xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยบาทเปิดตลาดที่ 34.84 แนวโน้มอ่อนค่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (20 ธ.ค.) ที่ระดับ 34.84 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.81 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.70-34.90 บาท/ดอลลาร์ บรรยากาศในตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) กดดันโดยความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) หากเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องตาม Dot Plot ล่าสุด ซึ่งความกังวลดังกล่าวได้ส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดต่างทยอยลดการถือครองสินทรัพย์ โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่ม Tech และหุ้นสไตล์ Growth ที่อ่อนไหวกับการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย หรือบอนด์ยิลด์ (Amazon -3.4% Alphabet -2.0%) ทำให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลงต่อ -1.49% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.90%

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่าภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดอาจยังคงหนุนความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย อย่างเงินดอลลาร์ในช่วงนี้ รวมถึงส่งผลให้ผู้เล่นต่างชาติบางส่วนทยอยขายทำกำไรหุ้นไทยเพิ่มเติมได้ ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยดังกล่าวสามารถกดดันให้เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงได้ นอกจากนี้ หากราคาทองคำย่อตัวลงต่อเนื่องอาจเห็นโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวซึ่งสามารถกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้เช่นกัน อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า แรงกดดันเงินบาทดังกล่าวอาจไม่ได้ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงจนทะลุแนวต้านสำคัญแรกของเงินบาทแถวโซน 35.00-35.20 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ง่ายนัก หากไม่ได้มีปัจจัยลบอื่นๆ เข้ามากดดันเพิ่มเติม เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่ในตลาดต่างรอจังหวะให้เงินบาทอ่อนค่าเพื่อทยอยขายเงินดอลลาร์ หรือเพิ่มสถานะ Short USDTHB (มองว่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในระยะถัดไป)

ส่วนในวันนี้ เรามองว่าผลการประชุม BOJ อาจสร้างความผันผวนให้ตลาดการเงินได้ เพราะหากทาง BOJ เริ่มมีการส่งสัญญาณพร้อมปรับนโยบายการเงินให้ตึงตัวมากขึ้น เช่น อาจพิจารณาทบทวนนโยบายการเงินหรือมีการปรับกรอบของบอนด์ยิลด์ 10 ปี ญี่ปุ่น อาจส่งผลให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง และอาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท

ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรปสามารถรีบาวนด์ขึ้นกว่า +0.27% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของราคาหุ้นกลุ่มพลังงาน (BP +2.5% TotalEnergies +1.8%) ตามราคาน้ำมันดิบจากแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานในจีนที่อาจเพิ่มสูงขึ้น หลังการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด COVID-19 นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด อย่างดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเยอรมนี (Ifo Business Climate) ในเดือนธันวาคม ที่ปรับตัวขึ้นดีกว่าคาด อย่างไรก็ดี ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจหลัก ทั้งสหรัฐฯ และยุโรปเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลักยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันไม่ให้ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวขึ้นไปได้มาก

ทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่าตลาดการเงินจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง แต่ผู้เล่นในตลาดบางส่วนเริ่มทยอยปรับมุมมองต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลักที่ยังคงย้ำจุดยืนเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง และเลือกที่จะขายทำกำไรบอนด์ระยะยาวออกมาบ้าง ส่งผลให้บอนด์ยิลด์ระยะยาว อย่างบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 3.60% ซึ่งเรามองว่า หากนักลงทุนกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจหลักเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า ควรรอจังหวะที่บอนด์ยิลด์ระยะยาว อย่างบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ในการทยอยเข้าซื้อสะสม (Buy on Dip)

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ส่งผลให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 104.7 จุด อย่างไรก็ดี แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง แต่การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องใกล้ระดับ 1,797 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราประเมินว่า หากราคาทองคำย่อตัวลงต่อเนื่องอาจทำให้มีโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวกลับเข้ามาบ้าง ซึ่งโฟลว์ดังกล่าวมีส่วนในการกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง

สำหรับวันนี้ ไฮไลต์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะจับตา คือ ผลการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดยเรามองว่า แม้ว่าเงินเฟ้อของญี่ปุ่นจะเร่งตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) อาจแตะระดับ 3.9% ในเดือนพฤศจิกายน แต่ BOJ อาจเลือกที่จะใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อ ด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ -0.10% พร้อมเดินหน้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น 10 ปี เพื่อตรึงระดับบอนด์ยิลด์ไม่ให้สูงกว่า 0.25% ไปมาก หลังเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงเผชิญแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและภาวะเงินเฟ้อที่สูงกดดันการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญ คือ แนวโน้มการปรับนโยบายการเงินในอนาคต โดยเฉพาะในปีหน้าที่ผู้ว่า BOJ คนปัจจุบันจะหมดวาระลง โดยหากทาง BOJ มีการสื่อสารที่ชัดเจนถึงแนวโน้มการปรับนโยบายดังกล่าว ก็อาจหนุนให้ค่าเงินเยน (JPY) แข็งค่าขึ้นได้บ้างในระยะสั้น

ส่วนในฝั่งจีน ตลาดมองว่าบรรดาธนาคารพาณิชย์ในจีนอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกหนี้ชั้นดี (Loan Prime Rate) ประเภท 5 ปี ลง -10bps สู่ระดับ 4.20% เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการพยุงภาคอสังหาฯ ของทางการจีน ในขณะที่อัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 1 ปี ซึ่งถูกใช้ในการคำนวณอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ภาคเอกชนและครัวเรือนอาจยังคงอยู่ที่ระดับ 3.65%

และในฝั่งยุโรป ตลาดคาดว่าความกังวลปัญหาขาดแคลนพลังงานที่คลี่คลายลง รวมถึงแนวโน้มเงินเฟ้อชะลอลงอาจช่วยหนุนให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) ของยูโรโซนปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -22 จุด ในเดือนธันวาคม จาก -23.9 จุด ในเดือนก่อนหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น