รอยเตอร์ - ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการเจรจาระดับภูมิภาคเมื่อวันพฤหัสฯ (22) เพื่อหารือเกี่ยวกับวิกฤตในพม่า ที่รวมถึงการปรากฏตัวในระดับนานาชาติที่หาได้ยากของรัฐมนตรีจากรัฐบาลทหารหลายคน แต่สมาชิกหลักจำนวนหนึ่งของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ไม่ได้เข้าร่วมการเจรจาในครั้งนี้ด้วยแม้จะมีคำเชิญก็ตาม
รัฐมนตรีต่างประเทศของพม่า ลาว และกัมพูชา และรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศของเวียดนาม ได้เข้าร่วมการหารือที่จัดขึ้นโดยรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ตามการระบุของกาญจนา ภัทรโชค โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของไทย
ในการหารือครั้งนี้ไม่มีตัวแทนจากมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ที่เป็นกลุ่มประเทศที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารมากที่สุดในอาเซียน
ไม่มีการรายงานผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมจากการหารือ ซึ่งโฆษกของกระทรวงการต่างประเทศของไทยกล่าวว่า มุ่งเน้นไปที่ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการหาวิธีที่จะดำเนินการตามแผนสันติภาพของอาเซียนหรือฉันทมติ 5 ข้อ
สมาชิกในกลุ่ม 10 ประเทศ มีความเห็นขัดแย้งกันภายในเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมกับกองทัพที่ยึดอำนาจในวันที่ 1 ก.พ. ปีก่อนในการรัฐประหารที่ขัดขวางความก้าวหน้าทางประชาธิปไตย และทำให้พม่าตกอยู่ในความขัดแย้งและเศรษฐกิจตกต่ำ
นายพลพม่าถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมการประชุมระดับสูงของอาเซียน เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาเมื่อปีก่อนที่จะเริ่มเจรจากับฝ่ายตรงข้ามที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลพลเรือนที่ถูกโค่นล้มอองซานซูจี
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของไทยยังกล่าวว่า การประชุมที่มีขึ้นในวันพฤหัสฯ จัดขึ้นนอกรอบการเจรจาทวิภาคีไทย-พม่า ที่กรุงเทพฯ
“การปรึกษาหารือไม่ใช่การประชุมของอาเซียน แต่มุ่งหมายให้เสริมความพยายามร่วมกันอย่างต่อเนื่องของอาเซียนในการหาข้อยุติทางการเมืองอย่างสันติ” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศระบุในคำแถลง
วันนา หม่อง ละวิน รัฐมนตรีต่างประเทศของพม่าเข้าร่วมการเจรจา พร้อมกับ กาน ซอ รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุนและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจต่างประเทศ และโก โก หล่าย รัฐมนตรีความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศของพม่าระบุในคำแถลง
คำแถลงของพม่าระบุว่า คณะผู้แทนได้อธิบายกิจกรรมก่อการร้ายของกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG)
“ดังนั้น คณะผู้แทนพม่าขอเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกอาเซียนประณามกิจกรรมก่อการร้ายของ NUG และ PDF และไม่แสดงการสนับสนุน หรือให้ความช่วยเหลือในด้านสิ่งของและเงินทุนแก่องค์กรก่อการร้าย” คำแถลงของพม่าระบุ
ความสัมพันธ์ของพม่ากับอาเซียนตึงเครียดขึ้นจากการปฏิเสธที่จะยุติการโจมตีฝ่ายต่อต้าน
อาเซียนที่ตัดสินใจตามหลักฉันทมติ ได้เห็นพ้องกันเมื่อเดือนที่ผ่านมาที่จะกีดกันนายพลพม่าไปจนกว่าพวกเขาจะปฏิบัติตามแผนสันติภาพที่ชะงักงัน ซึ่งยังคงเป็นกระบวนการทางการทูตเพียงกระบวนการเดียวในตอนนี้
การประชุมมีขึ้นหนึ่งวันหลังจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติลงมติเกี่ยวกับพม่าเป็นครั้งแรกในรอบ 74 ปี เรียกร้องให้ยุติความรุนแรงและให้รัฐบาลทหารปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังทางการเมืองทั้งหมด
มาเลเซียยืนยันจะไม่เข้าร่วมการประชุมที่กรุงเทพฯ แต่ไม่ได้ให้เหตุผล ส่วนฟิลิปปินส์กล่าวว่ารัฐมนตรีต่างประเทศของตนจะไม่เข้าร่วมเช่นกัน โดยไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม
กระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย ประธานอาเซียนปี 2566 และเวียดนาม กล่าวว่านักการทูตระดับสูงของพวกเขากำลังยุ่งอยู่กับการเยือนกรุงจาการ์ตาอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีเวียดนาม
กระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์ไม่ได้ตอบสนองต่อคำร้องขอความคิดเห็น
แต่อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวทางการทูตรายหนึ่งที่ปฏิเสธจะระบุชื่อได้อ่านสิ่งที่พวกเขากล่าวว่าเป็นจดหมายที่ลงนามโดยรัฐมนตรีต่างประเทศของสิงคโปร์ถึงเจ้าภาพให้รอยเตอร์ฟัง ซึ่งคัดค้านการประชุม เนื่องจากอาเซียนตกลงที่จะกีดกันรัฐบาลทหารออกจากการประชุมลักษณะดังกล่าว ทั้งนี้รอยเตอร์ไม่สามารถตรวจสอบเนื้อหาของจดหมายได้
“การประชุมใดๆ ก็ตามที่จัดขึ้นภายใต้อาเซียนทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ไม่ควรหันเหออกจากการตัดสินใจนี้” จดหมายระบุ ตามการระบุของแหล่งข่าว.