xs
xsm
sm
md
lg

‘อ่านเกม’ สหรัฐฯ ‘ดุนหลัง’ ยูเครนให้ยอมเจรจาสันติภาพกับรัสเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร ***


ชาวเมืองเคียร์ซอน จูบทหารชาวยูเครน ที่บริเวณใจกลางเมืองเคียร์ซอน ทางภาคใต้ของยูเครน เมื่อวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา  หลังจากที่กองทหารรัสเซียถอนตัวออกไป และกองทหารยูเครนรุกเข้ามาแทนที่
Endgame in Ukraine struggling to be born
BY M. K. BHADRAKUMAR
19/11/2022

สหรัฐฯ มีการเคลื่อนไหวส่งสัญญาณหลายๆ อย่างว่าต้องการให้ยูเครนเปิดเจรจาสันติภาพกับรัสเซียเพื่อยุติสงคราม ที่หากไม่ปิดฉากกันในตอนนี้ ก็มีหวังสถานการณ์จะบานปลายขยายตัวออกไป และฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องแบกรับภาระหนักอึ้งขึ้นไปอีก

ณ การประชุมแถลงข่าวที่ทำเนียบขาวเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เมื่อมีผู้สื่อข่าวถามเกี่ยวกับการที่กองทหารรัสเซียอพยพถอยออกมาจากแคว้นเคียร์ซอน (Kherson Region) และเมืองเคียร์ซอน (Kherson city) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ตอบว่า “ก่อนอื่นเลย ผมพบว่ามันน่าสนใจนะที่พวกเขา (มอสโก) รออยู่จนกระทั่งหลังการเลือกตั้ง (กลางเทอมในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน) จึงค่อยประกาศการตัดสินใจเรื่องนี้ ซึ่งเราเองทราบมาระยะหนึ่งแล้วว่าพวกเขากำลังจะทำ”

ไบเดน กล่าวต่อไปว่า “ในขั้นต่ำสุดเลย มัน (การที่รัสเซียถอยออกจากเคียร์ซอน) จะนำไปสู่ช่วงเวลาสำหรับให้ทุกๆ ฝ่ายปรับเปลี่ยนกำหนดพิกัดตำแหน่งของตัวเองกันเสียใหม่สำหรับระยะฤดูหนาวที่กำลังมาถึง” แต่ ไบเดน ยังคงสงวนความเห็นไม่ฟันธงลงไปว่า ยูเครนจะ “เตรียมตัวเพื่อประนีประนอม ... (รวมทั้ง) ขั้นตอนต่อๆ ไปน่าจะเป็นยังไง”

สิ่งที่ ไบเดน แย้มๆ ออกมาเช่นนี้ ก็คือ “โลกเก่ากำลังจะตาย ส่วนโลกใหม่ก็กำลังดิ้นรนเพื่อจะเกิด เวลานี้คือเวลาของปีศาจร้าย” ทั้งนี้ ถ้าหากจะนำเอาวลีซึ่งมีชื่อเสียงของ อันโตนิโอ กรัมชี (Antonio Gramsci) [1] มาอ้างอิง

สันติภาพนั้นเป็นกระบวนการที่ดำเนินไปเรื่อยๆ เป็นรายวัน, รายสัปดาห์, และรายเดือน ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงความคิดเห็นต่างๆ, ค่อยๆ กัดกร่อนทำลายกำแพงขวางกั้นเก่าๆ ลงไปอย่างช้าๆ, สร้างโครงสร้างใหม่ๆ ขึ้นมาอย่างเงียบๆ โดยที่เมล็ดพันธุ์แห่งสันติภาพนั้นวางอยู่ในการเลือกครั้งต่างๆ ที่ผู้คนทั้งหลายตัดสินใจกระทำ เมื่อมองย้อนหลังกลับไป ผู้เขียนรู้สึกว่าการที่รัสเซียตัดสินใจละทิ้งการยึดครองเคียร์ซอน โดยถอยทัพมายังฝั่งตะวันตกของแม่น้ำดนีเปอร์ (Dnieper River) นั้น ควรต้องถือเป็นผลงานชั้นครูจริงๆ
(ดูเพิ่มเติมในบล็อกของผู้เขียน เรื่อง Russia’s Kherson withdrawal is tactical ใน https://www.indianpunchline.com/russias-kherson-withdrawal-is-tactical/ หรือในเวอร์ชันที่ถอดความเป็นภาษาไทยแล้วได้ที่เรื่อง การถอยทัพออกจาก ‘เมืองเคียร์ซอน’ ของฝ่ายรัสเซียเป็นเรื่อง ‘ทางยุทธวิธี’ https://mgronline.com/around/detail/9650000108543)

ความเคลื่อนไหวคราวนี้ บรรลุผล 3 ประการด้วยกัน ประการแรกสุดคือ มันทำให้ระบอบปกครองในเคียฟสามารถนำไปอ้างเป็น “ชัยชนะ” ครั้งหนึ่งที่พวกเขามีเหนือรัสเซีย ประการที่สอง มันเป็นสัญญาณแสดงว่า รัสเซียไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะเข้าพิชิต นิโคลาอิฟ (Nikolaev) และโอเดสซา (Odessa) แล้วนอกไปจากนั้น ยังทำให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาในเรื่องการใช้แนวแม่น้ำดนีเปอร์ ให้เป็นพื้นที่กันชน ประการที่สามและประการสำคัญที่สุด มันเป็นการเปิดหน้าต่างแห่งโอกาสสำหรับที่สหรัฐฯ จะดุนหลังยูเครนให้เข้าสู่โต๊ะเจรจาสันติภาพ
(เรื่องใช้แม่น้ำดนีเปอร์ เป็นพื้นที่กันชน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://tass.com/politics/1538677)

ยุทธวิธีนี้ของฝ่ายรัสเซีย ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความถูกต้อง ดังที่พัฒนาการต่างๆ ซึ่งติดตามมาคือเครื่องยืนยัน สหรัฐฯ นั้นเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วมากเพื่อต่อยอดจากการที่รัสเซียถอนตัวออกจากเคียร์ซอน ทั้งนี้ในด้านหนึ่ง วอชิงตัน รบเร้า เคียฟ อย่างเปิดเผยต่อสาธารณชน ว่า ควรที่จะ “ฉวยจังหวะโอกาสที่เกิดขึ้นมาในเวลานี้ (ถ้าหากจะอ้างอิงคำพูดของ พล อ.มาร์ก มิลลีย์ General Mark Milley ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมของสหรัฐฯ chairman US Joint Chiefs of Staff) และเริ่มการเจรจากับรัสเซีย รวมทั้งแสดงการห้ามปรามอย่างเปิดเผยเมื่อฝ่ายทหารของยูเครนทำท่าต้องการดำเนินการสู้รบชนิดชี้ชะตา ตลอดจนคาดหมายอย่างไม่สอดคล้องความเป็นจริงว่าจะชิงดินแดนต่างๆ เพิ่มมากขึ้นอีก
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ (https://edition.cnn.com/2022/11/16/politics/milley-ukraine-strength-russia/index.html)

ตัว ไบเดน เองก็พยายามใช้ประโยชน์จากการไปเยือน บาหลี เพื่อร่วมประชุมซัมมิตกลุ่ม จี20 ด้วยการมีปฏิสัมพันธ์กับพวกคู่เจรจาทั้งจาก จี7, อียู และนาโต้ เพื่อหล่อหลอมให้เกิดเป็นฉันทมติที่มุ่งจะลดทอนกระแสต้องการทำสงคราม ปรากฏว่า สหรัฐฯ ก็ไม่ได้ถูกท้าทายอย่างเป็นพิเศษอะไร ทั้งนี้ สืบเนื่องจาก
** พวกพันธมิตรเหล่านี้ของสหรัฐฯ ซึ่งต่างตกอยู่ในอาการ “เหนื่อยล้าจากสงคราม” กันอยู่แล้ว จึงมีความตระหนักสำนึกอย่างแรงกล้าว่า มันไม่คุ้มหรอกที่จะยินยอมตามความเรียกร้องต้องการอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายของยูเครนในเรื่องอาวุธ
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://edition.cnn.com/2022/11/17/politics/us-weapon-stocks-ukraine/index.html)

**โอกาสความเป็นไปได้ที่จะต้องจัดส่งเงินทองงบประมาณเพื่อไปค้ำจุนเศรษฐกิจของยูเครนซึ่งกลวงโบ๋ว่างเปล่าในระยะเวลาหลายๆ ปีต่อจากนี้ไป เป็นเรื่องที่น่าหวาดหวั่นจนเกินไป และ

**วิกฤตการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทางยุโรป เป็นภัยคุกคามที่จะนำไปสู่ความไม่สงบทางสังคมและความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมือง โดยที่การแก้ไขรับมือกำลังกลายเป็นภาระหนักหน่วงซึ่งต้องอุทิศทุ่มเทเวลาให้ทั้งในระยะสั้นและระยะปานกลาง จนน่าจะมีความจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงเรื่องปฏิสัมพันธ์กับต่างประเทศที่ไม่มีประโยชน์

พวกผู้นำตะวันตกมีการติดต่อสื่อสารกับรัฐมนตรีต่างประเทศ เซียร์เก ลาฟรอฟ ของรัสเซีย ที่ บาหลี ในช่วงวันที่ 14-16 พฤศจิกายนกันมากน้อยแค่ไหน เวลานี้ยังไม่เป็นที่ทราบกัน แต่ข้อเท็จจริงที่ว่า ไบเดน นั่งอยู่โดยตลอดระหว่างที่ ลาฟรอฟ กล่าวปราศรัยกับที่ประชุม และรับฟังอย่างตั้งใจถึงทัศนะมุมมองของฝ่ายรัสเซีย ก็ย่อมเป็นท่าทีที่มีความหมายในตัวของมันเอง –ทั้งนี้นี่ย่อมรวมไปถึงการที่ ลาฟรอฟ ตัดสินใจไม่ทำให้การร่างคำประกาศบาหลี กลายเป็นประเด็นที่ต้องมีการทะเลาะโต้แย้งกัน รายงานที่ปรากฏเปิดเผยออกมาระบุว่า ลาฟรอฟมีการพูดจาแลกเปลี่ยนกันอย่างสั้นๆ โดยไม่ได้อยู่ภายใต้การจับจ้องของแสงไฟสปอตไลต์ กับพวกผู้นำของฝรั่งเศสและเยอรมนี

ภายในภูมิหลังที่สลับซับซ้อนเช่นนี้เองที่ ไบเดน ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการองค์การซีไอเอ วิลเลียม เบิร์นส์ (William Burns) ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำมอสโกมาก่อน ไปพบหารือกับผู้อำนวยการของสำนักงานข่าวกรองในต่างประเทศ (Foreign Intelligence Service) ของฝ่ายรัสเซีย เซียร์เก นาริชกิน (Sergei Naryshkin) (ทั้งนี้ นาริชกิน ถือเป็นนักการเมืองอาวุโสผู้หนึ่งซึ่งทำงานอยู่ในวังเครมลินเวลานี้ โดยที่ก่อนหน้านี้เขาเคยเป็นทั้งหัวหน้าคณะบริหารของสำนักงานบริหารทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซีย และประธานสภารัสเซียดูมา Russian Duma หรือก็คือ ประธานสภาล่างของรัสเซียมาแล้ว)
(การพบปะระหว่าง เบิร์นส์ กับ นาริชกิน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://edition.cnn.com/2022/11/14/politics/cia-director-bill-burns-russian-counterpart/index.html)

จากนั้น ประธานาธิบดีเรเจป แอร์โดอัน ของตุรกี ได้เปิดเผยว่า การพบปะเจรจากันระหว่าง เบิร์นส์-นาริชกิน ในกรุงอังการา เมืองหลวงของตุรกี เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สามารถคาดหวังได้ว่าจะ “แสดงบทาทอันสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันไม่ให้เกิดการบานปลายขยายตัวอย่างควบคุมไม่อยู่ขึ้นมาในสมรภูมิ” ในยูเครน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.iletisim.gov.tr/english/haberler/detay/president-erdogan-president-vladimir-putin-of-russia-talk-over-phone-1811)

นี่ก็คือการบอกว่า ถ้าหากการพิจารณาไตร่ตรองระหว่างสหรัฐฯ-รัสเซียที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ๆ นี้ สามารถขยายตัวเข้มแข็งขึ้นมาแล้ว การเปิดฉากรุกช่วงฤดูหนาวของกองกำลังรัสเซียตามที่มีข่าวลือสะพัด ซึ่งจะมีการใช้กำลังทหารเพิ่มขึ้นมาอีกหลายแสนคน ภายหลังการเรียกระดมพลเมื่อไม่นานมานี้ มาถึงตอนนี้ก็จะถูกลดชั้นลงไปให้กลายเป็นเรื่องที่ค่อยมาตัดสินใจกันทีหลัง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังคงมีเรื่องที่ยังไม่จบสิ้นเหลืออยู่อีกเยอะทีเดียวในดอนบาสส์ [2] โดยที่ฝ่ายทหารยูเครนได้เสริมสร้างการป้องกันในส่วนสำคัญหลายๆ ส่วนของภูมิภาคดังกล่าว ขณะที่ ปูตินน่าที่จะกระทำตามคำมั่นสัญญาซึ่งให้ไว้กับประชาชนชาวรัสเซียที่ว่า จะ “ปลดแอก” ดอนบาสส์จากการยึดครองอย่างกดขี่ของพวกนักชาตินิยมชาวยูเครน

ปัจจัยซึ่งสามารถจะเป็นตัวแปรที่อาจส่งผลกระทบอย่างสำคัญที่สุด หรือ “X” factor ก็คือ ท่าทีของระบอบปกครองในเคียฟซึ่งนำโดยประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ผู้ซึ่งจะต้องมีความตระหนักขึ้นมาเรียบร้อยแล้วว่าพื้นดินที่อยู่ข้างใต้เท้าของเขากำลังเกิดการไหวตัวอย่างน่ากลัว สิ่งซึ่งเพิ่มเติมเข้ามาในความอ่อนไหวไม่แน่นอนของสถานการณ์ในเวลานี้ ได้แก่ การอยู่รอดของ เซเลนสกี ซึ่งจริงๆ แล้วขึ้นอยู่กับการหนุนหลังของฝ่ายอเมริกัน ทั้งนี้หากมีสัญญาณใดๆ ปรากฏออกมาว่าคณะบริหารไบเดน กำลังถอยออกมามีการทิ้งระยะห่างจากเขาแล้ว มันย่อมสามารถส่งผลให้พวกปรปักษ์ของเขาที่เฝ้ารอคอยอยู่ในเงามืด ปรี่ออกมาเล่นงานแก้แค้นเอาคืนกับ เซเลนสกี อย่างไม่ต้องสงสัย

เซเลนสกีนั้นเป็นนักแสดงเวทีชั้นเลิศคนหนึ่ง ซึ่งสามารถสร้างภาพน่าตื่นตาตื่นใจต่างๆ ต่อหน้ากล้องทีวีและผู้ดูผู้ชมทั่วโลก ทว่ายากที่จะเรียกได้ว่าเป็นรัฐบุรุษผู้คอยยึดเหนี่ยวยูเครนเอาไว้ด้วยกัน ในท่ามกลางวิกฤตการณ์แห่งการดำรงคงอยู่ในปัจจุบันของประเทศนี้ แสงรัศมีศักดิ์สิทธิ์ซึ่งถูกสร้างขึ้นมารอบๆ ตัวเขาด้วยการโฆษณาชวนเชื่อที่มีการประสานงานกันอย่างระมัดระวังของฝ่ายตะวันตก โดยสาระสำคัญแล้วไม่ได้เป็นของจริงอะไร

นอกจากนั้น เขายังต้องดำเนินการเจรจากับ มอสโก โดยที่พวกนักชาตินิยมสุดโต่งยูเครนกลุ่มต่างๆ ไม่ได้มีอารมณ์ที่จะประนีประนอมกับรัสเซียเลย การที่ตัวเขาขาดเขินไม่ได้มีฐานอำนาจเป็นของตัวเองนั้นคือจุดอ่อนเปราะถึงขั้นทำให้สิ้นชีวิตได้ของเซเลนสกี ในทำนองเดียวกัน คำถามเกี่ยวกับสัญชาติของผู้คนในภาคตะวันตกของยูเครนยังคงเป็นสถานการณ์ที่ยุ่งยากซับซ้อนยิ่ง โดยมีความเกี่ยวพันผูกติดอยู่กับการที่ประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ ของยูเครน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โปแลนด์ กล่าวอ้างเรียกร้องให้ยูเครนต้องส่งคืนดินแดนที่เคยเป็นของพวกเขาในอดีต

สันนิษฐานได้ว่า เป็นด้วยเหตุผลต่างๆ เหล่านี้นั่นเอง โฆษกวังเครมลิน ดมิตริ เปสคอฟ (Dmitry Peskov) จึงเน้นย้ำให้ความสำคัญอย่างสูงแก่เรื่องการติดต่อสื่อสารกับฝ่ายตะวันตก โดยบอกว่า นี่เป็น “ส่วนประกอบที่คอยชี้ทิศทาง คอยสนับสนุน และคอยเพิ่มเติมความเข้มแข็ง” ในการเจรจากันระหว่างรัสเซียกับยูเครน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://tass.com/politics/1538895)

นี่ยังเป็นเหตุผลที่ทำไมกรณีขีปนาวุธ 2 ลูกซึ่งยิงมาจาก ยูเครน ไปตกลงใน โปแลนด์ ณ ช่วงจังหวะหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ จึงกลายเป็นเกมทายปัญหาที่ถูกห่อหุ้มเอาไว้อย่างมีเงื่อนงำภายในปริศนาอันลี้ลับ เว็บไซต์ข่าว โพลิติโก (Politico) ในสหรัฐฯ รายงานว่า “เจ้าหน้าที่ระดับท็อปของสหรัฐฯ หลายรายได้ติดต่อไปถึงเหล่าผู้นำในยุโรปและพวกเจ้าหน้าที่ในสำนักงานของ เซเลนสกี ... ในการต่อโทรศัพท์แบบเร่งด่วนต่อเนื่องกันเป็นชุด พวกเจ้าหน้าที่อเมริกันได้ขอร้องให้เหล่าชาติพันธมิตรนาโต้ละเว้นจากการออกคำแถลงที่มีลักษณะเป็นการฟันธงเด็ดขาดใดๆ ออกไปก่อน จนกว่าการสอบสวนในโปแลนด์จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ ...”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.politico.com/news/2022/11/17/ukraine-poland-missile-russia-00069342)

น่าสนใจว่า หนึ่งในคนแรกๆ ของผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ก็คือตัว เซเลนสกี เอง โดยเขารีบด่วนสรุปเลยว่าผู้ที่รับผิดชอบ “โจมตีด้วยขีปนาวุธ” คราวนี้คือรัสเซียอย่างไม่ต้องสงสัย เซเลนสกียังกล่าวหาต่อไปว่า มันเป็นพฤติการณ์ที่เข้าข่ายการโจมตีเล่นงานความมั่นคงร่วม และเป็นการยกระดับขยายความขัดแย้งอย่างสำคัญ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเขากำลังเสนอแนะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมานั้นเข้าข่ายการโจมตีใส่รัฐสมาชิกรายหนึ่งของนาโต้แล้ว

สำหรับ เคียฟ แล้ว เป็นที่ชัดเจนว่าเหตุการณ์นี้มีความสำคัญทางการเมืองมากกว่าทางการทหาร และความกระตือรือร้นของ เซเลนสกีที่จะลากดึงเอา โปแลนด์ และสหรัฐฯ เข้ามาสู่ความขัดแย้งนี้ก็เป็นสิ่งที่เห็นกันได้ชัดเจน โดยมุ่งหมายให้สามารถใช้เรื่องนี้เป็นเหตุผลความชอบธรรมที่จะอ้างอำนาจตามมาตรา 5 ของกฎบัตรนาโต้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.cnbc.com/2022/11/17/ukraine-says-its-not-to-blame-for-poland-missile-strike.html)

อย่างไรก็ดี ทั้งสหรัฐฯ โปแลนด์ และนาโต้ ต่างแสดงความกระตือรือร้นอย่างแจ่มแจ้งว่าต้องการลดทอนน้ำหนักความสำคัญของเหตุการณ์คราวนี้ โดยไม่มีความสนใจใดๆ ที่จะอ้างอำนาจตามมาตราว่าด้วยความมั่นคงร่วมดังกล่าว ไบเดน นั้น ออกโรงด้วยตนเองทีเดียว ในการปฏิเสธข้อเสนอแนะเป็นนัยๆ ว่ารัสเซียเกี่ยวข้องกับการยิงขีปนาวุธใส่โปแลนด์ ด้วยความตระหนักสำนึกถึงความอ่อนเปราะของกระบวนการสันติภาพที่เขาพยายามตะล่อมให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.rt.com/news/566725-us-wont-sacrifice-for-warsaw/)

สิ่งที่เกิดขึ้นมาบ่งชี้ให้เห็นว่า สหรัฐฯ และพวกหุ้นส่วนพันธมิตรของสหรัฐฯ นั้นไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะสู้รบกับรัสเซีย และข้อความเช่นนี้ก็ถูกส่งไปถึงคณะผู้นำในเครมลินแล้ว โดยที่ในทางกลับกัน มันก็จะมีส่วนช่วยเช่นกันในการรั้งบังเหียนพวกสายแข็งกร้าวภายในชนชั้นนำของรัสเซีย ซึ่งพิจารณาว่าการผนวกเอาแคว้นต่างๆ ทั้งหมดในภาคตะวันออกและภาคใต้ของยูเครน จนกระทั่งถึงแนวแม่น้ำดนิเปอร์ มาเป็นของรัสเซีย คือจุดยุติอย่างสมเหตุสมผลของสงครามคราวนี้ โดยที่เรื่องนี้ก็เป็นอารมณ์ความรู้สึกที่มีผู้เห็นด้วยอย่างกว้างขวางทีเดียวในหมู่มติมหาชนชาวรัสเซีย
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://edition.cnn.com/2022/11/02/politics/yevgeny-prigozhin-ukraine-putin-kremlin-war-ukraine/index.html)

เอ็ม.เค.ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline)

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.indianpunchline.com/endgame-in-ukraine-struggling-to-be-born/

หมายเหตุผู้แปล

[1] อันโตนิโอ กรัมชี (ปี 1891-1937) เป็นนักปรัชญาลัทธิมาร์กซิสต์, นักหนังสือพิมพ์, นักภาษาศาสตร์, นักเขียน และนักการเมืองชาวอิตาลี เขาเขียนงานทั้งทางด้านปรัชญา, ทฤษฎีการเมือง, สังคมวิทยา, ประวัติศาสตร์ และภาษาศาสตร์ เขาเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งคนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์อิตาลี รวมทั้งมีอยู่ระยะยหนึ่งได้ขึ้นเป็นผู้นำของพรรคด้วย กรัมชีเป็นผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างคมกล้าเล่นงาน จอมเผด็จการ เบนิโต มุสโสลินี และลัทธิเผด็จการฟาสซิสต์ ของเขา เขาถูกจำคุกในปี 1926 และถูกคุมขังอยู่ตราบจนเสียชีวิตในปี 1937 (ข้อมูลจากวิกิพีเดีย https://en.wikipedia.org/wiki/Antonio_Gramsci)

[2] ดอนบาสส์ (Donbass) หรือดอนบาส (Donbas) เป็นดินแดนหนึ่งในภาคตะวันออกของยูเครน ซึ่งมีความหมายความเป็นมาทั้งในแง่ประวัติศาสตร์, วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ แคว้นดอนบาสส์หมายถึงอะไรมีขนาดขอบเขตแค่ไหน เป็นสิ่งที่มีผู้นิยามจำกัดความเอาไว้หลายหลาก แต่คำนิยามซึ่งเข้าใจกันอยู่โดยทั่วไปในเวลานี้ก็คือ มันประกอบด้วยแคว้นโดเนตสก์ (Donetsk) และแคว้นลูฮันสก์ (Luhansk) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Donbas)


กำลังโหลดความคิดเห็น