xs
xsm
sm
md
lg

"สมชัย" เปิดต้นทุนสลากใบ ชี้สลากดิจิทัลรัฐบาลขายเอาหน้าผู้ค้ารายย่อยเดือดร้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"สมชัย ศรีสุทธิยากร" ที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการ ป.ป.ช. ชี้การจำหน่ายสลากดิจิทัลของรัฐบาลเป็นการขายเอาหน้า ยึดโควตาจากรายย่อยเอามาขายออนไลน์ ตัดโควตาแบบเหมาเข่ง เจาะลึกต้นทุนรับมา 70.40 บาท แต่มีภาระเลขฉุ่ย เลขไม่สวย ต้องไปหาสลากมาขายเพิ่มจากตลาดขายส่งที่แพงกว่า จะขาย 80 บาทได้อย่างไร

วันนี้ (6 มิ.ย.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร (กรรมาธิการ ป.ป.ช.) และอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์ข้อความในหัวข้อ "สลาก 80 บาทในฝัน" ซึ่งมีทั้งหมด 2 ตอน สาระสำคัญก็คือ ตนได้ไปเดินดูตลาดขายส่งสลากกินแบ่งรัฐบาลแห่งหนึ่งด้วยตัวเอง พบว่าทุกต้นเดือน สลากกินแบ่งรัฐบาลที่ออกจากสำนักงานสลากฯ ทุกวันที่ 2 ของเดือน ในราคา 70.40 บาท จากทุกแหล่งทั่วประเทศ จะหายไป 2-3 วัน เพื่อจัดชุด บริเวณใกล้ๆ สนามบินน้ำ

หลังจากนั้นจะมาปรากฏในตลาดขายส่ง ทุกวันที่ 5 ในราคาที่ขึ้นมาเป็น 91.50 บาทต่อใบ กรณีซื้อยกเล่ม 100 ใบ แต่หากจัดเป็นชุด 5 ใบ จะมีราคาต่ำสุด กรณีเลขฉุ่ยหรือเลขไม่สวย ที่ชุดละ 480 บาท ตกใบละ 96 บาท และสูงสุดสำหรับเลขเต็งหรือเลขสวยถึง 800 บาท ตกใบละ 160 บาท นอกจากนี้ ยังขายคละเลขสวยและเลขฉุ่ย เป็นทีละ 10 ชุด ชุดละ 5 ใบ รวม 50 ใบ ในราคา 5,800 บาท ตกใบละ 116 บาท หากผู้เดินขายรายย่อยมีต้นทุนเริ่มต้นแบบนี้ จะขายในราคาใบละ 80 บาทได้อย่างไร

นายสมชัยยังเห็นว่า กรณีที่รัฐบาลขายสลากดิจิทัลได้ใบละ 80 บาทนั้น มีจำนวนแค่ 5 ล้านใบ จาก 100 ล้านใบ อีก 95 ล้านใบไม่มีให้เห็น และสลาก 5 ล้านใบที่ยึดโควตาจากรายย่อยเอามาขายออนไลน์ สร้างความเดือดร้อนให้แก่รายย่อยนับหมื่นราย เพราะเป็นการตัดโควตาแบบเหมาเข่ง มีทั้งคนทำผิดจริงที่ไปขายโควตาต่อ และคนไม่ผิด แต่ถูกยึดไป ไม่มีปากเสียงพูด

สำหรับตัวแทนจำหน่ายสลากดิจิทัล 5 ล้านฉบับนั้น มาจากผู้ค้ารายย่อยที่ลงทะเบียนใหม่ แล้วนำสลากมาฝากขาย หากขายได้ก็ได้เงินผ่านระบบ G-Wallet แต่หากขายไม่ได้ เช่น เลข 000 999 เลขฉุ่ย ก็ยังเป็นภาระของผู้ค้ารายย่อย ไม่แตกต่างจากแพลตฟอร์มเอกชนอย่างมังกรฟ้า กองสลากพลัส เพียงแต่ครั้งนี้เอาวิธีการดังกล่าวมาทำเอง โดยปัญหาความเดือดร้อนไปอยู่ที่คนรากหญ้า ที่ถูกตัดโควตาอย่างไม่เป็นธรรม

"การขายสลากดิจิทัลของรัฐบาลจึงเป็นขายเอาหน้า บนความเดือดร้อนของประชาชนผู้ค้ารายย่อย ซึ่งได้มีตัวแทนมายื่นเรื่องที่คณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เป็นประธาน เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ที่ผ่านมา" นายสมชัย กล่าว

อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่

อีกตอนหนึ่ง นายสมชัยยังอธิบายต่อว่า ผู้ค้าสลากรายย่อยที่เดินขายสลากกินแบ่งฯ มีรายได้เท่าไรต่อเดือน หากทุกอย่างเป็นไปตามระบบ สลากที่รับมามีโควตาคนละ 500 ฉบับ ฉบับละ 70.40 บาท เป็นเงิน 35,200 บาท หากขายในราคา 80 บาท ขายหมดจะได้กำไร 4,800 บาท หากหนึ่งบ้านได้โควตา 2 คน หรือ 1,000 ฉบับ เท่ากับได้กำไร 9,600 บาทต่องวด

แต่ในสลาก 1,000 ฉบับ จะมีบางหมายเลขที่ขายไม่ออก เช่น 000 999 หรือเลขที่เคยออกในงวดที่ผ่านมา เลขท้ายรางวัลที่หนึ่ง เลขสองตัวที่เคยออก รวมแล้วประมาณ 30 ฉบับต่องวด เป็นต้นทุนฉบับละ 70.40 บาท เป็นเงิน 2,112 บาท กำไรต่องวดจึงลดลงเหลือ 9,600-2,112 บาท เท่ากับ 7,488 บาท โดยหนึ่งเดือนมีสองงวด เท่ากับเป็นรายได้ 14,976 บาท ต่อครอบครัว 2 คน ซึ่งน้อยกว่าเงินเดือนราชการระดับปริญญาตรี 1 คน

อาชีพขายลอตเตอรี่จึงไม่สามารถเพียงพอต่อการดำรงชีพ ยกเว้นว่ามีอาชีพอื่นและขายลอตเตอรี่เป็นอาชีพเสริม หรือหาสลากมาขายเพิ่มมากกว่าที่ได้รับจากโควตารายย่อย โดยไปหาจากตลาดขายส่ง เช่น ข้างสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี, บริเวณสี่แยกคอกวัว กรุงเทพฯ หรือตลาดขายส่งที่ อ.วังสะพุง จ.เลย โดยมีราคาเริ่มต้นต่อเล่ม 9,000 บาทขึ้นไป ตกฉบับละ 90 บาท หรือถ้าเป็นหวยชุด 5 ใบจะเริ่มต้นจาก 480-800 บาท ตกใบละ 96-160 บาท เมื่อต้นทุนมาขนาดนี้ ราคาขายปลีกจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเป็น 80 บาทต่อฉบับ

"การแก้ปัญหาของรัฐ ที่ยกเลิกโควตารายย่อยนับหมื่นราย เพื่อเอาโควตาคนละ 500 ฉบับนี้ไปรวมเป็น 5 ล้านฉบับ ขายออนไลน์ราคา 80 บาท เพื่อให้เห็นว่ารัฐบาลพยายามแก้ปัญหาแล้วนั้นสร้างความเดือดร้อนแก่รายย่อย ทำให้เขาขาดรายได้เสริมของครอบครัว โดยจำนวนไม่น้อยถูกยกเลิกโควตาโดยไม่มีความผิดและไม่มีโอกาสอุทธรณ์" นายสมชัยระบุ

อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่




กำลังโหลดความคิดเห็น