xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : ‘มาครง’ พลาดครองเสียงข้างมากในสภา การเมือง ‘อัมพาต’ จ่อกระทบสถานะฝรั่งเศสในยุโรป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส
สถานการณ์การเมืองฝรั่งเศสส่อแววยุ่งเหยิง หลังกลุ่มพันธมิตรสายกลางของประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครง พลาดครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรจากผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. นับเป็นสัญญาณร้ายที่ปรากฏขึ้นหลังจาก มาครง เพิ่งจะเข้าบริหารประเทศเทอมสองได้เพียงแค่ 2 เดือน และทำให้หลายฝ่ายเกรงว่าการเมืองฝรั่งเศสอาจเข้าสู่ภาวะ “อัมพาต” ขณะที่รัฐบาลเริ่มถูกตั้งคำถามว่าจะเดินหน้าผลักดันแผนปฏิรูปต่างๆ ที่เคยหาเสียงเอาไว้ได้อย่างไร

กลุ่มพันธมิตรสายกลางอองซอมเบลอ (Ensemble) ของ มาครง กวาดจำนวน ส.ส. ไปได้ทั้งหมด 245 ที่นั่ง ซึ่งยังไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ 289 ที่นั่งสำหรับการครองเสียงข้างมากแบบเบ็ดเสร็จ ในขณะที่กลุ่มพันธมิตรฝ่ายซ้าย NUPES ซึ่งนำโดย ฌ็อง-ลุค เมอล็องชง ได้ไป 131 ที่นั่ง ตามมาด้วยพรรคอนุรักษนิยมขวาจัด National Rally ของ มารีน เลอเปน จำนวน 89 ที่นั่ง และพรรครีพับลิกันอีก 61 ที่นั่ง

ศึกเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ยังชี้ให้เห็นว่าพรรค National Rally ของ เลอเปน ได้รับความนิยมสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ และนับเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของการเมืองฝรั่งเศส

สถานการณ์เช่นนี้อาจทำให้ฝรั่งเศสต้องเผชิญกับภาวะ “สภาแขวน” ครั้งแรกในรอบหลายสิบปี ซึ่งจำเป็นต้องมีการแบ่งปันอำนาจและประนีประนอมระหว่างกลุ่มขั้วการเมืองต่างๆ เพื่อให้การบริหารบ้านเมืองไปต่อได้ และยังก่อให้เกิดคำถามทันทีว่า แผนปฏิรูปต่างๆ ของ มาครง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มอายุเกษียณจาก 62 เป็น 65 ปี และการบูรณาการร่วมกับสหภาพยุโรป (อียู) จะยังไปรอดหรือไม่

ทั้งนี้ ความอ่อนแอของรัฐบาลยังอาจบั่นทอนอำนาจบารมีของผู้นำฝรั่งเศสในสายตากลุ่มชาติยุโรปด้วย

เหตุการณ์ที่ประธานาธิบดีฝรั่งเศสชนะเลือกตั้ง แต่กลับไม่สามารถครองเสียงข้างมากในสภาได้นั้นเคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 1988 และแม้ในขณะนี้จะยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าสถานการณ์จะคลี่คลายไปในทิศทางไหน แต่หากรัฐบาลเจรจาขอความร่วมมือกับกลุ่มต่างๆ ไม่สำเร็จจนทำให้การขับเคลื่อนนโยบายเป็นไปอย่างยากลำบาก ก็มีความเป็นไปได้ที่ มาครง อาจจะตัดสินใจประกาศจัดการเลือกตั้งใหม่ (snap election)

มาครง เรียกร้องขออาณัติที่แข็งแกร่งจากชาวฝรั่งเศส ท่ามกลางผลพวงจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนซึ่งทำให้โลกต้องเผชิญกับวิกฤตทั้งด้านพลังงานและอาหาร อีกทั้งยังกระพือปัญหาเงินเฟ้อที่กระทบต่อการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน

มาครง ได้ประชุมหารือร่วมกับบรรดาผู้นำฝ่ายค้านที่ทำเนียบเอลีเซ่เมื่อวันอังคาร (21) เพื่อหาวิธีหลีกเลี่ยงวิกฤตการเมืองที่กำลังเกิดขึ้น ทว่าการพูดคุยดูเหมือนจะยังไม่ได้ผลคืบหน้าเท่าที่ควร

“มันเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน” โอลิเวีย เกรกัวร์ โฆษกหญิงของรัฐบาลมาครง ออกมายอมรับกับสถานีวิทยุ France Inter “เราคงจะต้องคิดหาวิธีที่สร้างสรรค์”

ฟิลิปป์ กูแด็ง นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากธนาคาร Barclays เตือนว่า สภาผู้แทนราษฎรที่แตกแยกเป็นหลายฝักฝ่ายจะนำไปสู่สภาวะอัมพาตทางการเมือง และเป็นอุปสรรคต่อการเดินหน้าปฏิรูป

“มันอาจจะทำให้สถานะของฝรั่งเศสในยุโรปอ่อนแอลง และกระทบต่อการคลังของประเทศที่ก็ร่อแร่อยู่แล้วเป็นทุนเดิม” เขากล่าว

หนังสือพิมพ์เลอฟิกาโรซึ่งเป็นสื่อฝ่ายขวารายงานสภาพการณ์ในขณะนี้ว่าเป็น “การประนีประนอมที่ยังหาไม่เจอ” ขณะที่ฝ่ายค้านบางคนเรียกร้องให้ มาครง สั่งปลดนายกรัฐมนตรี เอลิซาเบธ บอร์น ทบทวนแผนปฏิรูปต่างๆ และลดความ “หยิ่งผยอง” ของตัวเองลงบ้าง

นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่า ทางออกที่พอจะเป็นไปได้ก็คือกลุ่มพันธมิตรสายกลางของ มาครง ต้องทำข้อตกลงจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรครีพับลิกัน (LR) ที่แม้ระดับความนิยมจะลดลง แต่ก็ยังได้ ส.ส. ถึง 61 ที่นั่ง


ทั้งนี้ กลุ่มอองซอมเบลอ และพรรครีพับลิกันสายอนุรักษนิยมมีนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน เช่น การสนับสนุนให้เพิ่มอายุเกษียณ และส่งเสริมการใช้พลังงานนิวเคลียร์ เป็นต้น ซึ่งหากทั้ง 2 กลุ่มสามารถจับมือกันได้ก็จะกลายเป็นรัฐบาลผสมเสียงข้างมากทันที

อย่างไรก็ตาม ผลการเจรจาเมื่อวันอังคาร (21) ปรากฏว่า คริสเตียง จาค็อบ ผู้นำพรรครีพับลิกัน ยังคง “ปฏิเสธ” ความเป็นไปได้ในการจับขั้วกับกลุ่มของ มาครง และยืนกรานจะทำหน้าที่ฝ่ายค้านต่อไป แม้ว่าสมาชิกพรรคบางคนจะเสนอให้พรรคยอมรับบทบาท ‘kingmaker’ ก็ตามที

ฟาเบียง รุสเซล ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งรวมอยู่ในกลุ่มพันธมิตร NUPES และได้เข้าร่วมเจรจากับ มาครง เมื่อวันอังคาร (21) ระบุว่า ประธานาธิบดีได้ยื่นข้อเสนอจัดตั้ง “รัฐบาลปรองดองแห่งชาติ” ขณะที่ เลอเปน ก็ยอมรับว่า มาครง ได้เสนอไอเดียนี้ต่อเธอเช่นกัน

โอลิวิเยร์ เวราน รัฐมนตรีซึ่งดูแลด้านความสัมพันธ์กับรัฐสภา บอกกับสถานีโทรทัศน์ BFM เมื่อวันพุธ (22) ว่า รัฐบาลพร้อมพิจารณา “ทุกทางเลือก” และแม้จะยังปฏิเสธจับมือกับพรรคของ เลอเปน หรือกลุ่มฝ่ายซ้ายของ เมอลองชง เพื่อให้ได้เสียงข้างมากในสภา แต่เขายอมรับว่ามีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลอาจจะขอความร่วมมือจากกลุ่มการเมืองฝ่ายขวาและซ้าย เพื่อผ่านร่างกฎหมาย “เป็นรายฉบับ”

เมอลองชง ประกาศจะยื่นญัตติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี บอร์น ในเดือน ก.ค. ทว่าผู้นำฝ่ายค้านกลุ่มอื่นๆ ยังไม่มีท่าทีกระตือรือร้นในเรื่องนี้สักเท่าไหร่

บอร์น ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของฝรั่งเศสในรอบ 30 ปี โดยเพิ่งจะเข้าดำรงตำแหน่งได้เพียง 1 เดือนเศษๆ เธอถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าทำผลงานได้ไม่ดีในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ และได้ยื่นข้อเสนอ “ลาออก” หลังจากที่รัฐบาลพลาดครองเสียงข้างมาก แต่ก็ถูก มาครง ปฏิเสธ

อย่างไรก็ดี เส้นทางอนาคตของเทคโนแครตหญิงที่ขาดความช่ำชองทางการเมืองผู้นี้ก็ส่อแววว่าจะไม่ราบรื่น โดยนอกจากจะถูกฝ่ายค้านจ้องเล่นงานแล้ว ล่าสุดเธอยังถูก ฟรองซัวส์ เบย์รู หัวหน้าพรรค MoDem ซึ่งอยู่ในกลุ่มพันธมิตรอองซอมเบลอของ มาครง ออกมาพูดกดดันกลายๆ เมื่อวันพุธ (22) ว่าฝรั่งเศสต้องการนายกรัฐมนตรีที่เป็น “นักการเมือง” ตัวจริงมากกว่า

มารีน เลอ เปน ผู้นำพรรคขวาจัด Rassemblement National (RN) จับมืออำลาประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครง ภายหลังเข้าร่วมหารือที่ทำเนียบเอลีเซ่ เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.
กำลังโหลดความคิดเห็น