xs
xsm
sm
md
lg

เม้าท์สนั่น ปรินซ์แอนดรูว์อดเข้าพิธีแห่อัศวินการ์เตอร์หลังเจ้าชายวิลเลียมทูลควีน “มีท่านอา ไม่มีหม่อมฉัน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งเคมบริดจ์ ถูกสื่อมวลชนในอังกฤษรายงานว่าทรงมีบทบาทในการยับยั้งเจ้าชายแอนดรูว์ ผู้เป็นเสด็จอา มิให้หวนกลับมาแสดงบทบาทในพระราชกิจทั้งปวง ในอันที่จะป้องกันแรงกระทบต่อเสถียรภาพแห่งสถาบันกษัตริย์ ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของเจ้าชายวิลเลียมเป็นการกราบทูลขออย่างเด็ดเดี่ยวจากสมเด็จพระราชินีนาถฯ ในระดับที่สมเด็จย่าต้องทรงเลือกข้างกันเลยทีเดียว
เจ้าชายแอนดรูว์ พระราชโอรสผู้อื้อฉาวของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร มิได้ทรงปรากฏพระองค์ในขบวนแห่อันยิ่งใหญ่อลังการแห่งพระราชพิธีเฉลิมฉลองวันการ์เตอร์ เมื่อช่วงบ่ายวันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน 2022 ซึ่งมีขึ้นในอาณาบริเวณของปราสาทวินด์เซอร์ อันเป็นพระที่นั่งซึ่งสมเด็จพระราชินีนาถฯ ทรงประทับพักอาศัย เอเอฟพีรายงานโดยระบุว่าเรื่องนี้เป็นไปตาม “การตัดสินพระทัยของพระราชตระกูล”

หากข่าวดังกล่าวนี้เกิดขึ้นจริงก็ต้องถือว่าเป็นการเปิดหน้าชนอย่างจริงจังเป็นครั้งแรกของเจ้าชายวิลเลียมผู้เป็นพระภาคิไนย หลานอา และเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์พระบิดาของเจ้าชายวิลเลียม ที่จะทรงไม่ยอมทนให้เจ้าชายแอนดรูว์ผู้อื้อฉาวในเชิงอาชญากรรม สามารถสั่นคลอนภาพลักษณ์แห่งสถาบันกษัตริย์อังกฤษได้อีก

ทั้งนี้ เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์กผู้ทรงมีพระชันษา 62 พรรษา ทรงเข้าร่วม 2 กิจกรรมที่เกี่ยวข้องแต่เป็นกิจกรรมที่จำกัดวงอยู่เป็นการภายในเท่านั้น ได้แก่ ทรงร่วมงานเลี้ยงพระกระยาหารกลางวัน กับร่วมพระราชพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์

ก่อนหน้านี้ สื่อหัวสีเจ้าดังทั้งปวงของอังกฤษรายงานว่าพระนามของเจ้าชายแอนดรูว์ปรากฏในรายพระนามผู้เข้าร่วมพระราชพิธีแห่เฉลิมฉลอง ซึ่งมีขึ้นหลังพระราชพิธีพระราชทานเหรียญตราการ์เตอร์ โดยเป็นขบวนแห่ที่ยิ่งใหญ่งดงามซึ่งเหล่าอัศวินและเลดี้แห่งการ์เตอร์พากันเดินเป็นริ้วขบวนเข้าสู่วิหารเซนต์จอร์จ ที่ถือกันว่าเป็นโบสถ์แห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์

กระแสเล่าลือในสื่อแท็บลอยด์ทั้งปวงของอังกฤษระบุว่า พระนามของเจ้าชายแอนดรูว์ถูกตัดออกบัญชีรายชื่อแบบว่าแทบจะนาทีท้ายๆ สืบเนื่องจากการที่เจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งเคมบริดจ์ ทรงเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถฯ และคัดค้านที่เสด็จอาแอนดรูว์จะได้ปรากฏพระองค์ในพระราชพิธีแห่เฉลิมฉลองวันอัศวินการ์เตอร์ โดยทรงให้ความสำคัญต่อภาพลักษณ์ที่เสด็จอาพัวพันอยู่กับอาชญากรนักค้ามนุษย์ และอาชญากรรมทางเพศ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อภาพลักษณ์โดยรวมของสถาบันกษัตริย์ที่เพิ่งประสบความสำเร็จล้นหลามในงานพระราชพิธีแพลตตินัมจูบิลี

ดยุกแห่งเคมบริดจ์ พระโอรสพระองค์โตของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ทรงกราบทูลสมเด็จย่าว่าพระองค์จะถอนตัวจากพระราชพิธีแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์ หากดยุกแห่งยอร์ก ผู้ทรงเป็นเสด็จอา ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ร่วมในขบวนพิธีเฉลิมฉลองของอัศวินและเลดี้แห่งการ์เตอร์ เพราะนั่นก็คือช่องทางหวนกลับสู่เวทีสาธารณะพร้อมหน้ากับพระราชวงศ์ เว็บไซต์ข่าวมากมายรายงานอย่างนั้น อาทิ ค่ายเอ็กซ์เพรส สื่อเจ้าใหญ่แห่งแวดวงข่าวราชสำนักอังกฤษ

พร้อมนี้ ดิเอ็กซ์เพรสระบุด้วยว่า การที่เจ้าชายวิลเลียมทรงออกโรงคัดค้านอย่างจริงจังขนาดนี้ ก็ย่อมจะทำให้ไม่น่าจะเป็นไปได้แล้วที่พระโอรสพระองค์ที่สองของควีนเอลิซาเบธจะประสบความสำเร็จในความพยายามหวนกลับสู่แวดวงพระราชพิธีต่างๆ ของราชสำนัก

เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ และดัชเชสคามิลลา แห่งคอร์นวอลล์ เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ณ ปราสาทวินเซอร์ ในโอกาสที่ดัชเชสคามิลลาได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการเตรียมขึ้นรับตำแหน่งราชินีเคียงข้างราชบัลลังก์ในอนาคต

เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ และดัชเชสคามิลลา แห่งคอร์นวอลล์ ในชุดแห่งราชอัศวินและเลดี้แห่งการ์เตอร์ อันได้แก่ เสื้อคลุมกำมะหยี่สีน้ำเงินเข้ม พร้อมพระมาลาประดับขนนก ทรงร่วมเดินในขบวนแห่เฉลิมฉลองวันการ์เตอร์ ซึ่งบรรดาอัศวินและเลดี้จะมุ่งหน้าสู่วิหารเซนต์จอร์จในการพิธีมิสซาถวายพระพรแด่ควีนแห่งอังกฤษ
นอกจากนั้น สื่อค่ายใหญ่อย่างดิอีฟนิ่งสแตนดาร์ด ย้ำไว้ในเนื้อข่าวด้วยว่าดยุกแห่งเคมบริดจ์ทรงแน่วแน่ไม่ยอมประนีประนอมในเรื่องนี้

“หากดยุกแห่งยอร์กทรงยืนกรานที่จะเข้าร่วมพระราชกิจให้เป็นที่ประจักษ์สายตาของประชาชน เจ้าชายวิลเลียมจะทรงถอนพระองค์และไม่ร่วมในพระราชพิธีนี้” ดิอีฟนิ่งสแตนดาร์ดรายงานอยางนั้น

ผลปรากฏออกมาว่าสมเด็จพระราชินีนาถฯ ทรงอนุมัติตามคำกราบทูลของเจ้าชายวิลเลียม

เจ้าหน้าที่รายหนึ่งในคณะโฆษกสำนักพระราชวังบัคกิงแฮมกล่าวว่า “ดยุกแห่งยอร์กจะเข้าร่วมเฉพาะพระราชพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์ กับงานเลี้ยงพระกระยาหารกลางวัน แต่จะไม่ทรงเข้าร่วมในขบวนแห่ ตลอดจนไม่เข้าร่วมในพิธีมิสซาถวายพระพรควีนเอลิซาเบธ”

ด้านบรรณาธิการคนดังของค่ายเดลีเมล์นาม ริชาร์ด เอเดน เขียนขึ้นทวิตเตอร์ว่า “เจ้าชายวิลเลียมทรงทำได้ดียิ่ง”

ขบวนแห่เฉลิมฉลองวันการ์เตอร์ โดยบรรดาอัศวินและเลดี้จะมุ่งหน้าสู่วิหารเซนต์จอร์จในการพิธีมิสซาถวายพระพรแด่ควีนแห่งอังกฤษ

เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ปรินซ์ออฟเวลส์ ดัชเชสคามิลลา แห่งคอร์นวอลล์ เจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งเคมบริดจ์ และดัชเชสเคท แห่งเคมบริดจ์ ทรงประทับนั่งบนพระราชยานเทียมม้า หลังเสร็จพระราชพิธีมิสซาถวายพระพร เพื่อมุ่งหน้ากลับสู่ปราสาทวินด์เซอร์
ที่ผ่านมา เจ้าชายแอนดรูว์ทรงต้องงดเว้นจากพระราชกิจทั้งปวง ด้วยว่าสมาชิกแห่งพระราชวงศ์วินด์เซอร์ต่างตระหนักถึงความรู้สึกโกรธเคืองในหมู่พสกนิกรที่พระราชโอรสแห่งสมเด็จพระราชินีนาถมีส่วนเกี่ยวข้องกับเจฟฟรีย์ เอปสทีน ผู้กระทำความผิดด้านค้ามนุษย์บำเรอกาม

ยิ่งกว่านั้นเมื่อต้นปี เจ้าชายแอนดรูว์เพิ่งจะปิดฉากคดีด้วยวิธีที่ขาดความโปร่งใสในคดีฟ้องร้องทางแพ่งในศาลของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นคดีล่วงละเมิดทางเพศผู้เยาว์ โดยทรงถูกเวอร์จิเนีย โรเบิตส์ จุฟเฟร ระบุในคำฟ้องว่าเธอตกเป็นเหยื่อการค้าประเวณีของเจฟฟรีย์ เอปสทีน มหาเศรษฐีที่จัดหาเด็กสาวให้ไปบริการกับบุรุษผู้ร่ำรวย และเธอถูกเจ้าชายแอนดรูว์ล่วงละเมิดเมื่อเธอมีอายุเพียง 17 ปี

ความอื้อฉาวที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ทำให้เจ้าชายแอนดรูว์ทรงถูกถอดยศทางทหาร ซึ่งรวมถึงตำแหน่งนายพันเอกแห่งกองทหารรักษาพระองค์เกรเนเดียร์ การ์ด ซึ่งเป็นหนึ่งในตำแหน่งอาวุโสสูงสุดของกองทหารราบอังกฤษ และต้องยุติการปฎิบัติราชกิจในฐานะสมาชิกแห่งพระราชวงศ์ นอกจากนั้น ยังต้องสละพระยศเจ้าฟ้าชายด้วย

ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ ทรงยอมจ่ายค่าเสียหายก้อนใหญ่ให้แก่เวอร์จิเนีย จุฟเฟร ซึ่งช่วยให้สามารถยอมความกันในช่วงไต่สวนมูลฟ้อง

เพียงไม่นานหลังจากนั้น เจ้าชายแอนดรูว์ซึ่งทรงใกล้ชิดกับควีนเอลิซาเบธ ได้ก้าวเข้าเฟรมกล้องของสื่อมวลชน โดยในโอกาสพระราชพิธีรำลึกถึงเจ้าชายฟิลิป อดีตพระราชสวามีของควีนเอลิซาเบธ และในมิสซาขอพระพรแห่งพระผู้เป็นเจ้าเพื่อถวายดวงวิญญาณเจ้าชายฟิลิป เมื่อปลายเดือนมีนาคม นั้น เจ้าชายแอนดรูว์ทรงตามเสด็จพระราชินีนาถฯ มายังพระราชพิธี ด้วยรถยนต์พระที่นั่งพร้อมกับพระมารดา ตลอดจนทรงถวายอารักขานำพาควีนเอลิซาเบธฯ ในการพระราชดำเนินเข้าสู่ด้านในของโบสถ์

เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์และเจ้าชายวิลเลียมในชุดราชอัศวินแห่งการ์เตอร์ ทั้งสองพระองค์เป็นราชบุรุษและเสาหลักที่ทรงอิทธิพลที่สุดในปัจจุบัน ทรงช่วยผ่อนเบาพระราชกิจของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มากขึ้นเรื่อยๆ ในยามที่พระพลานามัยของสมเด็จพระราชินีนาถฯ ทรงอ่อนล้าลงตามลำดับ โดยในวโรกาสนี้ สมเด็จพระราชินีนาถฯ ทรงเข้าร่วมเพียง 2 ราชอีเวนต์ คือ การพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์ กับทรงเป็นองค์ประธานในงานเลี้ยงอาหารกลางวัน และทรงมอบให้เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์เป็นองค์ประธานในพระราชพิธีขบวนแห่จากองค์ปราสาทวินด์เซอร์ไปยังวิหารเซนต์จอร์จ กับมอบให้เป็นองค์ประธานฝ่ายฆราวาสในพิธีมิสซาถวายพระพร

เจ้าชายแอนดรูว์ทรงถูกสื่อมวลชนจับตาว่าพระองค์ตั้งใจจะหวนกลับสู่ราชกิจต่างๆ โดยไม่ทรงคำนึงถึงภาพลักษณ์ติดลบของพระองค์ในสายตาของประชาชน  ในเวลาเดียวกัน สื่อมวลชนก็จับจ้องที่จะรายงานข่าวความเคลื่อนไหวของเจ้าชายวิลเลียมในอันที่จะยับยั้ง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจกระทบไปถึงเสถียรภาพของสถาบันกษัตริย์
การณ์ในครั้งนั้น ส่งผลให้เจ้าชายแอนดรูว์ขโมยซีนให้แก่พระองค์เองได้อย่างมหาศาล ขณะที่ประชาชนพากันตั้งคำถามถึงความเหมาะสม พร้อมกับมีรายงานข่าวอื้ออึงว่า เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์และเจ้าชายวิลเลียมทรงไม่เห็นด้วยกับแท็กติกออกสื่อที่เจ้าชายแอนดรูว์ได้กระทำลงไป

อย่างไรก็ตาม ในคราวพระราชพิธีเฉลิมฉลองครบรอบการครองสิริราชสมบัติ 70 ปี แพลตตินัมจูบิลีของสมเด็จพระราชินีนาถเมื่อต้นเดือนมิถุนายน เจ้าชายแอนดรูว์มิได้ทรงได้รับโอกาสเข้าร่วมพระราชพิธีใดๆ เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตามเสด็จควีนเอลิซาเบธในการออกสีหบัญชรเพื่อให้ประชาชนได้เข้าเฝ้าและถวายพระพร อันเป็นพระราชกิจหลักในช่วงบ่ายวันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน

แต่เมื่อมาถึงพระราชพิธีเฉลิมฉลองเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์ เจ้าชายแอนดรูว์ทรงพิจารณาว่าพระองค์ยังเป็นราชอัศวินแห่งภาคีการ์เตอร์ จึงทรงหวังว่าจะเข้าร่วมพระราชกิจสำคัญที่ได้รับความสนใจล้นหลามจากพสกนิกรครั้งนี้ เพื่อให้เป็นก้าวแรกในการหวนคืนแวดวงราชสำนัก ดิอีฟนิ่งสแตนดาร์ดวิเคราะห์อย่างนั้น

ด้านเว็บไซต์ข่าวเทเลกราฟอ้างแหล่งข่าวผู้ขอปกปิดนาม รายงานว่าความเป็นพันเอกแห่งกองทหารรักษาพระองค์เกรเนเดียร์ การ์ด เป็นสิ่งที่เจ้าชายแอนดรูว์ปรารถนามากกว่าอื่นใด เพราะการที่ได้สถานภาพที่ปรึกษาแห่งรัฐ น่าจะทำให้พระองค์ได้เข้าร่วมในพระอีเวนต์ของประเทศและของราชตระกูล เหนืออื่นใดคือ ทรงปรารถนาที่จะได้รับพระยศเจ้าฟ้ากลับคืนมา เพราะจะทำให้ได้การยอมรับและความเคารพนับถือกลับคืนมา

อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งอังกฤษ นายโทนี แบลร์ (ที่สองจากซ้าย) เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัศวินแห่งการ์เตอร์ในปีนี้ พร้อมกับบารอนเนสวาเลอร์รี อามอส (ซ้ายสุด) นักการเมืองอังกฤษเชื้อสายแอฟริกัน และนักการทูตคนสำคัญของอังกฤษ ซึ่งเป็นชาวอังกฤษผิวดำรายแรกที่ได้รับแต่งตั้งเป็นเลดี้แห่งการ์เตอร์  อนึ่ง ที่ด้านนอกปราสาทวินด์เซอร์มีประชาชนรอประท้วงอดีตนายกฯ แบลร์ และมีการตะโกนประณามแบลร์ว่าเป็นอาชญากรสงคราม เนื่องจากเคยนำประเทศอังเข้าร่วมกับสหรัฐอเมริกาในการบุกรุกรานอิรักเมื่อปี 2003
โดย รัศมี มีเรื่องเล่า

(ที่มา: เอเอฟพี เอพี รอยเตอร์ ดิเอ็กซ์เพรส ดิอีฟนิ่งสแตนดาร์ด เดลิเมล์ เว็บไซต์ข่าวเทเลกราฟ)



กำลังโหลดความคิดเห็น