xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : รัสเซียถล่มยับ 'ยูเครน' ล้างแค้นบึ้มสะพานไครเมีย ‘ไบเดน’ เย้ย ‘ปูติน’ คำนวณพลาด-ไม่เชื่อจะกล้าใช้นิวเคลียร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เจ้าของรถยนต์คันหนึ่งเดินเข้าไปสำรวจสภาพรถซึ่งถูกไฟไหม้วอดทั้งคัน หลังรัสเซียเปิดฉากยิงถล่มใจกลางกรุงเคียฟเมื่อวันที่ 10 ต.ค.
ผู้นำยูเครนรบเร้าชาติตะวันตกเร่งสร้าง “เกราะป้องกันภัยทางอากาศ” ให้ยูเครน หลังรัสเซียประเคนขีปนาวุธถล่มหนักสุดในรอบ 7 เดือน เพื่อแก้แค้นเหตุวินาศกรรมสะพานเชื่อมแหลมไครเมีย ขณะที่กลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำ G7 ชี้พฤติกรรมมอสโกเข้าข่ายอาชญากรรมสงคราม พร้อมให้คำมั่นจะสนับสนุนเคียฟต่อไปอีก “นานเท่านาน”

กรุงเคียฟของยูเครนถูกขีปนาวุธรัสเซียยิงถล่มเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือน และมีรายงานว่าตั้งแต่วันจันทร์ (10) จนถึงวันพุธ (12) รัสเซียได้ยิงขีปนาวุธถล่มจุดต่างๆ ทั่วยูเครนรวมแล้วมากกว่า 100 ลูก ซึ่งทำให้มีพลเรือนถูกสังหารอย่างน้อย 26 คน บาดเจ็บอีกกว่า 100 คน

เป้าหมายส่วนใหญ่ที่รัสเซียเลือกโจมตีคือโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าและระบบทำความร้อนสำหรับพลเรือน นอกจากนี้ ยังมีการโจมตีถนนที่มีการจราจรคับคั่ง สวนสาธารณะ สถานที่ท่องเที่ยว และพื้นที่ใจกลางกรุงเคียฟ

องค์กาสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เตือนว่า การกระทำของรัสเซียครั้งนี้อาจเข้าข่ายละเมิดกฎการทำสงคราม

เจ้าหน้าที่ในภูมิภาคลวิฟ (Lviv) ทางตะวันตกของยูเครน ระบุว่า ขีปนาวุธรัสเซียอย่างน้อย 3 ลูกได้พุ่งเข้าทำลายสาธารณูปโภคด้านพลังงานในวันอังคาร (11) ส่งผลให้ทางการต้องขอความร่วมมือประชาชนลดใช้ไฟฟ้าและปิดอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ในเวลากลางคืน ขณะที่นายกเทศมนตรีเมืองลวิฟระบุว่า ครัวเรือนราว 1 ใน 3 เผชิญปัญหาไฟฟ้าดับ

สภาพอากาศที่เริ่มหนาวเหน็บทำให้ประชาชนซึ่งอาศัยอยู่ใกล้พื้นที่แนวหน้าต้องเผชิญความยากลำบากมากขึ้น หลังจากที่ใช้ชีวิตโดยปราศจากทั้งไฟฟ้าและน้ำประปามานานหลายเดือน ขณะที่การสู้รบใกล้ๆ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย ทางตอนใต้ของยูเครนทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าอาจจะเกิดหายนะนิวเคลียร์ขึ้น

การโจมตีอย่างบ้าระห่ำของรัสเซียคราวนี้เห็นได้ชัดว่าเป็นไปเพื่อล้างแค้นเหตุระเบิดครั้งใหญ่ ซึ่งทำให้สะพานรถยนต์และรถไฟความยาว 19 กิโลเมตรที่ตัดข้าม “ช่องแคบเคิร์ช” เพื่อเชื่อมรัสเซียเข้ากับแหลมไครเมียที่มอสโกทำการผนวกเมื่อปี 2014 พังถล่มบางส่วน และเกิดเพลิงไหม้รุนแรง อีกทั้งยังมีผู้เสียชีวิต 3 รายจากเหตุการณ์นี้

ประธานาธิบดี ปูติน ออกมากล่าวหายูเครนว่าเป็นผู้บงการ พร้อมทั้งให้นิยามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นการ "ก่อการร้าย"

"ไม่ต้องสงสัยเลยว่า นี่คือการก่อการร้ายที่เล็งเป้าหมายทำลายโครงสร้างพื้นฐานทางพลเรือนอันสำคัญยิ่ง" ปูติน กล่าวในวิดีโอที่เผยแพร่ผ่านช่อง Telegram ของทำเนียบเครมลิน "มันเป็นแผนที่ถูกดำเนินการและสั่งการโดยหน่วยสืบราชการลับของยูเครน"

ปูติน ยังขู่จะ “ตอบโต้สถานหนัก” หากเกิดการโจมตีสาธารณูปโภคในดินแดนของรัสเซียอีก

การระเบิดทำลายสะพานแห่งนี้นับว่าให้ผลในเชิงสัญลักษณ์มากพอสมควร เพราะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ประธานาธิบดี ปูติน เคยเดินทางไปทำพิธีเปิดด้วยตนเองเมื่อปี 2018 อีกทั้งยังมีความสำคัญในด้านโลจิสติกส์สำหรับมอสโก เพราะเป็นเส้นทางที่ใช้ลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ไปส่งให้ทหารที่สู้รบอยู่ในยูเครน

เมื่อวันพุธ (12) หน่วยความมั่นคงกลางของรัสเซีย (FSB) ได้ประกาศจับกุมผู้ต้องสงสัย 8 คนที่คาดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับแผนก่อวินาศกรรมสะพานไครเมีย โดยเป็นพลเมืองรัสเซีย 5 คน และพลเมือง “ยูเครนกับอาร์เมเนีย” อีก 3 คน

FSB ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ระเบิดถูกซุกซ่อนมาใน “ม้วนฟิล์มพลาสติก” จำนวน 22 ม้วนซึ่งมีน้ำหนัก 22,700 กิโลกรัม โดยม้วนพลาสติกเหล่านี้ถูกขนลงเรือจากท่าเรือโอเดสซา (Odessa) ในยูเครนมุ่งหน้าไปยังบัลแกเรียเมื่อเดือน ส.ค. จากนั้นจึงถูกส่งผ่านท่าเรือโปติ (Poti) ในจอร์เจีย และถูกลำเลียงผ่านเส้นทางบกไปยังอาร์เมเนีย ก่อนจะเดินทางข้ามแดนเข้าไปยังรัสเซียโดยรถบรรทุกที่ติดป้ายทะเบียนอาร์เมเนียเมื่อวันที่ 4 ต.ค.

วัตถุระเบิดดังกล่าวถูกส่งไปถึงเขตกราสโนดาร์ (Krasnodar) ในวันที่ 6 ต.ค. หรือเพียง 2 วันก่อนที่สะพานไครเมียจะถูกโจมตี

FSB ยืนยันว่า หน่วยสืบราชการลับยูเครนอยู่เบื้องหลัง “การโจมตีก่อการร้าย” ครั้งนี้ และมีคนของเคียฟคอยประสานกับฝ่ายต่างๆ เพื่อที่จะขนวัตถุระเบิดเข้ามายังดินแดนของรัสเซีย

ภาพถ่ายที่เผยแพร่เมื่อวันเสาร์ (8) เผยให้เห็นว่าสะพานถนนถูกแรงระเบิดจนขาดไปเลนหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งยังคงอยู่สภาพเดิม ขณะที่รัสเซียเร่งซ่อมแซมความเสียหายจนทำให้การคมนาคมทั้งทางรถไฟและรถยนต์สามารถกลับมาใช้ได้แล้วบางส่วน

ดมิโตร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน ชี้ว่าปฏิบัติยิงถล่มแก้แค้นของมอสโกสะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาเริ่ม “จนตรอก” เข้าไปทุกที หลังจากที่ทหารรัสเซียเผชิญความพ่ายแพ้อย่างน่าอับอายหลายครั้ง ขณะที่ เยน สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการนาโต ก็ออกมาให้ความเห็นในทำนองเดียวกันว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือ “สัญญาณความอ่อนแอของรัสเซีย”

เพลิงไหม้รุนแรงบนสะพานเคิร์ชที่เชื่อมแหลมไครเมียเข้ากับรัสเซีย หลังรถบรรทุกคันหนึ่งเกิดระเบิดขึ้นกลางสะพานเมื่อวันที่ 8 ต.ค. ซึ่งทางการรัสเซียกล่าวโทษว่าเป็นแผนก่อวินาศกรรมโดยยูเครน
ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ให้สัมภาษณ์ CNN เมื่อวันอังคาร (11) ว่า ปูติน “คำนวณผิดพลาดอย่างมหันต์” ว่ารัสเซียจะสามารถยึดครองยูเครนได้ง่ายๆ และประเมินการต่อต้านอย่างเด็ดเดี่ยวของชาวยูเครนต่ำเกินไป

ประมุขทำเนียบขาวยังไม่เชื่อว่า ปูติน จะกล้าใช้อาวุธนิวเคลียร์จริงตามที่ขู่ พร้อมระบุชัดเจนว่า ตนไม่มีความตั้งใจที่จะพบกับ ปูติน ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่บาหลีในเดือน พ.ย. และจะไม่มีการหารือนอกรอบกับผู้นำรัสเซียในเรื่องยูเครนแน่นอน

ทางด้านผู้นำตุรกีเรียกร้องในวันอังคาร (11) ให้รัสเซียกับยูเครน “ทำข้อตกลงหยุดยิงกันโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” และยังมีกระแสข่าวว่าประธานาธิบดี เรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน อาจจะพบกับ ปูติน ที่คาซัคสถานภายในสัปดาห์นี้

ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครนกล่าวกับบรรดาผู้นำกลุ่ม G7 ว่า ชาวยูเครนหลายล้านคน “จะรู้สึกสำนึกในบุญคุณ” หากชาติมหาอำนาจยื่นมือปกป้องพวกเขาจากการโจมตีทางอากาศของรัสเซีย ขณะเดียวกัน ก็เตือนว่ามอสโกซึ่งรัวยิงมิสไซล์นับร้อยลูกถล่มเป้าหมายทั่วยูเครนตั้งแต่วันจันทร์ (11 ต.ค.) “อาจจะไม่หยุดเพียงเท่านี้”

“หากยูเครนได้รับระบบป้องกันภัยทางอากาศที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และในจำนวนที่เพียงพอ การโจมตีด้วยขีปนาวุธซึ่งเป็นหัวใจหลักในการก่อการร้ายของรัสเซียก็จะไม่ได้ผลอีกต่อไป” เซเลนสกี บอกกับผู้นำ G7 ผ่านการประชุมเสมือนจริง และย้ำอีกครั้งว่ารัฐบาลของเขาจะไม่มีการเจรจาสันติภาพกับ ปูติน อย่างแน่นอน

เยอรมนีได้จัดส่งขีปนาวุธ Iris-T ที่ว่ากันว่ามีศักยภาพปกป้องเมืองทั้งเมืองได้ให้เคียฟแล้ว 1 ชุด จากที่มีแผนจะจัดส่งไปทั้งหมด 4 ชุด ขณะที่สหรัฐอเมริกาก็รับปากจะเร่งจัดส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศ NASAMS ให้แก่เคียฟเช่นกัน ซึ่งตลอดระยะเวลา 7 เดือนเศษที่ผ่านมา วอชิงตันได้อนุมัติแพกเกจช่วยเหลือด้านความมั่นคงต่อยูเครนแล้วเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 16,800 ล้านดอลลาร์

กลุ่ม G7 ซึ่งประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น อังกฤษ อิตาลี และแคนาดา ให้คำมั่นว่าจะมอบการสนับสนุนต่อยูเครนทั้งทางด้านการเงิน มนุษยธรรม การทหาร การทูต และกฎหมาย ไปให้ “นานที่สุดเท่าที่จำเป็น” พร้อมทั้งแถลงประณามการโจมตีพลเรือนผู้บริสุทธิ์โดยไม่เลือกหน้าว่าเป็นอาชญากรรมสงครามที่ ปูติน จะต้องรับผิดชอบ

ผู้นำ G7 ยังเตือนด้วยว่า แผนการของ “เบลารุส” ที่จะส่งทหารไปผนึกกำลังกับรัสเซียอาจเข้าข่าย “สมรู้ร่วมคิด” กับมอสโก และเตือนรัฐบาลมินสก์ให้หยุดสนับสนุนเครมลินในสงครามครั้งนี้

ทั้งนี้ ก่อนที่ G7 จะเปิดการประชุม รัฐบาลรัสเซียได้แถลงดักคอไว้ก่อนแล้วว่า “การเผชิญหน้ากับตะวันตก” มีแนวโน้มจะต้องยืดเยื้อออกไปอีก

ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย
ทางด้านองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ก็ประกาศเฝ้าจับตาดูความเคลื่อนไหวของกองกำลังนิวเคลียร์รัสเซียอย่างใกล้ชิด และได้เสริมมาตรการคุ้มกันความปลอดภัยโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ หลังท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีมที่ลอดผ่านทะเลบอลติกถูกโจมตีจนเกิดการรั่วไหล แต่ก็ยืนยันว่าขณะนี้นาโตยังไม่พบสัญญาณว่ารัสเซียกำลังปรับจุดยืนด้านนิวเคลียร์

เลขาธิการนาโต ยืนยันว่าปฏิบัติการซ้อมรบเพื่อเตรียมความพร้อมด้านนิวเคลียร์ประจำปีภายใต้รหัส “Steadfast Noon” จะเปิดฉากขึ้นในสัปดาห์หน้าอย่างแน่นอน โดยกองทัพอากาศของรัฐสมาชิกนาโตจะฝึกใช้ระเบิดนิวเคลียร์ของอเมริกาที่ติดตั้งในยุโรป แม้จะไม่มีการติดหัวรบของจริงก็ตาม

สโตลเตนเบิร์ก ยังย้ำว่าแผนการซ้อมรบนี้มีมาตั้งแต่ก่อนที่รัสเซียจะรุกรานยูเครนด้วยซ้ำ และไม่ใช่ปฏิกิริยาตอบโต้การข่มขู่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ของ ปูติน

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เซเลนสกี เคยออกมาเรียกร้องนาโต “ชิงลงมือโจมตีรัสเซียก่อน” เพื่อขัดขวางไม่ให้ ปูติน ใช้อาวุธนิวเคลียร์ แต่หลังจากถูกรัสเซียกล่าวหาว่าพยายามจุดชนวนสงครามโลกครั้งที่ 3 ผู้นำยูเครนก็รีบกลับลำโดยอ้างว่ามันเป็นการตีความผิด และอันที่จริงเขาตั้งใจจะสื่อว่าให้ตะวันตกชิงคว่ำบาตรก่อน ไม่ใช่ชิงโจมตีก่อน

รัสเซียอ้างว่าการทำสงครามรุกรานยูเครนเป็นแค่ “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” เพื่อกำจัดพวกชาตินิยมหัวรุนแรง และปกป้องพลเมืองที่ใช้ภาษารัสเซีย และกล่าวหาชาติตะวันตกว่าเป็นฝ่าย “กระพือความขัดแย้ง” และทำให้สงครามครั้งนี้ยืดเยื้อด้วยการส่งอาวุธช่วยเคียฟอย่างไม่หยุดหย่อน

“เราขอเตือนและหวังว่า พวกเขาที่อยู่ในวอชิงตันและเมืองหลวงตะวันตกคงจะตระหนักถึงอันตราย หากสถานการณ์ลุกลามจนควบคุมไม่ได้” เซียร์เก รยาบคอฟ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ออกมาเตือนเมื่อวันอังคาร (11)

สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ลงมติท่วมท้น 143 ต่อ 5 เสียงเมื่อวันพุธ (12 ต.ค.) ประณามรัสเซียต่อกรณีการผนวกแคว้นต่างๆ ของยูเครน ทว่ามีอยู่ 35 ประเทศที่งดออกเสียง ในนั้นรวมถึงจีน อินเดีย แอฟริกาใต้ ปากีสถาน และไทยด้วย แม้สหรัฐฯ จะใช้ความพยายามล็อบบี้ทางการทูตครั้งใหญ่เพื่อให้นานาชาติประณามมอสโกชัดเจนยิ่งขึ้นก็ตาม

ญัตติดังกล่าวมีเนื้อหาประณามการจัด "ประชามติ" ภายในเขตแดนของยูเครนที่ได้รับการรับรองจากนานาชาติ และความพยายามของ ปูติน ที่จะผนวก 4 ดินแดนยูเครนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตลอดจนเรียกร้องให้ทุกองคาพยพของสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศปฏิเสธที่จะรับรองการเปลี่ยนแปลงใดๆ ต่อเขตแดนยูเครนที่แถลงโดยรัสเซีย และเรียกร้องให้มอสโกล้มเลิกการตัดสินใจดังกล่าว "ในทันทีและแบบไม่มีเงื่อนไข"

ขณะเดียวกัน กระแสความหวาดกลัวสงครามนิวเคลียร์ในยุโรปก็ดูจะเพิ่มทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ โดยมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลโปแลนด์เริ่มแจกเม็ด “ไอโอดีน” ที่จะใช้เป็นยาต้านกัมมันตภาพรังสีให้แก่ประชาชน เช่นเดียวกับกระทรวงกิจการสังคมและสุขภาพของฟินแลนด์ที่แนะนำให้ประชาชนซื้อเม็ดไอโอดีนติดบ้านไว้อย่างเร่งด่วนหลังสงครามยูเครนมีท่าทีบานปลาย

ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติลงมติ 143 ต่อ 5 เสียง ประณามรัสเซียกรณีประกาศผนวกดินแดน 4 แคว้นในยูเครน โดยมี 35 ชาติที่งดออกเสียงรวมถึง “ไทย”

อาสาสมัครชุมชนยูเครนเข้าไปตรวจสอบหลุมขนาดใหญ่บนถนนในกรุงเคียฟ ซึ่งเกิดจากการโจมตีด้วยขีปนาวุธของรัสเซียเมื่อเช้าวันที่ 10 ต.ค.

ชาวบ้านในกรุงเคียฟเข้าไปสำรวจซากรถยนต์ซึ่งถูกขีปนาวุธรัสเซียทำลายจนกลายสภาพเป็นเพียงเศษเหล็ก เมื่อวันที่ 11 ต.ค.
กำลังโหลดความคิดเห็น