เอเอฟพี - อองซานซูจี ผู้นำพลเรือนที่ถูกขับไล่ของพม่า ปฏิเสธข้อกล่าวหาคอร์รัปชันขณะขึ้นให้การต่อศาลที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหารเมื่อวันอังคาร (22) ตามการเปิดเผยของแหล่งข่าว
ซูจีถูกคุมขังตั้งแต่กองทัพโค่นล้มรัฐบาลของเธอในเดือน ก.พ.2564 ยุติช่วงเวลาสั้นๆ ของประเทศในระบอบประชาธิปไตย
เธอถูกตัดสินความผิดใน 14 ข้อหา ตั้งแต่การทุจริตคอร์รัปชัน ไปจนถึงครอบครองวิทยุสื่อสารวอล์กกี้-ทอล์กกี้อย่างผิดกฎหมาย และละเมิดมาตรการด้านโควิด-19 โดยเจ้าของรางวัลโนเบลผู้นี้ถูกตัดสินจำคุกรวมทั้งสิ้น 26 ปี จากข้อหาต่างๆ เหล่านั้น
สำหรับข้อหาทุจริตที่เธอถูกกล่าวหาอีก 5 กระทงที่เหลือนั้นเกี่ยวข้องกับการเช่าเฮลิคอปเตอร์ให้รัฐมนตรีในรัฐบาล คดีที่ซูจีถูกกล่าวหาว่าไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบและก่อให้เกิดความสูญเสียต่อรัฐ
ซูจีให้การต่อศาลเมื่อวันอังคาร (22) ว่าเธอเพียงแค่ให้คำแนะนำตามขั้นตอนของสำนักงาน แหล่งข่าวที่ทราบเรื่องนี้เผยกับเอเอฟพี
“ไม่มีการทุจริตในเรื่องนี้” ซูจี กล่าว ตามการระบุของแหล่งข่าว และเสริมว่าเธอมีสุขภาพดี
ข้อหาทุจริตในแต่ละข้อหานั้นมีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี
ทั้งนี้ นักข่าวไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมการพิจารณาของศาลและทนายความของซูจีถูกห้ามไม่ให้พูดคุยกับสื่อ
เมื่อเดือน มิ.ย. ซูจีถูกย้ายตัวไปกักบริเวณในเขตเรือนจำในกรุงเนปีดอ ขณะที่การพิจารณาคดีของเธอยังคงดำเนินต่อไปที่ศาลพิเศษ
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางการพม่าได้ปล่อยตัว วิคกี้ โบว์แมน อดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษ ฌอน เทอร์เนลล์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ และโทรุ คุโบตะ นักข่าวและผู้ผลิตภาพยนตร์สารคดีชาวญี่ปุ่น ในการนิรโทษกรรมครั้งใหญ่ของรัฐบาลทหาร
เทอร์เนลล์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลซูจี ถูกจับกุมตัวหลังการรัฐประหารไม่นาน และถูกจำคุกพร้อมกับซูจีในข้อหาละเมิดกฎหมายความลับทางการ
กองทัพกล่าวหาว่ามีการโกงเลือกตั้งอย่างกว้างขวางในการเลือกตั้งเดือน พ.ย.2563 ที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของซูจีได้รับชัยอย่างท่วมท้น แม้ว่าผู้สังเกตการณ์ต่างชาติจะระบุว่าการเลือกตั้งเป็นไปอย่างเสรีและยุติธรรมก็ตาม.