รัสเซียส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) และถ่านหินสำหรับผลิตเหล็กไปจีน ในปริมาณสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนกันยายน ตามรายงานข่าวของบลูมเบิร์กเมื่อวันอังคาร (25 ต.ค.) โดยอ้างอิงข้อมูลศุลกากรของปักกิ่ง ขณะเดียวกัน มีรายงานข่าวเกี่ยวกับปํญหาขาดแคลนดีเซลในสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการห้ามนำเข้าจากรัสเซีย ก่อความกังวลว่าราคาพลังงานจะพุ่งสูงขึ้นไปอีก
รายงานข่าวระบุว่า รัสเซียส่งออกถ่านหินสำหรับอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก (Coking Coal) มายังจีนในเดือนกันยายน 2.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่แค่ราวๆ 900,000 ตัน และเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม ซึ่งอยู่ที่ 1.9 ล้านตัน ทั้งนี้ รวมแล้วตัวเลขการนำเข้าถ่านหินรัสเซียของจีน ในนั้นรวมถึงถ่านหินประเภทเชื้อเพลิงให้ความร้อนและถ่านหินสำหรับอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก เพิ่มขึ้นถึง 20% เป็นเกือบ 7 ล้านตัน เมื่อเทียบเป็นรายปี
ส่วนการส่งมอบก๊าซแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้นราวๆ 1 ใน 3 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เป็น 819,000 ตัน และยังไม่นับรวมก๊าซธรรมชาติของรัสเซียที่ป้อนสู่จีนผ่านท่อลำเลียงต่างๆ อันเป็นเส้นทางหลักของการส่งมอบ ซึ่งไม่เป็นที่ชัดเจนว่าเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน ในขณะที่ปักกิ่งไม่ได้รายงานปริมาณกระแสก๊าซที่ได้รับป้อนผ่านท่อลำเลียงมาตั้งแต่ช่วงต้นปีแล้ว
แม้ตัวเลขนำเข้าน้ำมันรัสเซียของจีนจะลดลงสู่ระดับ 7.5 ล้านตันเมื่อเดือนที่แล้ว จาก 8.3 ล้านตันในเดือนสิงหาคม แต่ยังคงสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 6.1 ล้านตัน ตัวเลขการจัดซื้อโดยรวมพลังงานรัสเซีย ในนั้นรวมถึงผลิตภัณฑ์น้ำมัน ลดลงเล็กน้อยเช่นกัน สู่ระดับ 7,500 ล้านดอลลาร์ในเดือนที่แล้ว จากระะดับ 8,400 ล้านดอลลาร์ในเดือนสิงหาคม แต่ยังคงสูงกว่ามากเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 4,7000 ล้านดอลลาร์
จากข้อมูลพบว่าโดยรวมแล้ว จีนจัดซื้อพลังงานจากรัสเซียพุ่งเหนือ 51,000 ล้านดอลลาร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในช่วงเวลาเพียงแค่ 7 เดือนนับตั้งแต่รัสเซียเปิดปฏิบัติการรุกรานยูเครน ทั้งนี้ หากเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปี 2021 จีนจัดซื้อพลังงานจากรัสเซียราวๆ 30,000 ล้านดอลลาร์
ตัวเลขที่เติบโตขึ้นเป็นตัวแทนของความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่าง 2 ชาติ โดยรัสเซียได้จีนเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ในผลิตภัณฑ์ทางพลังงานของพวกเขาที่ถูกปฏิเสธจากตะวันตก ส่วนปักกิ่งได้ประโยชน์จากข้อเสนอลดราคาจากทางมอสโก
ข้อมูลที่ถูกเผยแพร่ออกมาสวนทางกลับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ โดยทางสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ภาวะขาดแคลนดีเซลในอเมริกากำลังลุกลามไปทั่วชายฝั่งตะวันออก ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากมาตรการห้ามนำเข้าจากรัสเซีย ก่อความกังวลว่าราคาเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงกว่านี้อีก ในขณะที่บรรดาผู้บริโภคเตรียมตัวรับมือกับฤดูหนาวที่กำลังมาเยือน
แมนสฟิลด์ เอเนอร์จี หนึ่งในตัวแทนจำหน่ายเชื้อเพลิงรายใหญ่ของประเทศ ได้กำหนดมาตรการฉุกเฉินด้านการส่งมอบในวันอังคาร (25 ต.ค.) พร้อมเตือนบรรดาลูกค้าทั้งหลายเกี่ยวกับการส่งมอบล่าช้า เนื่องจากในบางกรณีรถบรรทุกน้ำมันต้องเสียเวลาเดินทางไปยังคลังน้ำมันหลายแห่งเพื่อเสาะหาอุปทาน และด้วยปัญหาขาดแคลนแผ่ลามจากนอร์ทอีสต์ไปยังเซาท์อีสต์ ทางบริษัทจึงแนะนำให้ลูกค้าแจ้งคำสั่งซื้อล่วงหน้า 72 ชั่วโมง เพื่อสามารถส่งมอบได้และหลีกเลี่ยงจ่ายแพงกว่าราคาตลาด
"ในหลายพื้นที่ราคาเชื้อเพลิงในปัจจุบันสูงกว่าราคาโดยเฉลี่ยของตลาดราวๆ 30-80 เซนต์ สืบเนื่องจากอุปทานตึงตัว" จากคำกลาวของแมสฟิลด์ ซึ่งส่งมอบผลิตภัณฑ์น้ำมันมากกว่า 3,000 ล้านแกลลอน (ราว 11,300 ล้านลิตร) ในแต่ละปี ทั้งนี้ด้วยผู้จัดหาพลังงานราคาค่อนข้างถูกเริ่มไม่เหลือดีเซลในมือ บรรดาตัวแทนจำหน่ายจึงถูกบีบให้ต้องตามหาเชื้อเพลิงจากแหล่งอื่นๆ ที่มีราคาสูงกว่า ผลก็คือมันทำให้ราคาพุ่งสูงมากกว่าปกติ
คำแนะนำของของแมนสฟิลด์ มีขึ้นแค่ 6 วัน หลังจาก ไบรอัน ดีส ผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์ก ว่า อุปทานดีเซลอยู่ในระดับต่ำจนไม่อาจยอมรับได้ และรัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีทุกทางเลือกวางอยู่บนโต๊ะในหนทางฉุดราคาให้ลดต่ำลง อย่างไรก็ตาม บลูมเบิร์กและสื่อมวลชนอื่นๆ ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าทางเลือกเหล่านี้จะสามารถบรรเทาสถานการณ์ได้อย่างไรในระยะยาว
อุปทานดีเซลในนิวอิงแลนด์ ภูมิภาคของสหรัฐฯ ที่พึ่งพิงน้ำมันดีเซลสำหรับทำความร้อนมากที่สุด มีรายงานว่าลดลงเหลือแค่ราวๆ 1 ใน 3 ของระดับปกติของช่วงเวลานี้ในแต่ละปี และหากพิจารณาทั่วประเทศ พบว่าสหรัฐฯ เหลืออุปทานดีเซลแค่ราวๆ 25 วัน ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2008
ดีส บอกกับบลูมเบิร์กว่า สหรัฐฯ อาจระบายคลังสำรองน้ำมันทำความร้อนสำหรับภาคครัวเรือนในแถบนอร์ทอีสต์ ซึ่งมีดีเซลสำหรับใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน 1 ล้านบาร์เรล แต่วอชิงตันโพสต์รายงานว่า ด้วยอุปสงค์สำหรับเชื้อเพลิงชนิดนี้ในแถบนอร์ทอีสต์นั้นสูงมากๆ จึงมีความเป็นไปได้ว่าคลังน้ำมันทำความร้อนเหล่านี้จะหมดลงภายในเวลาไม่ถึง 6 ชั่วโมง
ทำเนียบขาวกำลังพิจารณาแบนหรือจำกัดการส่งออกน้ำมันกลั่นเช่นกัน ยุทธศาสตร์ที่ทางกลุ่มการค้าอุตสาหกรรมน้ำมัน เตือนว่ามันอาจก่อไฟย้อนศรเล่นงานตัวเอง "การแบนหรือจำกัดการส่งออกผลิตภัณฑ์กลั่น อาจทำให้ปริมาณคลังสำรองลดลงอย่างรวดเร็ว ลดศักยภาพการกลั่นภายในประเทศ ก่อแรงกดดันแก่พวกผู้บริโภคในด้านราคาพลังงาน และสร้างความบาดหมางกับพันธมิตรของสหรัฐฯ ในช่วงระหว่างสงคราม" สถาบันปิโตรเลียมอเมริกา และกลุ่มผู้ผลิตเชื้อเพลิงและปิโตรเคมีแห่งอเมริกา ระบุเมื่อช่วงกลางเดือน ในหนังสือที่ส่งถึง เจนนิเฟอร์ แกรนโฮล์ม รัฐมนตรีพลังงาน
ราคาดีเซลที่พุ่งสูงเสี่ยงฉีกเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขาดเป็นชิ้นๆ สืบเนื่องจากบรรดารถบรรทุก 18 ล้อ หรือยานยนต์พลังงานดีเซลอื่น คิดเป็นสัดส่วนถึงราวๆ 70% ของการขนส่งสินค้าของสหรัฐฯ
(ที่มา : บลูมเบิร์ก/อาร์ทีนิวส์)