(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Misreading Xi and the rise of Li
By UWE PARPART
24/10/2022
การที่ หลี่ เฉียง ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหมายเลข 2 ในคณะกรรมการประจำกรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งตามธรรมเนียมปฏิบัติก็หมายถึงการได้ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของจีน ที่น่าจะมีการประกาศออกมาในการประชุมเต็มคณะของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ (รัฐสภา) ของจีนช่วงเดือนพฤษภาคมปีหน้านั้น เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าจีนยังคงเดินอยู่บนเส้นทางไฮเทคที่นำโดยภาคเอกชน และไม่ใช่การหวนกลับไปสู่ลัทธิเหมาเจ๋อตง อะไรทั้งสิ้น
พวกมืออาชีพขาใหญ่ในทางเป็นนักวิจารณ์แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อในเรื่องเกี่ยวกับจีน ตลอดจนประดาลูกขุนพลอยพยักในสื่อมวลชนตะวันตกของพวกเขา ต่างตกอยู่ในมุมอับมองอะไรไม่ทะลุ จากการที่ หลี่ เฉียง หัวหน้าสาขานครเซี่ยงไฮ้ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้รับแต่งตั้งเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี ตำแหน่งอันดับ 2 รองจาก สี จิ้นผิง
หลี่ผู้นี้ เป็นผู้ใฝ่ใจทางด้านเทคซึ่งให้ความสนับสนุนพวกผู้ประกอบการไฮเทคทั้งหลาย เขามีความเชื่อว่าอนาคตของจีนยึดโยงอยู่กับเศรษฐกิจดิจิทัล ขณะที่ สี นั้นพวกสื่อตะวันตกยืนกรานแสดงความเห็นชนิดเป็นเอกฉันท์ทีเดียวว่า ขณะนี้ได้หวนกลับไปหาลัทธิเหมาเจ๋อตง (Maoism)
มันตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงเลยกับสิ่งที่พวกขาใหญ่นักวิจารณ์แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อ ดูเหมือนคาดหมายกันว่าเป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นมา โดยที่พวกสื่อตะวันตกก็รีบเร่งช่วงชิงกันเพื่ออธิบายเรื่องที่พวกเขาบอกว่าเป็นความวิปริตนี้
ต่อไปนี้คือตัวอย่างของสิ่งที่พวกสื่อตะวันตกแสดงความคิดเห็น :
“สีจิ้นผิง เลื่อนตำแหน่งให้หัวหน้าเมืองเซี่ยงไฮ้ผู้จงรักภักดี” (รอยเตอร์)
“สีจิ้นผิง เลื่อนตำแหน่งให้หัวหน้าเมืองเซี่ยงไฮ้ผู้จงรักภักดี ขึ้นสู่วงในแห่งอำนาจ” (ไฟแนนเชียลไทมส์)
“ผู้ช่วยที่จงรักภักดีในเซี่ยงไฮ้ เข้ารับบทบาทนำในปักกิ่ง” (นิวยอร์กไทมส์)
“ผู้จงรักภักดีต่อสี น่าจะได้เป็นนายกฯ คนต่อไปของจีน (บาร์รอนส์)
“การเลื่อนตำแหน่งหัวหน้าเมืองเซี่ยงไฮ้ คือชูเรื่องจงรักภักดีเหนือสิ่งอื่นใด” (บลูมเบิร์ก)
บลูมเบิร์ก พยายามที่จะอธิบายว่าทำไมตนเองจึงล้มเหลวมองไม่เห็นล่วงหน้าเรื่องที่ หลี่ จะผงาดขึ้นมาเช่นนี้ โดยกล่าวว่า “เมื่อช่วงก่อนหน้านี้ของปีนี้ ตอนที่ หลี่ นำเอาวิธีการแบบผ่อนคลายยุทธศาสตร์ “โควิดต้องเป็นศูนย์” อันเข้มงวดของจีนมาใช้ในระยะแรกๆ แล้วพังไม่เป็นท่า เนื่องจากเจอกับตัวกลายพันธุ์ “โอมิครอน” ซึ่งติดต่อกันได้ง่ายขึ้นมาก โอกาสที่เขาจะได้เลื่อนชั้นจึงกลายเป็นที่สงสัยไม่แน่ใจกันขึ้นมา”
เรื่องความจงรักภักดีเป็นปัจจัยประการหนึ่งที่ทำให้ หลี่ ได้รับการแต่งตั้งนั้นเป็นสิ่งที่มองเห็นกันได้ชัดเจนอยู่แล้ว พวกผู้นำทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นชาวจีนหรือชาวตะวันตก ปกติแล้วย่อมไม่แต่งตั้งพวกตัวรองๆ ลงมาของเขาจากคนที่รู้กันดีว่าเป็นคนไม่จงรักภักดี
ดังนั้น การอธิบายโดยใช้เรื่อง “ความจงรักภักดี” จึงไม่ได้เป็นคำอธิบายใดๆ เลย ขณะที่คำอธิบายซึ่งเข้าท่าเข้าทางกว่านั้นมีอยู่ว่า เหล่าชนชั้นนำทางการเมืองสายแองโกล-อเมริกัน อ่าน สี ด้วยความผิดพลาดอย่างมหันต์มาตั้งแต่ต้นจนจบ
การแต่งตั้ง หลี่ จึงควรที่จะถือเป็นเสียงนาฬิกาปลุกให้ตื่นขึ้นมาได้แล้ว ความมืดบอดและความคิดอคติสืบเนื่องจากอุดมการณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่พบเห็นกันได้ทั่วไปหมดในประดาหน่วยงานและบุคลากรด้านนโยบายการต่างประเทศของฝ่ายตะวันตกนั้น คือสาเหตุที่ทำให้เกิดการตีความผิดพลาดอย่างเรื้อรังในเรื่องเกี่ยวกับจีน ซึ่งกำลังนำไปสู่การแสดงปฏิกิริยาทางการเมืองอันต่อเนื่องติดตามมา ที่ส่อให้เห็นนัยแห่งอันตราย ตลอดจนสร้างผลพวงที่เป็นอันตราย
ในความเป็นจริงแล้ว การเลื่อนชั้น หลี่ ขึ้นมาเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีเช่นนี้ เป็นสิ่งที่สามารถคาดคะเนกันได้ล่วงหน้า ตลอดจนมีผู้มองเห็นและทำนายกันเอาไว้ก่อนแล้วด้วย เอเชียไทมส์เองเขียนเอาไว้เยอะทีเดียวเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม โดยนอกจากพยากรณ์ว่า สี จะเลือกใช้วิธีให้คณะกรรมการประจำของกรมการเมือง (Politburo Standing Committee) พรรค ซึ่งมีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น 7 คน เกษียณอายุไป 4 คน โดยในจำนวนนี้ไม่เพียงแค่นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง เท่านั้น แต่ยังรวมถึง หวัง หยาง (Wang Yang) ซึ่งได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางว่ามีหวังจะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปอีกด้วย รวมทั้ง สี จะไม่พลาดโอกาสในการแต่งตั้งกลุ่มผู้นำใหม่ๆ ที่อ่อนวัยกว่า และมาจากเบ้าหลอมที่แตกต่างออกไป
หลี่ เฉียง นั้นเป็นเลขาธิการพรรคสาขาเซี่ยงไฮ้ ทั้งนี้ที่ผ่านมาแทบไม่มีผู้นำของเซี่ยงไฮ้คนไหนเลยที่จะพลาดพลั้งไม่ได้รับการเลือกเลื่อนขึ้นนั่งในคณะกรรมการประจำของกรมการเมืองพรรค สี เองก็เคยผ่านตำแหน่งนี้มาแล้วเช่นกัน กระนั้นก็ตาม การที่ หลี่ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งหมายเลข 2 คราวนี้ บังเกิดขึ้นมาอย่างชนิดสร้างความประหลาดใจให้แก่พวกนักวิเคราะห์ชาวตะวันตกส่วนใหญ่ นี่ควรเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่ามีการตีความผิดพลาดกันมากมายมโหฬารขนาดไหน ไม่ว่าสำหรับกรณีของ สี โดยเฉพาะเฉพาะจง และการบริหารปกครองของจีนโดยองค์รวม
หลี่ สำเร็จการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจ และได้รับปริญญาโท MBA จากมหาวิทยาลัยโปลิเทคนิคฮ่องกง (Hong Kong Polytechnic University) มหาวิทยาลัยด้านบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีระดับท็อปแห่งหนึ่งของเอเชีย ซึ่งได้ทุนสนับสนุนจาก ลี กาชิง (Li Ka-shing) นักธุรกิจใหญ่ระดับเจ้าพ่อของฮ่องกง ว่าที่นายกรัฐมนตรีจีนคนต่อไปผู้นี้ เป็นผู้ให้ความสนับสนุนเรื่องการสร้างผู้ประกอบการทางด้านเทคโนโลยีเรื่อยมา โดยมองว่านี่เป็นคุณสมบัติที่โดดเด่นข้อหนึ่งที่ทำให้การพัฒนาของจีนได้เปรียบคนอื่นๆ
ในบรรดาอะไรๆ อย่างอื่นๆ มากมายนั้น หลี่ คือ หนึ่งในในคณะผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งให้การสนับสนุน แจ็ค หม่า อย่างมองเห็นได้ชัดเจนที่สุด นอกจากนั้น เขายังเป็นผู้ที่นำเอา เทสลา ของ อีลอน มัสก์ มายังเซี่ยงไฮ้ การที่เขาได้เลื่อนขึ้นเป็นหมายเลข 2 จึงควรเป็นการยืนยันว่า คณะผู้นำจีนสนับสนุนอุตสาหกรรมไฮเทคที่นำโดยภาคเอกชน
ในคำรายงานกิจการงาน ซึ่ง สี พูดปราศรัย (ในวันที่ 16 ตุลาคม อันเป็นวันแรกของการประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศของพรรคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 ในคราวนี้ -ผู้แปล) เรื่องการเร่งรัดนวัตกรรมทางเทคโนโลยี และการพัฒนาผู้มีความรู้ความสามารถด้านสะเต็ม (STEM ย่อมาจาก Science, Technology, Engineering and Mathematics วิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) คือคีย์เวิร์ดที่สำคัญ ทว่าสิ่งที่พวกนักวิเคราะห์ชาวตะวันตก (และรวมทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน) เลือกหยิบขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ กลับเป็นเรื่องซึ่ง สี เน้นย้ำนโยบายที่มีมาอย่างยาวนานแล้วของจีนในเรื่องเกี่ยวกับไต้หวัน
หลี่ ได้รับเลือกเลื่อนขึ้นมาครั้งนี้ ยังเนื่องมาจากผลงานที่ทำได้ดีของเขาเกี่ยวกับนวัตกรรมทางเศรษฐกิจและทางการเงินในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Free Trade Zone) โดยสามารถนำเอาการลงทุนต่างประเทศที่สำคัญๆ เข้ามา (สูงขึ้นมา 32% ในปี 2021 ถึงแม้อยู่ในช่วงโรคระบาดโควิด) และจากผลงานเอกสารทางนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งเขาเขียนให้แก่ สี ขณะที่เป็นผู้ช่วยของ สี ในมณฑลเจ้อเจียง
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ถ้ายังงั้นเสียงพูดเสียงประโคมที่ สี ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกนีโอเหมาอิสต์ (neo-Maoist) พวกซ้ายจัด และพวกต่อต้านทุนนิยมที่มุ่งเน้นเรื่อง “ความมั่งคั่งร่ำรวยร่วมกัน” ล่ะ มันออกมาจากไหน?
ตลอดช่วงชีวิตการทำงานของ สี เขาแสดงตนให้เห็นเรื่อยมาว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการดำเนินกลยุทธ์เดินหมากเดินเกม ในแบบบุคลิกลักษณะการบริหารปกครองจักรวรรดิของจีนอย่างที่สุด เป็นต้นว่า การลวงว่าเข้าโจมตีในทิศทางหนึ่ง เวลาเดียวกันก็เตรียมพร้อมสำหรับการเคลื่อนไปในอีกทิศทางหนึ่ง เพื่อทำให้พวกที่อาจเป็นศัตรูไม่ทันเตรียมตัวจับอาวุธขึ้นมาต่อสู้ป้องกัน
พวกที่อยู่ภายในพรรคซึ่งเคยต่อต้าน สี เมื่อปี 2012 ก็ยังคงเป็นปรปักษ์ของเขาอยู่ในเวลานี้ คนเหล่านี้เป็นพวกผู้สนับสนุนให้สร้าง “จีนที่เป็นป้อมค่ายอันเข้มแข็ง” (Fortress China) ขึ้นมา ซึ่งเน้นหนักให้แบ่งสรรกระจายความยากจนออกไปให้เสมอหน้ากัน แทนที่จะมุ่งสร้างความร่ำรวยมั่งคั่งขึ้นมา ความเคลื่อนไหวครั้งแรกของเขาเมื่อได้ขึ้นครองอำนาจเป็นเลขาธิการใหญ่ของพรรคสมัยแรกภายหลังปี 2012 แล้ว ก็คือการกวาดล้างปราบปรามกลุ่มผู้คนที่อยู่รอบๆ ปั๋ว ซีไหล (Bo Xilai) ผู้ที่ศูนย์กลางอำนาจบารมีอยู่ในนครฉงชิ่ง ตลอดจนส่วนหนึ่งของเขตอุตสาหกรรมใหญ่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน และการปลดปล่อยภาคเอกชนของจีนให้ดำเนินงานได้อย่างเป็นอิสระมากขึ้น
ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา สี ได้นำเอาถ้อยคำโวหารในเรื่องการกระจายรายได้มาใช้ ด้วยการใช้คำรหัสว่า “ความมั่งคั่งร่ำรวยร่วมกัน” ตลอดจนยังได้เข้าปราบปรามเล่นงานภาคอินเทอร์เน็ตผู้บริโภคของจีนอีกด้วย นี่เป็นกลยุทธ์ทางการเมืองในสไตล์คลาสสิกของจีนทีเดียว เขารับเอาถ้อยคำโวหารของพวกภายในพรรคคอมมิวนิสต์ที่เขาคัดค้านมากที่สุดมาใช้ เพียงเพื่อที่จะได้เคลื่อนไหวอย่างเด็ดเดี่ยวไปในทิศทางตรงกันข้าม
พวกนักวิเคราะห์และพวกเจ้าหน้าที่ฝ่ายตะวันตกที่มืดบอดถูกบดบังด้วยแนวความอุดมการณ์ของตัวเอง ยังคงพลาดจุดสำคัญนี้เรื่อยมา รัฐของจีนนั้นเป็นสิ่งที่ยึดมั่นในอุดมการณ์น้อยที่สุดแต่มุ่งผลในทางปฏิบัติอย่างดุดันเหี้ยมโหดมากที่สุดในโลก เพื่อที่จะประสบความสำเร็จในขนาดขอบเขตที่พวกผู้นำของพวกเขาปรารถนา พวกเขามุ่งมั่นบรรลุความมั่งคั่งรุ่งเรืองและความมั่นคงปลอดภัยโดยใช้เครื่องมือทุกๆ อย่างที่จำเป็น
สี ทราบดีว่าอุตสาหกรรมของจีนที่รัฐเป็นเจ้าของนั้นมีความแข็งตัวและทุจริตฉ้อฉลเกินกว่าที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้ รวมทั้งทราบดีว่ารัฐจีนจำเป็นต้องให้พวกผู้ประกอบการภาคเอกชนเป็นตัวนำในเรื่องนี้ แต่เขาก็ทราบเช่นกันว่าพวกกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองซึ่งผูกติดกับภาครัฐอย่างเหนียวแน่นจะไม่เพียงแค่บ่นพึมเกี่ยวกับการพุ่งผงาดขึ้นมาอย่างฉับพลันของพวกผู้ประกอบการเท่านั้น แต่ยังจะมีการเดินหมากมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างมุ่งมั่นตั้งใจอีกด้วย
“(หลี่เฉียง) มีความสัมพันธ์กับ สี ในแบบที่ใกล้ชิดกว่ามากๆ เมื่อเปรียบเทียบกับ หลี่ เค่อเฉียง ... สี น่าที่จะให้ที่ทางสำหรับการเคลื่อนไหวและให้อำนาจแก่เขามากกว่า (ที่ให้แก่ หลี่ เค่อเฉียง) นักหนา สำหรับการบริหารจัดการเศรษฐกิจ” เติ้ง อี้ว์เหวิน (Deng Yuwen) อดีตผู้ช่วยบรรณาธิการของ “สตั๊ดดี้ไทมส์” (Study Times) หนังสือพิมพ์ทางการของโรงเรียนพรรคส่วนกลาง (Central Party School) บอกกับสื่อเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์
เพื่อที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป สี หรือผู้นำจีนคนอื่นๆ ไม่ว่าคนไหนก็ตามที จะต้องคอยปลอบโยนคนรุ่นเก่าๆ แก่ๆ ในพรรค และถอดชนวนไม่ให้มีกระแสผู้คนเกิดความอิจฉาริษยาพวกที่มั่งคั่งร่ำรวยขึ้นมาใหม่ ในเวลาเดียวกับที่อนุญาตให้พวกผู้ประกอบการนำพาการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ
ทว่า วาระสำคัญที่สุดที่ถือเป็นแกนหลักของ สี เลย อย่างที่ถูกระบุเอาไว้หลายๆ ครั้งในคำรายงานกิจการงาน ได้แก่ การทำให้จีนกลายเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีความมั่งคั่งรุ่งเรืองพอประมาณให้ได้ภายในปี 2035 การที่จะทำเช่นนั้นให้สำเร็จ จีนมีความจำเป็น รวมทั้งตัว สี เอง ก็จะต้องทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) มีอัตราการเติบโตขยายตัวระหว่าง 4% ถึง 5% ต่อปี
จากผลงานที่ผ่านมา หลี่ สาธิตให้เห็นแล้วว่าเขามีพลังงานและมีสมรรถนะทางการบริหารจัดการในการทำให้สิ่งต่างๆ บรรลุจุดมุ่งหมายที่กำหนด รายงานการศึกษาชิ้นหนึ่งของสถาบันบรูคกิ้งส์ (Brookings Institution) ชี้ว่า ในปี 2018-19 เขาระดมสมรรถนะด้านต่างๆ ตลอดจนกำลังแรงงานของเซี่ยงไฮ้ ทำงานเคียงคู่ไปกับ อีลอน มัสก์ ในการสร้างโรงงานแห่งหนึ่งของ เทสลา ที่เวลานี้สามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ 500,000 คันต่อปี
ความอัศจรรย์อยู่ตรงที่ว่า มันใช้เวลาเพียงแค่ 10 เดือนเท่านั้นสำหรับกิจการร่วมลงทุนแห่งนี้ ในการก้าวคืบจากช่วงการก่อสร้างไปสู่ช่วงที่สามารถดำเนินงานได้อย่างเต็มที่
การเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารในคณะผู้นำจีนครั้งนี้ หมายถึงจุดของการหักเหครั้งสำคัญ การปฏิรูปต่างๆ เมื่อปี 1979 ของ เติ้ง เสี่ยวผิง นั้น ในท้ายที่สุดแล้วได้เคลื่อนย้ายเอาชาวจีนเกือบๆ 700 ล้านคนจากเขตชนบทมาอยู่ตามตัวเมืองใหญ่ๆ แทนที่เศรษฐกิจชนบทแบบประเพณีดั้งเดิมของจีน ด้วยเศรษฐกิจโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งครอบงำโดยบรรดาวิสาหกิจที่รัฐเป็นเจ้าของ
ในสภาพเช่นนี้ ภาครัฐของจีนก็ได้กลายเป็นฐานอำนาจทางการเมืองฐานหนึ่งไปเรียบร้อยแล้วโดยตัวของมันเอง สี มีข้อสรุปว่าเขาจำเป็นต้องได้ไม้กวาดใหม่ในการปัดกวาดอุปสรรคทั้งหลายให้พ้นเส้นทางแห่งเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่เป็นระบบดิจิทัล ด้วยการแต่งตั้ง หลี่ เฉียง ให้กลายเป็นผู้ช่วยในทางพฤตินัยของเขา สี จิ้นผิง ก็สามารถก้าวไปอย่างกระฉับกระเฉงบนเส้นทางของเขา