xs
xsm
sm
md
lg

ช่างเป็นปีที่เลวร้ายสำหรับ ‘นายกฯ คิชิดะ’ ของญี่ปุ่น เมื่อเขาดูจะทำได้ดีเพียงแค่เปลี่ยนนโยบายกลาโหมให้แข็งกร้าวยิ่งขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ออเรเลีย จอร์จ มัลแกน ***


สำหรับนายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น ปี 2023 ก็ใช่ว่าจะสบายอกสบายใจได้มากขึ้น หลังจากเผชิญกับความเลวร้ายมากมายในรอบปี 2022
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Annus horribilis for Japan’s stumbling Kishida
By AURELIA GEORGE MULGAN
19/12/2022

เรตติ้งความยอมรับในตัวนายกรัฐมนตรี ฟุมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น ดำดิ่งลงสู่พื้นที่อันตรายใต้ระดับ 30% ท่ามกลางการวิวาทโต้แย้งกันทางการเมือง, ค่าเงินเยนที่อ่อนปวกเปียก และ “โมเดลใหม่ของลัทธิทุนนิยม” ซึ่งเขาขายฝันเอาไว้ ยังไม่มีเค้าจะกลายเป็นความจริงขึ้นมาได้

รอบปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เป็นรอบปีที่ดีสำหรับญี่ปุ่น และก็ไม่ใช่เป็นรอบปีที่ดีสำหรับคณะรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ

ญี่ปุ่นต้องประสบกับสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคง [1] ที่ย่ำแย่เสื่อมทรามลงทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค ขณะที่ภายในประเทศก็เผชิญกับความท้าทายดุๆ หลายๆ อย่างที่ผสมผสานกันกลายเป็นมหาพายุที่รุนแรงมาก เป็นต้นว่า โรคระบาดโควิด-19 อัตราเงินเฟ้อที่กำลังพุ่งพรวด และเรื่องราวแตกแขนงบานปลายจากกรณีลอบสังหารอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม

คิชิดะ ในตอนแรกๆ โน้มน้าวชักชวนให้มองตัวเขาเป็น “ผู้นำที่ยุคสมัยนี้ต้องการ” เขาเริ่มต้นด้วยการได้รับคะแนนการยอมรับในเปอร์เซ็นต์ที่สูง และเสนอวาระทางนโยบายที่อัดแน่น แต่เมื่อถึงเดือนตุลาคม ความสนับสนุนรัฐบาลของเขาก็หล่นฮวบลงจนอยู่ต่ำกว่า 30% [2] และนิตยสารที่ได้รับความนิยมสูงฉบับหนึ่งกล่าวถึงความคิดเห็นของสาธารณชนว่า “รู้สึกอิดหนาระอาใจมากขึ้นเรื่อยๆ กับการขาดไร้ความเป็นผู้นำของ คิชิดะ” [3]

นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนก่อนๆ หลายคน อย่างเช่น โยชิฮิเดะ ซูงะ ที่ครองเก้าอี้ตัวนี้ก่อนหน้า คิชิดะ ได้ลาออกจากตำแหน่งเมื่อเรตติ้งการยอมรับผลงานลดลงต่ำถึงขนาดนี้

แล้วสำหรับคณะรัฐมนตรีคิชิดะ ข่าวก็เลวร้ายพอๆ กันโดยพวกเขาได้รับคะแนนการยอมรับเพียงแค่ 31% [4] เท่านั้นในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สิ่งนี้ตามหลังการลาออกไปของรัฐมนตรีหลายๆ คน [5] แบบต่อเนื่องเป็นชุด ราวกับตัวโดมิโนกำลังพังครืนและพาให้ตัวถัดๆ ไปพลอยล้มต่อๆ กันอย่างระเนระนาด ล่าสุด ชะตากรรมของรัฐมนตรีอีกผู้หนึ่งเวลานี้ยังคงแขวนอยู่บนเส้นด้าย [6]

ความผูกพันระหว่างพรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democratic Party หรือ LDP) ของคิชิดะ ที่เป็นพรรคแกนนำรัฐบาลอยู่ในเวลานี้ กับโบสถ์แห่งความสามัคคี (Unification Church) ค่อยๆ ถูกเปิดเผยออกมาให้สาธารณชนทราบว่ามีขนาดขอบเขตและความล้ำลึกระดับไหน นับตั้งแต่การถึงแก่อสัญกรรมของ อาเบะ ประเด็นนี้เร่งรัดให้ต้องมีการปรับคณะรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคม เมื่อมีรัฐมนตรีหลายคนเปิดเผยว่ามีความเชื่อมโยงกับนิกายย่อยๆ ของศาสนาคริสเตียนนิกายนี้ และคิชิดะ ออกมาแนะนำ [7] ให้พวกสมาชิกพรรครัฐบาลตัดความเชื่อมโยงใดๆ ก็ตามที่มีอยู่กับโบสถ์แห่งความสามัคคี

อย่างไรก็ดี ยังต้องใช้เวลา 5 เดือนกว่าที่รัฐบาลจะสามารถผลิตร่างกฎหมายออกมา เพื่อป้องกันไม่ให้มีการขูดรีดฉวยประโยชน์ทางการเงิน [8] ชนิดที่สร้างความคับแค้นจนกลายเป็นแรงจูงใจกระตุ้นฆาตกรผู้ลงมือลอบสังหาร อาเบะ

การประกาศของนายกรัฐมนตรีผู้นี้ตั้งแต่ช่วงเข้ารับตำแหน่ง ที่จะ “ใช้การนำด้วยการรับฟัง” [9] เวลานี้เลือนหายไปแล้ว จากรายงานข่าวที่ว่าเขาไม่แยแสกับคำปรึกษาของพวกที่อยู่ล้อมรอบตัวเขา [10] รวมทั้ง ฮิโรกาซุ มัตสึโนะ (Hirokazu Matsuno) เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (Chief Cabinet Secretary) คิชิดะ นั้นขาดไร้โครงสร้างความสนับสนุนที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง 2 โครงสร้าง อย่างแรกคือ “สุนัขเฝ้าบ้าน” ที่จะต้องคอยปกป้องเขา และช่วยทำงานวางพื้นฐานทางนโยบาย –ซึ่งเป็นบทบาทที่อดีตนายกรัฐมนตรี ซูงะ เมื่อตอนยังเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เคยทำให้แก่ อาเบะ

อย่างที่สอง คือ คิชิดะขาดแคลนผู้สนับสนุนชนิดที่คอยพิทักษ์อารักขาเขาอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่อสัญกรรมของ อาเบะ ผู้ซึ่ง คิชิดะ พึ่งพาอาศัย ทั้งในฐานะที่เสมือนเป็นสมาชิกในบอร์ดบริหารผู้คอยให้คำชี้แนะ เป็นที่ปรึกษา และเป็นผู้ทรงอิทธิพลภายในพรรค

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือ สำนักนายกรัฐมนตรีที่ทำหน้าที่ได้อย่างขาดตกบกพร่อง และคณะรัฐบาลซึ่งบริหารงานภายใต้แรงกดดันหนักจากเรตติ้งความยอมรับที่หดหายลงทุกที แม้กระทั่งแพกเกจกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรอบด้านที่ออกมาเมื่อเดือนตุลาคม ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อตอบโต้กับภาวะค่าเงินเยนอ่อนยวบ [11] ขณะที่ราคาข้าวของพุ่งสูง ก็ไม่ได้ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของสาธารณชนในคณะบริหารชุดนี้กลับกระเตื้องขึ้นมาอะไรนัก [12]

เวลานี้ ราคาผู้บริโภค (ยกเว้นพวกอาหาร) สูงขึ้นเกือบๆ 4% ในระยะเวลา 1 ปี ขณะที่รายได้ต่อปีเพิ่มเพียงแค่ 3% ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลสถิติขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) [13] ในปัจจุบัน จัดให้รายได้ประชาชาติเฉลี่ยต่อหัวประชากรต่อปีของญี่ปุ่น อยู่ในอันดับ 11 จากข้างล่าง ในบรรดาประเทศสมาชิกที่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ 34 ประเทศ

แผนการริเริ่มด้านนโยบายเศรษฐกิจของ คิชิดะ ซึ่งในช่วงแรกๆ ของคณะบริหารของเขา ได้รับการป่าวร้องว่าเป็นความริเริ่มชนิดเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ (paradigm-shifting) อย่างเช่น การปฏิเสธไม่เอาแนวความคิดลัทธิเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) และการสร้าง “โมเดลใหม่ของลัทธิทุนนิยมสำหรับญี่ปุ่น” จนถึงตอนนี้ยังคงไม่ได้กลายเป็นความจริงขึ้นมา

ก่อนหน้านี้ คิชิดะ ดูเหมือนปรารถนาที่จะเข้าไปแทรกแซงในตลาดเสรี [14] ทว่าการสร้างฐานชนชั้นกลางจำนวนกว้างขวางขึ้นมาโดยผ่านการจัดสรรแบ่งปันรายได้กันใหม่ [15] การลดความไม่เสมอภาคเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ และการเพิ่มค่าจ้าง ยังคงเป็นเรื่องลมๆ แล้งๆ ขณะที่ไม่มีความก้าวหน้าสำคัญอะไรเช่นกันในเรื่องการผลักดันมาตรการหลักๆ อย่างเช่น การปฏิรูปด้านระเบียบกฎหมาย และการเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน

โดยทั่วไปแล้ว คณะบริหารของ คิชิดะ กำลังประพฤติแบบเดียวกันเป๊ะกับพวกรัฐบาลชุดก่อนๆ ของญี่ปุ่น นั่นคือ การให้ความสำคัญลำดับต้นๆ แก่เรื่องการส่งเสริมเพิ่มพูนการใช้จ่ายระยะสั้น [16] ยิ่งกว่าเรื่องการปฏิรูปต่างๆ ในเชิงโครงสร้าง

ยังดีที่จุดอ่อนข้อบกพร่องในด้านแนวรบภายในประเทศเช่นนี้ ได้รับการถ่วงดุลจากกำหนดนัดหมายด้านการทูตที่แน่นขนัด [17] ของนายกรัฐมนตรีผู้นี้ โดยมีทั้งการพบปะหารือฉันมิตรกับประธานาธิบดียุน ของเกาหลีใต้ และกับประธานาธิบดีสี ของจีน รวมทั้งมีลู่ทางโอกาสอย่างมากที่จะได้เห็นการจัดตั้งสายติดต่อฮอตไลน์ด้านกลาโหมระหว่างญี่ปุ่น-จีน [18] ขึ้นมาในปี 2023 ส่วนความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับไต้หวัน ก็กำลังขยายตัวในระดับการเมือง [19] เช่นกัน อันเป็นการสืบต่อมรดกที่รับตกทอดมาจากยุค อาเบะ

จุดโฟกัสอีกจุดหนึ่งได้แก่การส่งเสริมแผนการริเริ่มให้มีภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างของ อาเบะ ทว่าความท้าทายทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคแถบนี้ที่กำลังสร้างแรงกดดันสูงที่สุด กลับเป็นเรื่องระดับภัยคุกคามต่อความมั่นคงของญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้น [20] ทั้งจากขีปนาวุธแบบทิ้งตัวของเกาหลีเหนือ รัสเซียที่ดูมีความมุ่งร้ายมากขึ้น ตลอดจนการที่จีนขยายแสนยานุภาพทางทหารอย่างพิเศษผิดธรรมดา รวมทั้งการที่จีนแสดงท่าทียืนกรานแข็งกร้าวในภูมิภาคแถบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ [21]

ผลลัพธ์ที่ออกมาก็คือ มีการขบคิดทบทวนครั้งใหญ่ในนโยบายกลาโหมของญี่ปุ่น โดยรัฐบาลได้อนุมัติการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติฉบับหลักๆ ของประเทศ 3 ฉบับ [22] และ 1 ในเอกสารเหล่านี้ได้แก่ ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Strategy) [23] ซึ่งฉบับที่ปรับแก้ใหม่แล้วเวลานี้มีการระบุว่า รัสเซีย เป็นประเทศที่ “มีศักยภาพจะเป็นภัยคุกคาม” ขณะที่ จีน เป็น “ความท้าทายทางยุทธศาสตร์ที่ใหญ่โตที่สุดเท่าที่เคยประสบมา”

เรื่องที่จัดว่าเป็นความคืบหน้าสำคัญอย่างหนึ่งเกี่ยวกับสมรรถนะทางด้านกลาโหม ได้แก่การที่ญี่ปุ่นจะเร่งรัดเพื่อให้ได้ครอบครองพวกขีปนาวุธตอบโต้การโจมตี โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบการป้องกันทางอากาศและขีปนาวุธที่บูรณาการเข้าด้วยกัน ซึ่งจะมีความสามารถในทาง “การป้องปรามชนิดมุ่งที่การลงโทษ” (punitive deterrence) [24]

นี่จะรวมถึงการซื้อขีปนาวุธร่อน (cruise missile) แบบ “โทมาฮอว์ก” (Tomahawk) ที่มีระบบนำทางไปสู่เป้าหมายอย่างแม่นยำ จากสหรัฐฯ จำนวน 500 ชุด เพื่อใช้เป็นมาตรการอุดช่องโหว่ไว้ชั่วคราว [25] จนกว่าญี่ปุ่นจะสามารถพัฒนาขีปนาวุธที่ต้องการได้ด้วยตัวเอง นอกจากนั้น ยังจะรวมถึงการทำงานร่วมกับสหรัฐฯ ในเรื่องแผนการร่วมเพื่อสร้างสมรรถนะการตอบโต้การโจมตี [26] และความร่วมมือที่อาจเกิดขึ้นมาระหว่างนำออกประจำการใช้งาน

อย่างไรก็ตาม จากการเพิ่มงบประมาณรายจ่ายด้านกลาโหม ซึ่งโดยองค์รวมแล้วก็เป็นการขยับสูงขึ้นมาอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ เวลานี้ได้กลายเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดการต่อสู้โต้แย้งกันอย่างหนัก แม้กระทั่งภายในพรรค LDP เอง [27] คิชิดะ ให้คำมั่นสัญญาที่จะใช้จ่ายงบประมาณด้านกลาโหมเป็นจำนวน 43 ล้านล้านเยน (313,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตลอดช่วงเวลา 5 ปีนั่นคือจนถึงปีงบประมาณ 2027 [28] ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นกว่า 50% หรือเท่ากับ 2% ของจีดีพี ทว่าประสบกับการคัดค้านทัดทานในทุกๆ ครั้งที่มีการเสนอทางเลือกต่างๆ เพื่อหาเงินมาใช้จ่ายในส่วนซึ่งเพิ่มขึ้นมานี้

ลงท้าย พรรค LDP ยินยอมอนุมัติแผนแม่บทพื้นฐานสำหรับการขึ้นภาษี [29] ซึ่งจะมีทั้งการเพิ่มภาษีเงินได้บุคคล และภาษีนิติบุคคล ตลอดจนการขึ้นอากรสรรพสามิตที่เก็บจากยาสูบ

มันช่างเป็นปีที่ลำบากยากเย็นสำหรับ คิชิดะ ทั้งๆ ที่มี “การเริ่มต้นใหม่อย่างสดใส” [30] ด้วยการที่เขานำพรรค LDP กวาดชัยชนะมโหฬารในการเลือกตั้งสภาสูงเมื่อเดือนกรกฎาคม ยังดีอยู่บ้างที่เสียงสนับสนุนซึ่งให้แก่คณะรัฐมนตรีของเขามีการกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยในเดือนธันวาคม [31] และทุกๆ ฝักฝ่ายภายในพรรค LDP ยังคงให้การรับรองสนับสนุนฐานะผู้นำของเขา

สำหรับปีหน้า ยังจะไม่ใช่เป็นปีที่สบายมากขึ้นสำหรับ คิชิดะ อยู่ดี เมื่อการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นจะมาถึงในเดือนเมษายน และประเด็นปัญหาใหญ่ๆ ยังคงวางแบอยู่บนโต๊ะ เป็นต้นว่า ความท้าทายต่างๆ ด้านความมั่นคงที่หนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ อัตราการเกิดของผู้คนในประเทศที่ยังคงทรุดต่ำต่อไป [32] ตลอดจนอุปสรรคที่เอาชนะได้ยากทั้งหลายซึ่งคอยทัดทานการปฏิรูปเศรษฐกิจ

ออเรเลีย จอร์จ มัลแกน เป็นศาสตราจารย์อยู่ที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ วิทยาเขตแคนเบอรา

ข้อเขียนนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกโดย East Asia Forum ซึ่งมีที่ทำการอยู่ที่สำนักนโยบายสาธารณะครอว์ฟอร์ด (Crawford School of Public Policy) ภายในวิทยาลัยเอเชียและแปซิฟิก (College of Asia and the Pacific) ณ มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University)

เชิงอรรถ
[1] https://crawford.anu.edu.au/publication/ajrc-working-papers/20735/abe-continued-lead-defence
[2] https://www.reuters.com/world/asia-pacific/approval-govt-japans-kishida-falls-below-30-first-time-jiji-2022-10-13/
[3] https://www.fujisan.co.jp/product/1120/new/
[4] https://mainichi.jp/english/articles/20221121/p2a/00m/0na/018000c
[5] https://mainichi.jp/english/articles/20221122/p2a/00m/0op/014000c
[6] https://japannews.yomiuri.co.jp/politics/politics-government/20221129-73903
[7] https://www.abc.net.au/news/2022-08-10/unification-church-japan-cabinet-reshuffle/101319718
[8] https://japannews.yomiuri.co.jp/politics/politics-government/20221210-76355/
[9] https://asia.nikkei.com/Spotlight/The-Big-Story/Leading-by-listening-Kishida-offers-Japan-a-traditional-style-of-politics
[10] https://diamond.jp/articles/-/313348
[11] https://www.eastasiaforum.org/2022/11/09/weak-yen-reveals-japans-fundamental-challenges/
[12] https://diamond.jp/articles/-/313348
[13]https://news.yahoo.co.jp/articles/f1d076089469f088bcf5a72074e9bdebff2efbe8
[14] https://www.japantimes.co.jp/news/2021/09/29/national/politics-diplomacy/kishida-stable-realist/
[15] https://asia.nikkei.com/Politics/Kishidanomics-promises-virtuous-growth-cycle-with-redistribution
[16] https://asia.nikkei.com/Spotlight/Comment/Kishida-faces-deep-loneliness-in-bid-to-win-back-Japan-s-public
[17] https://www.japantimes.co.jp/news/2022/11/21/national/kishida-asia-trip-analysis/
[18] https://www.japantimes.co.jp/news/2022/11/19/national/politics-diplomacy/kishida-xi-summit-diplomacy-mode/
[19] https://mainichi.jp/articles/20221210/k00/00m/010/209000c
[20] https://crawford.anu.edu.au/publication/ajrc-working-papers/20735/abe-continued-lead-defence
[21] https://www.cbsnews.com/news/japan-defense-force-spending-budget-doubling-china-taiwan-north-korea/
[22] https://www.nippon.com/en/news/yjj2022121200501
[23] https://japannews.yomiuri.co.jp/politics/defense-security/20221216-77792/
[24] https://mainichi.jp/articles/20221206/k00/00m/010/503000
[25] https://www.yomiuri.co.jp/politics/20221129-OYT1T50232/
[26] https://asia.nikkei.com/Politics/Japan-to-work-with-U.S.-on-joint-counterattack-capability-plan
[27] https://asia.nikkei.com/Politics/Japan-PM-faces-cabinet-rebellion-over-tax-hikes-for-defense
[28] https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-12-13/japan-appears-44-billion-short-as-it-seeks-to-bolster-defense?srnd=premium-europe&leadSource=uverifyper%20cent20wall
[29] https://www.japantimes.co.jp/news/2022/12/16/business/economy-business/tax-reform-package-proposal/
[30] https://www.japantimes.co.jp/news/2022/07/10/national/politics-diplomacy/2022-upper-house-election-result/
[31] https://japannews.yomiuri.co.jp/politics/politics-government/20221205-75206
[32] https://www.eastasiaforum.org/2022/10/26/will-japans-population-shrink-or-swim/
กำลังโหลดความคิดเห็น