xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองฝรั่งเศสป่วน-พรรคร่วม รบ.นั่งไม่ติด วิ่งวุ่นระดมพันธมิตรใหม่ปกป้องเก้าอี้มาครง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส เหนื่อยแน่เมื่อผลการเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ ในวันอาทิตย์ (19 มิ.ย.) ออกมาว่า กลุ่มพันธมิตร “อองซอมเบลอ” ของเขา ไม่สามารถรักษาเสียงข้างมากเอาไว้ได้
กลุ่มพันธมิตร “อองซอมเบลอ” ของประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส พยายามหาแนวร่วมเพิ่มเติมในวันจันทร์ (20 มิ.ย.) เพื่อให้สามารถครองเสียงข้างมากในสมัชชาแห่งชาติ (สภาล่าง) ได้ต่อไป ภายหลังทำไม่สำเร็จในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันอาทิตย์ (19) ซึ่งถือเป็นสัญญาณร้ายสำหรับผู้นำเมืองน้ำหอมที่เพิ่งกลับมาครองเก้าอี้เทอม 2 หมาดๆ และอาจทำให้การเมืองฝรั่งเศสเข้าสู่ภาวะชะงักงัน

กลุ่มอองซอมเบลอ สายกลาง-ขวา ของ มาครง ยังคงเป็นกลุ่ม/พรรคซึ่งได้ที่นั่งมากที่สุดในการเลือกตั้งคราวนี้ แต่ยังคงขาดอีกหลายสิบที่นั่งเพื่อครองเสียงข้างมากแบบเดียวกับ 5 ปีที่ผ่านมา

ท่ามกลางการที่ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ออกมาโหวตในการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 53.77% ปรากฏว่าทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาจัดต่างได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น และบ่อนทำลายฐานอันมั่นคงในฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเคยเป็นตัวช่วยให้ มาครง สามารถผลักนโยบายต่างๆ ได้โดยตลอดการดำรงตำแหน่งสมัยแรกของเขา

ขณะเดียวกัน ฐานะภายในประเทศอันไม่มั่นคงเช่นนี้ ยังอาจบ่อนทำลายความพยายามของ มาครง ในการรับบทบาทเด่นในการยุติวิกฤตยูเครน และการเป็นรัฐบุรษคนสำคัญในสหภาพยุโรป (อียู)

พันธมิตรอองซอมเบลอ ชนะได้ที่นั่งในสมัชชาแห่งชาติคราวนี้ 244 ที่นั่ง ห่างไกลจากตัวเลข 289 ที่นั่ง ซึ่งจะต้องได้เพื่อครองเสียงเกินกึ่งหนึ่งในสภา

แต่พันธมิตรปีกซ้าย “นูปส์” ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นและกลายเป็นกลุ่ม/พรรคฝ่ายค้านหลัก โดยได้ทั้งสิ้น 137 ที่นั่ง ทั้งนี้ ตามการแถลงของกระทรวงมหาดไทย ถึงแม้ยังไม่ชัดเจนว่า พันธมิตรที่เป็นการรวมกันตัวใหม่ๆ หมาดระหว่างพรรคสังคมนิยม พรรคคอมมิวนิสต์ พรรคกรีนส์ ตลอดจนกลุ่มซ้ายจัด “ฝรั่งเศสผู้ไม่ยอมก้มหัว” นี้ จะยังคงรักษาความเป็นกลุ่มก้อนกันได้หรือไม่เมื่อปฏิบัติงานในสภากันจริงๆ

เวลาเดียวกัน ฝ่ายขวาจัดที่นำโดย มารีน เลอ เปน ก็คว้าชัยครั้งใหญ่ที่สุดในสภาในประวัติศาสตร์ของพวกเขาทีเดียว โดยกลายเป็นพรรคฝ่ายค้านที่แข็งแกร่งที่สุดเมื่อนับกันเป็นรายพรรค ด้วยที่นั่ง 89 ที่นั่ง จากที่ได้แค่ 8 ที่นั่งในสมัชชาแห่งชาติชุดที่กำลังหมดอายุลง

ในสถานการณ์เช่นนี้ ทางเลือกที่เป็นไปได้สำหรับมาครง มีตั้งแต่หาพันธมิตรเข้าร่วมจัดตั้งคณะรัฐบาลใหม่ ทำข้อตกลงเฉพาะกิจกับกลุ่ม/พรรคอื่นๆ กันเป็นคราวๆ เพื่อผ่านกฎหมายสำคัญๆ จนถึงการยุบสมัชชาแห่งชาติและจัดการเลือกตั้งใหม่

เลอ มงด์ หนังสือพิมพ์ทรงอิทธิพลแนวกลาง-ซ้ายของฝรั่งเศส พาดหัวบนเว็บไซต์ของตนว่า มาครงเผชิญความเสี่ยงที่จะเป็นอัมพาตทางการเมือง ขณะที่เลอ ฟิกาโร หนังสือพิมพ์ปีกขวา ชี้ว่า ผลเลือกตั้งนี้เพิ่มความเป็นไปได้ของ “อาณัติใหม่ที่ตายหลังคลอด” ส่วนบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ลิเบอราซิยองที่มีแนวทางเอียงซ้ายระบุว่า ผลการเลือกตั้งสะท้อน “การล่มสลาย” ของแนวทางการบริหารของมาครง

มาครงนั้นหวังจะผลักดันโครงการใหญ่มากมาย เช่น การลดภาษี การปฏิรูปสวัสดิการสังคม และการปรับเพิ่มเกณฑ์อายุในการปลดเกษียณ ระหว่างการรั้งตำแหน่งสมัยสอง แต่ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นไปได้ยากขึ้นจากผลการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์

รายงานของ เลอ มงด์ ยังคาดการณ์ว่า การเมืองฝรั่งเศสจะเจอทางตันนานหลายสัปดาห์ ขณะที่มาครงเร่งรวบรวมพันธมิตรใหม่ ตัวเลือกที่มีแนวโน้มมากที่สุดคือ รีพับลิกัน (แอลอาร์) พรรคการเมืองเก่าแก่ที่มีแนวทางปีกขวาและล่าสุดมีเก้าอี้ในสภา 61 ที่นั่ง

อย่างไรก็ตาม คริสเตียง จาค็อบ หัวหน้าพรรคแอลอาร์ ประกาศชัดเจนว่า พรรคของตนต้องการเป็นฝ่ายค้าน

กระนั้น บรูโน เลอ แมร์ รัฐมนตรีเศรษฐกิจ ปฏิเสธการคาดการณ์ที่ว่าฝรั่งเศสจะต้องตกอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถบริหารปกครองได้ เนื่องจากประธานาธิบดีไม่อาจคุมสภา แต่ยอมรับว่า กลุ่ม/พรรครัฐบาลต้องอาศัยจินตนาการอย่างมากท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเช่นนี้

(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น