ส.ส.พท. โวยลั่นไม่ขอสังฆกรรมร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ ชี้ยังเป็นเผด็จการครอบงำ เสียงข้างมากโหวตตัดสิทธิ์ชั้นผู้น้อย ร่วมเลือกผู้ทรงคุณวุฒิก.ตร. วิปฝ่ายค้านเสนอดึงร่างกลับไปทบทวน "สมชาย" ขวางหวั่นปิดโอกาสได้นำเข้ามาพิจารณาอีก
วันนี้ (16 มิ.ย.) มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้พิจารณาพ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.... ต่อจากที่ค้างเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้พิจารณาต่อเนื่องในมาตรา 17 ซึ่งกมธ.มีการแก้ไขให้สิทธิข้าราชการตำรวจชั้นผู้น้อย มีสิทธิเลือกกรรมการข้าราชการตำรวจ ในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิ โดยระบุถ้อยคำว่า ให้ข้าราชการตำรวจทั้งที่มียศและไม่มียศ ซึ่งตำแหน่งตั้งแต่ผู้บังคับหมู่หรือเทียบเท่าขึ้นไปเป็นผู้เลือก โดยบรรยากาศโดยรวมเป็นไปอย่างเรียบร้อย โดยกรรมาธิการเสียงข้างน้อย และสมาชิกที่ขอสงวนคำแปรญญัติอาทิ
นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะกมธ. อภิปรายว่า เดิมการเขียนร่างกฎหมาย ที่ให้เฉพาะนายตำรวจใหญ่ 5,000 นายเป็นผู้เลือก ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิ แต่ตนเสนอให้แก้ไข ให้ข้าราชการตำรวจทั้งหมด ที่มีตัวตน อยู่ 2.1 แสนนาย และให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการเลือกตั้ง ซึ่งตามที่ประสานงาน กกต. ยินดีที่จะดำเนินการให้ ทั้งนี้เพื่อความเป็นประชาธิปไตย และผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.ตร. จะมีความผูกพัน ทั้งนี้มีข่าวที่น่าเสียใจ มีกลุ่มบุคคลให้โหวตคืน คนจำนวนน้อยดำเนินการ
ทั้งนี้พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ชี้แจงขอหารือก่อนการลงมติ 2 ประเด็น กมธ.ฯ เสียงข้างมากเพิ่มถ้อยคำ 2 จุด คือ กรรมการข้าราชการตำรวจสอดคล้องกับมาตราอื่นๆ เพื่อไม่ซ้ำซ้อนกับกรรมการตำรวจนโยบายแห่งชาติ และ ข้าราชการตำรวจทั้งที่มียศและไม่มียศ ที่ขยายสิทธิเป็นผู้เลือก ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิ หากลงมติกลับสู่ร่างเดิม ถ้อยคำดังกล่าวจะมีผลกระทบ ดังนั้นต้องหาทางว่าจะให้คำ2คำอยู่ในร่างมาตรา 17 ส่วนการลงมติอย่างไรขึ้นอยู่กับสมาชิก
ทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตจากคำพูดของพล.ต.อ.ชัชวาลย์ ว่า การลงมติจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อหา โดยคืนเนื้อหาเดิม
จนกระทั่งถึงการลงมติ ผลปรากฎว่า เสียงข้างมาก 255 เสียงไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขของกมธ. และให้กลับไปใช้ตามเนื้อหาเดิม ต่อ 147 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง
อย่างไรก็ดี กมธ.เสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วยได้อภิปรายโต้แย้งและมองว่าจะทำให้การใช้กฎหมายในอนาคตมีปัญหาใหญ่ได้โดยนายสาทิตย์ วงศ์ หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ฐานะกมธ. อภิปรายว่า หากเนื้อหาของมาตรา 17 กลับไปตามร่างเดิม จะทำให้ถ้อยคำว่าการเลือกกรรมการข้าราชการตำรวจ เหลือเพียงการเลือกกรรมการเท่านั้น โดยอาจจะกระทบกับมาตราอื่น ที่มีการแก้ไขถ้อยคำ และอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่
ซึ่งนายพรเพชร กล่าวว่าเป็นเรื่องกรรมาธิการ ปรึกษาหารือและแก้ไขตามกระบวนการนิติบัญญัติของรัฐสภา ตนตอบชี้แจงไม่ได้ เพราะจะชี้นำ และจะเป็นการโต้แย้ง สมาชิกรัฐสภา
จากนั้นได้เข้าสู่การพิจารณามาตรา 18 โดยนายพรเพชร กล่าวว่า มาตราา 18 มีการแก้ไข และจะกระทบกับมาตรา 17 ทั้งนี้ขอให้กรรมาธิการฯ พิจารณาว่าจะแก้ไขอย่างไรแต่ก่อนจะเข้าสู่การอภิปรายของสมาชิก นายขจิตร ประกาศกลางห้องประชุมรัฐสภา ว่า ตนไม่ขออภิปรายตามที่สงวนไว้ และตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนครบวันนี้ ขออนุญาตหัวหน้าพรรคและวิป ไม่ร่วมสังฆกรรมกับการประชุมนี้ ที่บิดเบี้ยวทำให้เกิดปัญหา มติที่ผ่านไปในมาตรา 17 สะท้อนว่าอำนาจเผด็จการครอบงำรัฐสภาแห่งนี้
จากนั้นนายพรเพชร ได้สั่งพักประชุม เพราะมองว่ากมธ.ควรแก้ไข เนื่องจากมีประเด็นที่คาดไม่ถึง และกระทบมาตรา 18 เนื่องจากมีข้อความเชื่อมโยงกับมาตรา 17 เพราะมาตรา 18 เป็นวิธีการ
เมื่อกลับมาประชุมอีกครั้ง พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ชี้แจงว่าจะเสนอแก้ไขในชั้นการผ่านวาระสองแล้ว เพราะสามารถแก้ไขถ้อยคำได้ก่อนลงมติวาระสาม แต่ถูกโต้แย้งจาก ส.ส.พรรคฝ่ายค้านว่าไม่สามารถทำได้ เพราะถ้อยคำที่จะเพิ่มนั้นคือ เนื้อหา แต่การแก้ไขถ้อยคำหลังผ่านวาระสองนั้น หมายถึงการเติมคำตกหล่น เช่น และ , หรือ เป็นต้น
ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะวิปฝ่ายค้าน เสนอว่าให้นำร่างพ.ร.บ.ตำรวจ กลับไปทบทวนใหม่ทั้งร่าง และนำร่าง พ.ร.ป.เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง 2 ฉบับเลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อน หลังจากนั้นค่อยนำร่าง พ.ร.บ.ตำรวจกลับมาพิจารณาต่อก็ยังทัน
แต่นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะวิปวุฒิ ชี้แจงว่า ขณะนี้มีความพยายามจะให้เลื่อนร่าง พ.ร.บ.ตำรวจออกไปก่อน เพื่อนำร่างกฎหมายลูกเข้ามาแทรก ทั้งที่ พ.ร.บ.ตำรวจไม่มีปัญหาอะไร ทั้งนี้ อย่ามั่นใจว่าเมื่อนำกฎหมายลูกเข้ามาแล้ว กฎหมายตำรวจจะได้กลับเข้ามาพิจารณาอีก โดยที่ปะชุมใช้เวลาถกเถียงกันมาตรานี้ นานเกือบ 1 ชั่วโมง��สุดท้ายฝ่ายค้านยินยอมให้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจต่อไป จากนั้นที่ประชุมเข้าสู่การพิจารณาและลงมติตามที่กรรมาธิการเสียงข้างมากแก้ไขเพิ่มเติม เรียงมาตราตามปกติ