เอพี - คณะกรรมการของสหประชาชาติได้ขัดขวางรัฐบาลทหารพม่าอีกครั้งจากการแต่งตั้งผู้แทนเข้าทำหน้าที่ที่สหประชาชาติ นักการทูต 2 คนของสหประชาชาติระบุวานนี้ (14)
คณะกรรมการฝ่ายการแต่งตั้งของสมัชชาใหญ่ได้พบหารือกันเมื่อวันจันทร์ (13) และเลื่อนการดำเนินการต่อคำร้องของรัฐบาลทหาร นักการทูตระบุ
จากการตัดสินใจดังกล่าวหมายความว่า จ่อ โม ตุน ที่เป็นเอกอัครราชทูตพม่าประจำสหประชาชาติ ในขณะที่กองทัพขับไล่อองซานซูจี ผู้นำพลเรือน ในวันที่ 1 ก.พ.2564 จะยังคงทำหน้าที่ต่อไป
เมื่อเดือน ธ.ค.2564 ผู้ปกครองทหารพม่าก็ประสบกับความล้มเหลวในความพยายามที่จะส่งผู้แทนทำหน้าที่แทนจ่อ โม ตุน ที่ยังคงสนับสนุนรัฐบาลชุดก่อนและรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติที่ต่อต้านรัฐบาลทหาร
คริส กุนเนส ผู้อำนวยการโครงการ Myanmar Accountability Project ในลอนดอน ยินดีกับความเคลื่อนไหวของคณะกรรมการฝ่ายการแต่งตั้ง โดยกล่าวว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมีความสำคัญทางการทูตและในเชิงสัญลักษณ์อย่างมาก ในช่วงเวลาที่ผู้นำรัฐประหารที่ผิดกฎหมายพยายามแสวงหาการยอมรับจากนานาชาติ
“พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ได้กระทำความรุนแรงต่อประชาชนชาวพม่า ด้วยความรุนแรงในระดับที่ไม่เคยเห็นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับตั้งแต่พลพต ใช้เขมรแดงปกครองกัมพูชา” กุนเนส ระบุในคำแถลง
เดเมียน ลิลลี เจ้าหน้าที่โครงการเรียกร้องให้สหประชาชาติตรวจสอบให้แน่ใจว่า จ่อ โม ตุน ได้รับสิทธิและเอกสิทธิ์ทั้งหมดของสหประชาชาติ และระบุว่า รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติควรได้รับอนุญาตให้เป็นตัวแทนของพม่าในทุกหน่วยงานของสหประชาชาติ
ลิลลี ระบุว่า ในปัจจุบันพบว่ายังมีความไม่ลงรอยอย่างเห็นได้ชัด จากที่จ่อ โม ตุน ทำหน้าที่อยู่ในสมัชชาใหญ่ แต่ที่นั่งของพม่าในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกลับว่างเปล่า
ลิลลี ระบุว่า การดำเนินการของคณะกรรมการฝ่ายแต่งตั้งต้องปูทางไปสู่การแก้ไขความผิดปติเหล่านี้ที่กีดกันประชาชนพม่า 55 ล้านคนในพม่าจากโอกาสที่จะได้เป็นตัวแทนในสหประชาชาติโดยรัฐบาลที่พวกเขาเลือกซึ่งชนะอย่างถล่มทลายในปี 2563
ซูจี ที่ถูกจับกุมเมื่อกองทัพเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของเธอ ถูกตัดสินจำคุก 26 ปี และยังถูกตั้งข้อหาเพิ่มเติม กลุ่มสิทธินุษยชนและผู้สนับสนุนของเธอกล่าวว่าข้อหาที่ฟ้องร้องมีแรงจูงใจทางการเมือง และพยายามที่จะทำลายชื่อเสียงของเธอ และสร้างความชอบธรรมให้การยึดอำนาจของกองทัพ ขณะเดียวกัน ก็ขวางเธอไม่ให้กลับเข้าการเมือง.