xs
xsm
sm
md
lg

ปูตินไม่ได้แค่ขู่! สื่อสหรัฐฯ แฉบิ๊กทหารรัสเซียเริ่มหารือใช้ 'อาวุธนิวเคลียร์' ในยูเครน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อกลางเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา พวกผู้นำทางทหารระดับสูงของรัสเซียได้พูดคุยหารือกันเกี่ยวกับแนวทางการใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางเทคนิค "เมื่อไหร่และอย่างไร" ในยูเครน ก่อความกังวลขั้นสูงแก่วอชิงตันและพันธมิตรทั้งหลาย ตามรายงานข่าวของซีบีเอสนิวส์ อ้างอิงแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอเมริกาหลายราย

แหล่งข่าวระบุว่า ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการพูดคุยหารือ ซึ่งเกิดขึ้นหลังฉากโวหารทางนิวเคลียร์ที่หนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ และความพ่ายแพ้ในสนามรบสมรภูมิแล้วสมรภูมิเล่าของรัสเซีย

แม้ ปูติน ไม่ได้มีส่วนร่วม แต่ข้อเท็จจริงที่ว่าบรรดาผู้นำทางทหารระดับสูงของรัสเซียถึงขั้นได้มีการพูดคุยกันแล้ว ได้ก่อความกังวลแก่รัฐบาลสหรัฐฯ ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพราะมันแสดงให้เห็นว่าบรรดานายพลรัสเซียผิดหวังมากแค่ไหนต่อความล้มเหลวของพวกเขาในสนามรบ และบ่งชี้ว่าคำเตือนอ้อมๆ ของปูติน เกี่ยวกับการใช้อาวุธนิวเคลียร์ อาจไม่ได้เป็นแค่คำขู่

กระนั้นเจ้าหน้าที่อเมริการะบุพวกเขาไม่พบเห็นหลักฐานว่ารัสเซียกำลังเคลื่อนอาวุธนิวเคลียร์เข้าประจำการ หรือกำลังใช้มาตรการทางเทคนิคอื่นๆ ในการเตรียมพร้อมสำหรับโจมตี

ข่าวกรองเกี่ยวกับการพูดคุยกันของบรรดาผู้นำทหารระดับสูงของรัสเซีย วนเวียนอยู่ภายในรัฐบาลสหรัฐฯ มาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคมแล้ว จากคำกล่าวอ้างของแหล่งข่าว

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ไม่ได้ชี้ถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่พวกผู้นำทางทหารรัสเซียอาจพิจารณาเลือกใช้อาวุธนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตาม วิลเลียม เจ เบิร์นส์ ผู้อำนวยการซีไอเอ ก่อนหน้านี้เคยพูดว่าความสิ้นหวังของ ปูติน ในการควานหาชัยชนะในยูเครนและความปราชัยในสมรภูมิแล้วสมรภูมิเล่า อาจนำไปซึ่งการเปิดฉากใช้อาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซีย

จอห์น เคอร์บี ผู้ประสานงานด้านการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ของสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ปฏิเสธแสดงความคิดเห็นอย่างเฉพาะเจาะจงต่อรายงานข่าวนี้

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือเพนตากอน ประเมินว่ารัสเซียมีคลังอาวุธนิเคลียร์ทางเทคนิค 2,000 ลูก ซึ่งออกแบบมาใช้ในสมรภูมิรบต่างๆ เพื่อเอาชนะกองกำลังทั่วไป แม้ที่ผ่านมาไม่เคยมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางเทคนิคในสมรภูมิรบมาก่อน แต่มันสามารถใช้ได้ในหลายแนวทาง ในนั้นรวมถึงติดตั้งบนขีปนาวุธ หรือเป็นกระสุนปืนใหญ่

อาวุธนิวเคลียร์ทางเทคนิคมีอานุภาพทำลายล้างต่ำและมีเจตนาสำหรับใช้ในพิสัยใกล้กว่าหัวรบนิวเคลียร์ที่ติดตั้งบนขีปนาวุธข้ามทวีป

พวกผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารบอกว่าการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริงจะเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 75 ปี จะเปลี่ยนรากฐานเค้าโครงของสงคราม แต่ผลลัพธ์ของการทำลายล้างขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ในนั้นรวมถึงขนาดของอาวุธและกระแสลม ทว่าแม้กระทั่งการระเบิดของนิวเคลียร์ขนาดเล็ก ก็อาจเข่นฆ่าชีวิตผู้คนหลายหมื่นรายและทำให้หลายพื้นที่ของยูเครนไม่สามารถอยู่อาศัยได้

ปูติน คือผู้มีอำนาจหนึ่งเดียวว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางเทคนิคหรือไม่ และสามารถตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์ โดยไม่จำเป็นต้องสนมุมมองบรรดาผู้นำทางทหารของเขา

ข่าวกรองใหม่ล่าสุดนี้ปรากฏออกมาในช่วงเวลาที่รัสเซียกำลังผลักดันคำกล่าวหาที่ว่า ยูเครนกำลังวางแผนใช้อาวุธที่เรียกว่าเดอร์ตีบอมบ์ หรือระเบิดกัมมันตภาพรังสี ขณะเดียวกัน มันยังมีขึ้นท่ามกลางการติดต่อกันหลายรอบระหว่างเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ และตะวันตกกับเจ้าหน้าที่ของรัสเซีย ในนั้นรวมถึงการพูดคุยทางโทรศัพท์ระหว่าง ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ และเซอร์เก ซอยกู รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย

แม้ความเสี่ยงเกี่ยวสถานการณ์ลุกลามบานปลายยังคงเป็นปัญหาใหญ่ แต่เจ้าหน้าที่ในรัฐบาลไบเดน และพันธมิตรของสหรัฐฯ เผยว่าการพูดคุยทางโทรศัพท์ระหว่างตะวันตกกับรัสเซียเมื่อช่วงปลายเดือนก่อน ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดทางนิวเคลียร์ได้บางส่วน และคำกล่าวของปูตินเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว ซึ่งปฏิเสธข่าวที่ว่ามอสโกำกลังเตรียมการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในยูเครน ก็ช่วยลดอุณหภูมิความตึงเครียดลงได้มาก

รัสเซียทำการซ้อมรบทางทหารเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในนั้นรวมถึงการทดสอบขีปนาวุธศักยภาพติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ แต่ ออสติน ระบุสหรัฐฯ ไม่เชื่อว่าการซ้อมรบดังกล่าวเป็นรูปแบบของความเคลื่อนไหวอำพรางการใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางเทคนิคกับยูเครน

ในกรุงวอชิงตัน เจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ในรัฐบาลสหรัฐฯ ก็บอกเช่นกันว่าพวกเขาไม่คิดว่า ปูติน มีแผนใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางเทคนิค หรือแม้กระทั่งระเบิดกัมมันตรังสี

"เราไม่พบเห็นสิ่งใดๆ ที่บ่งชี้ว่า ปูติน ได้ตัดสินใจใช้ระเบิดกัมมันตรังสีแล้ว" ออสตินบอกกับผู้สื่อข่าวที่เพนตากอนเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว แม้เขาเตือนว่าการใช้อาวุธนิวเคลียร์เป็นเรื่องอันตราย

อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่ารัฐบาลสหรัฐฯ มีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ลุกลามบานปลาย "มันจะเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี หากมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์" เขากล่าว "ถ้ามันเกิดขึ้น เราเคยพูดอย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นว่า คุณจะได้เห็นการตอบโต้ที่ใหญ่หลวงมากๆ จากประชาคมนานาชาติ"

เจ้าหน้าที่ในรัฐบาลของไบเดน ปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ขอพูดอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับแนวทางตอบโต้ดังกล่าว แต่ตัวประธานาธิบดีเองบ่งชี้ว่าเขาไม่มีแผนแก้แค้นด้วยวัตถุนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ

(ที่มา : นิวยอร์กไทม์ส/ซีบีเอสนิวส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น