สหรัฐฯ สังเกตพบเรือของกองทัพเรือรัสเซียกำลังเตรียมพร้อมสำหรับการทดสอบตอร์ปิโดพลังงานนิวเคลียร์ใหม่ ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ความเคลื่อนไหวซึ่งมีขึ้นในช่วงเวลาที่วอชิงตันและพันธมิตรจับตามองด้วยความระมัดระวังต่อสัญญาณใดๆ ที่มอสโกอาจเตรียมการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในสงครามยูเครน
หนึ่งในบรรดาเรือที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเตรียมการครั้งนี้ ได้แก่ เรือดำน้ำขีปนาวุธร่อน "เบลโกรอด" ซึ่งดัดแปลงมาเพื่อปฏิบัติการพิเศษต่างๆ ที่สามารถยิงยานใต้น้ำไร้คนขับ ในนั้นรวมถึงตอร์ปิโดโพไซดอน
ในสัปดาห์ที่แล้ว เรือหลายลำถูกสังเกตพบว่ากำลังเดินทางออกจากพื้นที่ทดสอบในทะเลบอลติก และกำลังมุ่งหน้ากลับไปยังท่าเรือโดยไม่มีการทดสอบ ทำให้สหรัฐฯ เชื่อว่ารัสเซียอาจเผชิญกับปัญหาทางเทคนิค
แหล่งข่าวนักการทูตตะวันตกให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่า "นี่สามารถมองได้ในฐานะส่วนหนึ่งของภาพรวม การซ้อมรบทางทหารของรัสเซียเมื่อเร็วๆ นี้ การส่งทหารที่ยังขาดการฝึกฝนและขาดแคลนยุทโธปกรณ์เข้าไปยังยูเครน อุตสาหกรรมทางทหารของรัสเซียกำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก และเรายังมองได้อีกอย่างว่ามาตรการคว่ำบาตรของตะวันตกในด้านสินค้าไฮเทคด้านการทหารกำลังส่งผลกระทบและต้องเดินหน้าต่อไป"
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่ารัสเซียอาจพยายามทดสอบตอร์ปิโดอีกครั้ง แต่เน้นว่าน่านน้ำในพื้นที่ทดสอบจะเริ่มถูกปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งเร็วๆ นี้ ทำให้กรอบเวลาของปฏิบัติการเหลือไม่มากนัก
การทดสอบตอร์ปิโดของรัสเซีย จะโหมกระพือความตึงเครียดกับสหรัฐฯ เพิ่มเติม ในช่วงเวลาที่วอชิงตันและพันธมิตรกำลังจับตามองอย่างระมัดระวัง สำหรับสัญญาณใดๆ ที่รัสเซียอาจกำลังเตรียมการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในสงครามยูเครน ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้ให้ความสนใจโดยเฉพาะกับความเป็นไปได้ของการทดสอบตอร์ปิโดโพไซดอน
ตอร์ปิโดโพไซดอน เป็นยานดำน้ำไร้คนขับพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งมีแสยานุภาพบรรทุกทั้งกระสุนทั่วไปและกระสุนนิวเคลียร์ โดยระบบแรงขับนิวเคลียร์ของมันเปิดทางให้โพไซดอนมีพิสัยทำการแทบไร้ขีดจำกัด
ด้วยที่มันใช้แหล่งพลังงานเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์และมีความยาวเกือบ 80 ฟุต (24.3 เมตร) โดรนตอร์ปิโดโพไซดอน จึงไม่ต่างจากเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ติดหัวรบนิวเคลียร์ ที่ไม่มีลูกเรือ
สหรัฐฯ ไม่เชื่อว่าการทดสอบใดๆ จะเกี่ยวข้องกับการจุดชนวนวัตถุนิวเคลียร์ แต่ความเป็นไปได้ที่จะเกิดอันตรายอาจมาจากเหตุข้อขัดข้องใดๆ ที่เกิดขึ้นกับระบบแรงขับนิวเคลียร์ ซึ่งอาจก่อความเสี่ยงทางกัมมันตภาพรังสี
ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย แถลงเปิดตัวระบบโพไซดอนเป็นครั้งแรกระหว่างแถลงนโยบายประจำปีเมื่อปี 2018 โดยอวดอ้างมันในฐานะนวัตกรรมอาวุธใหม่
"หน่วยพลังงานนิวเคลียร์มีความโดดเด่นจากขนาดที่เล็กของมัน แต่ขณะเดียวกัน ก็มอบอัตรากำลังต่อน้ำหนักตัวอันน่าทึ่ง มันมีขนาดเล็กกว่าหน่วยที่ให้พลังงานเรือดำน้ำสมัยใหม่หลายร้อยเท่า แต่ยังคงให้พลังงานมากกว่าและสามารถปรับเปลี่ยนสู่โหมดสู้รบ นั่นคือสิ่งที่จะบอก เมื่อแตะระดับศักยภาพสูงสุด มันจะเร็วขึ้น 200 เท่า" ปูตินกล่าวในตอนนั้น
เบลโกรอด เป็นเรือดำน้ำที่ยาวที่สุดที่อยู่ในมหาสมุทรในทุกวันนี้ และถูกส่งเข้าประจำการในกองทัพเรือรัสเซียในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ด้วยความยาวมากกว่า 608 ฟุต (ราว 185 เมตร) มันจึงมีขนาดยาวกว่าบรรดาเรือดำน้ำขีปนาวุธแบบทิ้งตัวและขีปนาวุธร่อนชั้นโอไฮโอของกองทัพเรือสหรัฐฯ ซึ่งมีความยาว 569 ฟุต (ราว 173 เมตร)
เรือดำน้ำเบลโกรอด ถูกพูดถึงในปี 2019 และคาดหมายว่าจะมีการส่งมอบแก่กองทัพเรือรัสเซียในปี 2020 หลังผ่านการทดสอบและทดลองไปแล้วหลายรอบ แต่ความเคลื่อนไหวดังกล่าวต้องล่าช้าออกไปสืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามรายงานของทาสส์นิวส์ สื่อมวลชนแห่งรัฐ
ทาสส์นิวส์ ไม่ได้ให้กรอบเวลาเกี่ยวกับการเข้าประจำการครั้งแรกของเบลโกรอด แต่พวกเขาเคยรายงานก่อนหน้านี้ว่ามันจะบรรทุกตอร์ปิโดศักยภาพติดหัวรบนิวเคลียร์โพไซดอน ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อโจมตีเป้าหมายที่อยู่ห่างออกไปหลายร้อยกิโลเมตร และสามารถเล็ดลอดระบบป้องกันตนเองตามชายฝั่ง ด้วยการพุ่งไปตามพื้นผิวของทะเล
ในเดือนพฤศจิกายน 2020 คริสโตเฟอร์ ฟอร์ด ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในด้านความมั่นคงนานาชาติและไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ ณ ขณะนั้น กล่าวว่า โพไซดอนถูกออกแบบมาเพื่อทำให้เมืองต่างๆ ตามแนวชายฝั่งของสหรัฐฯ เต็มไปด้วยสึนามิกัมมันตภาพรังสี
รายงานฉบับหนึ่งของหน่วยงานวิจัยของสภาคองเกรส (CRS) ที่เผยแพร่ในเดือนเมษายน ระบุว่า โพไซดอนมีเจตนาเป็นอาวุธแก้แค้น ที่ออกแบบมาเพื่อโจมตีกลับศัตรู หลังการโจมตีทางนิวเคลียร์ใส่รัสเซีย พร้อมบอกว่าเรือดำน้ำเบลโกรอด มีศักยภาพบรรทุกโพไซดอนสูงสุด 8 ลูก แต่พวกผู้เชี่ยวชาญบางส่วนคาดหมายว่ามันน่าจะบรรทุกตอร์ปิโดได้สูงสุดจำนวน 6 ลูกด้วยกัน
(ที่มา : ซีเอ็นเอ็น)