xs
xsm
sm
md
lg

คณะมนตรีความมั่นคงลงมติเกี่ยวกับพม่าครั้งแรกในรอบ 74 ปี เรียกร้องยุติความรุนแรง-ปล่อยนักโทษการเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีมติเกี่ยวกับพม่าเป็นครั้งแรกในรอบ 74 ปี เมื่อวันพุธ (21) เรียกร้องการยุติความรุนแรงและให้รัฐบาลทหารพม่าปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด รวมถึงอองซานซูจี ผู้นำที่ถูกขับไล่

พม่าอยู่ในความโกลาหลวุ่นวายนับตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอองซานซูจีเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 ควบคุมตัวเธอและเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ และตอบโต้การชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยและผู้เห็นต่างด้วยกำลังอย่างรุนแรง

“วันนี้เราได้ส่งข้อความที่ชัดเจนหนักแน่นต่อกองทัพพม่า ซึ่งเราคาดหวังว่ามตินี้จะได้รับการปฏิบัติอย่างสมบูรณ์ และเรายังได้ส่งข้อความที่ชัดเจนไปถึงประชาชนพม่าว่าเราแสวงหาความคืบหน้าตามสิทธิ ความปรารถนา และผลประโยชน์ของพวกเขา” บาร์บารา วู้ดเวิร์ด เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำสหประชาชาติ กล่าวหลังการลงคะแนนต่อมติที่ร่างขึ้นโดยอังกฤษ

ทั้งนี้ มีความขัดแย้งกันมานานเกี่ยวกับวิธีการในการจัดการกับวิกฤตพม่า ด้วยจีนและรัสเซียนั้นคัดค้านมาตรการแข็งกร้าว ซึ่งทั้งสองประเทศต่างงดออกเสียงในวันพุธ (21) รวมถึงอินเดีย ส่วนสมาชิกที่เหลือในคณะอีก 12 คน ลงคะแนนเสียงเห็นชอบ

“จีนยังมีความกังวล” จาง จุน เอกอัครราชทูตจีนประจำสหประชาชาติ กล่าวหลังการลงคะแนนเสียง

“ไม่มีการแก้ไขอย่างรวดเร็วสำหรับปัญหานี้ และปัญหาจะแก้ไขได้อย่างถูกต้องหรือไม่นั้นสุดท้ายแล้วขึ้นอยู่กับพื้นฐานและตัวพม่าเอง” จาง จุน กล่าว

นอกจากนี้ ยังระบุว่าจีนต้องการให้คณะมนตรีความมั่นคงรับรองคำแถลงอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับพม่า ไม่ใช่มติ

ด้านเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหประชาชาติ กล่าวว่า มอสโกไม่ได้มองว่าสถานการณ์ในพม่าเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ดังนั้น จึงเชื่อว่าคณะมนตรีความมั่นคงไม่ควรเข้ามาจัดการ

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ยินดีกับการรับรองมติดังกล่าว โดยระบุว่า เป็นก้าวสำคัญของคณะมนตรีความมั่นคงในการแก้ไขวิกฤตและยุติการปราบปรามและการใช้ความรุนแรงต่อพลเรือนที่ทวีความรุนแรงขึ้นของรัฐบาลทหารพม่า

จนถึงขณะนี้ คณะมนตรีความมั่นคงมีเพียงความเห็นพ้องต่อคำแถลงอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับพม่า ที่กองทัพของประเทศได้ดำเนินการปราบปรามชาวมุสลิมโรฮิงญาในปี 2560 ที่สหรัฐฯ ระบุว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่พม่าปฏิเสธการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และกล่าวว่าพวกเขาดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบที่โจมตีด่านตำรวจ

การเจรจาเกี่ยวกับร่างมติของคณะมนตรีความมั่นคงเริ่มขึ้นในเดือน ก.ย. โดยข้อความเบื้องต้นที่รอยเตอร์ได้เห็นเรียกร้องให้ยุติการถ่ายโอนอาวุธไปยังพม่าและขู่คว่ำบาตร แต่หลังจากนั้นถ้อยความดังกล่าวได้ถูกลบออกไป

มติที่ผ่านการรับรองแสดงความวิตกกังวลอย่างลึกซึ้งต่อสถานการณ์ฉุกเฉินที่ยังคงบังคับใช้อย่างต่อเนื่องโดยกองทัพหลังจากยึดอำนาจและผลกระทบร้ายแรงต่อชาวพม่า

มติยังเรียกร้องให้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมและทันทีในการดำเนินการตามแผนสันติภาพที่ตกลงกันโดยสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และเรียกร้องให้ธำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันและกระบวนการประชาธิปไตย และดำเนินการเจรจาอย่างสร้างสรรค์และประนีประนอมตามเจตจำนงและผลประโยชน์ของประชาชน

สำหรับมติอีกมติเดียวเกี่ยวกับพม่าที่รับรองโดยคณะมนตรีความมั่นคงเกิดขึ้นในปี 2491 เมื่อคณะได้แนะนำให้สมัชชาใหญ่สหประชาชาติยอมรับพม่าเป็นสมาชิกขององค์กรโลก

จ่อ โม ตุน เอกอัครราชทูตพม่าประจำสหประชาชาติ ที่ยังคงดำรงตำแหน่งในสหประชาชาติ และเป็นตัวแทนรัฐบาลของซูจี กล่าวว่า แม้ว่ามติดังกล่าวมีองค์ประกอบเชิงบวก แต่รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) น่าจะต้องการข้อความที่แข็งกร้าวกว่านี้

“เราเข้าใจว่านี่เป็นเพียงขั้นแรกเท่านั้น รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงใช้มตินี้ดำเนินการต่อไปและแข็งกร้าวยิ่งขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่ารัฐบาลทหารและอาชญากรรมต่างๆ ยุติลง” จ่อ โม ตุน กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น