xs
xsm
sm
md
lg

การถอยทัพออกจาก ‘เมืองเคียร์ซอน’ ของฝ่ายรัสเซียเป็นเรื่อง ‘ทางยุทธวิธี’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร ***



Russia’s Kherson withdrawal is tactical
BY M. K. BHADRAKUMAR
12/11/2022

เห็นได้อย่างชัดเจนว่า การถอยทัพรัสเซียและอพยพพลเรือนออกจากเมืองเคียร์ซอน เป็นเรื่องทางการปฏิบัติการ เป็นเรื่องทางยุทธวิธี ไม่ใช่ทางยุทธศาสตร์ โดยที่กองบัญชาการทหารรัสเซียมีการวางแผนเตรียมการเอาไว้ล่วงหน้ามากมาย และเริ่มต้นการอพยพตั้งแต่หลายๆ สัปดาห์ก่อนที่จะมีการประกาศแจ้งออกมาอย่างเป็นทางการ

พล.อ.มาร์ก มิลลีย์ (Mark Milley) ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมของสหรัฐฯ (US Chairman Joint Chiefs of Staff) พูดประเมินเอาไว้ว่าจะต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ทีเดียวสำหรับมอสโกกว่าที่จะเสร็จสิ้นการอพยพโยกย้ายทหารรัสเซียราว 30,000 คนซึ่งถูกส่งไปประจำอยู่ในเมืองเคียร์ซอน (Kherson) ทางภาคใต้ของยูเครน ทว่าฝ่ายรัสเซียกลับประกาศว่าการอพยพดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์อย่างประสบความสำเร็จในเวลา 2 วัน –ทั้งการเคลื่อนย้ายกำลังทหารและยุทโธปกรณ์ขนาดหนักจำนวนกว่า 5,000 ชิ้น

เห็นได้อย่างชัดเจนว่า มีการวางแผนเตรียมการเอาไว้ล่วงหน้ากันอย่างมากมายทีเดียวสำหรับการปฏิบัติตามคำสั่งอพยพคราวนี้ อันที่จริงกองบัญชาการทหารรัสเซียได้เริ่มต้นดำเนินการในเรื่องการอพยพตั้งแต่หลายๆ สัปดาห์ก่อนที่จะมีการประกาศแจ้งออกมาเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่แล้ว

เมื่อพิจารณาย้อนหลังกลับไป คำให้สัมภาษณ์อย่างพิเศษผิดธรรมดาของ พล.อ.เซียร์เก ซูโรวิกิน (Sergei Surovikin) ในวันที่ 18 ตุลาคม หรือ 10 วันหลังจากที่เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการยุทธบริเวณสำหรับการปฏิบัติการในยูเครน เป็นคนแรกนั้น บางทีอาจจะเป็นการดำเนินการตามแผนซึ่งวางกันเอาไว้อย่างละเอียดเพื่อตระเตรียมอารมณ์ความรู้สึกของมติมหาชนเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญยิ่งยวดของสถานการณ์ทางทหารในแคว้นเคียร์ซอน เช่นนี้

ต่อไปนี้ คือ เนื้อความบางส่วนที่ตัดทอนจากคำให้สัมภาษณ์ดังกล่าว ซึ่งยังคงน่านำมาพิจารณาทบทวนกัน :

“สถานการณ์ที่ยากลำบากเกิดขึ้นมาแล้ว ฝ่ายศัตรูทำการระเบิดโจมตีอย่างจงใจใส่โครงสร้างพื้นฐานและพวกอาคารที่พักอาศัยในเคียร์ซอน สะพานอันโตนอฟสกี (Antonovsky Bridge) และเขื่อนของสถานีผลิตไฟฟ้าพลังน้ำคาคอฟสกายา (Kakhovskaya) ได้รับความเสียหายด้วยขีปนาวุธของระบบจรวดหลายลำกล้อง HIMARS การจราจรในบริเวณตรงนั้นต้องหยุดชะงักลง
(ชื่อ สะพานอันโตนอฟสกี(Antonovsky Bridge นี้ เป็นชื่อเรียกในภาษารัสเซีย โดยที่มีการเรียกขานว่า สะพานอันโตนิฟกา Antonivka bridge อีกด้วย ตามที่ผู้เขียนเองใช้ข้างล่างนี้ -ผู้แปล)

“ผลที่เกิดขึ้นก็คือ การจัดส่งอาหารไปยังเมืองแห่งนี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก รวมทั้งมีปัญหาหลายอย่างหลายประการเกี่ยวกับการจ่ายน้ำประปาและไฟฟ้า ทั้งหมดเหล่านี้สร้างความยุ่งยากอย่างใหญ่หลวงให้แก่ชีวิตของพลเมือง ไม่เพียงเท่านั้นยังเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อชีวิตของพวกเขาอีกด้วย

“คณะผู้นำนาโต้ของกองทัพยูเครน มีการเรียกร้องระบอบปกครองเคียฟมานานแล้วให้เปิดการปฏิบัติรุกเพื่อโจมตีเคียร์ซอน โดยไม่ต้องคำนึงถึงการบาดเจ็บล้มตายที่จะเกิดขึ้นมา –ไม่ว่าในหมู่ทหารในกองทัพเอง หรือในหมู่ประชากรพลเรือน

“เรามีข้อมูลในเรื่องความเป็นไปได้ที่ระบอบปกครองในเคียฟจะใช้วิธีการแห่งสงครามซึ่งต้องห้ามในพื้นที่ของเมืองเคียร์ซอน ในการตระเตรียมของฝ่ายเคียฟเพื่อการโจมตีด้วยขีปนาวุธอย่างมโหฬารใส่เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำคาคอฟสกายา การดำเนินโจมตีด้วยขีปนาวุธและปืนใหญ่อย่างกว้างขวางใส่ตัวเมืองนี้โดยไม่ได้มีการจำแนกแยกแยะ

“การปฏิบัติการเหล่านี้สามารถนำไปสู่การทำลายล้างโครงสร้างพื้นฐานของศูนย์กลางทางอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และทำให้พลเรือนบาดเจ็บล้มตาย

“ในสภาวการณ์เหล่านี้ เรื่องสำคัญลำดับแรกสุดของเราคือการสงวนรักษาชีวิตและสุขภาพของพลเรือน ด้วยเหตุนี้ ก่อนอื่นใดเลยกองทัพรัสเซียจะให้ความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยของการถอนตัวออกไปของประชากรตามที่ได้ประกาศเอาไว้แล้ว โดยเป็นไปตามแผนการในการตั้งรกรากใหม่ซึ่งกำลังเตรียมการโดยรัฐบาลรัสเซีย

“แผนการและการปฏิบัติการต่อไปของเราในส่วนที่เกี่ยวกับตัวเมืองเคียร์ซอนเอง จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางทหาร-ทางยุทธวิธีในปัจจุบัน ผมขอย้ำว่า มันมีความยากลำบากอย่างมากๆ ตั้งแต่วันนี้แล้ว

“แต่ไม่ว่าในกรณีใดก็ตามที อย่างที่ผมพูดแล้ว เราจะเริ่มต้นจากความต้องการที่จะพิทักษ์ปกป้องชีวิตของพลเรือนและฝ่ายทหารของเราให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

“เราจะกระทำอย่างมีจิตสำนึกและในลักษณะที่ทันการณ์ทันเวลา โดย ไม่หลีกเลี่ยงเมื่อต้องทำการตัดสินใจที่ยากลำบาก” (เน้นข้อความโดยผู้เขียน)

จากคำให้สัมภาษณ์นี้ มี 3 สิ่งที่สามารถพูดได้ ประการแรก การถอยออกจากเมืองเคียร์ซอน เป็นการตัดสินใจด้วยเหตุผลในทางการปฏิบัติการ หลักเหตุผลเบื้องหลังของเรื่องนี้คือการชิงลงมือเสียก่อนจะมีความพยายามใดๆ จากกองกำลังฝ่ายยูเครนและกองทหารรับจ้างต่างชาติในการก่อกวนสร้างความยุ่งยากให้แก่งานซึ่งกำลังก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ในการนำเอาบุคลากรทางทหารที่ผ่านการฝึกแล้วเป็นจำนวนใหญ่ๆ (ตัวเลขรวมคือทหาร รวมทั้งอาสาสมัครด้วย จำนวนเกือบๆ 400,000 คน) เข้าไปเสริมเติมกองกำลังซึ่งถูกส่งไปประจำอยู่ในยูเครน

ประการที่สอง เครมลินใช้ความระมัดระวังเป็นเพิเศษเพื่อที่จะสามารถ “ลงจอดได้อย่างนิ่มนวล” (soft landing) สำหรับการตัดสินใจอันขมขื่นที่จะต้องละทิ้งเมืองเคียร์ซอน ซึ่งเป็นดินแดนที่สลักจารึกเอาไว้อย่างหนักแน่นในจิตวิญญาณแห่งชาติของชาวรัสเซีย ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางประวัติศาสตร์ซึ่งตกทอดมาจากพระจักรพรรดินีแคเธอรีน มหาราชินี (Catherine the Great) เป็นเรื่องน่าสนใจมากที่ว่า โบราณวัตถุอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์แห่งยุคจักรวรรดิรัสเซียในเมืองเคียร์ซอน ได้ถูกบรรจุลงหีบห่ออย่างประณีตละเอียดอ่อนและนำไปเก็บรักษาไว้ในที่ปลอดภัย

สาธารณชนชาวรัสเซียต่างยอมรับกันโดยส่วนใหญ่ถึงการตัดสินใจของทางกองบัญชาการของฝ่ายทหาร รวมทั้ง “ฝ่ายแข็งกร้าว” ในสถาบันการบริหารปกครอง อย่างเช่น รัมซัน คาดีรอฟ (Ramzan Kadyrov) ผู้นำเชชเนีย และกลุ่มแวกเนอร์ (Wagner Group) ของพวกผู้รับจ้างรับเหมาทางทหารของรัสเซีย สถานการณ์ไม่ได้เป็นเช่นนี้เลยเมื่อตอนที่ต้องมีการถอยทัพออกจากแคว้นคาร์คอฟ (Kharkov) ในเดือนกันยายน

ประการที่สาม และก็เป็นประการสำคัญที่สุด เจตนารมณ์คือการป้องกันไม่ให้มีภัยคุกคามใดๆ ต่อดินแดนแหลมไครเมีย ทั้งในแง่ของความมั่นคง การติดต่อสื่อสาร น้ำเพื่อการบริโภค กองกำลังฝ่ายรัสเซียที่กำลังล่าถอยได้ทำลายสะพานอันโตนิฟกา (Antonivka bridge) จน 2 ช่วงใหญ่ๆ ของสะพานได้รับความเสียหาย สะพานนี้สร้างเชื่อมเมืองเคียร์ซอนกับฝั่งตะวันออกของแม่น้ำดนีเปอร์ เวลานี้แม่น้ำดนีเปอร์ในทางพฤตินัยได้กลายเป็น “พื้นที่กันชน” ในแคว้นเคียร์ซอนไปแล้ว โดยที่ 60% ของแคว้นนี้ตกอยุ่ใต้การควบคุมของฝ่ายรัสเซีย
(เรื่องการทำลายสะพานอันโตนิฟกา ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://tass.com/politics/1535451)

ภาพถ่ายจากบัลลูน แสดงให้เห็นเห็นตัวเมืองเคียร์ซอน และสะพาน อันโตนอฟสกี ทอดข้ามแม่น้ำดนีเปอร์ (ภาพและคำบรรยายจากวิกีพีเดีย https://en.wikipedia.org/wiki/Antonivka_Road_Bridge#/media/File:View_of_Kherson_and_Antonovskiy_bridge,_2006.jpg)
มองไปข้างหน้า ประการแรกและประการสำคัญที่สุดเลยก็คือ นี่เป็นการถอยในทางยุทธวิธี โฆษกของเครมลิน ดมิตริ เปสคอฟ (Dmitry Peskov) เพิ่งออกมายืนกรานว่า เคียร์ซอนยังคงเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย นี่เป็นนัยแสดงถึงพันธกรณีที่จะต้องกอบกู้เมืองเคียร์ซอน กลับคืนมา ขณะที่การปฏิบัติการพิเศษทางการทหารยังคงดำเนินต่อไป

ประการที่สอง กองบัญชาการทหารรัสเซียไม่ได้กำลังพินิจพิจารณาในเรื่องการปฏิบัติการใดๆ ซึ่งมุ่งไปยังเมืองโอเดสซา (Odessa) ในช่วงระยะใกล้ๆ นี้ เรื่องสำคัญลำดับแรกจะเป็นการดำเนินปฏิบัติการเพื่อสถาปนาการเข้าควบคุมภูมิภาคดอนบาส (Donbass region หมายถึงแคว้นลูฮันสก์ และแคว้นโดเนตสก์ ทางภาคตะวันออกของยูเครน -ผู้แปล)ให้ได้อย่างสมบูรณ์เต็มที่ (ซึ่งนี่ก็เป็นวัตถุประสงค์ในตอนต้นของการปฏิบัติพิเศษคราวนี้) เช่นเดียวกับแคว้นซาโปโรซเย (Zaporozhye นี่เป็นคำอ่านในภาษารัสเซีย ภาษายูเครนที่ฝ่ายตะวันตกเวลานี้นิยมใช้จะเรียกว่า ซาโปริซเซีย Zaporizhzhia -ผู้แปล) (ซึ่งมีความสำคัญสำหรับความมั่นคงปลอดภัยของแลนด์บริดจ์ที่เชื่อมแหลมไครเมียกับแผ่นดินใหญ่รัสเซีย) โดยที่เวลานี้การสู้รบอย่างดุเดือดยังคงกำลังดำเนินอยู่ในแคว้นโดเนตสก์

ประการที่สาม แน่นอนทีเดียวว่ากำลังเริ่มปรากฏสัญญาณต่างๆ ของการปรับเปลี่ยนในทางความคิดภายในคณะบริหารไบเดน โดยเป็นการปรับเปลี่ยนซึ่งมุ่งไปสู่การสนทนาและการเจรจา สัญญาณเหล่านี้เป็นสัญญาณแท้จริงแน่นอนแค่ไหนยังคงไม่เป็นที่ชัดเจน

(ดูเพิ่มเติมได้จากข้อเขียนในบล็อกของผม
เรื่องNo
end in view for Ukraine war
https://www.indianpunchline.com/no-end-in-view-for-ukraine-war/ วันที่ 10 พฤศจิกายน หรือที่เก็บความเป็นภาษาไทยแล้ว คือเรื่องสงครามยูเครนยังไม่มีวี่แววว่าจะยุติลง
https://mgronline.com/around/detail/9650000108538และเรื่องBiden
nods to compromise in Ukraine
https://www.indianpunchline.com/biden-nods-to-compromise-in-ukraine/ วันที่ 11 พฤศจิกายน)
ตามรายงานข่าวของ ซีเอ็นเอ็น และนิวยอร์กไทมส์ ภายในคณะบริหารไบเดนกำลังมีความคิดเห็นแตกแยกกันอยู่ สิ่งบ่งชี้หลายประการบ่งบอกว่า เพนตากอน (กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ) กำลังผลักดันให้เจรจา ตามข่าวของ ซีเอ็นเอ็น พล.อ.มิลลีย์ ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วม มีทัศนะว่า เวลาสุกงอมแล้วสำหรับการใช้หนทางการทูตมาแก้ไขปัญหา ขณะที่การสู้รบบ่ายหน้าสู่ความซึมเซาแห่งช่วงฤดูหนาว ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน และที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ เจค ซัลลิแวน ซึ่งต่างเป็นพวกนีโอคอน (อนุรักษนิยมใหม่) ผู้กระตือรือร้นกันทั้งคู่ ยังคงมีความสงสัยข้องใจ
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://edition.cnn.com/2022/11/11/politics/ukraine-mark-milley-negotiations-biden-administration-debate/index.html)

ฝ่ายรัสเซียนั้นส่วนใหญ่แล้วยังคงไม่แสดงความคิดเห็นของพวกตนออกมาอย่างเปิดเผย แต่ก็กำลังมีการส่งสัญญาณบางอย่างบางประการออกมาอย่างต่อเนื่องเหมือนกัน เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำวอชิงตัน อนาโตลี อันโตนอฟ (Anatoly Antonov) กล่าวในการให้สัมภาษณ์สื่อ อิซเวสเตีย (Izvestia) ของรัสเซีย ซึ่งเผยแพร่ออกมาในวันศุกร์ (11 พ.ย.) ว่า “ผมพบว่ามันเป็นเรื่องไร้เดียงสาที่จะไปทึกทักเอา เพียงด้วยการวินิจฉัยจากข่าวที่ถูกปล่อยรั่วไหลออกมาทางสื่อมวลชนเท่านั้น ว่ากำลังมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมใดๆ ขึ้นมาแล้วในแบบแผนแนวพินิจ โดยที่มุ่งนำเอาเรื่องความสัมพันธ์รัสเซีย-สหรัฐฯ เข้ามาอยู่ในเส้นทางใหม่ ความสัมพันธ์ของเรานี้กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์ที่ลึกซึ้ง และเวลานี้ยังมองไม่เห็นแสงสว่างจากปลายอุโมงค์อีกด้านหนึ่งหรอก”

ขณะที่รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศ เซียร์เก รยาบคอฟ (Sergey Ryabkov) กล่าวเมื่อวันศุกร์ (11 พ.ย.) ว่า ไม่มีการวางแผนว่าจะมีการพบปะหารือใดๆ ในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ ข้างเคียงการประชุมกลุ่ม จี20 ที่บาหลี อินโดนีเซีย เปสคอฟ ก็พูดเมื่อวันศุกร์ (11 พ.ย.) ว่า “การสู้รบขัดแย้งในยูเครนสามารถที่จะยุติลงได้หลังจากบรรลุเป้าหมายต่างๆ (ของการปฏิบัติการพิเศษทางการทหารของฝ่ายรัสเซีย) แล้ว หรือด้วยหนทางในการบรรลุเป้าหมายต่างๆ อย่างเดียวกันนี้โดยผ่านการเจรจากันอย่างสันติ ซึ่งก็มีความเป็นไปได้เหมือนกัน เคียฟตอนนี้ไม่ได้ต้องการการเจรจา การปฏิบัติการพิเศษทางทหารยังคงดำเนินต่อไป”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://tass.com/politics/1535265)

ในสายตาของฝ่ายรัสเซียนั้น คณะบริหารไบเดนมีความปรารถนาสักแค่ไหนในการบีบคั้นกดดันเคียฟ เป็นประเด็นที่ยังไม่มีความแน่นอน รยาบคอฟ พูดถึงมิติที่สำคัญยิ่งนี้เอาไว้ในความเห็นซึ่งเขากล่าวเมื่อวันศุกร์ (11 พ.ย.) “ผมสามารถที่จะกล่าวย้ำว่า เรานั้นเปิดกว้างสำหรับการสนทนากันโดยปราศจากการตั้งเงื่อนไขใดๆ และเรามีความพร้อมในเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้ว (ที่ผ่านมานั้น) เนื่องจากเจอคำสั่งจากพวกผู้อุปถัมภ์ฝ่ายตะวันตกของตน เคียฟต่างหากที่ได้ผละออกไปจากการสนทนาซึ่งโดยทั่วไปแล้วกำลังมีความคืบหน้า และกำลังมีการทำงานในเรื่องเอกสารบางอย่างบางประการกันอยู่ มาถึงตอนนี้สิ่งต่างๆ เหล่านี้กลายเป็นอดีตไปแล้ว และอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเราอีกต่อไป

“ผมสามารถที่จะแสดงความคิดเห็นของผมอย่างชัดเจนเอาไว้ตรงนี้ว่า ถ้าเคียฟยังคงรับคำสั่งจากเมืองหลวงของบางแห่งบางประเทศอยู่ บางทีมันก็อาจจะมีโอกาสดีขึ้นสำหรับการสนทนาเช่นว่านั้น แต่ก็อย่างที่พูดมานั่นแหละ สำหรับที่นี่ เราไม่ได้มีอุปสรรคขัดขวางใดๆ และมันก็ไม่ควรมีการตั้งเงื่อนไขล่วงหน้าใดๆ ทั้งนั้นเพื่อให้มีการสนทนากัน”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://tass.com/politics/1535389)

คำถามใหญ่ก็คือ การรุกของฝ่ายรัสเซีย ซึ่งเป็นที่คาดหมายกันว่าจะเริ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม จะเดินหน้าต่อไปหรือไม่ อย่างที่บทวิเคราะห์ชิ้นหนึ่งของ ซีเอ็นเอ็น สรุปเอาไว้ว่า “ความสำเร็จในเคียร์ซอน ยังอาจจะเปิดทางให้หน่วยทหารต่างๆ ของฝ่ายยูเครนที่อ่อนล้า มีโอกาสหยุดพักชั่วคราวบ้าง ... แต่รัสเซียนั้นมีกำลังอาวุธมากมาย และมีทหารที่ระดมเกณฑ์มาใหม่ๆ จำนวนหลายแสนคนซึ่งสามารถส่งเข้าสู่สมรภูมิได้ และการรณรงค์ของพวกเขาที่มุ่งทำลายโครงสร้างพื้นฐานของฝ่ายยูเครนได้ทำให้การจ่ายไฟฟ้าและน้ำประปาในพื้นที่จำนวนมากกลายเป็นเรื่องล่อแหลมอันตรายยิ่ง ยูเครนกำลังค่อยๆ ได้รับระบบป้องกันภัยทางอากาศระดับก้าวหน้าจากพวกผู้บริจาคชาวตะวันตก แต่ทว่ามีพื้นที่มหึมาที่จะต้องพิทักษ์ปกป้อง”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://edition.cnn.com/2022/11/11/europe/ukraine-russia-kherson-dnipro-explainer-intl/index.html)

เอ็ม.เค.ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline)

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.indianpunchline.com/russias-kherson-withdrawal-is-tactical/
กำลังโหลดความคิดเห็น