เอเอฟพี - ที่ปรึกษาผู้นำยูเครนระบุ ความพยายามของตะวันตกในการโน้มน้าวให้เคียฟเจรจากับมอสโก หลังจากรบชนะในสนามรบสำคัญหลายแห่งเป็นความคิดที่ “แปลกประหลาด” และเท่ากับเป็นการขอให้ยูเครนยอมแพ้
มิไคโล โปโดลยัค ที่ปรึกษาประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพีที่กรุงเคียฟ ในวันอาทิตย์ (20 พ.ย.) ว่าออกจะแปลกเล็กน้อยเมื่อยูเครนเป็นฝ่ายรุกไล่ในสนามรบแต่กลับได้รับข้อเสนอว่า คงไม่สามารถทำทุกอย่างได้ด้วยการทหาร แต่ต้องเจรจา ซึ่งเท่ากับว่า ประเทศที่สามารถชิงดินแดนคืนกลับต้องยอมจำนนแก่ประเทศที่กำลังพ่ายแพ้
ขณะเดียวกัน เมื่อเร็วๆ นี้ สื่ออเมริกันรายงานว่า เจ้าหน้าที่อาวุโสบางคนของสหรัฐฯ เริ่มสนับสนุนให้ยูเครนพิจารณาการเจรจา ซึ่งเซเลนสกี ยืนกรานว่า รัสเซียต้องถอนทหารออกจากยูเครนก่อน
ทั้งนี้ พล อ.ไมค์ มิลลีย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วมของสหรัฐฯ กล่าวเมื่อต้นเดือนว่า มีการรับรู้ร่วมกันว่า ชัยชนะทางทหารตามความหมายที่แท้จริงอาจไม่สามารถเป็นไปได้ด้วยวิธีการทางทหาร และประเมินว่า มีโอกาสสำหรับการเจรจา
อย่างไรก็ตาม จากการเปิดเผยของโปโดลยัคนั้น มอสโกไม่เคยยื่นข้อเสนอในการเจรจาสันติภาพโดยตรง และแม้กระทั่งกล่าวถึงความเป็นไปได้ในการหยุดยิง แต่ต้องการดำเนินการผ่านคนกลางมากกว่า
เคียฟมองว่า การเจรจาเหล่านั้นเป็นอุบายของเครมลินเพื่อพักรบชั่วคราวและเตรียมฝึกกองกำลังที่เกณฑ์มาใหม่ จัดหาอาวุธเพิ่ม และเสริมกำลังในพื้นที่ยึดครอง
โปโดลยัคสำทับว่า แม้รัสเซียพ่ายแพ้ครั้งใหญ่หลายระลอกในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงเมืองเคียร์ซอนที่ยูเครนสามารถยึดคืนมาได้ แต่ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ยังคิดว่า ตัวเองสามารถทำลายยูเครนได้ ซึ่งบ่งชี้ถึงความหมกมุ่นของผู้นำรัสเซีย รวมถึงแสดงให้เห็นว่า การเจรจากับปูตินเป็นเรื่องไร้สาระ
ที่ปรึกษาของเซเลนสกีผู้นี้ยืนกรานว่า ตะวันตกไม่สามารถกดดันให้ยูเครนเจรจากับรัสเซีย และกล่าวว่า ชาติพันธมิตรยังหลงคิดว่า สามารถย้อนเวลากลับไปช่วงก่อนสงครามที่รัสเซียยังเชื่อถือได้
เขายังกล่าวว่า หลังจากรัสเซียถอนกำลังครั้งใหญ่จากภูมิภาคเคียฟในเดือนมีนาคม ตามด้วยภูมิภาคคาร์คีฟทางตะวันออกเฉียงเหนือในเดือนกันยายน การปลดปล่อยเมืองเคียร์ซอนในเดือนนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในความขัดแย้งนี้
โปโดลยัคเสริมว่า ยูเครนไม่สามารถหยุดปฏิบัติการตอบโต้ได้แม้เข้าสู่ฤดูหนาวที่ทำให้สถานการณ์ในสนามรบยากลำบากขึ้นก็ตาม เพราะแม้การพักรบเพียงไม่นานอาจหมายถึงการสูญเสียของยูเครน
มอสโกปักหลักถล่มโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานยูเครนมานานหลายสัปดาห์ ทำให้ประชาชนนับล้านครัวเรือนต้องอยู่ท่ามกลางความมืดมิด
โปโดลยัคระบุว่า ภูมิภาคซาโปริซเซียทางใต้และลูกันสก์ทางตะวันออกเป็นทิศทางหลักสำหรับกองทัพในขณะนี้ แต่ปฏิเสธที่จะคาดเดาความเป็นไปได้ของปฏิบัติการทางทหารเพื่อชิงคาบสมุทรไครเมียที่ถูกมอสโกเข้าผนวกเมื่อปี 2014 คืน และเรียกร้องให้ตะวันตกจัดส่งอาวุธเพิ่มซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในฤดูหนาว
เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันเสาร์ที่ผ่านมา (19 พ.ย.) นายกรัฐมนตรีริชี ซูนัค ของอังกฤษ ใช้โอกาสการเยือนเคียฟครั้งแรกเสนอระบบป้องกันภัยทางอากาศใหม่ให้ยูเครน
ซูนัคระบุว่า เคียฟยังต้องการรถถังอีก 150-200 คัน ยานยนต์หุ้มเกราะ 300 คัน ระบบปืนใหญ่นับร้อย ระบบจรวดหลายลำกล้อง 50-70 ชุด ซึ่งรวมถึง HIMARS ของอเมริกา และระบบต่อต้านอากาศยาน 10-15 ชุด พร้อมอ้างอิงถึงขีปนาวุธ ATACMS ของอเมริกาที่ยิงได้ไกล 300 กิโลเมตร จากขีปนาวุธที่ยูเครนมีใช้ขณะนี้ที่ยิงได้ไกลแค่ 80 กิโลเมตร
สำหรับโปโดลยัค ขีปนาวุธเหล่านั้นอาจทำให้สงครามใกล้สิ้นสุดด้วยการที่ช่วยให้ยูเครนทำลายคลังอาวุธและฐานทัพของรัสเซียที่อยู่ในพื้นที่ชั้นในของดินแดนยึดครองที่ขณะนี้ยูเครนไม่สามารถเข้าถึงได้
เขาทิ้งท้ายว่า เคียฟไม่จำเป็นต้องโจมตีเป้าหมายในรัสเซีย แต่สงครามจะจบเมื่อยูเครนสามารถควบคุมชายแดนของประเทศได้อีกครั้ง และเมื่อรัสเซียเกรงกลัวยูเครน