Ukraine war is ‘Biden’s war’ now
BY M. K. BHADRAKUMAR
สถานการณ์ในเมืองเคียร์ซอนนั้น อยู่ในสภาพของการประจันหน้ากันทางทหารขนาดใหญ่โต โดยที่ เซเลนสกี กำลังทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเข้าไปที่นั่นในความพยายามที่จะช่วงชิงอำนาจควบคุมเหนือเมืองทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ให้ได้ก่อนที่พวกผู้ออกเสียงชาวอเมริกันจะไปหย่อนบัตรเลือกตั้งกลางเทอมในวันที่ 8 พ.ย.นี้ ตามที่ ไบเดน แสดงความปรารถนา ขณะที่ พล.อ.ซูโรวิกิน ผู้บัญชาการการปฏิบัติการของรัสเซียในยูเครน ก็ยอมรับว่า ที่นั่นมีอันตรายมาก โดยมีข้อมูลว่าฝ่ายเคียฟจะใช้วิธีการต้องห้ามต่างๆ อย่างเช่น การเตรียมขีปนาวุธขนาดใหญ่เพื่อโจมตีเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำคาคอฟสกายา ที่อยู่ใกล้ๆ เมืองดังกล่าว
ทำไมรัฐมนตรีกลาโหมสหราชอาณาจักร เบน วอลเลซ (Ben Wallace) จึงต้องรีบร้อนขึ้นเครื่องบินเดินทางไปกรุงวอชิงตันเมื่อวันอังคาร (18 ต.ค.) ที่ผ่านมา? คำอธิบายที่พอจะมองเห็นกันได้ชัดที่สุดสำหรับการเดินทางอย่างมีปริศนาเที่ยวนี้ก็คือ วอลเลซกำลังรีบไปขอความสนับสนุนจากคณะบริหารไบเดน ในเรื่องที่เขาจะลงแข่งขันเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนถัดไปของสหราชอาณาจักร สืบต่อจาก ลิซ ทรัสส์ แต่คำอธิบายอีกอย่างหนึ่งที่ฟังดูน่าเชื่อถือก็คือ ทริปเดินทางอย่างปิดลับและเร่งด่วนคราวนี้เป็นเครื่องหมายแสดงให้เห็นว่า ช่วงขณะแห่งการชี้ชะตาอย่างสำคัญมากครั้งหนึ่งของการสู้รบขัดแย้งในยูเครนกำลังจะเกิดขึ้นแล้ว ในเวลาเดียวกับที่การสู้รบขัดแย้งนี้ก็กำลังแสดงสัญญาณอย่างชัดเจนทุกๆ ประการว่า มันกำลังเปลี่ยนแปลงไปกลายเป็นสงครามแบบสู้รบกันอย่างเต็มพิกัด
แน่นอนอยู่แล้วว่า ทีมไบเดนไม่สามารถนิ่งสงบอยู่เฉยๆ แต่ต้องรู้สึกวิตกกังวลต่อการที่ลอนดอนกำลังลอยเคว้งคว้างเข้าสู่ความอลหม่านวุ่นวาย และพวกผู้นำฝักฝ่ายต่างๆ ของพรรคคอนเซอร์เวทีฟ พากันลนลานเพ่นพ่านไปรอบๆ ราวกับพวกไก่ที่ปราศจากหัว เที่ยวมองหาคนที่จะมาแทนที่ ทรัสส์ ซึ่งประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันพฤหัสบดี (20 ต.ค.)
เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรเวลานี้กำลังพังทลายออกเป็นเสี่ยงๆ และ เจเรมี ฮันต์ (Jeremy Hunt) รัฐมนตรีคลังคนใหม่คาดการณ์ว่า การตัดลดงบประมาณด้านกลาโหมลงมาคงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นก็คือ การทำอะไรตามใจชอบอย่างสนุกสนานร่าเริงในกรุงเคียฟ ของพวกสถาบันและบุคลากรทรงอำนาจที่อยู่เบื้องลึกลงไปของรัฐ (Deep State ดีปสเตต) เป็นเรื่องที่แบกรับกันไม่ไหวอีกต่อไปแล้ว สหราชอาณาจักรกำลังบ่ายหน้ามุ่งไปสู่ห้วงเวลาแห่งความยากลำบาก และแนวความคิดที่ถือกันว่าสำคัญมากอย่าง “Global Britain” ก็เลยแลดูเหมือนเป็นเพียงอาการจิตหลอนเท่านั้น
(Global Britain เป็นนโยบายด้านการต่างประเทศที่รัฐบาลพรรคอนเซอร์เวทีฟเสนอขึ้นมา ขณะทำตามผลประชามติด้วยการนำเอาสหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หริอ “เบร็กซิต” Brexit นโยบายนี้มุ่งเน้นย้ำว่าประเทศนี้จะต้องไม่กลายเป็นพวกมุ่งมองแต่ภายในประเทศภายหลังเบร็กซิต แต่จะต้องมองไปทั่วโลก และต้องไปให้ไกลเกินกว่าแค่ยุโรปด้วย ทั้งนี้สามารถกล่าวได้ว่า นโยบายเช่นนี้เป็นพื้นฐานที่ทำให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรยังคงพยายามแสดงบทบาทในทั่วโลก ไม่ว่าในเอเชีย หรือในยูเครน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://commonslibrary.parliament.uk/research-briefings/cdp-2021-0002/ -ผู้แปล)
ประธานาธิบดีไบเดน เข้ามาแสดงบทบาทในจังหวะเวลานี้แหละ รายงานหลายๆ กระแสจากมอสโกบ่งบอกให้ทราบว่า ฝ่ายรัสเซียมีข่าวกรองอันหนักแน่นซึ่งชี้ไปในทิศทางว่า วอชิงตันกำลังเรียกร้องให้ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน แสดงผลงานอันน่าตื่นตาตื่นใจบางอย่างบางประการขึ้นมาในสมรภูมิการสู้รบ ในช่วงเวลาที่สหรัฐฯ กำลังใกล้จะจัดการเลือกตั้งกลางเทอมในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้
(การเลือกตั้งกลางเทอมในสหรัฐฯ คราวนี้ จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสภา เลือกตั้งวุฒิสมาชิก 35 คนจากทั้งสภาสูงที่มีสมาชิกรวม 100 คน และเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐ ตลอดผู้ว่าการดินแดนที่ขึ้นกับรัฐบาลกลางรวม 39 แห่ง รวมทั้งมีการเลือกตั้งในระดับรัฐและในระดับท้องถิ่นอีกด้วย ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/2022_United_States_elections -ผู้แปล)
แล้วก็มีความคิดเห็นที่ฟังดูลึกลับจาก เจมส์ ฮีปเพย์ (James Heappey) รัฐมนตรีช่วยคนหนึ่งในกระทรวงกลาโหมที่ลอนดอน ซึ่งกล่าวว่า การสนทนาที่ วอลเลซ จะไปพูดคุยในวอชิงตันนั้น เป็นการสนทนาที่ “เกินเลยไปกว่าที่จะเชื่อกัน” อันเป็นมุ่งชี้อย่างเป็นนัยๆ ว่า ระเบียบวาระที่ วอลเลซ ไปพูดคุยคราวนี้จะเป็นประเด็นที่อ่อนไหวและสาหัสจริงจังเป็นพิเศษทีเดียว
แล้วก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ภายหลังเดินทางถึงวอชิงตันแล้ว วอลเลซ ตรงแน่วไปทำเนียบขาวเพื่อพบปะหารือกับ เจค ซัลลิแวน (Jake Sullivan) ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นบุคคลที่ ไบเดน วางตัวให้เป็นคนดูแลเรื่องสงครามยูเครน ตามเอกสารสรุปย่อการสนทนาที่เผยแพร่โดยทำเนียบขาวระบุเอาไว้ว่า เจ้าหน้าที่ทั้งสอง “ได้แลกเปลี่ยนทัศนะต่างๆ ในเรื่องผลประโยชน์ด้านความมั่นคงแห่งชาติซึ่งเป็นที่สนใจร่วมกัน รวมทั้งเรื่องยูเครน ทั้งคู่เน้นย้ำถึงพันธะผูกพันของทั้งสองประเทศในการจัดหาความช่วยเหลือด้านความมั่นคงให้แก่ยูเครน ขณะที่ยูเครนกำลังป้องกันตนเองจากความก้าวร้าวรุกรานของรัสเซีย”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2022/10/18/readout-of-national-security-advisor-jake-sullivans-meeting-with-united-kingdom-secretary-of-state-for-defence-ben-wallace/)
ขณะที่การเมืองสหราชอาณาจักรเข้าสู่ระยะแห่งการเดินหมากชิงไหวชิงพริบกันอย่างดุเดือด ซึ่งอาจลากยาวออกไปเป็นแรมเดือน สหรัฐฯ ก็จะต้องกลายเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายหนึ่งไปด้วย ตามประวัติศาสตร์แล้วนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา สหราชอาณาจักรคือผู้ที่นำพาสหรัฐฯ ออกมาจากการยืนอยู่ในมุมมืดด้านหลังๆ ในสถานการณ์สำคัญยิ่งยวดครั้งต่างๆ ซึ่งมีรัสเซียเกี่ยวข้องอยู่ด้วย
อันที่จริง ไบเดนได้ออกคำแถลงฉบับหนึ่งเกี่ยวกับการอำลาจากไปของ ทรัสส์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีใครทำกัน โดยเขาเน้นย้ำว่า สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรเป็น “พันธมิตรที่แข็งแกร่ง และเป็นเพื่อนมิตรกันที่คงทนยืนยาว –และข้อเท็จจริงนี้จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง” เขาขอบคุณเธอ “สำหรับความเป็นหุ้นส่วนของเธอในประเด็นปัญหาต่างๆ หลายหลาก รวมทั้งเรื่องการยืนยันว่ารัสเซียต้องแสดงความรับผิดสำหรับการทำสงครามต่อต้านยูเครน” ไบเดนย้ำว่า “เราจะรักษาความร่วมมืออันใกล้ชิดที่เรามีอยู่กับรัฐบาลสหราชอาณาจักรเอาไว้ต่อไป ขณะที่พวกเราทำงานร่วมกันเพื่อเผชิญกับความท้าทายระดับโลกต่างๆ ที่ชาติของพวกเราประสบอยู่
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2022/10/20/statement-from-president-joe-biden-on-the-resignation-of-prime-minister-liz-truss-of-the-united-kingdom/)
นี่คือ ไบเดน กำลังส่งข้อความที่ทรงพลังไปถึงชนชั้นทางการเมืองของสหราชอาณาจักร เป็นการส่งสัญญาณว่า เขาคาดหมายว่าพวกเขาจะได้ข้อสรุปออกมาในรูปของการเสนอนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ผู้ซึ่งจะยึดมั่นปฏิบัติตามอย่างซื่อสัตย์ในเข็มทิศนำทางเรื่องยูเครน ที่กำหนดขึ้นมาโดย บอริส จอห์นสัน ทั้งนี้ หากจะว่ากันถึงเงื่อนไขต่างๆ ในเฉพาะหน้านี้ เรื่องนี้จะส่งสัญญาณอย่างไรต่อโปรเจกต์ของอังกฤษ-อเมริกันในเคียร์ซอน (Kherson)? มันยังจะเดินหน้าต่อไปหรือไม่? นี่เป็นคำถามใหญ่โตทีเดียว
สถานการณ์ในเคียร์ซอนนั้น ได้รับการสันนิษฐานว่าอยู่ในสภาพของการประจันหน้ากันทางทหารขนาดใหญ่โต โดยที่ เซเลนสกี กำลังทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเข้าไปที่นั่นในความพยายามที่จะช่วงชิงอำนาจควบคุมเหนือเมืองเคียร์ซอนซึ่งทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ แต่ตกอยู่กำมือของฝ่ายรัสเซียมาตั้งแต่เดือนมีนาคม โดยที่ เคียฟ มุ่งมั่นจะตีเมืองนี้ให้ได้ก่อนการเลือกตั้งกลางเทอมในสหรัฐฯ
ระหว่างการแถลงข่าวที่กรุงมอสโกเมื่อวันอังคาร (18 ต.ค.) พลเอกทหารบก เซียร์เก ซูโรวิกิน (Sergei Surovikin) ผู้เพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการยุทธบริเวณสำหรับการปฏิบัติการในยูเครน (theatre commander for Ukraine operations) กล่าวยอมรับว่ามีอันตรายที่กองกำลังฝ่ายยูเครนจะรุกตีเข้ามายังเมืองเคียร์ซอน ซึ่งก็เป็นเมืองเอกของแคว้นชื่อเดียวกัน
ตามคำพูดของนายพลผู้นี้ เขาบอกว่า “สถานการณ์ที่ยากลำบากเพิ่งเกิดขึ้นมา พวกศัตรูเจตนาถล่มระเบิดใส่โครงสร้างพื้นฐานและพวกอาคารที่พักอาศัยในเคียร์ซอน สะพานอันโตนอฟสกี (Antonovsky Bridge) และเขื่อนของสถานีไฟฟ้าพลังน้ำคาคอฟสกายา (Kakhovskaya hydroelectric power station) ได้รับความเสียหายจากขีปนาวุธของระบบจรวดหลายลำกล้อง HIMARS การสัญจรในบริเวณนั้นหยุดชะงัก
“ผลก็คือ การลำเลียงจัดส่งอาหารไปยังเมืองนั้นทำได้ด้วยความยากลำบาก แล้วยังมีปัญหาบางประการเกี่ยวกับการจ่ายน้ำประปาและไฟฟ้า ทั้งหมดเหล่านี้สร้างความยุ่งยากอย่างใหญ่โตให้แก่การดำเนินชีวิตของพลเมือง และก็เป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อชีวิตของพวกเขาอีกด้วย
ทางคณะผู้นำนาโต้ของกองทัพยูเครน เรียกร้องระบอบปกครองเคียฟมานานแล้วให้เปิดการปฏิบัติการรุกโจมตีเคียร์ซอน โดยไม่ต้องสนใจเรื่องการบาดเจ็บล้มตาย ... เรามีข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ระบอบปกครองในเคียฟจะใช้วิธีการต่างๆ ของสงครามซึ่งเป็นวิธีการที่ถูกระบุห้ามนำมาใช้ ในพื้นที่ของเมืองเคียร์ซอน – อย่างการเตรียมขีปนาวุธขนาดใหญ่เพื่อโจมตีใส่เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำคาคอฟสกายา ขีปนาวุธขนาดมหึมาและโจมตีอย่างไม่มีการจำแนกแยกแยะ และการโจมตีด้วยปืนครก ปืนใหญ่ ตลอดจนจรวดใส่เมืองนี้ ...
(ทางฝ่ายยูเครนโดยประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ก็ได้ออกมากล่าวหาในวันที่ 20 ต.ค. ว่า กองทัพรัสเซียได้วางระเบิดเอาไว้ภายในเขื่อนคาคอฟกา ที่เมืองโนวาคาคอฟกา ในแคว้นเคียร์ซอน โดยมีแผนทำลายทิ้ง ซึ่งจะทำให้ภาคใต้ยูเครนต้องเผชิญกับน้ำท่วมครั้งใหญ่ พร้อมกับเรียกร้องฝ่ายตะวันตกให้ยับยั้งมอสโก ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.reuters.com/world/europe/ukraine-curbs-power-usage-after-russian-attacks-destroy-some-energy-plants-2022-10-19/ หรือที่เก็บความเป็นภาษาไทยแล้ว https://mgronline.com/around/detail/9650000101137 -ผู้แปล)
“ในสภาวการณ์เช่นนี้ เรื่องสำคัญลำดับแรกสุดของเราคือการสงวนรักษาชีวิตและสุขภาพของพลเมือง ด้วยเหตุนี้ กองทัพรัสเซีย ซึ่งก่อนอื่นใดเลยจะต้องให้ความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัย จึงได้ออกประกาศไปแล้วให้ประชากรถอนตัวออกไป โดยเป็นไปตามโปรแกรมการตั้งถิ่นฐานกันใหม่ ซึ่งกำลังเตรียมการโดยรัฐบาลรัสเซีย แผนการและการปฏิบัติการต่อไปของเราเกี่ยวกับตัวเมืองเคียร์ซอนเองนั้น จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการทหาร-ยุทธวิธีในปัจจุบัน ผมขอย้ำนะครับ วันนี้มันก็ยากลำบากมากแล้ว (ใช้ตัวเน้นโดยผู้เขียน)
“ในกรณีใดๆ ก็ตาม อย่างที่ผมแถลงไปแล้ว เราจะเริ่มต้นจากความจำเป็นในการพิทักษ์ปกป้องชีวิตของพลเรือนและของทหารของเราให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เราจะกระทำอย่างมีจิตสำนึกและในลักษณะที่ทันการณ์ทันเวลา โดยไม่มีการหลีกเลี่ยงละเลย แม้จะเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก” (ใช้ตัวเน้นโดยผู้เขียน)
ท่านที่สนใจสามารถชมคลิปบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มของ พล.อ.ซียร์เก ซูโรวิกิน กับสื่อมวลชนรัสเซีย (เป็นภาษารัสเซีย) ได้ที่ข้างล่างนี้ :
The full interview of Gen. Sergey Surovikin to Russian media is below:
ความคิดเช่นนี้ของทางเครมลิน ยังได้รับการขานรับในการแถลงขอความร่วมมือจากประชาชนของ วลาดิมีร์ ซัลโด (Vladimir Saldo) ผู้ว่าการแคว้นเคียร์ซอน โดยเขาอธิบายขยายความว่า การอพยพเพลเรือนออกไปไม่เพียงเพื่อความปลอดภัยของประชาชนเท่านั้น แต่ยังเพื่อให้ฝ่ายทหารมีเสรีภาพในการปฏิบัติการอีกด้วย
ซัลโด บอกว่า “พี่น้องร่วมชาติที่รักทั้งหลาย ผมต้องการพูดอีกครั้งหนึ่งว่ากองทัพของเรานั้นมีสมรรถนะต่างๆ ที่แข็งแกร่งสามารถขับไล่ไสส่งการโจมตีใดๆ ได้ทั้งนั้น แต่เพื่อให้ฝ่ายทหารของเราสามารถทำงานไปอย่างเงียบๆ และไม่ต้องคอยพะวงว่ามีพลเรือนอยู่ด้านหลังออกไปจากข้างหลังของพวกเขา ดังนั้น พวกคุณจึงต้องออกไปจากย่านที่อยู่อาศัยที่ผมระบุไปแล้วเหล่านี้ และอนุญาตให้ฝ่ายทหารทำงานของพวกเขาไปอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้พลเรือนเกิดการบาดเจ็บล้มตายน้อยลง อุดมการณ์ที่เราต่อสู้นั้นเป็นสิ่งที่ชอบธรรม และแน่นอนว่าเราจะเป็นผู้ชนะ!”
ข้อความที่ส่งกันออกมาตรงนี้ก็คือว่า ฝ่ายทหารรัสเซียกำลังเตรียมพร้อมเพื่อขยายขนาดขอบเขตของการสู้รบขัดแย้งในเคียร์ซอน ถ้าหากว่ามันมีความจำเป็นเกิดขึ้นมา ทั้งนี้ มีการพูดจากันเกี่ยวกับเรื่องที่รัสเซียจะเปิดการรุกครั้งมโหฬารในช่วงประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน การที่ ปูติน ประกาศมาตรการรักษาความมั่นคงใหม่ๆ ในสัปดาห์นี้ และการจัดตั้งสภาเพื่อการร่วมมือประสานงานพิเศษขึ้นมาชุดหนึ่ง โดยที่มีนายกรัฐมนตรี มิคฮาอิล มิชูสติน (Mikhail Mishustin) เป็นประธาน เพื่อให้ความสนับสนุนสนองความต้องการต่างๆ ของกองทัพรัสเซียนั้น เป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่ากำลังมีการสร้างรากฐานเพื่อการทำสงครามในอนาคตข้างหน้า
(มาตรการรักษาความมั่นคงใหม่ๆ ที่ ปูติน ประกาศ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://tass.com/politics/1524971)
(การตั้งสภาเพื่อการร่วมมือประสานงานพิเศษ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://tass.com/politics/1524957)
จุดสำคัญจุดหนึ่ง ซึ่ง พล.อ.ซูโรวิกิน พูดเอาไว้ในช่วงหนึ่งของการแถลงข่าวของเขา ได้แก่ตอนที่เขาบอกว่า “พวกศัตรูไม่ยอมเลิกล้มความพยายามที่จะเข้าโจมตีที่มั่นต่างๆ ของกองทหารรัสเซีย โดยพื้นที่ซึ่งน่ากังวลนั้น อันดับแรกก่อนอื่นเลย ได้แก่ ทิศทางเมืองคุปยันสก์ (Kupyansk) ในแคว้นคาร์คอฟ (Kharkov oblast) ทิศทางเมืองคราสโนลิมานสกี้ (Krasnolimansky) ในแคว้นโดเนตสก์ (Donetsk oblast) และทิศทางเมืองมิโคลาอิฟ (Mykolaiv) - เมืองครีวอย ร็อก (Krivoy Rog) ซึ่งอยู่ใกล้ๆ แคว้นเคียร์ซอน ศัตรูของเราเป็นระบอบการปกครองของอาชญากรซึ่งกำลังเข่นฆ่าพลเมืองของยูเครน เรานั้นเป็นประชาชนหนึ่งเดียวกับชาวยูเครน และเราปรารถนาให้ยูเครนกลายเป็นรัฐซึ่งเป็นอิสระจากโลกตะวันตกและนาโต้ เป็นมิตรกับรัสเซีย ...(ใช้ตัวเน้นโดยผู้เขียน)
“ระบอบปกครองยูเครนกำลังพยายามที่จะเจาะทะลวงฝ่าแนวป้องกันของเรา เพื่อทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ กองทัพของยูเครนจึงกำลังดึงเอากองกำลังสำรองทั้งหมดเท่าที่จะหาได้ไปยังแนวหน้า กองกำลังเหล่านี้หลักๆ แล้วเป็นกองกำลังอาสารักษาดินแดนที่ยังไม่ได้ผ่านการฝึกอบรมอย่างเต็มที่สมบูรณ์ ในความเป็นจริงแล้ว คณะผู้นำของยูเครนกำลังส่งพวกเขาให้เผชิญกับการถูกทำลาย”
จากนั้นเขากล่าวต่อไปว่า “เรานั้นมียุทธศาสตร์ที่แตกต่างออกไป ท่านผู้บัญชาการทหารสูงสุด (หมายถึงประธานาธิบดีปูติน) ได้พูดเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้แล้ว เราไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะให้ได้ตัวเลขการบุกคืบหน้าที่สูงๆ เราดูแลเอาใจใส่ทหารทุกๆ คน และกำลัง “บดบี้” อย่างมีกระบวนวิธีต่อพวกศัตรูที่กำลังรุกเข้ามา นี่ไม่เพียงสามารถจำกัดความสูญเสียของเราเท่านั้น แต่ยังสามารถลดจำนวนพลเรือนที่บาดเจ็บล้มตายลงไปได้อย่างสำคัญอีกด้วย”
นั่นคือ เมื่อพูดกันอย่างเจาะจงแล้ว ขนาดขอบเขตของการปฏิบัติการพิเศษทางทหารคราวนี้ตามที่ได้มีการกำหนดเอาไว้ตั้งแต่ต้น โดยมุ่งโฟกัสไปที่ “การทำให้เกิดภาวะปลอดทหาร” (demilitarisation) และ “การทำให้เกิดภาวะปลอดนาซี” (denazification) ขึ้นมาในยูเครน ยังคงเหมือนเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันยังมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้เกิดการแทนที่ระบอบปกครองของ เซเลนสกีอีกด้วย
รัสเซียจะคอยเฝ้าดูอย่างฉลาดหลักแหลมถึงวิกฤตการณ์ทางการเมืองอันล้ำลึกที่กำลังพัฒนาไปในยุโรป โดยที่การปะทุตูมตามขึ้นมาในสหราชอาณาจักรถือเป็นลางบอกเหตุอย่างแรกๆ ซึ่งสามารถที่จะกัดกร่อนความสนับสนุนอันหนักแน่นมั่นคงที่สหราชอาณาจักรให้แก่เซเลนสกี ในเวลาเดียวกับที่ศักยภาพและผลประโยชน์ของฝ่ายตะวันตกในการทุ่มเทเงินทองเข้าประคับประคองเศรษฐกิจของยูเครน และเป็นเชื้อเพลิงเติมพลังให้แก่ความขัดแย้งทางทหารคราวนี้ ก็อาจจะอยู่ในภาวะเหือดแห้งจางคลายลงไป
กระนั้นก็ตามที ซูโรวิกิน ไม่ได้เลือกใช้วิธีพูดจาเปล่งคำขวัญปลุกใจที่เกินความจริง ตรงกันข้าม เขากลับเลือกที่จะสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาและสอดคล้องกับความเป็นจริง สิ่งที่เขาพูดยังเป็นการสะท้อนการจัดลำดับความสำคัญของปูติน ซึ่งอันดับต้นๆ อยู่ที่การใช้มาตรการและทรัพยากรทุกๆ อย่างที่จำเป็นให้สอดคล้องกับสถานการณ์การปฏิบัติการและสถานการณ์ทางยุทธวิธีในแนวหน้า โดยตั้งจุดมุ่งหมายสูงสุดอยู่ที่การรักษาชีวิตของทหารชาวรัสเซียและพลเรือนในท้องถิ่น
การแถลงของ พล.อ.ซูโรวิกิน ก่อให้เกิดความประทับใจว่า กองบัญชาการทหารของรัสเซียนั้นมีความพรักพร้อมรับมือกับพัฒนาการทุกๆ อย่างของสถานการณ์ในเคียร์ซอน –ทั้งในการถอนตัวตามยุทธวิธี และในการในสู้รบอย่างหนักหน่วงในเขตตัวเมือง
พิจารณาในแง่การเมืองแล้ว จากการที่สหราชอาณาจักรต้องจมลึกลงไปในหล่มโคลนภายในประเทศเช่นนี้ ไบเดนจึงเหลือทางเลือกที่จะต้องปรับเปลี่ยนหันมาใช้การทูต สงครามคราวนี้ ในเวลานี้มันกลายเป็น “สงครามของไบเดน” ไปแล้ว เขากำลังจะจารึกฝากฝังมรดกแห่งสมัยการเป็นประธานาธิบดีของเขาให้แก่ชนรุ่นหลังในอนาคต ในฐานะที่เป็นประธานาธิบดีอเมริกันคนที่ 5 จากทั้งหมด 14 คนนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ที่มี “สงคราม” เป็นของตนเอง –ตามหลัง แฮร์รี ทรูแมน, ลินดอน จอห์นสัน, จอร์จ เอช ดับเบิลยู บุช และจอร์จ ดับเบิลยู บุช
เอ็ม.เค.ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline)
ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.indianpunchline.com/ukraine-war-is-bidens-war-now/