กรมทางหลวงเตรียมซ่อมสะพานกลับรถถนนพระรามที่ 2 กม.34 จ.สมุทรสาคร อีกครั้ง ดึงสภาวิศวกร และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ มาช่วย ใช้วิธีหล่อคานสำเร็จมาติดตั้ง ลดเวลาปิดการจราจรใต้สะพานเหลือ 5 วัน พร้อมเปิดการจราจรภายใน 12 วัน ดำเนินการได้ 31 ต.ค. ถึง 11 พ.ย.นี้
วันนี้ (6 ต.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า กรมทางหลวง สภาวิศวกร และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชนูปถัมภ์ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิชาการและวิชาชีพวิศวกรรม เมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยนำร่องถนนพระรามที่ 2 บริเวณสะพานกลับรถ กม.34+000 หน้าโรงพยาบาลวิภาราม สมุทรสาคร ต.บางกะเจ้า อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ในการซ่อมแซมคานสะพานกลับรถโดยใช้เทคนิคทางวิศวกรรม ด้วยการประกอบชิ้นส่วนคานจากบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง และลำเลียงมาติดตั้งในพื้นที่ก่อสร้างโครงการ
วิธีการนี้จะช่วยประหยัดเวลาในการก่อสร้างในพื้นที่ โดยสามารถเปิดให้บริการสะพานกลับรถได้ภายใน 12 วัน นับจากการติดตั้ง พร้อมกับลดผลกระทบจากผู้ใช้ทาง โดยใช้เวลาปิดการจราจรเพียง 5 วัน ซึ่งจะมีแผนซ่อมแซมสะพานระหว่างวันที่ 31 ต.ค. ถึง 11 พ.ย. 2565 โดยจะปิดการจราจรใต้สะพานถนนพระรามที่ 2 ช่องทางหลักขาเข้ากรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค. ถึง 4 พ.ย. 2565 หลังจากนั้นจะเป็นการทดสอบความเรียบร้อยก่อนเปิดใช้งานสะพานกลับรถในที่สุด
พร้อมกันนี้ ยังใช้เทคโนโลยีนำร่องตรวจสอบสะพานกลับรถ บริเวณ กม.26+470 (บริเวณปั๊มน้ำมันพีที ก่อนถึงเซ็นทรัลมหาชัย) ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร โดยร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญทางวิศวกรรม นำเทคโนโลยีโดรนร่วมกับการประมวลผลด้วยภาพ รวมทั้งทดสอบกำลังการรับน้ำหนักของสะพานแห่งนี้ เพื่อนำมาประเมินความสมบูรณ์ของสะพาน และเตรียมการซ่อมบำรุงต่อไป นับจากนี้ทั้งสามหน่วยงานจะขยายผลความร่วมมือไปสู่การพัฒนาและซ่อมแซมสะพานและถนนบนโครงข่ายทางหลวงสายอื่นๆ ทั่วประเทศ
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สะพานกลับรถ กม.34+000 เคยเกิดโศกนาฏกรรมคานสะพานร่วงลงมาระหว่างการซ่อมแซมเมื่อค่ำวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย คือ คนที่นั่งมากับรถเก๋งถูกคานสะพานทับเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ และช่างก่อสร้างของศูนย์สร้างและบูรณะสะพานที่ 3 (ปทุมธานี) มีผู้บาดเจ็บ 2 ราย รถยนต์ได้รับความเสียหาย 3 คัน ซึ่งสะพานกลับรถแห่งนี้ก่อสร้างเมื่อปี 2536 มีอายุการใช้งานเกือบ 30 ปี เคยเกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้รถบรรทุกน้ำมันเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2547
ภายหลังผลการตรวจสอบของคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ที่มีนายเอนก ศิริพานิชกร ผู้แทนวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นประธาน พบว่าสะพานพังถล่มเนื่องจากไม่มีเหล็กเส้นยึดเหนี่ยวระหว่างการรื้อถอนพื้นสะพานเพื่อซ่อมแซมพื้นสะพานเต็มรูปแบบ ทำให้เกิดแรงบิดที่คานตัวริมจึงหลุดออก ส่วนโครงสร้างหลักสะพานยังแข็งแรง แต่คาดว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุเพลิงไหม้รถบรรทุกน้ำมันดังกล่าว