xs
xsm
sm
md
lg

วิปวุฒิฯ เสนอ กมธ.สธ.- กมธ.กฎหมาย เป็นหลักศึกษาร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ที่ประชุมวิปวุฒิสภา มีมติเสนอให้ กมธ.สาธารณสุข และ กมธ.กฎหมาย เป็นหลักในการพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง 2 ฉบับ ที่ผ่านวาระแรกของสภาผู้แทนฯ พร้อมมอบหมายให้กรรมการวิชาการวุฒิสภาจัดสัมมนาให้ความรู้แก่สมาชิกเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ

วันนี้ (15 มิ.ย.) นายคำนูณ สิทธิสมาน ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญ ได้เห็นชอบให้เผยแพร่ผลการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา 14/2565 (ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์) วันพุธที่ 15 มิถุนายน 2565 ซึ่งมีศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ ทำหน้าที่ประธานของที่ประชุม โดยมีเรื่องพิจารณาที่น่าสนใจ ดังนี้

1. ระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา
ด้วยในสัปดาห์นี้ ประธานรัฐสภาได้มีคำสั่งให้นัดประชุมร่วมกันของรัฐสภา จำนวน 2 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 3 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน 2565 และครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน 2565 โดยปรากฏเรื่องสำคัญที่เข้าสู่การพิจารณา ดังนี้
1. เรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว จำนวน 4 เรื่อง
1.1 ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. .... (พิจารณาต่อจากการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน 2565)
1.2 ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
1.3 ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
1.4 ร่างพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ....

2. เรื่องด่วน จำนวน 6 เรื่อง
2.1 ร่างพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (รัฐสภาปรึกษาใหม่ตามมาตรา 146 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย)
2.2 ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 43) (นายชลน่าน ศรีแก้ว กับคณะ เป็นผู้เสนอ)
2.3 ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช .... (เพิ่มมาตรา 25 วรรคห้า แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 29 เพิ่มมาตรา 29/1 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 34 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 48) (นายชลน่าน ศรีแก้ว กับคณะ เป็นผู้เสนอ)
2.4 ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช .... (แก้ไข เพิ่มเติมมาตรา 159 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 วรรคสอง) (นายชลน่าน ศรีแก้ว กับคณะ เป็นผู้เสนอ)
2.5 ร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา (ฉบับที่..) พ.ศ. .... (นายอนันต์ ผลอำนวย กับคณะ เป็นผู้เสนอ)
2.6 ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช .... (แก้ไข เพิ่มเติมมาตรา 272) (รองศาสตราจารย์สมชัย ศรีสุทธิยากร กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 64,151 คน เป็นผู้เสนอ)

นอกจากนี้ จากข้อมูลที่ได้รับการประสานงานในเบื้องต้นจะมีการเสนอให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในระยะต่อไปอีกจำนวน 5 ครั้ง ได้แก่ (1) วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2565 (2) วันอังคารที่ 28 มิถุนายน 2565 (3) วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม 2565 และ (4) วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม 2565 และ (5) วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม 2565 แต่ทั้งนี้ กำหนดเวลาการประชุมร่วมกันของรัฐสภาที่ชัดเจนจะต้องรอการยืนยันจากมติที่ประชุมวิปสามฝ่ายต่อไป


2. การพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการในวาระที่หนึ่งแล้ว ตามข้อบังคับ ข้อ 119 จำนวน 3 ฉบับ ดังนี้

2.1 ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. .... (นายอนุทิน ชาญวีรกูล กับคณะ เป็นผู้เสนอ) และร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์กัญชา กัญชง พ.ศ. .... (นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ กับคณะ เป็นผู้เสนอ)

มติที่ประชุม
ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติ ดังนี้
1. ที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นร่างพระราชบัญญัติ ที่มีความจำเป็นเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ จึงเห็นควรกราบเรียนประธานวุฒิสภา เพื่อมีดำริมอบหมายให้คณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องเป็นผู้พิจารณาศึกษา คือ คณะกรรมาธิการการสาธารณสุขและคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ เป็นหลักในการพิจารณาศึกษา และมอบหมายให้ คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมฯ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนฯ และคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ พิจารณาศึกษาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการแต่ละคณะตามข้อบังคับ ข้อ 119 ต่อไป
2. มอบหมายให้คณะกรรมการวิชาการของวุฒิสภาจัดสัมมนาเพื่อให้ความรู้แก่สมาชิกวุฒิสภา เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับดังกล่าวต่อไป

2.2 ร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
มติที่ประชุม
ที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นร่างพระราชบัญญัติที่มีความจำเป็น เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ จึงเห็นควรกราบเรียนประธานวุฒิสภา เพื่อมีดำริมอบหมายคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องเป็นผู้พิจารณาศึกษา คือ คณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจฯ เป็นหลักในการพิจารณาศึกษา และมอบหมายให้คณะกรรมาธิการการพาณิชย์ฯ คณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่นและคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข พิจารณาศึกษาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการแต่ละคณะ ตามข้อบังคับ ข้อ 119 ต่อไป


3. รายงานการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 2) เพื่อรองรับการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ(คณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขข้อบังคับการประชุมฯ พิจารณาเสร็จแล้ว) และญัตติแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 เพื่อรองรับการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ(นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย เป็นผู้เสนอญัตติ)

มติที่ประชุม
ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติ ดังนี้
1. รับทราบและเห็นชอบด้วยกับรายงานการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 2) เพื่อรองรับการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติตามที่คณะกรรมการพิจารณา ศึกษาแนวทางการแก้ไขข้อบังคับการประชุมฯ เสนอ
2. เห็นชอบด้วยกับญัตติแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 เพื่อรองรับการดำเนินการ ตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติและเห็นควรกราบเรียนประธานวุฒิสภาเพื่อมีดำริให้บรรจุญัตติดังกล่าว ในการประชุมวุฒิสภา ในวันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน 2565
3. ในเบื้องต้นเห็นควรมอบหมาย นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ในฐานะประธานกรรมการพิจารณาศึกษาฯ เป็นผู้พิจารณาจำนวนและองค์ประกอบของคณะกรรมาธิการที่จะตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุม วุฒิสภา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... แล้วนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญในการประชุมคราวถัดไป

4. ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับกรณีที่ประชุมวุฒิสภาจะมีมติคัดเลือกผู้สมควรเป็นกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน จำนวน 4 ด้าน

มติที่ประชุม
ที่ประชุมพิจารณาแล้วชอบตามข้อเสนอของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาที่เสนอให้วุฒิสภาชะลอ การดำเนินการให้วุฒิสภามีมติเลือกบุคคลผู้สมควรเป็นกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน 4 ด้านไว้ก่อน เพื่อรอเลือกพร้อมกันกับผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคอันจะทำให้วุฒิสภาสามารถเลือกบุคคลผู้สมควรเป็นกรรมการติดตามและประเมินผล การปฏิบัติงานทั้ง 5 ด้านพร้อมกัน และให้ผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานทั้ง 5 ด้าน ประชุมร่วมกันเพื่อคัดเลือกประธานกรรมการ ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 70 วรรคสาม ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น