นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทยเผย ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (14 ธ.ค.) ที่ระดับ 34.58 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 34.80 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.70 บาท/ดอลลาร์ โดยรายงานเงินเฟ้อทั่วไป CPI และเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI (ซึ่งไม่รวมผลของราคาอาหารและพลังงาน) ของสหรัฐฯ ที่ชะลอลงมากกว่าคาดสู่ระดับ 7.1% และ 6.0% ตามลำดับ ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างมั่นใจมากขึ้นว่าเฟดจะชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยและมีโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยไปได้ไม่ไกลกว่าระดับ 5.00% ที่ตลาดคาดการณ์ไว้ (จาก CME FedWatch Tool) โดยมุมมองดังกล่าวได้ส่งผลให้บรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) และทำให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq กลับมาปรับตัวขึ้น +1.01% ส่วนดัชนี S&P500 สามารถปิดตลาด +0.73%
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่าแม้เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นเร็วในช่วงเมื่อคืนที่ผ่านมา ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้าน แต่ทว่า การแข็งค่าของเงินบาทอาจเริ่มชะลอลง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอผลการประชุมเฟดเพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ก่อนที่จะปรับสถานะการถือครองที่ชัดเจนอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี ในระหว่างวันก่อนที่ตลาดจะรับรู้ผลการประชุมเฟดในช่วงเช้ามืดของวันพฤหัสฯ เงินบาทอาจพอเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นได้บ้างตามบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาด รวมถึงฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่อาจยังคงเข้าซื้อบอนด์ไทยทั้งระยะสั้นและระยะยาว ตามการปรับตัวลดลงของบอนด์ยิลด์ในฝั่งสหรัฐฯ
ทั้งนี้ เราประเมินว่าแนวรับสำคัญของเงินบาทอาจอยู่ในช่วง 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้เล่นบางส่วนอาจทยอยขายทำกำไรการแข็งค่าต่อเนื่องของเงินบาทออกมาบ้าง และเชื่อว่า ผู้เล่นส่วนใหญ่จะยังไม่รีบปรับสถานะถือครองจนกว่าจะรับรู้ผลการประชุมเฟด ซึ่งเราประเมินว่าหากผลการประชุมเฟด คาดการณ์ดอกเบี้ยเฟด (Dot Plot) และถ้อยแถลงของประธานเฟดต่างสะท้อนความจำเป็นของการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง จนอาจแตะระดับสูงสุดที่มากกว่าระดับ 5.00% ที่ตลาดคาดการณ์ล่าสุด หรือมีความ “Hawkish” มากกว่าที่ตลาดคาด อาจส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดกลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น ส่งผลให้เราอาจเห็นเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้น พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งในกรณีดังกล่าวอาจเห็นการย่อตัวของราคาทองคำ และการอ่อนค่าลงของเงินบาทได้ แต่เรามองว่า เงินบาทจะไม่ได้อ่อนค่าไปมากจนทะลุโซนแนวต้านสำคัญที่ระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่ต่างรอจังหวะเงินบาทอ่อนค่า เพื่อทยอยขายเงินดอลลาร์ หรือเพิ่มสถานะ Short USDTHB (มองว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น)
ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรปพลิกกลับมาปรับตัวขึ้นกว่า +1.29% ตามบรรยากาศของตลาดการเงินที่เดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง จากรายงานเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ชะลอลงมากกว่าคาด ซึ่งได้ส่งผลให้หุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ในฝั่งยุโรปต่างปรับตัวขึ้นแรง เช่น ASML +4.2% Adyen +4.0% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (TotalEnergies +2.2% Equinor +2.0%) หลังราคาน้ำมันดิบยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด COVID-19 ของทางการจีน
ทางด้านตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ต่างเชื่อว่าเฟดจะชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยและอาจขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ไม่เกิน 5.00% ไปมาก หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ ชะลอลงต่อเนื่อง ยังคงหนุนให้บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลงราว -10bps ใกล้ระดับ 3.50% อย่างไรก็ดี เรามองว่า บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัว sideways จนกว่าตลาดจะรับรู้แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเฟดเดือนธันวาคม (เช้าตรู่วันพฤหัสฯ นี้) และมองว่า หากบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น อาจเห็นบรรดาผู้เล่นในตลาดทยอยเพิ่มการถือครองพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวได้ (Buy on Dip) เพื่อเตรียมปรับพอร์ตการลงทุนให้พร้อมรับมือกับแนวโน้มเศรษฐกิจหลัก ทั้งสหรัฐฯ และยุโรปที่เสี่ยงจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ในฝั่งตลาดค่าเงิน ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดได้กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงหนัก เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 104 จุด (หลุดจากโซนแนวรับสำคัญที่ 105 จุดอีกครั้ง) นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) สามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้านแถว 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่ระดับ 1,822 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ซึ่งเรามองว่า การรีบาวนด์ของราคาทองคำใกล้โซนแนวต้านดังกล่าวอาจทำให้มีผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำได้บ้าง ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวมีส่วนช่วยทำให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้น
สำหรับวันนี้ไฮไลต์สำคัญคือ ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) ซึ่งจะรับรู้ในช่วงเวลา 02.00 น.ของวันพฤหัสฯ ตามเวลาในประเทศไทย โดยเรามองว่า แม้อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ อาจผ่านจุดสูงสุดไปแล้วและมีแนวโน้มชะลอลง แต่แรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังคงมีอยู่จะส่งผลให้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดตัดสินใจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง แต่ในอัตราชะลอลง (+50bps จาก +75bps) สู่ระดับ 4.25-4.50% และมีความเป็นไปได้ว่า ประธานเฟด รวมถึงบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดอาจแสดงความกังวลแนวโน้มเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังอยู่ในระดับสูง (Core CPI ล่าสุด 6.0%) ซึ่งอาจสะท้อนผ่านมุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่จะสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับ 5.00% หรือ 5.25% (ค่ากลางของคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายสิ้นปี 2023 อาจอยู่ที่ระดับ 4.875%) รวมถึงการปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นสำหรับปี 2022 และ 2023 ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาการปรับประมาณการอัตราการเติบโตเศรษฐกิจและอัตราว่างงานของเฟด โดยเราคาดว่า ภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงมากขึ้นอาจทำให้เฟดพิจารณาปรับลดอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในปี 2023 สู่ระดับต่ำกว่า +1.0% (vs. +1.2% ในคาดการณ์ ณ การประชุมเดือนกันยายน) พร้อมปรับเพิ่มอัตราการว่างงานสู่ระดับ 4.6% (vs. 4.4% ในคาดการณ์ครั้งก่อน)