xs
xsm
sm
md
lg

เสียงข้างมากรัฐสภาค้านตัด กม.อื่นใน ม.6 พ.ร.บ.สีกากี หวั่นปิดช่อง กม.สอบสวนคดีอาญา “ชัชวาลย์” จี้ตัดไฟแต่ต้นลม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐสภาถกร่าง พ.ร.บ.สีกากี มติเสียงข้างมาก ค้าน กมธ.เสียงข้างมาก ตัด กม.อื่นใน ม.6 ทิ้ง “คำนูณ-วิชา” หวั่นปิดช่อง กม.สอบสวนคดีอาญา กันซ้ำรอยคดี “บอส” ด้าน “ชัชวาลย์” แจง ตร.ใช้อำนาจตาม ป.วิอาญา อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเขียนให้รก ปล่อยไว้หวั่นเป็นหัวเชื้อ ต้องตัดไฟแต่ต้นลม

วันนี้ (9 มิ.ย.) ได้มีการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ... หลังจากที่คณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาแล้วเสร็จ โดยมีการพิจารณาเรียงรายมาตรา มีสมาชิกที่ขอสงวนคำแปรญัตติอภิปราย แต่เสียงส่วนใหญ่เป็นไปตามการแก้ไขเพิ่มเติมของกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่

สำหรับประเด็นที่น่าสนใจ คือ มาตรา 6 บัญญัติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี และมีอำนาจหน้าที่ต่างๆ โดยใน (2) มีการหน้าที่ดูแลควบคุมและกำกับการปฎิบัติงานของข้าราชการตำรวจซึ่งปฎิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายอื่น โดยกรรมาธิการเสียงข้างมากได้ตัดคำว่า “กฎหมายอื่น” ออกไป

ทั้งนี้ ได้มีกรรมาธิการเสียงข้างน้อยและสมาชิกขอสงวนคำแปรญัตติ และอภิปรายไม่เห็นด้วย และมองว่าจะเป็นการสร้างปัญหาในอนาคต อาทิ นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกรัฐสภา เสนอให้คงไว้ตามร่างเดิม เพราะในอนาคตจะมีการเสนอร่าง พ.ร.บ. การสอบสวนคดีความอาญา หรือกฎหมายพวงกับร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับนี้เข้ามา เพื่อให้ตอบโจทย์ต่อการปฏิรูปตำรวจ และปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญกำหนด โดยมีสาระคือ การออกกฎหมายเฉพาะเพื่อบังคับการทำงานสอบสวนของพนักงาน โดยกำหนดกฎเกณฑ์การสอบสวน และเปิดโอกาสให้พนักงานอัยการเข้ามาร่วมในการสอบสวนในคดีสำคัญ

“ที่ผ่านมา สังคมได้เรียกร้องให้มีการทำร่างนี้ออกมา ยกตัวอย่างปัญหาจากคดี บอส อยู่วิทยา แม้จะบอกว่าการตัดออกจะไม่กระทบ หากรัฐบาลจะเสนอร่างพรบ.สอบสวนคดีอาญาเข้ามาในอนาคต จะมีช่องทางใน (5) (ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกําหนดให้เป็นหน้าที่และอํานาจของข้าราชการตํารวจ หรือสํานักงานตํารวจแห่งชาติ) รองรับอยู่ก็ตาม แต่เกรงว่าหากตัดออกไปอาจจะมีการตีความว่ารัฐสภาไม่ต้องการร่าง พ.ร.บ. พิจารณาคดีอาญาที่รัฐบาลจะส่งเข้ามาตามหลังอีกแล้ว เพราะเข้าข่ายเป็น “กฎหมายอื่น” จึงไม่รับร่างนี้เข้ามาเพื่อให้สอดคล้องมติรัฐสภา แต่หากจะคงไว้ตามร่างเดิมก็ไม่ได้ผูกมัดรัฐบาลแต่อย่างใด ตนจึงเห็นว่าควรเขียนเปิดกว้างไว้ดีกว่าไม่เสียหาย เพราะยังมีกฎหมายอื่นอีกที่อยู่ในชั้นการพิจารณาของรัฐสภา เช่น ร่างพรบ.ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำคดีทางเพศ ที่วุฒิสภากำลังพิจารณาอยู่

นายวิชา มหาคุณ กรรมาธิการเสียงข้างน้อย อภิปรายสนับสนุนให้คงคำว่า “กฎหมายอื่น” ไว้ในมาตรานี้ เป็นเจตนารมณ์ของผู้ร่างและถือว่าเข้าสู่รัฐสภาด้วยถ้อยคำชัดเจนว่านอกเหนือจากการดูแลควบคุม และกำกับปฏิบัติงานของขรก.ตำรวจ ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา และกฎหมายอื่น การตีความตามเจตนารมณ์หมายถึงสิ่งที่ตามมาที่อาจจะมีในอนาคต เป็นสิ่งที่ศาลฏีกายึดถือหลักมาตลอด หากตัดทิ้งไปเท่ากับทำลายเจตนารมณ์ของผู้ร่างที่ต้องการให้ร่างพรบ.สอบสวนคดีอาญา ที่มาคู่เคียงกับร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ ที่ต้องไปด้วยกัน แต่รัฐบาลมีการเสนอร่างนี้เข้ามาก่อน

“ในฐานะที่ผมเป็นประธานกรรมการสอบคดี บอส วิทยา เราได้เสนอนายฯว่าเราเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และร่าง พ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญา ซึ่งจะเป็นการปฏิรูปครั้งยิ่งใหญ่ ที่มีความสำคัญ และมีผลถึงประชาชน นอกเหนือจากองค์กรตำรวจ ผลดีกับประชาชนคือจะเกิดความเชื่อมั่น เชื่อถือไว้วางใจในองค์กรตำรวจ และการทำงานในระบบการสอบสวน” นายวิชา กล่าว

นายธีรัจชัย พันธุมาศ สมาชิกรัฐสภา หนึ่งในสมาชิกที่สงวนคำแปรญัตติ อภิปรายว่า การจะให้นายกฯมาบังคับบัญชาตำรวจเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง หลักสำคัญของตำรวจต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง มีการกระจายอำนาจ โปร่งใส และลดความเป็นทหาร แต่กฎหมายนี้ระบุให้นายกฯซึ่งเป็นฝ่ายบริหารฝักฝ่ายการเมืองมาเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของตำรวจ หากนายกฯ หรือคนใกล้ชิดนายกฯกระทำผิด ถามว่าตำรวจจะกล้าดำเนินคดีหรือไม่ จึงเห็นว่าไม่มีความเป็นกลางอย่างชัดเจน

“ในมาตรา 6 นี้ บ่งบอกว่า ไม่ได้มีการปฏิรูปอะไรเลย เป็นการรวบอำนาจส่วนกลางใหญ่โตไปสู่นายกฯ หากเป็นช้างก็เป็นช้างที่เป็นมะเร็ง ไม่สามารถรักษาใครได้ ตำรวจไม่สามารถยืนข้างประชาชนได้เพราะไม่ได้ยึดโยงอะไรกับประชาชน การแต่งตั้งโยกย้ายต้องไปที่คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (กตช.) และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ก็มีนายกฯเป็นประธานเหมือนกัน เอาทุกเรื่องกินรวบทุกอย่าง ผมมองว่าไม่ใช่ปฏิรูปประเทศ แต่เป็นปฏิรวบประเทศ คือรวบทุกอย่างไปสู่นายกฯ แล้วตำรวจจะเป็นอิสระได้อย่างไร ไม่เคยนึกถึง หรืออิงประชาชนแล้วจะรับใช้ประชาชนได้อย่างไร ถือว่าผิดพลาดมากที่โอนให้นายกฯเช่นนี้”

ด้าน พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร สมาชิกรัฐสภา กรรมาธิการเสียงข้างมาก ชี้แจงว่า สมาชิกหลายคนพยายามอภิปรายโน้มน้าวว่า หากตัดคำว่า “กฎหมายอื่น” แล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่ทำงาน ตนชี้แจงว่า การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องบัญญัติไว้เพิ่มเติมว่า ต้องมีอำนาจตามกฎหมายอื่นอีก

เหตุที่ต้องตัดออกเพราะกฎหมายนี้ไม่ได้บอกว่าเอาไว้แล้วมีประโยชน์อย่างไร หรือตัดแล้วเสียอย่างไร หรือบัญญัติแล้วเป็นการปฏิรุปตำรวจ ตนได้ถามในที่ประชุมแล้วว่าคำนี้หมายถึงอะไร มีการตอบชัดว่าหมายถึงร่าง พ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญา และมาตรา 6 นี้นำมาจาก พ.ร.บ.ตำรวจปี 47 ตำรวจทำงานได้มาโดยตลอดว่า ตาม ป.วิอาญา ไม่ได้มีการเขียนกฎหมายอื่นเพิ่มเติมเลย ก็ไม่เคยมีปัญหา แต่ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติมีการเติม"และกฎหมายอื่น"เข้าไป วัตถุประสงค์เดียว คือ เพื่อสื่อไปสู่ร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา ซึ่งตนค้านร่างนี้มาโดยตลอด เพราะไม่ใช่การปฏิรูปตำรวจ แต่เป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ถือเป็นเชื้อ หรือ หัวไฟ คือ การเอากฎหมายเล็กๆมาใส่ไว้ในร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เพื่อโยงกับเนื้อในอีกหลายมาตราที่เกี่ยวข้อง

“ที่ถามว่า หากใส่ไว้จะเสียหายอะไร ผมตอบเลยว่าเสียแน่นอน เพราะมันเป็นหัวเชื้อที่จะนำไปสู่การทำลายองค์กรตำรวจ จึงจำเป็นต้องตัดไฟแต่ต้นลม ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเสียหายมากมาย มีแต่เสียไม่มีได้ ขอย้ำว่า ไม่ต้องหาวงเรามี ป.วิอาญาให้ตำรวจทำงานได้ครอบคลุมอยู่แล้ว ตั้งแต่อดีตจนทุกวันนี้ ไม่ได้ใช้กฎหมายอื่นเลย”

พล.ต.อ.ชัชวาลย์ กล่าวว่า การที่ตนบอกว่าร่าง พ.ร.บ.สืบสวนคดีอาญา ไม่ใช่การปฏิรูปตำรวจ เพราะในตัวร่างมีการอ้างว่าเป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ที่เรามีมติตัดออกในหลักการและเหตุผลไปแล้ว ตนไม่ได้ค้านกับการมีกฎหมายฉบับนี้ แต่ต้องมีความเป็นกลางและใช้กับพนักงานสอบสวนทั้งระบบในกระบวนการยุติธรรม ต้นทางกระบวนการยุติธรรมไม่ใช่ตำรวจอย่างเดียว แต่เริ่มจากหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย ดังนั้น หากจะออกกฎหมายพิเศษขึ้นมาต้องหมายถึงพนักงานสอบสวนทั้งหมดที่มีอยู่ ทั้งฝ่ายปกครอง อัยการและ ฝ่ายอื่นๆอีกมากมาย แต่ในร่างพ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา กลับนิยามว่า “พนักงานสอบสวน” หมายถึงพนักงานสอบสวนตาม ป.วิอาญา เฉพาะที่เป็นข้าราชการตำรวจ จึงไม่ใช่กฎหมายใช้ทั้งระบบ หากจะเสนอเข้ามาตนไม่ขัดข้องแต่ควรร่างกฎหมายใหม่ ให้มีความเป็นกลาง และยังให้อำนาจการสอบสวนอยู่กับรองสารวัตรขึ้นไป เท่ากับตัดอำนาจการสอบสวนของตำรวจสายงานอื่นที่มีออยู่ตาม ป.วิอาญา

ขณะที่ นายคำนูณ ชี้แจงว่า ตนเห็นด้วยว่า ร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญาออกแบบมาพิเศษเพื่อใช้บังคับกับการสอบสวนของตำรวจเท่านั้น โดยผู้ร่างต้องการแก้ปัญหาการสอบสวนของตำรวจในบางคดีที่เป็นปัญหา สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน และเป็นการเปิดประเด็นเอาไว้หากองค์กรไหนเห็นมีประโยชน์ก็นำไปใช้ได้ และยังให้มีการประเมณผลหลังมีการใช้ไปแล้ว ซึ่งเหมือนเป็นกับใช้ตำรวจเป็นหนูลองยา แต่เป็นการเริ่มแก้ไขและปรับปรุงจากงานสอบสวนที่เป็นส่วนใหญ่เสียก่อน ตนจึงไม่สบายใจและไม่อยากได้ยินคำว่า ทำลายองค์กรตำรวจ หรือ ตัดไฟแต่ต้นลม ซ่อนเร้น แต่เป็นการมุมมองที่แตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้มีมติเห็นด้วยกับการแก้ไขของกรรมาธิการเสียงข้างมาก 42 เสียง ไม่เห็นด้วย 430 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ซึ่งหมายความว่าเสียงส่วนใหญ่ต้องการให้คงไว้คำว่า “และกฎหมายอื่น” ในร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติเหมือนเดิม












กำลังโหลดความคิดเห็น