ทั้งโปแลนด์ และองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ต่างยืนยันในวันพุธ (16 พ.ย.) ว่า ขีปนาวุธที่ถูกยิงเข้าไปตกในดินแดนของโปแลนด์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน เมื่อวันอังคาร (15) น่าจะเป็นลูกหลงจากหน่วยป้องกันภัยทางอากาศของฝ่ายเคียฟ ไม่ใช่เป็นฝีมือรัสเซีย เป็นการคลายความกังวลของทั่วโลกที่หวั่นเกรงว่าสงครามในยูเครนอาจลุกลามข้ามพรมแดนไปยังหนึ่งในชาติสมาชิกองค์การนาโต้ ทางด้านเครมลิน ชม ไบเดน ที่รับมือสถานการณ์นี้อย่างสุขุม ตรงข้ามกับผู้นำตะวันตกบางชาติที่ออกแถลงการณ์กล่าวหารัสเซียโดยปราศจากหลักฐาน
เอกอัครราชทูตจากเหล่าชาติสมาชิกองค์การนาโต้ ได้รีบจัดการประชุมฉุกเฉินเพื่อหารือเรื่องการตอบโต้เหตุการณ์จรวดถูกยิงมาตกใส่ไซโลเก็บธัญพืช ในหมู่บ้านเชวาดูฟ (Przewodow) ทางตะวันออกของโปแลนด์ ใกล้ๆ ชายแดนยูเครนเมื่อวันอังคาร ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน ถือเป็นกรณีแรกที่สงครามในยูเครนได้ลุกลามทำให้เกิดการล้มตายในดินแดนของ 1 ในชาติสมาชิกนาโต้
ในเวลาต่อมา ประธานาธิบดีอันแชย์ ดูดา ของโปแลนด์ แถลงว่า จากข้อมูลที่ปรากฏ จรวดลูกนี้เป็นจรวดแบบเอส-300 ผลิตในสหภาพโซเวียต เป็นจรวดเก่าและไม่มีหลักฐานใดๆ ว่ายิงมาจากทางรัสเซีย ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่จะยิงมาจากระบบต่อสู้อากาศยานของยูเครน
ด้าน เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต้ พูดแบบเดียวกันว่า น่าจะเป็นขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศของยูเครน ถึงแม้เขาจะบอกด้วยว่า ผู้ที่สมควรถูกประณามมากที่สุดในกรณีนี้ยังคงเป็นมอสโก ไม่ใช่เคียฟ เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้เริ่มต้นทำสงคราม และเปิดการโจมตีซึ่งจุดชนวนให้ยูเคียนยิงระบบป้องกันภัยทางอากาศ
ก่อนหน้านี้หลายชั่วโมง ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กล่าวกับผู้สื่อข่าวขณะเข้าร่วมการประชุมซัมมิตกลุ่ม จี20 ที่เกาะบาหลี ในอินโดนีเซียว่า ขีปนาวุธนี้อาจไม่ได้ยิงมาจากรัสเซีย
ข้อสันนิษฐานนี้ยังสอดคล้องกับคำแถลงของกระทรวงกลาโหมเบลเยียมในวันเดียวกันว่า หน่วยข่าวกรองของเบลเยียมได้ตรวจสอบเหตุการณ์ดังกล่าว และประสานงานใกล้ชิดกับหน่วยข่าวกรองของนาโต้ ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า มีแนวโน้มมากที่สุดที่จะเป็นผลจากระบบต่อต้านอากาศยานของยูเครน ซึ่งโจมตีขีปนาวุธของรัสเซียกลางอากาศ
ในอีกด้านหนึ่ง กระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุว่า ภาพสถานที่เกิดเหตุระเบิดในโปแลนด์ที่มีการเผยแพร่ออกมาแสดงให้เห็นชิ้นส่วนขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานรุ่นเอส-300 ของยูเครน พร้อมยืนยันว่า ระยะโจมตียูเครนของมอสโกที่ใกล้ที่สุดอยู่ห่างจากชายแดนโปแลนด์ 35 กิโลเมตร
ดมิตริ โปลแยนสกี ผู้นำคณะผู้แทนถาวรของรัสเซียประจำสหประชาชาติ โพสต์บนเทเลแกรม ว่า เหตุระเบิดที่โปแลนด์เป็นความพยายามยั่วยุให้เกิดการปะทะทางทหารโดยตรงระหว่างนาโต้กับรัสเซีย ซึ่งจะส่งผลกระทบรุนแรงทั่วโลก
ขณะที่ ดมิตริ เปสคอฟ โฆษกเครมลิน แถลงเมื่อวันพุธยืนยันว่า รัสเซียไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดดังกล่าว และสำทับว่า หลายประเทศออกแถลงการณ์กล่าวหารัสเซียโดยปราศจากหลักฐาน
กระนั้น เปสคอฟชมว่า ไบเดนแสดงให้เห็นถึงความสุขุมในการรับมือเหตุการณ์นี้
สำหรับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ไม่รอช้าที่จะทวัตเมื่อวันอังคารหลังหารือทางโทรศัพท์กับผู้นำโปแลนด์ว่า ขีปนาวุธรัสเซียโจมตีโปแลนด์เพื่อทำให้ความขัดแย้งบานปลาย ทว่าเขาไม่ได้แสดงหลักฐานใดๆ แต่ก็เรียกร้องว่า ยุโรปและโลกต้องได้รับการปกป้องอย่างสมบูรณ์จากผู้ก่อการร้ายรัสเซีย
ส่วนผู้นำตะวันตกบางชาติประกาศว่า ไม่ว่าฝ่ายใดยิงขีปนาวุธที่ไปตกในโปแลนด์ แต่ที่สุดแล้วรัสเซียต้องรับผิดชอบ
ขณะที่เจ้าหน้าที่หลายรายในวอร์ซอเผยว่า โปแลนด์มีแนวโน้มขอให้นาโต้จัดประชุมภายใต้มาตราที่ 4 ของสนธิสัญญานาโต้ รวมทั้งหยิบยกประเด็นนี้หารือในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
ทั้งนี้ มาตราที่ 4 ของสนธิสัญญานาโต้กำหนดให้สมาชิกหารือกัน หากมีสมาชิกชาติหนึ่งชาติใดเชื่อว่าความมั่นคงของตนถูกคุกคาม ขณะที่มาตราที่ 5 กำหนดให้สมาชิกร่วมกันป้องกันกันและกันจากการโจมตี
อย่างไรก็ตาม ในการแถลงเมื่อวันพุธ (16) เลขาธิการนาโต้ สโตลเทนเบิร์ก ลดทอนน้ำหนักของเสียงคาดเดาที่ว่าชาตินาโต้อาจถูกลากดึงเข้าสู่ความขัดแย้งกับรัสเซีย จากกรณีขีปนาวุธถูกยิงมาตกที่โปแลนด์
“บรรดาชาติพันธมิตร (นาโต้) มีความเห็นพ้องต้องกันในเรื่องแนวพินิจปัญหานี้ –ยังไม่มีการเรียกประชุมกันตามมาตรา 4” เขาบอก โดยอธิบายเพิ่มเติมว่า การเรียกประชุมหรือไม่ขึ้นอยู่กับผลการสอบสวน ผลการวิเคราะห์ และจากผลลัพธ์เท่าที่ปรากฏให้เห็นจากการสอบสวนซึ่งยังคงดำเนินอยู่ “เราเห็นพ้องต้องกันถึงความสำคัญของการรอคอยผลลัพธ์ของการสอบสวนนี้”
ด้านทำเนียบขาวเผยว่า ไบเดนบอกกับดูดาระหว่างหารือทางโทรศัพท์ว่า วอชิงตันมีพันธกรณีอันแน่วแน่ต่อนาโต้และจะสนับสนุนการสอบสวนของวอร์ซอ
เหตุระเบิดในโปแลนด์เกิดขึ้นขณะที่รัสเซียยิงขีปนาวุธถล่มเมืองต่างๆ ทั่วยูเครนซึ่งเคียฟระบุว่า เป็นการโจมตีที่หนักหน่วงที่สุดนับจากรัสเซียเปิดฉากรุกรานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์
ขณะเดียวกัน เมื่อวันพุธ บรรดาผู้นำจี20 ได้ออกคำแถลง ซึ่งดูจะเป็นไปตามแรงผลักดันของสหรัฐฯ และฝ่ายตะวันตก นั่นคือระบุว่า “สมาชิกส่วนใหญ่ประณามอย่างแข็งขันสงครามในยูเครน” อย่างไรก็ตาม คำแถลงนี้ก็ตอบสนองคำเรียกร้องของพวกผู้นำจี20 ซึ่งไม่ใช่ฝ่ายตะวันตก โดยระบุด้วยว่า ยังมีผู้นำคนอื่นๆ ที่มีความเห็นแตกต่างในเรื่องนี้ “ยังมีทัศนะมุมมองและการประเมินอย่างอื่นๆ ที่แตกต่างออกไป เกี่ยวกับสถานการณ์ (ในยูเครน) และมาตรการแซงก์ชัน (รัสเซีย)”
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี, ดอยเชอ เวลเลอ)