ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ระบุวานนี้ (31 ต.ค.) ว่าการสร้างศูนย์กลางท่อส่งก๊าซขึ้นในตุรกีนั้นสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว และตนเชื่อว่าจะมี “ลูกค้ายุโรป” หลายชาติที่รอเซ็นสัญญา
ผู้นำรัสเซียยื่นข้อเสนอเมื่อต้นเดือน ต.ค. ว่าจะใช้ตุรกีเป็น “ฮับ” สำหรับส่งก๊าซไปยังยุโรปแทน หลังจากสายท่อลำเลียงก๊าซนอร์ดสตรีม (Nord Stream) ซึ่งลอดผ่านทะเลบอลติก ถูกแรงระเบิดจนได้รับความเสียหายเมื่อเดือน ก.ย.
ด้านประธานาธิบดี เรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน แห่งตุรกี ก็ออกมาระบุว่าตน “เห็นด้วย” กับไอเดียนี้
ปูติน ยอมรับว่า การประสานงานโดยตรงกับหุ้นส่วนทางการค้าในยุโรป “เป็นเรื่องยากมาก” ในเวลานี้ ขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งเคยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียถึง 40% ก็กำลังแสวงหาทางเลือกใหม่ๆ เพื่อจะไม่ได้ต้องตกเป็นเบี้ยล่างทางพลังงานของมอสโกอีกต่อไป
“การทำงานร่วมกับตุรกีนั้นง่ายกว่ามาก เพราะประธานาธิบดี แอร์โดอัน เป็นคนพูดคำไหนคำนั้น และยังสะดวกสำหรับเราในการควบคุมเส้นทางทะเลดำ” ปูติน ระบุในงานแถลงข่าว
“นี่คือโครงการที่เป็นไปได้จริง และเราสามารถทำให้สำเร็จได้อย่างรวดเร็ว ผมเชื่อว่าจะมีลูกค้าไม่น้อยที่ต้องการเซ็นสัญญา และเชื่อได้เลยว่า หลายชาติในยุโรปก็ต้องการเช่นกัน”
ปูติน ระบุด้วยว่า รัฐวิสาหกิจ “ก๊าซปรอม” ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้าไปตรวจสอบความเสียหายในระบบท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม พบว่าแรงระเบิดทำให้สายท่อความยาว 40 เมตรของ นอร์ดสตรีม 1 แตกออก และกระเด็นไปถูกท่อก๊าซนอร์ดสตรีม 2 จนได้รับความเสียหายด้วย และโดยรวมๆ แล้วสายท่อนอร์ดสตรีม 1 เกิดรอยแตกเป็นระยะทาง 259 เมตร
รัฐบาลสวีเดนและเดนมาร์กออกมาสรุปตรงกันว่า การรั่วไหลทั้ง 4 จุดที่เกิดขึ้นกับสายท่อ นอร์ดสตรีม 1 และ 2 เป็นผลมาจาก “แรงระเบิด”
มอสโกกล่าวหาว่า “คนของกองทัพเรืออังกฤษ” อยู่เบื้องหลังเหตุวินาศกรรมครั้งนี้ ในขณะที่ลอนดอนยืนกรานปฏิเสธ
ที่มา : รอยเตอร์