xs
xsm
sm
md
lg

พนง.รถไฟอังกฤษสไตรก์-เบลเยียมเดินขบวน สุดทน ‘ค่าครองชีพสูง’ จากศึกยูเครน-ปัญหา ศก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้โดยสารเดินออกจากสถานี หลังลงจากขบวนรถไฟที่เหลือให้บริการอยู่ไม่กี่ขบวน ณ สถานีรถไฟวอเตอร์ลู ในวันอังคาร (21 มิ.ย.) ซึ่งเป็นวันแรกของการสไตรก์นัดหยุดงานของคนงานรถไฟทั่วประเทศ
ค่าครองชีพที่พุ่งลิ่วสืบเนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจและสงครามยูเครน กำลังทำให้เกิดกระแสประท้วงไม่พอใจของลูกจ้างพนักงานที่ยุโรป ในวันอังคาร (21 มิ.ย.) พนักงานการรถไฟที่อังกฤษกว่า 40,000 เริ่มผละงาน ถือเป็นการสไตรก์ครั้งใหญ่สุดในรอบกว่า 30 ปี แล้วยังอาจนำไปสู่การประท้วงวงกว้างขึ้นในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ หลังจากเมื่อวันจันทร์ (20) พนักงานราว 70,000 คนในเบลเยียมเดินขบวนทั่วเมืองหลวงเรียกร้องรัฐบาลจัดการค่าครองชีพที่พุ่งลิ่ว ขณะที่การนัดหยุดงานหนึ่งวันในสนามบินบรัสเซลส์ และเครือข่ายขนส่งทั่วประเทศก็ทำให้การเดินทางเกือบเป็นอัมพาต

ที่กรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงเบลเยียมเมื่อวันจันทร์ พวกผู้ประท้วงถือป้ายที่เขียนข้อความว่า “เคารพกันให้มากขึ้น ขึ้นค่าแรง” และ “ยกเลิกภาษีสรรพสามิต” บางคนเรียกร้องรัฐบาลใช้ความพยายามเพิ่มขึ้นในการแก้ปัญหา บ้างก็ต้องการให้นายจ้างขึ้นค่าแรงและปรับปรุงสภาพการทำงาน

สหภาพแรงงานในเบลเยียมระบุว่า มีผู้เข้าร่วมประท้วง 80,000 คน แต่ตำรวจระบุตัวเลข 70,000 คน

ด้านสนามบินบรัสเซลส์เผยว่า ต้องระงับเที่ยวบินขาออก รวมทั้งยกเลิกเที่ยวบินขาเข้าส่วนใหญ่ เนื่องจากการประท้วงลุกลามถึงส่วนพนักงานรักษาความปลอดภัย

ขณะเดียวกัน ผู้ดำเนินการระบบขนส่งสาธารณะท้องถิ่นก็ให้บริการได้เพียงจำกัด แม้รถไฟบางสายยังวิ่งได้ตามปกติ ส่วนหนึ่งเพื่อนำผู้ประท้วงเข้าไปรวมตัวในบรัสเซลส์

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อประจำเดือนมิถุนายนของเบลเยียมแตะ 9% สาเหตุหลักคือผลกระทบจากสงครามยูเครนที่มีต่อห่วงโซ่อุปทานตลอดจนถึงราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์

นายกรัฐมนตรีอเล็กซานเดอร์ เดอ ครู ยืนยันว่า พนักงานในเบลเยียมได้รับการคุ้มครองดีกว่าชาติสมาชิกส่วนใหญ่ในสหภาพยุโรป (อียู) เนื่องจากค่าแรงแปรผันตามอัตราเงินเฟ้อ นอกจากนั้น รัฐบาลยังขยายมาตรการลดภาษีการขาย (คล้ายๆ ภาษีมูลค่าเพิ่ม) สำหรับก๊าซ ไฟฟ้า และเชื้อเพลิงจนถึงปลายปี

ส่วนที่อังกฤษในวันอังคาร (21) พนักงานการรถไฟกว่า 40,000 คน ซึ่งรวมถึงรถไฟใต้ดินในลอนดอน เริ่มผละงานจากความขัดแย้งด้านค่าแรง โดยจะมีการหยุดงานอีกในวันพฤหัสฯ (23) และเสาร์ (25) ซึ่งนอกจากเป็นการสไตรก์ครั้งใหญ่สุดในรอบกว่า 30 ปีแล้ว ยังอาจนำไปสู่การประท้วงวงกว้างขึ้นในไม่กี่เดือนข้างหน้า

นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ที่กำลังถูกกดดันให้ช่วยเหลือภาคครัวเรือนที่เผชิญปัญหาเศรษฐกิจหนักหน่วงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ชี้ว่า การประท้วงจะส่งผลร้ายต่อธุรกิจที่อยู่ระหว่างการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด

ขณะที่ทางสหภาพแรงงานประกาศว่า การประท้วงของพนักงานรถไฟเป็นจุดเริ่มต้นของ “ฤดูร้อนแห่งการแสดงความไม่พอใจ” ซึ่งเหล่าครู แพทย์ พนักงานเก็บขยะ และแม้แต่ทนายความต่างเตรียมผละงาน ขณะที่ราคาอาหารและพลังงานพุ่งพรวดผลักอัตราเงินเฟ้อเดินหน้าจ่อ 10%

มิก ลินช์ เลขาธิการพนักงานการรถไฟ การเดินเรือ และการขนส่ง (อาร์เอ็มที) ประกาศว่า แผนการนัดหยุดงานจะดำเนินต่อเนื่องตราบเท่าที่ยังมีความจำเป็น หลังจากสหภาพฯ ไม่สามารถรับได้กับข้อเสนอขึ้นเงินเดือนที่ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อของอังกฤษซึ่งทำสถิติสูงสุดในรอบ 40 ปีอยู่ขณะนี้

ทั้งนี้ แรกเริ่มนั้นอังกฤษฟื้นตัวแข็งแกร่งจากวิกฤตโควิด แต่การขาดแคลนแรงงาน ห่วงโซ่อุปทานติดขัด เงินเฟ้อ และปัญหาการค้าหลังเบร็กซิต กระตุ้นเตือนว่าเศรษฐกิจอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย

รัฐบาลแถลงว่า กำลังเพิ่มการสนับสนุนแก่ครัวเรือนนับล้านที่ยากจนที่สุด แต่เสริมว่า การขึ้นค่าแรงสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อจะทำลายรากฐานเศรษฐกิจ

การสไตรก์ระลอกนี้เกิดขึ้นขณะที่สนามบินในอังกฤษเผชิญความล่าช้าและยกเลิกการให้บริการในนาทีสุดท้ายเนื่องจากขาดแคลนพนักงาน ขณะที่คนอังกฤษจำนวนมากต้องรอหนังสือเดินทางใหม่นานเป็นเดือนเนื่องจากความล่าช้าในกระบวนการดำเนินการ

ปัจจุบัน ทั่วโลกถูกกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่ทะยานสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ อันเนื่องมาจากสงครามยูเครนและการผ่อนคลายข้อจำกัดสกัดโควิดที่ดันราคาพลังงานและอาหารให้แพงขึ้น

(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น