เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย แสดงความหวังว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ จะมีความเฉลียวฉลาดพอสำหรับจัดการกับเหตุเผชิญหน้าในสงครามยูเครน แบบเดียวกับที่อดีตประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี พาโลกรอดพ้นจากสงครามนิวเคลียร์ สืบเนื่องจากวิกฤตขีปนาวุธคิวบาในปี 1962
ปฏิบัติการรุกรานยูเครนของรัสเซีย โหมกระพือความเป็นปรปักษ์ครั้งเลวร้ายที่สุดระหว่างมอสโกกับตะวันตก นับตั้งแต่วิกฤตขีปนาวุธคิวบา ครั้งที่สหภาพโซเวียตและสหรัฐฯ เฉียดใกล้เปิดสงครามนิวเคลียร์
ในช่วงเวลาดังกล่าว จอห์น เอฟ เคนเนดี ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ณ ขณะนั้น พบว่า นิกิตา ครุสชอฟ ผู้นำโซเวียต ประจำการขีปนาวุธนิวเคลียร์ในคิวบา หลังจากฝ่ายลี้ภัยคิวบาที่ได้รับการสนับสนุนจากอเมริกา ซึ่งพยายามโค่นอำนาจผู้นำคอมมิวนิสต์ ล้มเหลวในการยกพลบุกอ่าวหมู
เดือนตุลาคม 1962 กัปตันเรือดำน้ำลำหนึ่งของโซเวียต ต้องการยิงอาวุธนิวเคลียร์ หลังกองทัพเรือสหรัฐฯทิ้งระเบิดน้ำลึกรอบๆเรือดำน้ำลำดังกล่าว อย่างไรก็ตามจากนั้นในวันเดียวกัน เคนเนดี ตัดสินใจตกลงอย่างลับๆในการถอนขีปนาวุธทั้งหมดของอเมริกาออกจากตุรกี แลกกับการที่ ครุสชอฟ ถอนขีปนาวุธของรัสเซียทั้งหมดออกจากคิวบาเช่นกัน
วิกฤตคราวนี้ได้รับการปลดชนวน แต่มันกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งภัยอันตรายจากการเป็นคู่อริกันของ 2 ชาติมหาอำนาจในสงครามเย็น
ระหว่างให้สัมภาษณ์ในสารคดีชุดหนึ่งที่เผยแพร่ผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งรัฐของรัสเซีย เกี่ยวกับวิกฤตขีปนาวุธ ทางลาฟรอฟกล่าวว่ามีความคล้ายคลึงกันกับวิกฤตคิวบา ส่วนใหญ่เป็นเพราะเวลานี้ รัสเซีย กำลังถูกคุกคามจากอาวุธของตะวันตกในยูเครน
"ผมหวังว่าในสถานการณ์ของวันนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะมีโอกาสมากยิ่งขึ้นว่าใครเป็นคนออกคำสั่งและควรออกคำสั่งอย่างไร" ลาฟรอฟกล่าว "สถานการณ์นี้ยุ่งเหยิงมาก มันต่างจากปี 1962 ครุสชอฟและเคนเนดี พบว่าการแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบและความเฉลียวฉลาดคือความเข้มแข็ง แต่ตอนนี้เราไม่เห็นความพร้อมลักษณะดังกล่าวในส่วนของวอชิงตันและบริวารของพวกเขาเลย"
โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติทำเนียบขาว ปฏิเสธแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับถ้อยแถลงของลาฟรอฟ แต่เน้นย้ำคำพูดที่ผ่านๆมา ว่าจะยังคงเปิดสายการสื่อสารติดต่อกับมอสโกต่อไปอย่างต่อเนื่อง
ลาฟรอฟ บอกว่าพวกผู้นำรัสเซีย ในนั้นรวมถึงประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน พร้อมเช่นเดิมที่จะพูดคุยในประเด็นยูเครน "ความพร้อมของรัสเซีย ในนั้นรวมถึงท่านประธานาธิบดี ในการเจรจา(ในประเด็นยูเครน) ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง" เขากล่าว "เราพร้อมเสมอที่จะรับปังข้อเสนอต่างๆของพันธมิตรตะวันตกของเรา ในการผ่อนคลายสถานการณ์ความตึงเครียด"
ปูติน อ้างถึงกรณีตะวันตกเพิกเฉยต่อความกังวลของรัสเซีย เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายขอบเขตมาทางทิศตะวันออกของพันธมิตรทหารนาโต้ เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของความขัดแย้ง
สหรัฐฯและพันธมิตรยุโรป บอกว่าความกังวลของรัสเซียนั้นเป็นเรื่องเลยเถิด และไม่สามารถอ้างความชอบธรรมการรุกรานประเทศเพื่อนบ้านอดีตสหภาพโซเวียตแห่งนี้
(ที่มา:อัลจาซีราห์)