ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ระบุยุโรปต้องถูกกล่าวโทษสำหรับวิกฤตพลังงานของพวกเขาเอง สืบเนื่องจากนโยบายต่างๆ ที่บีบรัดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ เสียงเหน็บแนมซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่รัฐสมาชิกอียูในวันพุธ (12 ต.ค.) ยังประสบปัญหาในการบรรลุข้อตกลงจำกัดเพดานราคาก๊าซ เพื่อบรรรเทาผลประทบที่มีต่อผู้บริโภค
ความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงทางอุปทานพลังงานพุ่งสูงขึ้นอีก หลังพบรอยรั่วในโปแลนด์ ในท่อลำเลียงน้ำมันดิบมาจากรัสเซียซึ่งทำให้กระแสน้ำมันที่ป้อนสู่เยอรมนีลดน้อยลง
โปแลนด์บอกว่ารูรั่วนั้นมีต้นตอจากอุบัติเหตุ แต่มันเกิดขึ้นในขณะที่ประเทศต่างๆ ของสหภาพยุโรปกำลังหาทางเบี่ยงตนเองจากการพึ่งพาพลังงานรัสเซีย ตอบโต้กรณีมอสโกรุกรานยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์
ในเวลาเดียวกันนี้ ท่อลำเลียงก๊าซนอร์ดสตรีท ที่ป้อนก๊าซจากรัสเซียไปยังเยอรมนี ก็ยังคงหยุดปฏิบัติการ หลังจากพบรอยรั่วเช่นกันเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งทางรัสเซียและตะวันตกต่างกล่าวโทษว่ามีต้นตอจากการลอบก่อวินาศกรรม แต่ไม่ได้ระบุว่าใครอยู่เบื้องหลัง
ปูติน ระบุว่ารอยรั่วที่ท่อลำเลียงนอร์ดสตรีม 1 และ 2 ที่ลอดใต้ทะเลบอลติก "เป็นฝีมือของก่อการร้ายข้ามชาติ" เพื่อกีดกันผู้คนจากพลังงานราคาถูก
ประธานาธิบดีรัสเซีย บอกว่าก๊าซจะยังสามารถป้อนผ่านสายส่งหนึ่งของท่อลำเลียงนอร์ดสตรีม 2 ที่ไม่ได้รับความเสียหาย แต่มันขึ้นอยู่กับอียูว่าพวกเขาต้องการก๊าซหรือไม่
เยอรมนี ระงับโครงการนอร์ดสตรีม 2 ไม่กี่วันก่อนหน้ารัสเซียส่งทหารรุกรานเข้าไปในยูเครน และรัฐบาลเยอรมนีในวันพุธ (12 ต.ค.) ยืนกรานปฏิเสธความเป็นไปได้ที่จะรับก๊าซผ่านท่อลำเลียงดังกล่าว
ผู้นำรัสเซียกล่าวว่า มอสโกไม่ควรถูกกล่าวโทษสำหรับราคาพลังงานที่พุ่งสูงของยุโรป และชี้นิ้วไปที่ความพยายามผลักดันพลังงานสะอาดของอียู อันนำมาซึ่งการขาดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซทั่วโลก
เวลานี้กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ชาติ (จี7) อยู่ระหว่างหารือจำกัดเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย ความเคลื่อนไหวที่ปูตินบอกว่าจะยิ่งทำให้ปัญหาหนักหน่วงขึ้น
คำเตือนนี้มีขึ้นในขณะที่ผลกระทบจากความพยายามพึ่งพิงพลังงานรัสเซียน้อยลง ประกอบกับอุปทานที่ลดลงอย่างมากจากรัสเซีย กำลังสัมผัสได้ทุกหัวระแหงทั่ว 27 ชาติสมาชิกอียู โดยราคาก๊าซสูงขึ้นกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนถึง 90% และเริ่มมีความกังวลว่าอาจต้องปันส่วนพลังงานและมีการตัดไฟในฤดูหนาวที่กำลังมาเยือน
บรรดารัฐมนตรีพลังงานของอียูในวันพุธ (12 ต.ค.) เห็นพ้องแพกเกจข้อเสนอใหม่สำหรับรับมือกับวิกฤต ซึ่งจะนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการยุโรปในสัปดาห์หน้า ในนั้นรวมถึงเกณฑ์มาตรฐานทางเลือกสำหรับราคาก๊าซ ใช้มาตรการต่างๆ สำหรับลดอุปสงค์เพิ่มเติม และส่งเสริมการจัดซื้อร่วมกัน แต่ข้อตกลงในด้านจำกัดเพดานราคาก๊าซนั้นยังตกลงกันไม่ได้
ชาติสมาชิกอียูส่วนใหญ่ต้องการให้มีเพดานราคาก๊าซ แต่ไม่เห็นด้วยกับแบบแผนของมัน บางประเทศ ในนั้นรวมถึงเยอรมนี ตลาดก๊าซใหญ่ที่สุดของยุโรป ส่งเสียงคัดค้าน โดยโต้แย้งว่ามันเสี่ยงบีบรัดอุปทานให้ขาดแคลนหนักหน่วงขึ้นไปอีก
วิกฤตพลังงานได้ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปทั่วยุโรป เนื่องจากบรรดาภาคธุรกิจทั้งหลายส่งต่อต้นทุนส่วนเกินไปยังผู้บริโภค และมันทำให้แต่ละครัวเรือนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่พุ่งสูง
เวลานี้รัฐบาลของหลายชาติกำลังพยายามหาคำตอบว่าจะต้องใช้งบประมาณมากน้อยแค่ไหนในมาตรการฉุกเฉินต่างๆ ที่จะนำมาใช้เพื่อปกป้องผู้บริโภค เช่นเดียวกับบรรเทาภาวะบิดเบือน อันมีต้นตอจากราคาที่พุ่งสูง
โปรตุเกส หนึ่งในสาชิกอียู มีแผนอัดฉีดงบประมาณ 3,000 ล้านยูโรป เข้าสู่ระบบไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติของประเทศ เพื่อควบคุมราคาที่บรรดาบริษัทต่างๆ ต้องจ่ายในปีหน้า จากการเปิดเผยของรัฐบาล
ในสหราชอาณาจักร รัฐบาลใหม่วางกรอบแผนกำหนดภาษีชั่วคราวบรรดาผู้ผลิตไฟฟ้าคาร์บอนต่ำ ซึ่งทางภาคอุตสาหกรรมระบุว่ามันเทียบเท่ากับเป็นการเก็บภาษีลาภลอยโดยพฤตินัยจากบรรดาผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนทั้งหลาย
(ที่มา : รอยเตอร์)