xs
xsm
sm
md
lg

‘จีน-อินเดีย’ เปลี่ยนจุดยืนเรื่อง ‘สงครามยูเครน’ แล้วหรือ จึงปล่อยผ่าน ‘คำแถลงซัมมิตจี20’ ที่มีเนื้อหาวิจารณ์รัสเซียอย่างแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ฟอสเตอร์ คลูก, สำนักข่าวเอพี ***


ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เข้าร่วมวาระหนึ่งของการประชุมซัมมิตกลุ่ม 20 ประเทศเศรษฐกิจสำคัญของโลก (จี20) ที่นูซา ดัว
Analysis : Have China and India shifted stance on Russia war?
By FOSTER KLUG Associated Press
17/11/2022

พวกนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ไม่คิดว่าจีน และ อินเดีย มีการเปลี่ยนจุดยืนในเรื่องสงครามยูเครน ถึงแม้พวกเขา “ปล่อยผ่าน” คำแถลงซึ่งมีน้ำเสียงต่อต้านมอสโกของซัมมิตกลุ่มจี20 ที่บาหลี

นูซา ดัว, อินโดนีเซีย - จีนและอินเดีย ซึ่งช่วงหลายๆ เดือนมานี้ใช้ท่าทีปฏิเสธไม่ยอมประณามรัสเซียที่ก่อสงครามในยูเครนมาโดยตลอด กลับไม่ได้ยืนขวางที่ประชุมซัมมิตของกลุ่มจี20 ที่บาหลี ออกคำแถลงตอนปิดประชุมเมื่อวันพุธ (16 พ.ย.) ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์มอสโกแรงๆ

ใช่หรือไม่ว่า อย่างน้อยที่สุดเรื่องนี้ต้องถือเป็นสัญญาณแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายใหม่อย่างถนัดชัดเจนของปักกิ่ง และนิวเดลี โดยหันมาเห็นดีเห็นงามกับสิ่งซึ่งสหรัฐฯ และพวกชาติพันธมิตรตะวันตกของอเมริกา เชื่อว่า เป็นหนทางที่ดีที่สุดในการยุติสงครามซึ่งได้นำเอาความตายและความลำบากทุกข์ยากไปสู่ยูเครน และทำให้การดำเนินชีวิตของผู้คนเป็นล้านๆ ต้องสะดุดติดขัด ในขณะที่ราคาอาหารและราคาพลังงานพุ่งพรวด และเศรษฐกิจของชาติต่างๆ ย่ำแย่กันระนาว

แน่นอนทีเดียวว่า ฝ่ายตะวันตกมีความกระตือรือร้นที่จะมองเรื่องนี้ว่าเป็นการเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนท่าทีของมหาอำนาจใหญ่แห่งโลกกำลังพัฒนาเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อพินิจพิจารณากันให้ใกล้ชิดเพียงพอแล้ว จะพบว่ามีความละเอียดอ่อนอยู่มากทีเดียว --โดยยังไม่ต้องพูดถึงหลายๆ จุดที่มีความกำกวม ทั้งในคำแถลงฉบับดังกล่าวที่เผยแพร่ออกมาอย่างเป็นทางการ ณ ตอนสิ้นสุดการประชุมระดับผู้นำรัฐและผู้นำรัฐบาลของกลุ่ม 20 ชาติเศรษฐกิจสำคัญของโลกที่ เกาะบาหลี, อินโดนีเซีย คราวนี้ และทั้งในพฤติกรรมต่างๆ ของจีน และอินเดียเอง ซึ่งก่อให้เกิดคำถามขึ้นว่ากำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังแน่หรือ?

จุดยืนของชาติใหญ่เอเชียทั้งสองนี้น่าจะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลายๆ สัปดาห์ต่อจากนี้ไป แต่สำหรับเวลานี้ทั้งคู่ซึ่งยังคงมีความผูกพันทางด้านการค้าอย่างเป็นกอบเป็นกำอยู่กับรัสเซีย และจวบจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์สงครามในยูเครนอย่างตรงๆ อยู่ดี ปักกิ่ง และนิวเดลี อาจจะเพียงแค่กำลังพินิจพิจารณาว่าสิ่งไหนที่จะเป็นผลประโยชน์ของพวกเขา และเปิดทางเลือกต่างๆ เผื่อเอาไว้สำหรับอนาคต

การไตร่ตรองมองกันให้ขาดว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมาจริงๆ ในบาหลีนี้คืออะไรกันแน่ถือเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากมีความกังวลกันมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า หากปราศจากแรงบีบคั้นกดดันทางการเมืองและทางการทูตจากจีน และอินเดียแล้ว ความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะยุติสงครามของตนก็จะน้อยลงไปอย่างมากๆ

การสู้รบขัดแย้งในยูเครน เป็นเหมือนเมฆดำทะมึนที่ลอยอยู่เหนือการประชุมซัมมิต 2 วันที่บาหลีคราวนี้ ซึ่งฝ่ายรัสเซียได้ส่งรัฐมนตรีต่างประเทศ เซียร์เก ลาฟรอฟ เข้าร่วม ทั้งนี้ รายงานข่าวที่ออกมาตั้งแต่ก่อนรุ่งสางวันพุธ (16 พ.ย.) ที่บาหลี เรื่องมีขีปนาวุธถูกยิงไปตกใส่ภาคตะวันออกของโปแลนด์ เร่งรัดให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ รีบนัดแนะจัดการประชุมฉุกเฉินกับพวกผู้นำของกลุ่ม 7 ชาติอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี7) และชาติสมาชิกองค์การนาโต้ ในระหว่างการซัมมิต จี20 ครั้งนี้อย่างไม่รีรอ

ประธานาธิบดีโจโค วิดโดโด ของอินโดนีเซีย ที่เป็นเจ้าภาพซัมมิตหนนี้ กล่าวยอมรับว่า การทะเลาะโต้เถียงกันหลังฉากในเรื่องที่ว่าคำแถลงร่วมของการประชุมจะพูดถึงเรื่องการรุกรานของรัสเซียหรือไม่ และพูดว่ายังไง ทำให้การสรุปจัดทำคำแถลงร่วมเป็นไปอย่าง “ลำบากมากๆ”

ในที่สุดแล้ว คำแถลงสุดท้ายซึ่งออกมาสู่สาธารณชนมีเนื้อความว่า “สมาชิกส่วนใหญ่ประณามสงครามในยูเครนอย่างแข็งขัน และเน้นย้ำว่ามันกำลังก่อให้เกิดความทุกข์ยากเดือดร้อนแก่มนุษย์อย่างมหาศาล และกำลังทำให้ความอ่อนเปราะต่างๆ ที่ปรากฏขึ้นมาอยู่แล้วในเศรษฐกิจโลกยิ่งทรุดหนักลงไปอีก”

การใช้ถ้อยคำภาษาที่ไม่มีลักษณะครอบคลุมชาติที่เข้าร่วมการประชุมทั้งหมด อย่างคำว่า “สมาชิกส่วนใหญ่” (most members) เช่นนี้ เป็นการส่งสัญญาณว่ามีสมาชิกจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ระบุในคำแถลงนี้ นอกจากนั้น คำแถลงนี้ยังตามมาด้วยข้อความที่ยอมรับว่า “ยังมีทัศนะมุมมองและการประเมินอย่างอื่นๆ ที่แตกต่างออกไป” พร้อมกับระบุว่า จี20 “ไม่ใช่เวทีประชุมเพื่อแก้ไขประเด็นปัญหาด้านความมั่นคง”

กระนั้นก็ตาม บางคนบางฝ่ายยังคงมองว่า ข้อความในคำแถลงสุดท้ายนี้เป็นการประณามอย่างรุนแรงต่อสงครามซึ่งได้เข่นฆ่าผู้คนไปเป็นหมื่นๆ คน เพิ่มความตึงเครียดทางด้านความมั่นคงในทั่วโลก และทำให้เศรษฐกิจโลกสะดุดติดขัด

ทั้งนี้ ข้อความเตะตาในคำแถลงสุดท้ายนี้ เป็นการอ้างอิงภาษาถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ในญัตติเมื่อวันที่ 2 มีนาคมปีนี้ของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ซึ่งผ่านการรับรองของชาติสมาชิกเสียงข้างมาก โดยมีเนื้อหาแสดงการตำหนิ “ด้วยข้อความแข็งขันที่สุดต่อการที่สหพันธรัฐรัสเซียก้าวร้าวรุกรานยูเครน” รวมทั้งเรียกร้องให้รัสเซีย “ถอนตัวออกไปอย่างสมบูรณ์และอย่างไม่มีเงื่อนไข” จากดินแดนของยูเครน

โอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ระบุว่า การที่คำแถลงของซัมมิตกลุ่ม จี20 มี “ถ้อยคำที่ชัดเจนอย่างน่าประหลาดใจ” ในเรื่องยูเครนเช่นนี้ “จะไม่มีทางเป็นไปได้เลย หากประเทศที่สำคัญๆ ไม่ได้ช่วยเหลือพวกเราให้เข้ามารวมตัวกันในเส้นทางนี้ – นี่ก็รวมไปถึงอินเดีย และยังรวมไปถึงตัวอย่างเช่น แอฟริกาใต้”

“นี่เป็นอะไรบางอย่างซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีประเทศจำนวนมากมายในโลกที่ไม่ได้คิดว่าสงครามครั้งนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นประเทศที่ประณามสงครามครั้งนี้ แม้กระทั่งว่าพวกเขางดออกเสียงในสหประชาชาติด้วยเหตุผลต่างๆ หลากหลายก็ตาม” ชอลซ์ กล่าว “และผมแน่ใจเลยว่า นี่คือผลลัพธ์ประการหนึ่งของซัมมิตคราวนี้ ได้แก่ การที่ประธานาธิบดีรัสเซียต้องยืนอยู่อย่างแทบจะโดดเดี่ยวคนเดียวในโลกนี้จากนโยบายของเขา”

ทางด้าน จอห์น เคอร์ตัน (John Kirton) ผู้อำนวยการของกลุ่มวิจัย จี20 (G-20 Research Group) ก็สำทับเรียกคำแถลงนี้ว่าเป็น “การทะลุทะลวงครั้งใหญ่” และเป็น “การปรับเปลี่ยนอย่างกระตือรือร้น” ของจีน และอินเดีย ด้วยการที่พวกเขาเข้าร่วมกับ “ฝ่ายประชาธิปไตยในการแบ่งแยกทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างใหญ่โตมโหฬารที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้านี้”

อย่างไรก็ดี เมื่อพูดคุยกันแบบเป็นการภายใน นักการทูตบางคนยังแสดงอาการระมัดระวังตัวมากเมื่อจะให้ระบุว่า จีนได้ปรับเปลี่ยนจุดยืนของตนในเรื่องรัสเซียแล้ว

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน อาจจะเพียงแค่ตัดสินใจว่าจะไม่ทำตัวให้คนอื่นเห็นไปว่า เขาเป็นพวกคอยชักใบให้เรือเสีย หรือ พวกเพี้ยนสุดโต่ง ระหว่างพบปะหารือแบบเจอะเจอหน้ากันกับพวกผู้นำคนอื่นๆ ในบาหลี คำแถลงนี้ยังเป็นการเปิดทางให้จีนสามารถหลีกเลี่ยงไม่ต้องร่วมหัวจมท้ายกับรัสเซียซึ่งดูจะอยู่ในสภาพโดดเดี่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ จากการเพิ่มการโจมตีใส่พลเรือนและโครงสร้างพื้นฐานด้านพลเรือนในยูเครน

สิ่งที่ปักกิ่งไม่ได้กระทำ คือ การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ที่ตนมีอยู่กับรัสเซียในขั้นรากฐาน หรือแม้กระทั่งออกมาตั้งคำถามในที่สาธารณะกับความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้

จีนมีการจับกลุ่มร่วมมืออย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับรัสเซียในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศของตนในระยะไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ ขณะที่พวกโครงการสร้างท่อส่งก๊าซและท่อส่งน้ำมัน รวมทั้งการซื้อขายก๊าซธรรมชาติปริมาณมหาศาล ก็ทำให้พวกเขาขยับเข้าใกล้กันมากขึ้นในทางเศรษฐกิจ

ปักกิ่ง ยังคงปฏิเสธไม่ยอมออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในที่สาธารณะเกี่ยวกับการก้าวร้าวรุกรานของรัสเซีย หรือแม้กระทั่งเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่าเป็นการรุกราน อีกทั้งกำลังกล่าวหา สหรัฐฯ และนาโต้ ว่าเป็นฝ่ายยั่วยุ ปูติน ถึงแม้ว่าระยะไม่กี่วันมานี้ จีนออกมากล่าวเตือนคัดค้านการปล่อยให้การสู้รบขัดแย้งครั้งนี้บานปลายขยายตัวไปสู่การใช้อาวุธนิวเคลียร์

เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่มอสโก ยกทัพรุกรานยูเครน ปูติน และ สี ได้พบหารือกันในกรุงปักกิ่ง โดยที่พวกเขาได้ลงนามในคำแถลงร่วมฉบับหนึ่งซึ่งยืนยันว่า ความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีของประเทศทั้งสองของพวกเขานั้น “ไม่มี” ขีดจำกัด

ไม่เป็นที่ชัดเจนว่า จีนได้มีบทบาทอะไรหรือไม่ในการผลักดันทำให้มีการใช้ภาษาที่อ่อนลงมาในคำแถลงซึ่งออกหลังซัมมิต จี20 ครั้งนี้ ทั้งในข้อความที่ยอมรับว่า “ยังมีทัศนะมุมมองและการประเมินอย่างอื่นๆ ที่แตกต่างออกไป” และที่ว่า จี20 “ไม่ใช่เวทีประชุมเพื่อแก้ไขประเด็นปัญหาด้านความมั่นคง” แต่ สือ อินหง (Shi Yinhong) ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ณ มหาวิทยาลัยเหรินหมิน (Renmin University) ในกรุงปักกิ่ง บอกว่า จีนเคยผลักดันให้ใส่วลีเหล่านี้มาแล้วในโอกาสการพูดคุยจัดร่างคำแถลงร่วมคราวอื่นๆ

นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ของอินเดีย (ขวา) พูดคุยกับ สุพรหมณยัม ชัยศังกร รัฐมนตรีต่างประเทศของเขา  ระหว่างเข้าร่วมวาระหนึ่งของการประชุมซัมมิตกลุ่ม จี20 ที่บาหลี ในวันพุธ (16 พ.ย.)
สำหรับอินเดีย นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ก็หลีกเลี่ยงเรื่อยมาไม่วิพากษ์วิจารณ์การที่รัสเซียรุกรานยูเครน

อย่างไรก็ดี เมื่อตอนที่โมดี พบปะกับ ปูติน ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา เขาเคยส่งสัญญาณต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกว่า อินเดียรู้สึกไม่สบายใจกับการสู้รบโจมตีนี้

“ผมทราบว่ายุคสมัยของทุกวันนี้น่ะ ไม่ใช่ยุคสมัยของสงครามหรอก” โมดี บอกกับ ปูติน ในครั้งนั้น

ข้อความดังกล่าว “ดังก้องสะท้อนอย่างลึกซึ้งไปถึงตลอดทั่วทั้งคณะผู้แทนของประเทศต่างๆ ทั้งหลายทั้งปวง และช่วยประสานช่องว่างซึ่งมีอยู่ในระหว่างฝ่ายที่มีความเห็นแตกต่างกัน และมีส่วนร่วมทำให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นความสำเร็จของเอกสารชิ้นนี้” ในบาหลี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย (Indian Foreign Secretary) วิเนย์ ควาตรา (Vinay Kwatra) บอกกับพวกผู้สื่อข่าว

ขณะที่ นาฟดีป ซูรี (Navdeep Suri) นักการทูตเกษียณอายุแล้วชาวอินเดีย ให้ความเห็นว่า เขามองเห็นว่ามีการปรับเปลี่ยนอย่างละเอียดบางๆ ในจุดยืนของอินเดีย ในการติดต่อกับรัสเซีย

อย่างไรก็ดี เขาแว้งใส่ จีน ว่า อาจจะ “อยู่ในจุดยืนที่อิหลักอิเหลื่อยิ่งกว่าอินเดียมากมายนักหนา เนื่องจาก จีน คือผู้ที่ไปให้สัญญาว่าจะสนับสนุนรัสเซียอย่างไร้ขอบเขตจำกัด ในช่วงไม่กี่วันก่อนการรุกราน” ซูรี กล่าว “มาถึงตอนนี้จีนต้องหันมายินยอมอยู่กับ (คำแถลง) ที่ใช้ภาษาแรงๆ เช่นนี้ ซึ่งก็รวมถึงเรื่องเรียกร้องให้กองกำลังรัสเซียถอนออกไปจากยูเครนอย่างไม่มีเงื่อนไขและอย่างสมบูรณ์”

ด้าน ดิลิป สิงหา (Dilip Sinha) นักการทูตเกษียณอายุชาวอินเดียอีกคนหนึ่ง ชี้ไปในอีกมุมหนึ่งว่า อินเดียยังคงซื้อน้ำมันรัสเซีย ทำการค้ากับรัสเซีย และงดออกเสียงในญัตติต่างๆ ของยูเอ็นที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์รัสเซีย

“ในอินเดียมีความรู้สึกของการวางท่าอวดกล้าว่า ตนนั้นมีหนทางของตัวเอง ผมยังมองไม่เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลยในนโยบายของอินเดียซึ่งมีต่อรัสเซีย และต่อสงครามในยูเครน” สิงหา บอก

ฟอสเตอร์ คลูก เป็นผู้อำนวยการด้านข่าวสำหรับเกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และแปซิฟิกใต้ ของสำนักข่าวเอพี (Associated Press) เขาทำข่าวเกี่ยวกับเอเชียมาตั้งแต่ปี 2005
กำลังโหลดความคิดเห็น