ยูเอสเอส เจอรัลด์ อาร์. ฟอร์ด เรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่ล่าสุดมูลค่ากว่า 13,000 ล้านดอลลาร์ของสหรัฐฯ ออกปฏิบัติภารกิจครั้งแรกในวันอังคาร (4 ต.ค.) นับเป็นหลักหมายสำคัญสำหรับเรือยักษ์ลำนี้ซึ่งก่อนหน้านี้ประสบปัญหาจากเทคโนโลยีขั้นสูงบางอย่างที่ประกอบติดตั้งบนเรือ
เรือ เจอรัลด์ อาร์. ฟอร์ด มีกำหนดร่วมปฏิบัติการกับประเทศพันธมิตรต่างๆ ของสหรัฐฯ เป็นต้นว่า แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี ระหว่างการออกปฏิบัติภารกิจเป็นเที่ยวแรกในคราวนี้ โดยที่จะมีทั้งเรื่องการฝึกซ้อมป้องกันภัยทางอากาศ สงครามปราบเรือดำน้ำ และการปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบก
วิดีโอสดที่เผยแพร่บนหน้าเฟซบุ๊กของกองทัพเรือสหรัฐฯ เผยให้เห็นเรือลากจูงหลายลำลากเรือบรรทุกเครื่องบินสีเทาลำนี้ออกจากท่าเรือ ณ ฐานทัพเรือนอร์โฟล์ก ในรัฐเวอร์จิเนีย
กองทัพเรือสหรัฐฯ แถลงว่า การออกปฏิบัติการเที่ยวนี้ของเรือเจอรัลด์ ฟอร์ดจะเป็นการเกี่ยวข้องกับบุคลากร 9,000 คน เรือ 20 ลำ และเครื่องบิน 60 ลำจาก 9 ประเทศ
เรือเจอรัลด์ ฟอร์ดขึ้นระวางเป็นเรือรบของกองทัพเรือสหรัฐฯมาตั้งแต่ปี 2017 ตัวเรือยาว 335 เมตร ระวางขับน้ำ 101,000 ตันเมื่อบรรทุกเต็ม แต่กระนั้นก็ยังสามารถทำความเร็วมากกว่า 54 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
เรือบรรทุกเครื่องบินลำนี้ที่ตั้งชื่อตามชื่อประธานาธิบดีคนที่ 38 ของอเมริกา ต้องการลูกเรือน้อยกว่าเรือบรรทุกเครื่องบินรุ่นก่อนๆ หลายร้อยคน และออกแบบมาเพื่อให้สามารถติดตั้งอาวุธที่โจมตีด้วยพลังงานแห่งอนาคตซึ่งยังอยู่ระหว่างการพัฒนา
จุดสำคัญที่มีการปรับปรุง คือความเร็วในการปล่อยเครื่องบินขึ้นสู่ท้องฟ้า และการนำเครื่องบินลงมาจอด
อย่างไรก็ตาม จากรายงานที่เสนอต่อรัฐสภาเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เรือลำนี้มีปัญหาด้านระบบหลายอย่าง เช่น ระบบดีดปล่อยอากาศยานด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและอุปกรณ์จับยึดเกียร์ขั้นสูง นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาความน่าเชื่อถืออาจทำให้เรือเจอรัลด์ ฟอร์ดไม่สามารถใช้หนึ่งในคุณสมบัติหลักของมัน ซึ่งก็คือ การปล่อยเครื่องบินขึ้นฟ้าอย่างรวดเร็ว
นอกจากนั้นระบบลำเลียงขีปนาวุธและระเบิดจากห้องเก็บขึ้นสู่ดาดฟ้าเรือเพื่อโหลดบนเครื่องบิน ก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี รายงานของสำนักงานวิจัยแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ ฉบับปรับปรุงในเดือนสิงหาคมระบุว่า ระบบลำเลียงขีปนาวุธและระเบิดของเรือเจอรัลด์ ฟอร์ดผ่านการทดสอบและรับรองแล้วเมื่อปลายปี 2021
แต่ในขณะที่เรือเจอรัลด์ ฟอร์ด ออกปฏิบัติการแล้ว และเรือบรรทุกเครื่องบินที่ใหญ่โตใกล้เคียงกันอยู่ระหว่างการพัฒนา ก็มีการถกเถียงกันว่า อาวุธใหม่ๆ เช่น ขีปนาวุธต่อสู้เรือ จะทำให้เรือเหล่านี้ล้าสมัยในทันทีหรือในอนาคตข้างหน้าหรือไม่
แมคคินซี อีเกลน นักวิชาการอาวุโสและผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารของ กลุ่มคลังสมอง อเมริกัน เอนเตอร์ไพรส์ อินสติติวท์ ยืนยันว่า เรือเจอรัลด์ ฟอร์ดและเรือบรรทุกเครื่องบินอื่นๆ ยังสามารถปฏิบัติภารกิจในการป้องปรามให้กับสหรัฐฯได้อีกนาน
อีเกลนอธิบายว่า กองทัพสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมู่เรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีของกองทัพเรือ จะเป็นส่วนแรกที่สกัดศัตรูและสงครามที่ยุ่งเหยิง ซึ่งหากภารกิจดังกล่าวล้มเหลว อาวุธและฐานทัพจำนวนมากของอเมริกาก็จะตกอยู่ในความเสี่ยงในความขัดแย้งครั้งต่อไป
เธอสำทับว่า ขณะที่อเมริกายังคงถกเถียงกันเรื่องประโยชน์ของเรือบรรทุกเครื่องบิน ประเทศอื่นๆ ตั้งแต่อินเดีย จีน ฝรั่งเศส อังกฤษ ออสเตรเลีย และอิตาลี กลับต่างทุ่มทุนพัฒนาเรือบรรทุกเครื่องบินของพวกตน เนื่องจากเล็งเห็นถึงประโยชน์ทั้งในช่วงเวลาที่สงบสุขและในภาวะสงคราม
(ที่มา: เอเอฟพี)