ยุโรปต้องใช้มาตรการต่างๆ เพื่อปกป้องโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงาน โทรคมนาคม การขนส่ง และสาธารณูปโภคที่สำคัญอื่นๆ จากความเป็นไปได้ของการถูกลอบวินาศกรรม บลูมเบิร์กรายงานในวันจันทร์ (17 ต.ค.) อ้างว่าทางคณะกรรมาธิการอียูจะออกคำแนะนำดังกล่าวในช่วงกลางสัปดาห์
นอกจากนี้ สำนักงานบลูมเบิร์ก รายงานด้วยว่า ทางคณะกรรมาธิการยุโรปจะเผยแพร่ "พิมพ์เขียว" ฉบับหนึ่ง สำหรับเป็นแนวทางตอบสนองต่อวิกฤตต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต "สงครามของรัสเซียในการรุกรานยูเครน นำมาซึ่งภัยคุกคามชุดใหม่ บ่อยครั้งมาพร้อมกันในฐานะการโจมตีลูกผสม" เอกสารระบุ พร้อมเน้นว่า "ภัยคุกคามดังกล่าวมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ตามหลังเหตุลอบก่อวินาศกรรมท่อลำเลียงนอร์ดสตรีม 1"
ทางกลุ่มมีความกังวลว่ามอสโกจะลงมือแก้แค้นแผนจำกัดเพดานราคาอุปทานก๊าซรัสเซียที่ส่งมอบทางทะเล ด้วยการลอบก่อวินาศกรรมโครงสร้างพื้นฐานในยุโรป
ความกังวลนี้มีขึ้นไม่กี่สัปดาห์หลังเหตุระเบิดที่ทำให้ท่อลำเลียงก๊าซนอร์ดสตรีม 1 และ 2 เกิดรอยรั่วในทะเลบอลติก และการพบท่อลำเลียงน้ำมันดรูซบา ซึ่งลำเลียงน้ำมันดิบรัสเซียไปยังยุโรป เกิดรอยรั่วในแถบภาคกลางของโปแลนด์
ขณะเดียวกัน การขนส่งทางรถไฟทางเหนือของเยอรมนี ต้องหยุดให้บริการเป็นเวลานานหลายชั่วโมงเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ตามหลังเกิดเหตุการณ์ที่เชื่อว่าน่าจะเป็นการลอบก่อวินาศกรรมเล็งเป้าเล่นงายสายเคเบิลสื่อสารไฟเบอร์ออปติก แม้เจ้าหน้าที่ไม่ได้สงสัยว่าเป็นฝีมือของต่างชาติก็ตาม
บรรดาประเทศยุโรปหลายชาติ มีทั้งชี้เป้ารัสเซียทั้งทางตรงและโดยอ้อมในฐานะผู้ร้ายของเหตุลอบก่อวินาศกรรมท่อลำเลียงนอร์ดสตรีม 1 แม้แทบไม่มีหลักฐานใดๆ เลยก็ตาม
สวีเดน ไม่ยอมให้รัสเซียเข้าตรวจสอบผลการสืบสวนของพวกเขา หลังจากก่อนหน้าได้ถอนตัวจากแผนสืบสวนร่วมกับเดนมาร์กและเยอรมนี โดยอ้างเหตุผลความกังวลส่วนตัวต่างๆ ในขณะที่รัสเซีย ประกาศว่าจะไม่ยอมรับผลการสืบสวนดังกล่าวจนกว่าจะได้รับอนุญาตให้เข้าร่วม และบ่งชี้ว่าความล้มเหลวในการหาข้อสรุปร่วมกันใดๆ จะถูกตีความในฐานะ "กำลังมีความพยายามซ่อนเร้นอะไรบางอย่าง" หรือสมคบคิดปิดบัง
หนึ่งวันหลังจากท่อลำเลียงนอร์ดสตรีมถูกลอบก่อวินาศกรรม ได้มีการเปิดใช้ท่อลำเลียงบอลติกระหว่างนอร์เวย์กับโปแลนด์ ซึ่งลำเลียงก๊าซลงไปทางใต้ผ่านเดนมาร์ก ส่วน แอนโทนี บลิวเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กลับแสดงความยินดีต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับท่อลำเลียง โดยยกย่องว่ามันเป็นโอกาสดีสำหรับยุโรปที่จะเลิกพึ่งพิงพลังงานรัสเซียโดยสิ้นเชิง ในขณะที่ทวีปแห่งนี้จำเป็นต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวของอเมริกาเพิ่มมากขึ้น ในความพยายามลดการขาดแคลนอันมีต้นตอจากมาตรการคว่ำบาตรของอียูที่กำหนดเล่นงานภาคพลังงานรัสเซีย
อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เรียกร้องให้ดำเนินการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่สำคัญของยุโรป ระหว่างการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พร้อมประกาศว่าจะทำงานร่วมกับรัฐสมาชิกในการทดสอบดังกล่าว เนื่องจากหวั่นเกรงว่าทรัพย์สินทางพลังงานจะตกเป็นเป้าหมายของการโจมตี
นอกจากนี้ ทางคณะกรรมาธิการยุโรปยังกำลังดำเนินการเปลี่ยนแปลงระบบพลังงานของพวกเขาไปสู่รูปแบบดิจิทัล และมีแผนเสนอร่างกฎหมายที่จะช่วยลดความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ที่มีต่อเครือข่ายก๊าซและไฮโดรเจนของพวกเขา เริ่มตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน
(ที่มา : บลูมเบิร์ก/อาร์ทีนิวส์)