เมื่อวันอังคาร (27 ก.ย.) ยุโรปกำลังเร่งสืบสวน กรณีก๊าซที่ลำเลียงจากรัสเซียผ่านท่อนอร์ดสตรีม 1 และ 2 รั่วไหลลงสู่ทะเลบอลติกครั้งใหญ่ ซึ่งเยอรมนี เดนมาร์ก และสวีเดน อ้างว่ามีการลอบก่อวินาศกรรม
จนถึงตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าใครอยู่เบื้องหลังเหตุรั่วไหลครั้งนี้ที่มีรายงานออกมาครั้งแรกในวันจันทร์ (26 ก.ย.) หรือมีการกระทำผิดใดๆ หรือไม่ต่อท่อลำเลียงนอร์ดสตรีม ที่รัสเซียและยุโรปจับมือเป็นหุ้นส่วน ร่วมลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ในการก่อสร้าง
โรเบิร์ต ฮาเบค รัฐมนตรีเศรษฐกิจเยอรมนี บอกกับบรรดาผู้นำภาคธุรกิจ ว่า เหตุรั่วไหลครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการโจมตีแบบเล็งเป้าหมายไปที่โครงสร้างพื้นฐาน และเวลานี้เบอร์ลินแน่ใจว่า "มันไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ หรือเป็นเหตุการณ์ทางธรรมชาติ หรือเกิดจากความเปราะบางของวัสดุ"
ส่วนนายกรัฐมนตรีของทั้งสวีเดนและเดนมาร์ก กล่าวว่า เหตุรั่วไหลชัดเจนมีต้นตอจากการกระทำโดยตั้งใจ โดยข้อมูลบ่งชี้ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะถูกลอบวินาศกรรม ส่วนนายกรัฐมนตรีโปแลนด์ กล่าวโทษไปที่เหตุลอบวินาศกรรมเช่นกัน แต่ไม่ได้อ้างอิงหลักฐานใดๆ
รัสเซีย ซึ่งปรับลดการส่งมอบก๊าซไปยังยุโรป หลังจากตะวันตกกำหนดมาตรการคว่ำบาตร ตอบโต้กรณีรุกรานยูเครน บอกเช่นกันว่าการลอบก่อวินาศกรรมนั้นมีความเป็นไปได้ และชี้ว่าเหตุรั่วไหลครั้งนี้บ่อนทำลายความมั่นคงทางพลังงานของทวีปยุโรป
มาแตอุช มอราวีแยตสกี นายกรัฐมนตรีโปแลนด์ แสดงความคิดเห็นระหว่างร่วมพิธีเปิดท่อลำเลียงใหม่ระหว่างนอร์เวย์กับโปแลนด์ ว่า "เราเห็นอย่างชัดเจนว่ามันเป็นการลอบก่อวินาศกรรม เกี่ยวข้องกับก้าวย่างถัดไปในสถานการณ์ที่ลุกลามบานปลายในยูเครน"
บรรดานักธรณีวิทยาในเดนมาร์กและสวีเดนบอกว่าพวกเขาตรวจพบการระเบิดรุนแรง 2 ครั้งในวันจันทร์ (26 ก.ย.) ในบริเวณใกล้เคียงจุดที่เกิดการรั่วไหล "สัญญาณมันไม่คล้ายกับสัญญาณจากแผ่นดินไหว มันคล้ายสัญญาณที่วัดได้จากการระเบิดทั่วๆ ไป" สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งเดนมาร์กและกรีนแลนด์ระบุ
ด้านนักแผ่นดินไหววิทยาจากมหาวิทยาลัย Uppsala ของสวีเดน ซึ่งร่วมมือกับทางสำรวจธรณีวิทยาแห่งเดนมาร์กและกรีนแลนด์ระบุ ว่า การระเบิดหนที่ 2 ซึ่งรุนแรงกว่าครั้งแรก "พอๆ กับไดนาไมต์มากกว่า 100 กิโลกรัม" และการระเบิดเกิดขึ้นในน้ำ ไม่ใช่ใต้ก้นทะเล
ท่อลำเลียงนอร์ดสตรีม เป็นจุดร้อนในสงครามพลังงานที่กำลังลุกลามบานปลายระหว่างยุโรปกับมอสโก ซึ่งกำลังทำลายเศรษฐกิจของชาติยักษ์ใหญ่ตะวันตกทั้งหลาย ผลักราคาก๊าซพุ่งทะยานและโหมกระพือความพยายามควานหาแหล่งอุปทานทางเลือก
คริสตอฟเฟอร์ บอตต์ชิว หัวหน้าสำนักงานพลังงานของเดนมาร์ก เผยว่า รูรั่วครั้งนี้มีขนาดใหญ่มาก และมีความเป็นไปได้ว่าอาจต้องใช้เวลานานกว่า 1 สัปดาห์ กว่าที่ก๊าซจะหยุดไหลออกจากท่อลำเลียงนอร์ดสตรีม 2 ขณะเดียวกัน บรรดาเรือทั้งหลายอาจสูญเสียแรงพยุงตัวหากพลัดเข้าสู่พื้นที่แถบนี้
สำนักงานเจ้าท่าของสวีเดน ระบุว่า มีรูรั่ว 2 จุดในท่อลำเลียงนอร์ดสตรีม 1 โดยจุดหนึ่งอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของสวีเดน ส่วนอีกจุดอยู่ในเขตของเดนมาร์ก "เรากำลังจับตาเป็นพิเศษ เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีเรือแล่นเข้ามาใกล้พื้นที่นี้" โฆษกระบุ
ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกของวังเครมลิน เรียกเหตุการณ์นี้ว่า "เป็นข่าวที่น่ากังวลยิ่ง เรากำลังพูดถึงความเสียหายบางส่วนในลักษณะที่ไม่ชัดเจน ซึ่งเกิดขึ้นกับท่อลำเลียงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของเดนมาร์ก" พร้อมระบุว่ามันส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงานของทวีปยุโรป
ท่อลำเลียงทั้ง 2 ไม่ได้สูบก๊าซป้อนสู่ยุโรปในช่วงเวลาที่พบการรั่วไหล แต่เหตุการณ์นี้จะส่งผลกระทบต่อการป้อนก๊าซจากรัสเซียสู่ยุโรปผ่านท่อลำเลียงนอร์ดสตรีม 1 ก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว
บริษัทผู้ดูแลท่อลำเลียงนอร์ดสตรีมเผยว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นรุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ส่วนทางก๊าซพรอม รัฐวิสาหกิจของเครมลิน ผู้ดูแลการส่งออกก๊าซผ่านท่อลำเลียง ปฏิเสธแสดงความคิดเห็น
แหล่งข่าวด้านความมั่นคงยุโรปรายหนึ่ง กล่าวว่า "มีบางอย่างที่บ่งชี้ว่ามันเป็นความเสียหายที่เกิดจากความจงใจ" แต่บอกว่ายังเร็วเกินไปที่จะด่วนสรุป "คุณจำเป็นต้องตั้งคำถาม ใครกันที่ได้ประโยชน์"
รัสเซียลดการป้อนก๊าซสู่ยุโรปผ่านท่อลำเลียงนอร์ดสตรีม 1 ก่อนระงับกระแสก๊าซโดยสิ้นเชิงในเดือนสิงหาคม โดยกล่าวโทษมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตกว่าเป็นต้นตอความยากลำบากทางเทคนิคต่างๆ แต่ทางบรรดานักการเมืองยุโรปตอบโต้ว่ามันเป็นข้ออ้างสำหรับหยุดจ่ายอุปทานก๊าซ
ท่อลำเลียงใหม่นอร์ดสตรีม 2 ยังไม่ได้ปฏิบัติการทางพาณิชย์ โดยแผนเปิดใช้งานส่งก๊าซถูกเยอรมนียกเลิก ไม่กี่วันก่อนหน้ารัสเซียส่งทหารเข้าไปในยูเครน ในสิ่งที่มอสโกเรียกว่าเป็น "ปฏิบัติการพิเศษด้านการทหาร" ในเดือนกุมภาพันธ์
"เหตุรั่วไหลใต้ทะเลหลายจุด นั่นหมายความว่ามีความเป็นไปได้ที่ท่อลำเลียงจะไม่สามารถป้อนก๊าซใดๆ สู่อียูในช่วงฤดูหนาวที่กำลังมาถึง โดยไม่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางการเมืองในสงครามยูเครน" บันทึกของยูราเซีย กรุ๊ป ระบุ
ราคาก๊าซยุโรปพุ่งขึ้นขานรับข่าวดังกล่าว โดยสัญญางวดส่งมอบเดือนตุลาคม ที่ตลาดกลางในเนเธอร์แลนด์ ดีดตัวขึ้นเกือบ 10% ในวันอังคาร (27 ก.ย.) แม้ต่ำกว่าระดับสูงของปีนี้ แต่ยังคงสูงกว่าช่วงต้นเดือนกันยายนปี 2021 ถึงกว่า 200%
(ที่มา : รอยเตอร์)