No end in view for Ukraine war
BY M. K. BHADRAKUMAR
10/11/2022
สัญญาณเครื่องบ่งชี้ทั้งหลายที่ปรากฏออกมา ระบุว่าคณะบริหารไบเดนกำลังเตรียมการสำหรับการลากยาวอย่างยืดเยื้อในยูเครน
ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ เจค ซัลลิแวน (Jake Sullivan) พบปะหารือกับพวกผู้นำยูเครน ซึ่งก็รวมทั้งประธานาธิบดีวลาดิมีร์ เซเลนสกี ด้วย ในกรุงเคียฟเมื่อไม่กี่วันก่อน ได้ก่อให้เกิดความสับสนและการตีความผิดๆ เป็นจำนวนมาก ขณะที่ทางทำเนียบขาวเองยืนยันว่าทริปเดินทางของ ซัลลิแวน เที่ยวนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อ “เน้นย้ำความสนับสนุนอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ของสหรัฐฯ ที่ให้แก่ยูเครนและประชาชนของประเทศนั้น” โดยที่รายงานสรุปการเจรจาหารือของทางการสหรัฐฯ ระบุว่า ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติผู้นี้ยังย้ำยืนยันถึง “การจัดหาจัดส่งความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและทางมนุษยธรรมไปให้อย่างต่อเนื่องต่อไป เช่นเดียวกับการดำเนินความพยายามอย่างต่อเนื่องกับพวกหุ้นส่วนของตน ในการทำให้รัสเซียต้องแสดงการรับผิดชอบสำหรับการรุกรานของพวกเขา”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2022/11/04/statement-by-nsc-spokesperson-adrienne-watson-on-national-security-advisor-jake-sullivans-visit-to-kyiv-ukraine/)
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ที่ไม่มีการระบุชื่อหลายคนกลับออกมาให้ข่าวกับพวกสื่อว่า ภารกิจที่แท้จริงของ ซัลลิแวน คือ เพื่อ “ดุนหลัง” เซเลนสกี ให้เจรจากับมอสโก และรบเร้าว่า “เคียฟ ต้องแสดงให้เห็นถึงความปรารถนาของตนที่จะยุติสงครามคราวนี้อย่างสมเหตุสมผลและอย่างสันติ” โดยในเวลาต่อมา โพลิติโก (Politico) สื่อออนไลน์ในสหรัฐฯ รายงานข่าวว่า เซเลนสกี มีความใส่ใจกับ “การดุนหลังเบาๆ” ของ ซัลลิแวน อย่างจริงจัง สื่อสหรัฐฯ เจ้านี้รายงานด้วยว่า พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กำลังดุนหลังฝ่ายยูเครนมาได้ระยะหนึ่งแล้ว
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.politico.com/newsletters/national-security-daily/2022/11/08/u-s-nudging-worked-its-magic-on-zelenskyy-00065623)
ทางด้านวอชิงตันโพสต์ก็รายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า คณะบริหารไบเดนได้กระตุ้นพวกเจ้าหน้าที่ยูเครนอย่างเป็นการภายใน ให้แสดงออกว่าพวกเขามีความปรารถนาที่จะเข้าเกี่ยวข้องในการสนทนากับรัสเซีย เพื่อเป็นการแสดงความรับทราบถึงความหงุดหงิดผิดหวังซึ่งกำลังเพิ่มมากขึ้นในสหรัฐฯ และในหมู่พันธมิตรของสหรัฐฯ บางรายเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายและระยะเวลาของสงครามคราวนี้ ทว่าดูเหมือนว่าฝ่ายยูเครนแสดงการแข็งขืน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.washingtonpost.com/national-security/2022/11/05/ukraine-russia-peace-negotiations/?itid=lk_inline_manual_28)
ตัว ซัลลิแวน เองยังเพิ่มเติมสีสันให้แก่การคาดเดากะเก็งเช่นนี้ของพวกสื่อ โดยกล่าวอ้างเมื่อวันจันทร์ (7 พ.ย.) ว่า สหรัฐฯ มีหลายช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับรัสเซียในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส วอลล์สตรีทเจอร์นัลคือผู้ที่รายงานเรื่องนี้ก่อนเพื่อน โดยอ้างพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และฝ่ายตะวันตกที่มิได้มีการระบุชื่อ บอกว่า ซัลลิแวน ได้จัดการหารือแบบปิดลับอย่างต่อเนื่องกันหลายครั้งเมื่อเร็วๆ นี้ กับผู้ช่วยคนหนึ่งของเครมลิน ยูรี อูชาคอฟ (Yury Ushakov) และกับเลขาธิการสภาความมั่นคงของรัสเซีย นิโกเลย์ ปาตรูเชฟ (Nikolay Patrushev) เกี่ยวกับการสู้รบขัดแย้งในยูเครน (มอสโกเองไม่ได้แสดงปฏิกิริยาต่อรายงานข่าวเหล่านี้)
หัวใจของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ว่า ซัลลิแวนกำลังอยู่ระหว่างการรณรงค์ทำประชาสัมพันธ์ในช่วงก่อนหน้าจะถึงการเลือกตั้งกลางเทอมในสหรัฐฯ (ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน) ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่มีการประสานงานกับฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะโต้กลับกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งโตขึ้นเรื่อยๆ ทั้งภายในหมู่ชาวเดโมแครตและชาวรีพับลิกัน ที่ว่าคณะบริหารไบเดนกำลังหลีกหนีไม่ยอมเดินในเส้นทางการทูตในความพยายามที่จะยุติสงครามในยูเครน นอกจากนั้นแล้ว การแสดงบทบาทดังกล่าวของ ซัลลิแวน ยังสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการหันเหเบี่ยงเบนความรับรู้ความเข้าใจให้เห็นไปว่า เซเลนสกีนั่นแหละที่ดื้อรั้นในเรื่องการสนทนาและการเจรจาสันติภาพ --ไม่ใช่ ไบเดน
ในความเป็นจริงแล้ว สัญญาณเครื่องบ่งชี้ทั้งหมดทั้งสิ้นที่ปรากฏออกมาล้วนระบุว่าคณะบริหารไบเดนกำลังเตรียมการสำหรับการลากยาวอย่างยืดเยื้อในยูเครน สตาร์ส แอนด์ สไตรป์ส (Stars and Stripes) หนังสือพิมพ์รายวันของกองทัพสหรัฐฯ รายงานเอาไว้ในวันพุธ (9 พ.ย.) ว่า นายทหารระดับนายพล 3 ดาว (พลโท) จะเป็นผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานสังกัดกองทัพบกสหรัฐฯแห่งใหม่ในเยอรมนี ซึ่งใช้ชื่อว่า กลุ่มช่วยเหลือด้านความมั่นคงยูเครน (Security Assistance Group Ukraine ใช้อักษรย่อว่า SAGU) ซึ่งจะประกอบด้วยกำลังทหารสหรัฐฯราว 300 คนทำหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการประสานงานความช่วยเหลือด้านความมั่นคงให้แก่ยูเครน ก่อนหน้านั้น นิวยอร์กไทมส์รายงานเอาไว้ตั้งแต่วันอาทิตย์ (6 พ.ย.) ว่า พล.ท.แอนโตนิโอ อากูโต จูเนียร์ (Lt. Gen. Antonio Aguto Jr.) ผู้บัญชาการของกองทัพสหรัฐฯ ที่ 1 (First US Army) ซึ่งตั้งกองบัญชาการอยู่ที่ ร็อก ไอส์แลนด์ อาร์เซนอล (Rock Island Arsenal) ในรัฐอิลลินอยส์ คือตัวเก็งที่จะได้งานใหม่นี้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.stripes.com/branches/army/2022-11-08/army-ukraine-wiesbaden-germany-7970727.html)
SAGU จะสังกัดอยู่กับกองบัญชาการยุโรปและแอฟริกากองทัพบกสหรัฐฯ (US Army Europe and Africa headquarters) ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองวีสบาเดน (Wiesbaden) เยอรมนี ขณะที่ ซาบรินา ซิงห์ (Sabrina Singh) รองเลขานุการฝ่ายสื่อมวลชนของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) บอกกับพวกผู้สื่อข่าวว่า หน่วยงานแห่งใหม่นี้จะ “ทำให้เกิดความแน่ใจขึ้นมาว่า เรานั้นวางตำแหน่งตัวเราให้อยู่ในฐานะที่จะสนับสนุนยูเครนไปอย่างต่อเนื่องเป็นช่วงระยะยาวไกล” เธอกล่าวอีกว่า สหรัฐฯ ยังคง “มุ่งมั่นผูกพันกับยูเครนเรื่อยไปตราบเท่าที่มันเป็นสิ่งซึ่งจะต้องกระทำ”
ไม่น่าเป็นไปได้ว่ามอสโกได้ตกหลุมกลอุบายแอบแฝงซ่อนเร้นของ ซัลลิแวน แต่มีเหตุผลที่จะทำให้เชื่อว่า ซัลลิแวน ผู้ซึ่งเป็นพวกนีโอคอน (neocon หรือ neo-conservative พวกอนุรักษนิยมใหม่ -ผู้แปล) ชนิดพันธุ์แท้คนหนึ่งจากเผ่าพันธุ์คลินตัน มีแต่จะรบเร้า เซเลนสกี ให้เร่งรีบนำทัพยูเครนเข้าโจมตีเคียร์ซอน (Kherson) ตามแผนการซึ่งมีการจัดวางกันมาระยะหนึ่งแล้ว ในฐานะที่จะเป็นศึกตัดสินชี้ขาดทั้งในเรื่องดินแดนแหลมไครเมีย (Crimea) และการเข้าควบคุมพวกเมืองท่าริมทะเลดำ/ทะเลอาซอฟ (Black Sea/Azov Sea) รวมทั้งมีความสำคัญยิ่งยวดสำหรับการที่ยูเครนจะสามารถกลายเป็นชาติที่มั่งคั่งรุ่งเรืองชาติหนึ่งขึ้นมา และจะสามารถมีประโยชน์อันทรงคุณค่ายิ่งสำหรับสหรัฐฯ และนาโต้ในการเข้าปิดล้อมรัสเซีย
เหนือสิ่งอื่นใดเลย คณะบริหารไบเดนกำลังมีความจำเป็นเหลือเกินที่จะต้องได้เรื่องราวความสำเร็จสักเรื่องหนึ่งจากยูเครน ในขณะที่รัฐสภาสหรัฐฯ ที่ผ่านการเลือกตั้งมาใหม่ๆ หมาดๆ มีกำหนดเข้าทำหน้าที่ในเดือนมกราคม 2023 โดยที่มีความเป็นไปได้สูงที่พรรครีพับลิกันจะเป็นผู้ครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร
ไม่ต้องสงสัยเลย ฝ่ายรัสเซียกำลังเตรียมตัวรับมือกับการรุกของยูเครนในเคียร์ซอนนี้ด้วยความใส่ใจจริงจังมาก ในการประกาศซึ่งชวนให้ตื่นตะลึงที่มอสโกเมื่อวันพุธ (9 พ.ย.) ที่ผ่านมา รัฐมนตรีกลาโหม เซียร์เก ชอยกู (Sergey Shoigu) ของรัสเซีย ได้ออกคำสั่งให้กองทหารถอนตัวออกจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำดนิเปอร์ (Dnieper River) ส่วนที่อยู่ในแคว้นเคียร์ซอน ข้อเท็จจริงที่ว่าเครมลินกำลังเสี่ยงที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากมติมหาชนชาวรัสเซียสำหรับการออกคำสั่งให้ถอยทัพ (ออกจากแคว้นซึ่ง ปูติน เพิ่งลงนามในกฤษฎีกาผนวกเข้ามาเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของรัสเซีย) เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงแรงโน้มถ่วงของภัยคุกคามทางทหารจากฝ่ายยูเครน และความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเสริมแนวป้องกันให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
(ดูเพิ่มเติม ประกาศของกระทรวงกลาโหมรัสเซียได้ที่ https://tass.com/politics/1534437)
เซเลนสกี กำลังบังคับให้มอสโกต้อง “กลืนน้ำลายตัวเอง” ในเรื่องที่ประกาศเอาไว้ว่าจะดำเนิน “กระบวนการลดทอนกำลังทหาร” ของยูเครน! เซเลนสกี ยังคงอยู่ในอารมณ์ความรู้สึกของการแสดงความเป็นศัตรูอย่างก้าวร้าว เมื่อวันจันทร์ (7 พ.ย.) เขายื่นข้อเสนอสันติภาพ ทว่าพ่วงเงื่อนไขเอาไว้ 5 ประการเพื่อให้สามารถตกลงกันได้ เงื่อนไขเหล่านี้ได้แก่
*ต้องมีการฟื้นฟูบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน
*รัสเซียต้องแสดงความเคารพปฏิบัติตามกฎบัตรสหประชาชาติในส่วนที่ว่าด้วยอธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดน
*รัสเซียต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามทั้งหมดทั้งสิ้น
*ต้องมีการลงโทษผู้กระทำความผิดก่ออาชญากรรมสงครามในแต่ละกรณี
*ต้องมีการค้ำประกันว่า การรุกรานและการกระทำอย่างโหดร้ายป่าเถื่อนเช่นนี้จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก
“การผ่อนปรน” เพียงอย่างเดียวที่ เซเลนสกี แสดงออกให้เห็นในคราวนี้ คือ การที่เขาไม่ได้เอ่ยถึงเงื่อนไขล่วงหน้าซึ่งเขาเคยตั้งเอาไว้ก่อนหน้านี้ ที่ว่าประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ควรต้องออกไปจากตำแหน่ง ก่อนที่จะมีการเจรจาใดๆ อย่างไรก็ดี เงื่อนไขเหล่านี้ต่างก็ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้เกิดการเริ่มต้นใดๆ ขึ้นมาได้
ยังมองไม่เห็นว่าสงครามในยูเครนจะยุติลงได้ สำหรับเรื่องที่การเลือกตั้งกลางเทอมในสหรัฐฯ ปกติแล้วคือจุดที่จะมีการปรับเปลี่ยนตัวบุคคลภายในแวดวงของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยที่อาจคาดหวังได้ว่าจะได้เห็นพวกสมาชิกระดับท็อปของคณะรัฐมนตรีเริ่มต้นมีการผ่องถ่ายเปลี่ยนตัว ทว่ายังไม่มีสัญญาณใดๆ ว่านี่กำลังจะเกิดขึ้นกับรัฐมนตรีกลาโหม ลอยด์ ออสติน (Lloyd Austin)
ออสติน ซึ่งปัจจุบันอายุ 69 ปี กำลังเป็นผู้ที่มีเสียงสำคัญอย่างยิ่งคนหนึ่งในเรื่องการสู้รบขัดแย้งที่ยูเครน เขาเป็นผู้ประสานงานระดมความช่วยเหลือทางทหารมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์จากทั่วโลกมาให้แก่เคียฟ ไบเดน ดูจะคาดการณ์ว่าความพยายามในการทำสงครามคราวนี้มีแต่จะต้องแข็งขันมากยิ่งขึ้น และนี่ไม่ใช่เวลาสำหรับการเปลี่ยนตัวผู้ดำรงตำแหน่งระดับท็อปของเพนตากอน
จริงๆ แล้ว สถานการณ์ในสมรภูมิภาคพื้นดินแสดงให้เห็นว่า การปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องของฝ่ายรัสเซียในพื้นที่แถวๆ เมืองอุกเลดาร์ (Ugledar นี่เป็นชื่อเรียกในภาษารัสเซีย ในภาษายูเครนเรียกว่า วูห์เลดาร์ Vuhledar ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Vuhledar) และเมืองบัคมุต (Bakhmut) ในแคว้นโดเนตสก์ (Donetsk) ทางภาคตะวันออกของยุเครน ได้เผชิญกับการต้านทานอย่างแข็งแรงจากกองกำลังฝ่ายยูเครน ซึ่งตรงกันข้ามกับการบรรยายเล่าเรื่องของฝ่ายรัสเซียที่ว่า ฝ่ายทหารของเคียฟกำลังยุ่งเหยิงวุ่นวาย และอยู่ในสภาพขวัญกระเจิง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรุกคืบของฝ่ายรัสเซียในพื้นที่รอบๆ เมืองอุกเลดาร์ ต้องติดแหง็กอยู่ในพื้นที่โคลนตมในหมู่บ้านปัฟลอฟกา (Pavlovka) ซึ่งตั้งอยู่ตรงจุดตัดของถนนหลายสายซึ่งมีความสำคัญ และมีรายงานว่าระบุว่าเกิดการสู้รบอย่างดุเดือดเมื่อ 3 วันก่อน โดยที่เกิดการบาดเจ็บล้มตายอย่างหนักในทั้งสองฝ่าย การตัดสินใจของ ปูติน ที่ให้ล่าถอยในเคียร์ซอน บางทีอาจจะด้วยความหวังที่จะหลีกเลี่ยงชะตากรรมทำนองเดียวกัน ขณะที่ฝ่ายรัสเซียกำลังเผชิญกับความยากลำบากด้านการส่งกำลังบำรุงให้แก่กองกำลังของฝ่ายตนในบริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำดนีเปอร์
แน่นอนทีเดียว ภาพที่ลำบากไม่ราบรื่นเช่นนี้ ไม่ใช่เป็นภาพรวมทั้งหมดของสถานการณ์หรอก ตราบเท่าที่ระยะแห่งการจัดกลุ่มจัดกำลังกันใหม่ และการเติมเต็มเสบียงตลอดจนเครื่องอาวุธกันใหม่ภายหลังการระดมพลครั้งใหญ่ของรัสเซีย ยังคงดำเนินไปอย่างมีความคืบหน้า และยังคงมีการสู้รบอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคดอนบาสส์ (หมายถึงดินแดนแคว้นลูฮันสก์ กับแคว้นโดเนตสก์ ในภาคตะวันออกของยูเครน -ผู้แปล) ขณะที่ เคียร์ซอน เป็นเรื่องที่อยู่ในระดับทางยุทธวิธี และไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายกำลังทหารขนาดใหญ่ๆ
ในทำนองเดียวกัน การที่ฝ่ายรัสเซียโจมตีอย่างเข้มข้นดุเดือดใส่พวกคลังอาวุธ ศูนย์บังคับบัญชา และระบบจรวดและปืนใหญ่ ตลอดจนระบบป้องกันภัยทางอากาศของฝ่ายยูเครน รวมทั้งการทำลายสิ่งปลูกสร้างทางอุตสาหกรรม-การทหาร ตลอดจนระบบพลังงานของยูเครน ก็ยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อศักยภาพในการทำสงครามของเคียฟ
(การโจมตีอย่างดุเดือดของฝ่ายรัสเซีย ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://tass.com/world/1533923)
เวลาเดียวกัน สถานการณ์ในแนวหน้าต่างๆ ในแคว้นเคียร์ซอน ยังคงอยู่ในสภาพตึงเครียดเป็นอย่างยิ่งสำหรับฝ่ายรัสเซีย กองกำลังฝ่ายยูเครนกำลังพยายามมองหาจุดอ่อนในแนวป้องกันของฝ่ายรัสเซียอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อเจาะทะลวงบุกคืบหน้าสู่เมืองเคียร์ซอน คาดหมายได้ว่าการรุกใหญ่ของฝ่ายยูเครนที่ได้รับการหนุนหลังจากพวกที่ปรึกษาและพวกทหารรับจ้างชาวตะวันตก จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ เท่าที่ปรากฏอยู่ในตอนนี้ ฝ่ายรัสเซียยังคงรักษาที่มั่นของฝ่ายตน ขับไล่การโจมตีของฝ่ายยูเครนที่ดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง และเสริมแนวป้องกันของฝ่ายตนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น
จากเมืองเคียร์ซอน ปืนใหญ่และระบบจรวดของฝ่ายยูเครนสามารถคุกคามดินแดนแหลมไครเมีย ประธานาธิบดีอเล็กซานดาร์ วูชิช แห่งเซอร์เบีย ซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดของมอสโก กล่าวพยากรณ์โรคเอาไว้ว่า “เวลาแห่งการท้าทายกำลังอยู่ตรงข้างหน้าเราแล้ว ฤดูหนาวถัดไปจะยิ่งหนักหน่วงสาหัสยิ่งกว่าฤดูหนาวนี้เสียอีก เพราะเรากำลังเผชิญกับ “สงครามสตาลินกราด” (Battle of Stalingrad) ยุทธการตัดสินชี้ขาดในการสู้รบขัดแย้งในยูเครน สงครามเพื่อชิงเคียร์ซอน” เขาทำนายว่าทั้งสองฝ่ายน่าจะระดมรถถัง เครื่องบิน และพวกปืนใหญ่ระบบจรวดเป็นพันๆ หมื่นๆ ชิ้น ในการต่อสู้เพื่อชิงเมืองสำคัญแห่งนี้
วูชิช บอกว่า “ฝ่ายตะวันตกคิดว่าการทำเช่นนี้จะสามารถสร้างความพินาศย่อยยับให้รัสเซียได้ ขณะที่รัสเซียเชื่อว่าตนจะสามารถป้องกันสิ่งที่ตนได้มาตั้งแต่ตอนเริ่มต้นของสงคราม และรักษามันเอาไว้จนกระทั่งถึงบั้นปลาย”
เอ็ม.เค.ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline)
ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.indianpunchline.com/no-end-in-view-for-ukraine-war/