กองทัพเรือของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนเร่งการฝึกนักบินประจำเครื่องบินขับไล่บนเรือบรรทุกเครื่องบินในทศวรรษที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี กองทัพเรือจีนยังประสบปัญหาการขาดแคลนผู้ฝึกสอนเครื่องบินขับไล่สำหรับการปฏิบัติการบนเรือบรรทุกเครื่องบิน
นายหลี่ เจี๋ย ผู้เชี่ยวชาญด้านเรือบรรทุกเครื่องบินในปักกิ่งกล่าวว่า “ฝูเจี้ยน” เรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 3 ของจีนต้องการนักบินอย่างน้อย 200 คน สำหรับเครื่องบินขับไล่ 130 ลำ
เรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีน ชื่อว่า “เหลียวหนิง” ซึ่งเป็นเรือรบยุคโซเวียตที่สร้างไม่เสร็จซึ่งจีนซื้อมาจากยูเครน ส่วนเรือบรรทุกเครืองบินลำที่สอง มีชื่อว่า “ซันตง” สร้างในจีนโดยยึดแบบของเรือ “เหลียวหนิง”
ฝูเจี้ยนใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ล่าสุด ซึ่งแตกต่างจากเรือบรรทุกเครื่องบินรุ่นก่อนของจีน โดยเป็นเรือรบลำแรกของฝูงเรือรบจีน ที่ใช้รางดีดส่งอากาศยานแบบแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Catapults) บนดาดฟ้า ซึ่งส่งเครื่องบินรบออกไปปฏิบัติการได้รวดเร็วกว่าระบบรางดีดส่งอากาศยานพลังไอน้ำแบบเก่า ทำให้เป็นเรื่องท้าทายในการฝึกสอนนักบิน
“มันเต็มไปด้วยความท้าทาย เนื่องจากการออกแบบเครื่องบินและการฝึกนักบินเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีหลักที่ยากและซับซ้อนที่สุดในโลก ซึ่งจะไม่มีใครแบ่งปันกับคุณ” หลี่กล่าว
นักบินของกองทัพเรือจีนฝึกบินโดยใช้เครื่องบินขับไล่รุ่น JL-9G ที่ผลิตในจีน อย่างไรก็ดี เครื่องบินดังกล่าวไม่สามารถใช้จำลองการลงจอดฉุกเฉินบนดาดฟ้าได้เนื่องจากมีข้อบกพร่อง เช่น เบาเกินไปและช้าเกินไป ทำให้การฝึกจำกัดอยู่เพียงการจำลองการจอดบนบกเท่านั้น
กองทัพเรือของจีนเริ่มฝึกนักบินของตนเอง แทนที่จะเลือกผู้สมัครที่มีคุณสมบัติเหมาะสมจากกองทัพอากาศ หลังจากการก่อตั้ง Naval Aeronautical University ในเมืองเยียนไถ มณฑลซานตง ในปี 2017
ทั้งนี้ ช่วงไม่กี่ปีมานี้ จีนได้พัฒนาความทันสมัยกองทัพอย่างรวดเร็ว โดยมีแผนสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินอย่างน้อย 4 ลำภายในปี 2030 และจะทะยานขึ้นเป็น ‘กองทัพเรือทะเลลึก’ (Blue-Water Navy) ที่ใหญ่สุดอันดับ 2 ของโลก ตามหลังสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีเรือบรรทุกเครื่องบิน 11 ลำ และเรือรบอื่นๆ มากมาย
ที่มา เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์