xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” เซ็น MOU ร่วมมือด้านวิชาการวิชาชีพวิศวกรรม ยกระดับมาตรฐานโครงข่ายทางหลวง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รมว.คมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิชาการและวิชาชีพวิศวกรรม ยกระดับมาตรฐานการพัฒนา และบำรุงรักษาโครงข่ายทางหลวง สร้างความอุ่นใจแก่ผู้ใช้ทาง

วันนี้ (30 ก.ย.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิชาการและวิชาชีพวิศวกรรม ระหว่างกรมทางหลวง (ทล.) สภาวิศวกร และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) พร้อมด้วย นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารกระทรวง หัวหน้าหน่วยงานในสังกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมในพิธี โดยมี นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง นายปิยะบุตร วานิชพงษ์พันธุ์ นายกสภาวิศวกร และ นายธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ดังกล่าว ในวันที่ 30 กันยายน 2565 ณ โถงอาคารชั้น 1 สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ กรุงเทพฯ

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิชาการและวิชาชีพวิศวกรรม ในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง ทล. สภาวิศวกร และ วสท. ในการบูรณาการความร่วมมือทางวิชาการและวิชาชีพวิศวกรรม ให้ครอบคลุมในทุกมิติด้านงานวิศวกรรม เพื่อสร้างความมั่นใจในการเดินทางของประชาชน ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ที่รัฐบาลโดยการนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มุ่งมั่นผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมครบทั้ง 4 มิติการเดินทาง (บก ราง น้ำ และอากาศ) ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อรองรับการขนส่งและการเดินทางต่อเนื่องอย่างไร้รอยต่อ มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียน ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกภาคส่วน ให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบาย ปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุในการเดินทาง และจากกรณีที่อุบัติเหตุคานสะพานกลับรถร่วงหล่นบนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) ตอน สะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน-นาโคก ที่ กม. 34+000 บริเวณสะพานกลับใกล้โรงพยาบาลวิภาราม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร พังถล่ม เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 ซึ่งถนนพระราม 2 เป็นเส้นทางหลักในการคมนาคมขนส่งสู่ภาคใต้ จากเหตุการณ์ดังกล่าวอาจสร้างความไม่มั่นใจในการเดินทางของประชาชน กระทรวงจึงให้ความสำคัญกับโครงสร้างของสะพานที่อยู่ในความรับผิดชอบทั่วประเทศ

สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้มีขอบเขตความร่วมมือ ประกอบด้วย 1) ความร่วมมือด้านความรับผิดชอบต่อสังคม 2) สนับสนุนการพัฒนาวิชาการและวิชาชีพด้านวิศวกรรมให้แก่บุคลากร ให้ครอบคลุมในทุกมิติด้านงานวิศวกรรม ทั้งงานก่อสร้างถนน สะพาน งานสิ่งแวดล้อม งานความปลอดภัย และงานด้านอื่นๆ รวมถึงสร้างมาตรฐานวิชาชีพในการทำงานของบุคลากรด้านวิศวกรรม 3) แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการและวิชาชีพวิศวกรรมระหว่าง 3 หน่วยงาน

4) สนับสนุนและพัฒนาให้บุคลากร ด้านวิศวกรรมมีความรู้ ความสามารถ และเพิ่มประสบการณ์ในงานที่รับผิดชอบ ซึ่งในการดำเนินงานยังต้องให้การสนับสนุนและแนะนำงานทางด้านวิศวกรรม รวมถึงการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้ในการพัฒนาบุคลากร ให้คำปรึกษาและคำแนะนำร่วมกับคณะอนุกรรมการโครงสร้างและสะพานจากวิศกรผู้เชี่ยวชาญของ วสท. ในการตรวจสอบ และบูรณะถนน/สะพานในความรับผิดชอบของ ทล. อีกทั้งเป็นการแสดงถึงการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงาน และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการและวิชาชีพวิศวกรรม ที่จะก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย เพื่อให้เกิดความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนอย่างสูงสุด

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายให้ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงทุกคน ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี ระเบียบ กฎหมาย หลักธรรมาภิบาล และนำความคิดเห็นของประชาชนมาใช้ในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อการบริการของกระทรวงฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบกับประชาชาชนให้น้อยที่สุด และเกิดความมั่นใจในการเดินทาง นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้ ทล. เร่งดำเนินการตรวจสอบสะพานในความรับผิดชอบ โดยบูรณาการความร่วมมือกับสภาวิศวกรและ วสท. เพื่อร่วมกันตรวจสอบ ออกแบบ และบูรณะซ่อมแซมสะพานของ ทล. เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในการใช้รถใช้ถนนได้อย่างปลอดภัยต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น