xs
xsm
sm
md
lg

คุมอุปทานก๊าซโลก! อิหร่าน-อาร์เจนตินาเอาด้วยดันขั้วอำนาจใหม่ สมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อิหร่าน ชาติผู้มีปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองมากสุดอันดับ 2 ของโลก สมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิก BRICS ที่ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ กลุ่มที่ทางปักกิ่งและมอสโกอวดอ้างว่าเป็นตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ทรงพลัง ที่เป็นอีกทางเลือกนอกเหนือจากตะวันตก ในขณะที่ อาร์เจนตินา ก็แสดงจุดยืนปรารถนาเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มเช่นกัน

บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งกลุ่มขึ้นในปี 2009 และมีการประชุมซัมมิตครั้งแรกในปีเดียวกัน ก่อนที่แอฟริกาใต้จะเข้าร่วมในปี 2010

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านระบุว่า "การเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ของอิหร่าน จะก่อผลลัพธ์ช่วยเพิ่มมูลค่าแก่ 2 ฝ่าย" ในขณะที่รัสเซียเปิดเผยว่า อาร์เจนตินา ก็สมัครเข้าร่วมกลุ่มเช่นกัน

รัสเซียอวดอ้างการสมัครเข้าร่วมของทั้ง 2 ชาติ ว่าเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าตะวันตก ที่นำโดยสหรัฐฯ กำลังล้มเหลวในความพยายามโดดเดี่ยวรัสเซีย ต่อสิ่งที่มอสโกเรียกว่าเป็นปฏิบัติการพิเศษด้านการทหารในยูเครน

"ในขณะที่สหรัฐฯ มัวแต่คิดว่าจะปิดกั้นอะไรอีกในโลกใบนี้ รวมไปถึงการสั่งห้ามหรือทำลายสิ่งต่างๆ อาร์เจนตินาและอิหร่านได้สมัครเข้าร่วมกลุ่ม BRICS" มาเรีย ชาคาโรวา โฆษกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียกล่าว

อัลแบร์โต เฟอร์นานเดซ ประธานาธิบดีของอาร์เจนตินา ซึ่งปัจจุบันอยู่ในยุโรป เน้นย้ำถึงความปรารถนาของเขาในการพาประเทศเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ทั้งนี้ แหล่งข่าวรัฐบาลยอมรับว่ายังไม่ได้เริ่ม "กระบวนการอย่างเป็นทางการ" แต่อาร์เจนตินามีความตั้งใจที่จะทำเช่นนั้น

"เจ้าหน้าที่อาร์เจนตินาได้แสดงออกอย่างเปิดเผยแล้วว่าพวกเขามีความตั้งใจเข้าร่วม มันเป็นกระบวนการที่เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น" แหล่งข่าวระบุ

ตามข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) จีน เป็นชาติที่เศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในกลุ่ม BRICS คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 70% ของมูลค่าเศรษฐกิจของทั้งกลุ่มรวมกัน ซึ่งอยู่ที่ 27.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อินเดีย คิดเป็นสัดส่วน 13% ส่วน รัสเซียและบราซิล คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 7%

BRICS มีประชากรรวมกันคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 40% ของประชากรโลก และมีขนาดเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วนถึง 26% ของเศรษฐกิจโลก

นับตั้งแต่เหตุการณ์ปฏิวัติอิสลามปี 1979 ซึ่งเป็นการโค่นจักรพรรดิชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ลงจากอำนาจ อิหร่านถูกกีดกันจากตะวันตกและเศรษฐกิจของพวกเขาถูกฉีกขาดจากมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ อย่างไรก็ตามอิหร่านมีแหล่งน้ำมันสำรองคิดเป็นสัดส่วนราวๆ 1 ใน 4 ของตะวันออกกลาง

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ร่วมประชุมทางไกลกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียและพวกผู้นำคนอื่นๆ ของกลุ่ม BRICS เมื่อสัปดาหที่แล้ว

สี วิพาษ์วิจารณ์มาตรการคว่ำบาตรข่มเหงรังแกของนานาชาติ ส่วนปูตินตำหนิตะวันตกว่าเป็นผู้ปลุกปั่นวิกฤตโลก และทั้งสองเรียกร้องให้ยกระดับความร่วมมือในกลุ่ม BRICS

ปูตินบอกว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับจีน อยู่ในช่วงที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา และคุยโวถึงความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับปักกิ่ง โดยมีเป้าหมายตอบโต้อิทธิพลของสหรัฐฯ

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ระบุว่าตะวันตกกำลังต่อสู้อยู่กับรัฐบาลเผด็จการทั้งหลาย ในนั้นรวมถึงจีนและรัสเซีย

สหรัฐฯ และบรรดามหาอำนาจตะวันตกอ้างว่าการตัดสินใจรุกรานยูเครนของปูติน คือต้นตอที่ฉุดความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายดำดิ่งสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วิกฤตขีปนาวุธคิวบาปี 1962 ในนั้นรวมถึงการที่ตะวันตกและพันธมิตรกำหนดมาตรการคว่ำบาตรเล่นงานรัสเซียหนักหน่วงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่

อย่างไรก็ตาม ปูตินบอกว่าตะวันตกต้องการทำลายรัสเซีย และว่ามาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเท่ากับเป็นการประเทศสงครามทางเศรษฐกิจ และระบุรัสเซียจะเสริมสร้างความสัมพันธ์กับมหาอำนาจอื่นๆ แทน อย่างเช่นจีน อินเดีย และมหาอำนาจในตะวันออกกลาง

(ที่มา : รอยเตอร์/อาร์ทีนิวส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น