xs
xsm
sm
md
lg

สีจิ้นผิงเปิดเวทีซัมมิตกลุ่ม BRICS เตือนตะวันตกแซงก์ชันรัสเซียเป็น ‘ดาบสองคม’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน กล่าวปราศรัยในฟอร์แมตเสมือนจริง ในเวทีประชุมสัมมนาซัมมิตเศรษฐกิจ ของกลุ่ม BRICS ที่กรุงปักกิ่ง, ประเทศจีน เมื่อวันพุธ (22 มิ.ย.) ในภาพนี้ซึ่งเผยแพร่โดยสำนักข่าวซินหัวของทางการจีน
สี จิ้นผิงเป็นเจ้าภาพเปิดการประชุมสุดยอดกลุ่ม 5 ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ขนาดใหญ่ หรือ BRICS ในแบบเสมือนจริง โดยมีผู้นำของบราซิล รัสเซีย อินเดีย และแอฟริกาใต้ เข้าร่วมเมื่อวันพฤหัสบดี (23 มิ.ย.) ด้วยการชี้ว่า ความขัดแย้งในยูเครนเป็นสัญญาณเตือนเกี่ยวกับมนุษยธรรม ขณะที่มาตรการแซงก์ชันรัสเซียของตะวันตกอาจกลายเป็นบูมเมอแรง และดาบสองคม

แม้ไม่มีการเปิดเผยวาระการประชุม แต่มีแนวโน้มว่า ยูเครนจะเป็นประเด็นสำคัญ ทั้งนี้ จีนปฏิเสธที่จะประณามการรุกรานของรัสเซีย แต่วิจารณ์มาตรการแซงก์ชันของตะวันตกต่อมอสโก ขณะที่อินเดียสั่งซื้อน้ำมันจากรัสเซียที่ให้ส่วนลดเพิ่มขึ้นอย่างมาก ด้านแอฟริกาใต้ก็เป็นอีกชาติหนึ่งซึ่งงดออกเสียงมติประณามรัสเซียในที่ประชุมสหประชาชาติ

นอกจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนแล้ว นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ ของอินเดีย ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ประธานาธิบดีไซริล รามาโฟซา ของแอฟริกาใต้ และประธานาธิบดีฌาอีร์ โบลโซนารู ของบราซิล ก็เข้าร่วมการประชุมแบบทางไกลครั้งนี้ซึ่งกำหนดเอาไว้เป็นเวลา 2 วัน

พวกผู้เชี่ยวชาญตะวันตกมองว่า จีนนั้นต้องการใช้การประชุมซัมมิตของกลุ่มบริกส์ คราวนี้ เพื่อผลักดันวิสัยทัศน์ในการสร้างกลุ่มพันธมิตรกลุ่มนี้ขึ้นมาตอบโต้ระเบียบโลกแบบเสรีประชาธิปไตยที่นำโดยอเมริกา ควบคู่กับการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองของแดนมังกร

ก่อนหน้านี้ 1 วัน ระหว่างกล่าวปราศรัยต่อเวทีประชุมสุดยอดทางเศรษฐกิจของกล่มบริกส์ (BRICS Economic Summit) เมื่อวันพุธ (22) สีกล่าวว่า ความขัดแย้งในยูเครนเป็นสัญญาณเตือนเกี่ยวกับมนุษยธรรม พร้อมเตือนว่า หลายประเทศจะเผชิญปัญหาด้านความมั่นคงถ้าหลงคิดว่าตัวเองแข็งแกร่ง มุ่งขยายพันธมิตรทางการทหาร และคำนึงถึงแต่ความปลอดภัยของตัวเองโดยไปเบียดเบียนชาติอื่น

ประมุขแดนมังกรยังยืนยันจุดยืนเป็นกลางในสงครามยูเครน และให้การสนับสนุนรัสเซีย

นอกจากนั้น สียังชี้ว่า มาตรการแซงก์ชันอาจกลายเป็นบูมเมอแรงและดาบสองคม อีกทั้งเตือนว่า นานาชาติจะทุกข์ทรมานกับการใช้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและการไหลเวียนทางการเงินเป็นเครื่องมือทางการเมืองและอาวุธ

ทางด้านประธานาธิบดีบราซิล กล่าวปราศรัยในวิดีโอที่บันทึกไว้ล่วงหน้า โดยไม่ได้พาดพิงประเทศใด แต่บอกว่า สถานการณ์ระหว่างประเทศในปัจจุบันน่ากังวล เนื่องจากสร้างความเสี่ยงต่อการไหลเวียนของการค้าและการลงทุน และเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทานด้านพลังงาน และสำทับว่า บราซิลรับมือความท้าทายเหล่านี้ด้วยการกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจลึกซึ้งยิ่งขึ้น ไม่ใช่การปิดประเทศ

บริกส์ก่อตั้งขึ้นในปี 2009 ขณะที่ประเทศเหล่านี้ถูกมองว่า เป็นจักรกลสำคัญสำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในอนาคต

อย่างไรก็ตาม หลังนับจากนั้นมา เศรษฐกิจแอฟริกาใต้และบราซิลเผชิญวิกฤต ขณะที่เศรษฐกิจจีนในปีนี้ตกฮวบ และรัสเซียถูกตะวันตกแซงก์ชันทางเศรษฐกิจจากการรุกรานยูเครน

เวลาเดียวกัน จีนและอินเดียมีข้อพิพาทด้านชายแดน แถมนิวเดลียังเป็นพันธมิตรด้านกลาโหมกับอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลียในชื่อกลุ่ม “คว็อด” โดยมีการปะทะกันบริเวณชายแดนจนเกิดการเผชิญหน้าครั้งใหญ่ในปี 2020 ซึ่งทั้งจีนและอินเดียต่างสูญเสียกำลังพล

(ที่มา : เอพี, เอเจนซีส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น