เงินเฟ้อรายปีของสหราชอาณาจักรทุบสถิติสูงสุดในรอบ 40 ปีรอบใหม่ จากข้อมูลอย่างเป็นทางการที่เผยแพร่เมื่อวันพุธ (22 มิ.ย.) กัดกร่อนค่าจ้างของแรงงานมากยิ่งขึ้น ท่ามกลางวิกฤตค่าครองชีพ และเพิ่มแรงกดดันให้ธนาคารกลางอังกฤษต้องเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
สำนักงานสถิติแห่งชาติ (ONS) ของสหราชอาณาจักร เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อของประเทศประจำเดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้นแตะระดับ 9.1% หากคิดเป็นรายปี สูงขึ้นจากเดือนเมษายนซึ่งเงินเฟ้ออยู่ที่ 9.0% ถือเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1982
ธนาคารกลางอังกฤษประมาณการว่าเงินเฟ้อของสหราชอาณาจักรน่าจะแตะระดับ 11% ก่อนสิ้นปี อันมีต้นตอจากราคาพลังงานทึ่พุ่งสูง ซึ่งเพิ่มแนวโน้มความเป็นไปได้ของภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย
เงินเฟ้อสูงสุดในรอบหลายทศวรรษกำลังก่อวิกฤตค่าครองชีพในสหราชอาณาจักรและที่อื่นๆ
เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ พนักงานการรถไฟของสหราชอาณาจักร ผละงานประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบมากกว่า 30 ปี หลังเงินเฟ้อที่พุ่งทะยานกัดกร่อนมูลค่าของเงินค่าจ้าง
"เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม เกิดจากราคาอาคารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและราคาเบนซินสูงสุดเป็นประวัติการณ์" แกรนท์ ฟิตซ์เนอร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติกล่าว
เดวิด บาเรียร์ หัวหน้านักวิจัยจากหอการค้าสหราชอาณาจักรให้ความเห็นว่า "ดัชนีเงินเฟ้อราคาผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 9.0% ตอกย้ำว่าภาคธุรกิจและครัวเรือนตกอยู่ภายใต้แรงกดดันหนักหน่วงแค่ไหน"
"เงินเฟ้อที่ดีดตัวสูงขึ้นนี้มาพร้อมกับแนวโน้มทางเศรษฐกิจอันเลวร้าย และจนกว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างเร่งด่วนกระตุ้นการลงทุนของภาคธุรกิจ โอกาสที่จะดิ่งเข้าสู่ภาวะถดถอยก็รังแต่จะเริ่มขึ้น"
ประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำลังได้รับผลกระทบกับภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูง ท่ามกลางสงครามยูเครนและการผ่อนปรนข้อจำกัดสกัดโควิด-19 ที่ผลักให้ราคาพลังงานและราคาสินค้าดีดตัวสูงขึ้น
ภาวะดังกล่าวกระตุ้นให้ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่มันก็เสี่ยงฉุดเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นอาจส่งผลกระทบเจ็บปวดแก่ภาคธุรกิจและผู้บริโภคตามมาเช่นกัน
ที่ผ่านมา ธนาคารกลางอังกฤษปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาแล้ว 5 ครั้ง นับตั้งแต่เดือนธันวาคม
ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดของบีบีซี ซึ่งสอบถามประชาชนในสหราชอาณาจักรมากกว่า 4,000 คน พบว่า 82% ต้องการให้เพิ่มค่าแรงเพื่อให้สอดคล้องกับราคาสินค้าและบริการที่สูงขึ้น ขณะที่เริ่มเกิดการประท้วงหยุดงานเรื่องค่าจ้างของเหล่าแรงงาน เช่น พนักงานทางรถไฟในวันอังคาร ทำให้เกิดการหยุดชะงักอย่างหนัก และพวกเขาวางแผนจะประท้วงอีกในวันพฤหัสบดี (23 มิ.ย.) และวันเสาร์นี้ (25 มิ.ย.)
ด้านสหภาพคมนาคม การเดินเรือ และทางรถไฟ ออกมาเรียกร้องให้เหล่านายจ้างขึ้นค่าแรงให้พนักงาน 7% แต่ฝั่งนายจ้างเสนอเพิ่มขึ้นให้ไม่เกิน 3% ขณะที่สหภาพลูกจ้างรัฐ ‘Unison’ ก็ออกมาเรียกร้องให้รัฐเพิ่มค่าแรงให้เหมาะสมกับราคาสินค้าที่พุ่งสูง ส่วนสหภาพการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเป็นสหภาพครูที่ใหญ่ที่สุดเตือนว่า พวกเขาอาจมีมาตรการประท้วงเช่นกัน
(ที่มา : รอยเตอร์/บีบีซี)