“ส.ว.คำนูณ” แนะเร่งปิดช่องสุญญากาศกัญชาเสรี เตรียมหารือที่ประชุมวุฒิสภาพรุ่งนี้ เสนอ รมต.สาธารณสุข ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยปี 2542 ประกาศให้ “กัญชา” เป็นสมุนไพรควบคุม กำหนดกฎเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการใช้ เพื่อคุ้มครองเด็ก เยาวชน และสังคม ช่วงที่ พ.ร.บ.กัญชาฯ ยังไม่ผ่านออกมาใช้บังคับ
วันนี้ (13 มิ.ย.) เมื่อเวลา 18.49 น. นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Kamnoon Sidhisamarn หัวข้อเรื่อง ปิดช่องสุญญากาศกัญชาเสรี คุ้มครองเด็ก เยาวชน และสังคม เร่งออกกฎเกณฑ์ควบคุม มีใจความว่า กัญชาไม่เป็นยาเสพติดประเภท 5 อีกต่อไปแล้วตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เมื่อประกาศของรัฐมนตรีสาธารณสุขมีผลใช้บังคับ
ในขณะที่กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์การใช้กัญชา ซึ่งควรจะต้องตราออกมาเพื่อสอดรับกัน ยังไม่มี ยังไม่เสร็จ เพราะร่างพระราชบัญญัติกัญชากัญชง พ.ศ. …. เพิ่งผ่านการพิจารณาวาระ 1 ชั้นรับหลักการในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยังต้องใช้ระยะเวลาอีกหลายเดือนกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการในรัฐสภา เพราะเป็นร่างกฎหมายปกติที่ต้องผ่าน 2 สภา
ช่วงระยะเวลานี้จึงเป็นสุญญากาศ เป็นหลุมดำ สุญญากาศและหลุมดำแห่งกัญชาเสรี กัญชาไม่เป็นยาเสพติด และไม่มีกฎเกณฑ์ตามกฎหมายควบคุม
เป็นที่ยอมรับกันว่า กัญชาไม่ได้มีแต่คุณอนันต์ในด้านการแพทยสถานเดียว มีโทษมหันต์ด้วยหากบริโภคโดยไร้กฎเกณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเด็กและเยาวชนที่เป็นอนาคตของสังคมไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ห่วงใยผลกระทบต่อเด็กเยาวชนและสังคมที่จะตามมา
สุราและบุหรี่มีกฎเกณฑ์ควบคุม กัญชาก็ตั้งใจว่าจะมี แต่ขณะนี้ยังไม่มี ระยะเวลาที่ต้องรอกฎหมายเฉพาะอีกหลายเดือนเป็นอย่างน้อยอาจก่อให้เกิดผลเสียหายได้ คำถามคือจะแก้ปัญหาอย่างไร ?
เมื่อเช้านี้ ผมได้ตั้งกระทู้สดถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่ท่านติดภารกิจ ไม่ได้มาตอบ
เช้าวันพรุ่งนี้ จึงจะใช้สิทธิหารือก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม 3 นาที หารือผ่านท่านประธานวุฒิสภาไปยังรัฐมนตรีสาธารณสุข จะไม่เสนอแนะเรื่องตราพระราชกำหนด เพราะนอกจากจะมีผู้เสนอกันพอสมควรแล้ว นั่นยังเป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี ของนายกรัฐมนตรี ถ้าเห็นว่าควรทำก็ทำได้
จะเสนอทางแก้ปัญหาที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของรัฐมนตรีสาธารณสุข ตามกฎหมายปี 2542 “พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542” มาตรา 44 มาตรา 45
เริ่มต้นด้วยการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม ก็ในเมื่อกัญชาไม่เป็นยาเสพติดประเภท 5 แล้ว ทำไมจะเป็นสมุนไพรควบคุมไม่ได้ ประเด็นนี้เคยมีผู้เสนอให้ทำมาตั้งแต่ปี 2560 แล้ว เพียงแต่บริบท ณ วันนั้นยังไม่ตกผลึก และยังไม่มีการปลดล็อคกัญชาออกจากยาเสพติด
จากนั้น ก็ประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดกฎเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับการบริโภคและใช้ประโยชน์กัญชาซึ่งเป็นสมุนไพรควบคุม
แม้ข้อความในมาตรา 44 และมาตรา 45 จะขึ้นต้นว่า ‘เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสมุนไพร’ และ “เพื่อประโยชน์มนการคุ้มครองสมุนไพรควบคุม” ก็ตาม แต่เชื่อว่าสามารถประยุกต์ใช้เพื่อให้เป็นวิธีการเพื่อความปลอดภัยของสังคมได้
“อย่างน้อยที่สุด ก็เป็นการวางกฎเกณฑ์ในช่วงที่ร่างพระราชบัญญัติกัญชากัญชง พ.ศ. …. ยังอยู่ในการพิจารณาของสภา เป็นการปิดช่องสุญญากาศที่เปิดไว้อ้าซ่าเสียก่อน” นายคำนูณ ระบุ