล่าวพาดพิงแบบอ้อมๆ ถึงอิหร่านเอาไว้ว่า “ฝ่ายจีนแสดงความสนับสนุนการที่ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียธำรงรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของตนเอง และย้ำยืนยันว่าจีนคัดค้านการปฏิบัติการใดๆ ที่จะเป็นการแทรกแซงเข้าไปในกิจการภายในของราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งไม่ยอมรับที่จะมีการโจมตีใดๆ ซึ่งพุ่งเป้าไปที่พลเรือน อาคารสถานที่ต่างๆ ของพลเรือน ดินแดนต่างๆ และผลประโยชน์ของซาอุดีฯ”

อย่างไรก็ตาม เตหะรานเลือกที่จะเพิกเฉยไม่ใส่ใจกับข้อความต่างๆ ของคำแถลงร่วมที่หยิบยกมาข้างต้นนี้ทั้งหมด และมุ่งแสดงความไม่พอใจของตนไปที่ข้อความย่อหน้าหนึ่งในคำแถลงร่วมระหว่างจีน-GCC โดยเฉพาะ

ข้อความในย่อหน้าดังกล่าว เขียนเอาไว้ดังนี้: “บรรดาผู้นำ (ของจีน และของรัฐ GCC) ยืนยันความสนับสนุนของพวกเขาที่ให้แก่ความพยายามเพื่อสันติภาพทั้งหมดทั้งสิ้น โดยรวมถึงความริเริ่มและความพยายามของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่จะบรรลุหนทางแก้ไขอย่างสันติในประเด็นปัญหา 3 หมู่เกาะ อันได้แก่ เกรตเทอร์ ทันบ์ (Greater Tunb) เลสเซอร์ ทันบ์ (Lesser Tunb) และอบู มูซา (Abu Musa) โดยผ่านการเจรจาแบบทวิภาคีที่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ต่างๆ ของกฎหมายระหว่างประเทศ และเพื่อแก้ไขประเด็นปัญหานี้อย่างสอดคล้องกับความถูกต้องชอบธรรมระหว่างประเทศ”

เบื้องต้นทีเดียว ตรงนี้มันไม่ได้มีอะไรที่เป็นระเบิดเปรี้ยงป้างหรอก แต่ เตหะราน รู้สึกไม่พอใจที่ ปักกิ่ง ละเลยไม่ไยดีกับจุดยืนของฝ่ายอิหร่านที่ประกาศเอาไว้ว่า ประเด็นปัญหานี้เป็นเรื่องที่ “ไม่สามารถเจรจาต่อรองกันได้” รวมทั้ง ปักกิ่ง ยังไม่ได้ห่วงใยสนใจกับเรื่องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของอิหร่าน

พวกนักวิจารณ์ฝ่ายสื่อ (คอมเมนเตเตอร์) ชาวอิหร่าน ตลอดจนพวกเจ้าหน้าที่ชาวอิหร่าน ต่างกล่าวหาว่า “จีนดูเหมือนเเลือกแล้วว่าจะอยู่ข้างใดในข้อพิพาทนี้” ขณะที่เอกอัครราชทูตจีนก็ถูกกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านเรียกตัวไปพบ และประธานาธิบดีอีบราฮิม ไรซี แสดงความไม่พอใจ โดยระบุพาดพิงถึงจีน
(ดูความคิดเห็นที่แสดงถึงความโกรธแค้นในหนังสือพิมพ์ เตหะราน ไทมส์ โดยใช้ชื่อเรื่องว่า China’s wrong move on the rotten rope of Persian Gulf Cooperation Council (ความเคลื่อนไหวอย่างผิดพลาดของจีนบนเชือกเปื่อยๆ ของคณะมนตรีความร่วมมืออ่าวเปอร์เซีย) ได้ที่ https://www.tehrantimes.com/news/479615/China-s-wrong-move-on-the-rotten-rope-of-Persian-Gulf-Cooperation)

ท่าทีเช่นนี้ของฝ่ายเตหะราน ถือเป็นเรื่องสาหัสจริงจังกันถึงขนาดไหน เป็นเรื่องที่ยากจะชี้ออกมาได้ในตอนนี้ อย่างไรก็ตาม การตัดพ้อที่แท้จริงของเตหะราน อาจจะมี 2 เรื่องทับซ้อนกันอยู่ โดยประการแรก ได้แก่การที่ความสัมพันธ์จีน-ซาอุดีฯ กำลังได้รับความยกย่องนับถือ และประการที่สอง มันอาจจะกลายเป็นการลดชั้นอิหร่านลงมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นแค่ชาติที่อยู่แถวสองในการเมืองของภูมิภาค

แน่นอนทีเดียว อิหร่านยังมีความร่วมมือเป็นหุ้นส่วนอยู่กับรัสเซีย ซึ่งดูมีอนาคตยาวไกล ทว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวโดยสาระแก่นสารแล้วก็เป็นเมทริกซ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitical matrix) ซึ่งตัวแปรหลายๆ ตัวต้องขึ้นอยู่กับความเปลี่ยนแปลงพลิกผันของการเผชิญหน้า ที่ มอสโก มีอยู่กับโลกตะวันตกภายใต้เงื่อนไขของการแซงก์ชัน เวลาเดียวกัน การเจรจาเรื่องนิวเคลียร์อิหร่านในกรุงเวียนนาซึ่งแน่นิ่งเป็นอัมพาตอยู่ในเวลานี้ ก็กลายเป็นตัวขัดขวางไม่ให้อิหร่านสถาปนาความสัมพันธ์ที่เป็นปกติกับ “ฝ่ายตะวันตกโดยรวม” (collective West) ได้

ในคำแถลงร่วมคราวนี้มีการพูดเพียงแค่ฉาบฉวยผิวเผิน เกี่ยวกับ “ความมุ่งมั่นตั้งใจของพวกเขา (จีนและอาหรับ) ในการพัฒนาความร่วมมือกกันละการประสานงานกันในแวดวงกลาโหม” และการที่ประเทศทั้งสอง “ร่วมมือกันเรื่องการใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างสันติ”

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความผูกพันกันทางด้านกลาโหมและความร่วมมือกันในเรื่องนิวเคลียร์ระหว่างจีนกับซาอุดีอาระเบียนั้นมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานทีเดียว ทั้งนี้ไม่ได้มีใครตระหนักรับรู้เรื่องราวนี้กันอย่างถ่องแท้เลย ในขณะที่เป็นที่ทราบกันอยู่ว่าพวกเจ้าหน้าที่ของซาอุดีฯ และของจีน มีการเจรจากันในเรื่องกลไกการชำระเงินเป็นสกุลเงินตราท้องถิ่น สำหรับใช้กับการทำธุรกรรมบางอย่างบางประเภท

เมื่อวิเคราะห์กันจนถึงที่สุดแล้ว อิหร่านมีแต่จะต้องประณามตัวเอง เนื่องจากอิหร่านวิ่งนำหน้าไปก่อนแล้วด้วยข้อตกลงโรดแมปเพื่อการลงทุนของจีนมูลค่า 400,000 ล้านดอลลาร์ในระยะเวลา 25 ปี ซึ่งฝ่าย เตหะราน เอง นำเอาเรื่องนี้มาคุยโวเอาไว้มากมาย แต่แล้วก็กลับรักษาโรดแมปนี้เอาไว้ไม่ได้ เวลานี้ จีนน่าที่จะชั่งน้ำหนักแล้วว่า ซาอุดีอาระเบียมีอะไรที่จะเสนอให้ยิ่งกว่าอิหร่านมากมายนักหนา ในเรื่องที่จะเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจกัน ทั้งในระยะสั้นและในระยะปานกลาง

ชาวซาอุดีฯ นั้นทราบดีถึงวิธีใช้การปฏิบัติการมารองรับสนับสนุนคำพูดของตน พวกเขาไม่ใช่พวกเคร่งคัมภีร์เคร่งลัทธิ และแผนการวิสัยทัศน์ปี 2030 ก็เป็นเสมือนรังผึ้งที่ประกอบไปด้วยโครงการระดับเมกะโปรเจกต์มากมาย แล้วเมื่อมีเจ้าชายมกุฎราชกุมาร โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน (Mohammed bin Salman) เป็นคนออกหน้าอีกด้วย ซาอุดีอาระเบียก็จะมีผู้นำที่กล้าตัดสินใจ ส่วนสำหรับจีน เศรษฐกิจของแดนมังกรเวลานี้กำลังชะลอตัว และมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องเพิ่มพูนการส่งออก

จริงๆ แล้ว การตัดสินใจที่จะให้จัดการประชุมซัมมิตจีน-ซาอุดีอาระเบียขึ้นมาทุกๆ 2 ปี คือการทำให้เกิดความแน่ใจว่าแบบวิธีของการบริหารปกครองชนิดจากบนลงล่าง ซึ่งถือเป็นคุณลักษณะของทั้งสองประเทศอยู่แล้ว จะได้รับการติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับความจำเป็นต่างๆ ขณะที่ทางด้านอิหร่าน สามารถที่จะกลายเป็นหุ้นส่วนผู้กวนโทสะได้อย่างง่ายๆ เมื่อพิจารณาจากกระบวนการตัดสินใจที่ต้องมีการพิจารณากันหลายๆ ระดับของพวกเขา ตลอดจนการดำเนินนโยบายแบบเผด็จการชนิดนิยมการสวนกระแสของพวกเขา

แน่นอนที่สุดว่า จีนยังถูกดึงดูดจากอิทธิพลบารมีของซาอุดีอาระเบีย ในโลกอาหรับ ซึ่งจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งประการหนึ่งที่มีศักยภาพในการช่วยผลักดันแผนการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางระดับภูมิภาคให้ก้าวคืบหน้าไป ในสภาพแวดล้อมของยุคสมัยภายหลังเกิดโรคระบาดใหญ่

อิหร่าน มีเหตุผลสมควรทีเดียวที่จะรู้สึกวิตกกังวลว่าดุลอำนาจในภูมิภาคแถบนี้อาจจะแปรเปลี่ยนไปทางข้างที่ซาอุดีอาระเบียคือฝ่ายได้เปรียบ เตหะรานนั้นไม่ได้หลงลืมไปหรอกถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ และมองเห็นว่า การไปเยือนซาอุดีอาระเบียของ สี อยู่ในแนวทางของการที่ประวัติศาสตร์ในเอเชียตะวันตกกำลังย้อนรอยหวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง นับตั้งแต่ที่มีการพบปะหารือกันอย่างลับๆ ระหว่าง แฟรงคลิน รูสเวลต์ ผู้เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในเวลานั้น กับกษัตริย์อับดุลอาซิส (Abdul Aziz) แห่งซาอุดีอาระเบีย ที่นอกเมืองอเล็กซานเดรีย ในปี 1945

ข้อเขียนนี้ผลิตขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่าง Indian Punchline (https://indianpunchline.com/) กับ Globetrotter (https://independentmediainstitute.org/globetrotter/) ซึ่งเป็นโครงการของ Independent Media Institute ที่เป็นผู้จัดหาข้อเขียนนี้ให้แก่เอเชียไทมส์

เอ็ม เค ภัทรกุมาร เป็นอดีตนักการทูตชาวอินเดีย
กำลังโหลดความคิดเห็น