ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ระบุวานนี้ (9 ธ.ค.) ว่า มอสโกอาจหันไปใช้มาตรการ “ชิงโจมตีก่อน” (preemptive military strikes) ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์ของสหรัฐฯ พร้อมเตือนว่ารัสเซีย “มีอาวุธ” ที่จะทำเช่นนั้นได้ ซึ่งทำให้หลายฝ่ายตีความว่านี่เป็นอีกครั้งที่ ปูติน ขู่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ ท่ามกลางความสัมพันธ์กับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ที่กำลังตึงเครียดหนักจากปัญหายูเครน
ระหว่างที่ไปร่วมประชุมซัมมิตระดับภูมิภาคที่คีร์กีซสถาน ปูติน ได้กล่าวอ้างถึงนโยบายของสหรัฐฯ โดยระบุว่า “เรากำลังคิดเรื่องนี้อยู่ เพราะพวกเขาเองก็เอ่ยถึงมาตรการเช่นนี้อย่างโจ่งแจ้งหลายครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา”
หลายปีมานี้ รัฐบาลเครมลินได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะพัฒนาศักยภาพที่เรียกว่า “Conventional Prompt Global Strike” ซึ่งหมายถึงความสามารถในการชิงโจมตีเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของศัตรูด้วยขีปนาวุธนำวิถีที่มีความแม่นยำสูงภายในระยะเวลา 1 ชั่วโมง ไม่ว่าเป้าหมายนั้นจะอยู่ที่ใดในโลกก็ตาม
“เมื่อเอ่ยถึงการโจมตีเพื่อปลดอาวุธ บางทีก็น่าคิดเหมือนกันว่า เราควรจะนำไอเดียของสหรัฐฯ มาปรับใช้บ้างหรือไม่ ไอเดียที่พวกเขาใช้เพื่อปกป้องความมั่นคงของตัวเอง” ปูติน กล่าวด้วยรอยยิ้ม พร้อมย้ำว่ามาตรการดังกล่าวจะมีวัตถุประสงค์เพื่อทำลายศูนย์บัญชาการของศัตรูเป็นหลัก
ปูติน ยังอ้างด้วยว่ารัสเซียมี “ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก” ที่สามารถทำภารกิจโจมตีดังกล่าวได้ทันที ในขณะที่สหรัฐฯ เองยังไม่ได้ประจำการขีปนาวุธประเภทนี้ อีกทั้งยังอ้างว่ารัสเซียมี “ขีปนาวุธร่อน” ที่ศักยภาพเหนือชั้นกว่าสหรัฐฯ ด้วย
แม้อาวุธที่ผู้นำรัสเซียเอ่ยถึงจะเป็นเพียงขีปนาวุธนำวิถีแม่นยำสูงแบบดั้งเดิม แต่ ปูติน ยังเอ่ยย้ำด้วยว่า สหรัฐฯ ไม่เคยปฏิเสธความเป็นไปได้ที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตีศัตรูก่อน
“หากฝ่ายตรงข้ามเชื่อว่า พวกเขาสามารถใช้ทฤษฎีชิงโจมตีก่อนได้ ในขณะที่พวกเราคงไม่กล้าใช้ มันก็ทำให้เราต้องคำนึงถึงความเสี่ยงจากการที่พวกเขามีแนวคิดเช่นนี้” ผู้นำรัสเซียระบุ
วันพุธที่ผ่านมา (7) ปูติน ได้ถูกตั้งคำถามในงานเสวนาที่ทำเนียมเครมลินว่า รัสเซียจะรับปากได้หรือไม่ว่าจะไม่เป็นฝ่ายแรกที่ใช้อาวุธนิวเคลียร์? ซึ่งผู้นำรัสเซียก็ตอบว่า การผูกมัดตัวเองเช่นนั้นจะทำให้รัสเซียไม่สามารถใช้คลังแสงนิวเคลียร์ได้ แม้จะเป็นฝ่ายถูกโจมตีด้วยนิวเคลียร์ก็ตาม
“ถ้าไม่เป็นผู้ใช้รายแรกในทุกกรณี ก็จะไม่สามารถเป็นผู้ใช้รายที่ 2 ได้ด้วย เพราะหากถูกโจมตีด้วยนิวเคลียร์ในดินแดนของเราเองแล้ว โอกาสในการตอบโต้ก็จะลดลงมาก”
ผู้นำรัสเซียได้อธิบายขยายความคำตอบดังกล่าวในวันศุกร์ (9) โดยบอกว่า หลักปฏิบัติด้านนิวเคลียร์ของรัสเซียนั้นอยู่บนพื้นฐานของการ “ยิงเมื่อได้รับคำเตือน”
“เมื่อระบบเตือนภัยล่วงหน้าจับสัญญาณได้ว่ามีขีปนาวุธถูกยิงเข้ามา เราก็จะส่งขีปนาวุธนับร้อยๆ ลูกออกไป ซึ่งมันจะไม่สามารถถูกยับยั้งได้” ปูติน กล่าวด้วยรอยยิ้มตามเคย
“ขีปนาวุธของศัตรูคงจะมาตกในดินแดนรัสเซียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่พวกเขาเองก็จะไม่มีอะไรเหลือเช่นกัน เพราะการยิงสกัดกั้นขีปนาวุธรัสเซียนับร้อยๆ ลูกย่อมเป็นไปไม่ได้ และนี่ก็คือปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยป้องปราม (ไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น)”
หลักปฏิบัติด้านนิวเคลียร์ของรัสเซียนั้นระบุเอาไว้ชัดเจนว่า รัฐบาลสามารถสั่งใช้อาวุธนิวเคลียร์ได้หากถูกโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ หรือเผชิญการจู่โจมจากขีปนาวุธแบบดั้งเดิมที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อ “การดำรงอยู่” ของรัฐ
ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แถลงวานนี้ (9) ที่กองบัญชาการทางยุทธศาสตร์ซึ่งกำกับดูแลเรื่องการใช้อาวุธนิวเคลียร์ โดยระบุว่าคำขู่ซ้ำๆ ซากๆ ของ ปูติน เป็นพฤติกรรมที่สะท้อนถึง “ความไม่รับผิดชอบ”
“ในขณะที่เครมลินยังคงทำสงครามที่ป่าเถื่อนและปราศจากการยั่วยุในยูเครน ทั่วโลกก็ได้เห็น ปูติน ออกมาขู่ใช้อาวุธนิวเคลียร์อย่างปราศจากความรับผิดชอบ... จงอย่าลืมว่ามหาอำนาจนิวเคลียร์ทุกประเทศมีความรับผิดชอบอันสำคัญที่จะต้องหลีกเลี่ยงการกระทำยั่วยุ ลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายอาวุธ และป้องกันไม่ให้เกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้น”
ที่มา : AP