xs
xsm
sm
md
lg

Photo Essay: ชีวิตมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ จากเจ้าหญิงเล็กๆ สู่ความสำเร็จ 70 ปี กษัตริยาณีอังกฤษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร (UK) ภายใน 70 ปีความสำเร็จแห่งการครองราชย์ ทรงมีพระชนม์ชีพที่โรยด้วยกลีบลั่นทมและความสั่นคลอน พร้อมด้วยแรงกดดันจากทศทิศ ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงมหาศาลของประเทศและโลกทั้งมวล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทยอยล่มสลายของจักรวรรดิอังกฤษ กับสารพัด Bad surprises จากพระราชโอรส พระราชธิดา พระสุณิสา และพระราชนัดดาที่กระทบกระแทกไปถึงความสง่างามของสถาบันกษัตริย์ อีกทั้งภัยก่อการร้ายและโรคระบาดโควิด กระนั้นก็ตาม พระกุศโลบาย “ไม่บ่น ไม่อธิบาย” หากแต่แสดงให้เห็นด้วยการกระทำ ได้ปลูกสร้างความน่าเชื่อถือ ความเคารพรักให้งอกงามภายในดวงใจมวลมหาพสกนิกร และนำมาซึ่งความจงรักภักดีของจริงที่เป็นพลังค้ำจุนขนานแท้นับแต่ดั้งแต่เดิม  ในภาพนี้ของเอพี ควีนเอลิซาเบธที่ 2 พร้อมด้วยพระราชสวามี เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ ทรงประทับพระราชรถเทียมม้าแห่งประเทศ Gold State Coach เสด็จพระราชดำเนินไปตามถนนเดอะมอลล์ กรุงลอนดอน ในพิธีแห่เฉลิมฉลองกาญจนาภิเษก ครบรอบ 50 ศักราชการครองราชย์ เมื่อปี 2002 ในวันที่ 4 มิถุนายน
เป็นประเด็นที่กล่าวกันบ่อยๆ ว่าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง ผู้ทรงลืมตาดูโลกเมื่อ 21เมษายน 1926 ในพระนาม“เจ้าหญิงเอลิซาเบธ” ทรงมีหนึ่งทศวรรษแรกบนโลกใบนี้โดยไม่มีผู้ใดคาดคิดว่าจะได้เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ เพราะสายพระราชวงศ์ที่จะสืบทอดพระราชบัลลังก์แห่งสหราชอาณาจักรนั้น อยู่ที่เสด็จลุง ซึ่งก็คือ เจ้าชายเอดเวิร์ด ปรินส์ออฟเวลส์ พระราชโอรสพระองค์โตของพระเจ้าจอร์จที่ 5 พระมหากษัตริย์ในขณะนั้น

เจ้าหญิงพระองค์น้อยเจ้าของนิกเนม ลิลิเบธ จึงทรงเป็นเจ้าหญิงเล็กๆ ที่เจริญพระชนม์ดั่งนางฟ้ามาเกิด มาเสวยบุญ เส้นทางพระชนม์ชีพโรยด้วยกลีบกุหลาบและเปี่ยมสุข เป็นพระธิดาพระองค์โตของราชนิกูลระดับเจ้าฟ้าชาย และเป็นพระราชนัดดาแก้วตาดวงใจของพระเจ้าแผ่นดิน ทรงเล่นกับม้าและสุนัข ไร้แรงกดดันจากโลกภายนอก ขณะที่ ปราสาทในชนบทและการเสกสมรสกับเจ้านายสูงศักดิ์ที่เหมาะสม ดูจะเป็นอนาคตสุขสงบของพระองค์

พระชะตาพลิกผันครั้งมโหฬาร อุบัติขึ้นสองคราซ้อนภายในปี1936 โดยในเดือนมกราคมพระเจ้าปู่ทรงสวรรคต และพระเจ้าลุงเสด็จขึ้นครองราชย์ในพระนาม พระเจ้าเอดเวิร์ดที่ 8 แต่ด้วยชะตาฟ้าลิขิต จึงมีการสละราชสมบัติในเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน ดังนั้นเสด็จพ่อจึงทรงขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ พระนามว่าพระเจ้าจอร์จที่ 6 ส่งผลให้เจ้าหญิงเอลิซาเบธซึ่งทรงไม่มีพระอนุชา โดยมีพระขนิษฐาเพียงหนึ่งพระองค์ ได้กลายเป็นรัชทายาท อย่างปุบปับเหนือความคาดหมายทั้งปวง

โลกของเจ้าหญิงลิลิเบธ ณ พระชนมายุ 10 พรรษา จึงถูกเปลี่ยนไปทั้งหมด ความเปลี่ยนแปลงทั้งปวงมาพร้อมกับการถูกคาดหวังมากมายในฐานะ ว่าที่กษัตริยาณี และนับแต่นั้นมา ทรงแบกรับกฎกติกา หน้าที่ภารกิจ และข้อจำกัดนับไม่ถ้วนตามบทบาทรัชทายาท และในกาลเวลามากกว่า 8 ทศวรรษถัดมา พระองค์ทรงพิสูจน์พระองค์เองได้อย่างสมบูรณ์แบบ ว่าทรงสามารถรับผิดชอบทุกสิ่งอย่างภายใต้แรงกดดันอันมหาศาล และทรงประสบความสำเร็จในการนำสหราชอาณาจักรเคลื่อนผ่านยุคยามแห่งความเปลี่ยนแปลง หวั่นไหว ไม่แน่นอนทั้งปวงได้อย่างมั่นคง โดยทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งเสถียรภาพที่พสกนิกรภาคภูมิใจ

บนเส้นทางความสำเร็จแห่งพระชนม์ชีพภายใต้มงกุฎอิมพีเรียลสเตต สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงต้องประสบพบเจอกับสารพัดสิ่งอันไม่น่าพึงปรารถนา เรื่องราวที่น่าทุกข์ใจ ตลอดจนบุคคลร้อยพ่อพันแม่ผู้ที่นำมาซึ่งปัญหาและแรงกดดัน เหล่านี้ส่งผลให้เส้นทางของสมเด็จพระราชินีนาถฯ ห่างไกลจากชีวิตเสมือนฝันอันโรยด้วยกลีบกุหลาบ แท้ๆ เทียว

ภาพถ่ายปี 1937 อันเป็นศักราชที่ทรงดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้าหญิงเอลิซาเบธแล้ว (ที่สองจากซ้าย) ด้วยว่าพระราชบิดาได้ทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าจอร์จที่ 6 เป็นที่เรียบร้อยนับจากปลายปี 1936 ในพระรูปครอบครัวอบอุ่นบานนี้ พรั่งพร้อมด้วยพระราชมารดา-พระราชินีเอลิซาเบธ และพระขนิษฐา-เจ้าฟ้าหญิงมาร์กาเรต

ภาพถ่ายปี 1932 ในครั้งที่ยังทรงมีพระยศเป็นเจ้าหญิงเอลิซาเบธ พระชนมายุ 6 พรรษา (ขวาสุด) ทรงประทับยืนงามสง่ากับพระบิดา-เจ้าฟ้าชายจอร์จ และพระมารดา-ดัชเชสเอลิซาเบธแห่งยอร์ก

พระรูปเจ้าหญิงเอลิซาเบธ บนแสตมป์มูลค่า 6 เซนต์ ในปี 1932 ซึ่งมีข้อความระบุพระบรรดาศักดิ์คำนำหน้าชื่อว่า Her Royal Highness ชัดเจน
ยุคสมัยแห่งการล่มสลายของจักรวรรดิอังกฤษ และพรรคแรงงานได้เป็นรัฐบาล

เมษายน 21, 1926: ทรงประสูติในฐานะพระธิดาพระองค์โตของเจ้าฟ้าชายจอร์จ ปรินส์ออฟยอร์ก พระราชโอรสลำดับที่ 2 ของพระเจ้าจอร์จที่ 5 (เจ้าฟ้าชายแอนดรูว์ พระราชโอรสลำดับที่ 2 ของควีนเอลิซาเบธที่ II ก็ทรงดำรงพระยศนี้)

ธันวาคม 11, 1936: ทรงเป็นรัชทายาทอย่างปุบปับ ณ พระชนมายุ 10 พรรษา เมื่อกษัตริย์เอดเวิร์ดที่ 8 ผู้เป็นพระเจ้าลุง ทรงเลือกที่จะสละราชสมบัติ ดังนั้น พระราชบิดาแห่งเจ้าหญิงเอลิซาเบธจึงเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ พระนามว่า พระเจ้าจอร์จที่ 6

ต้นปี 1945: ทรงเจริญรอยตามพระราชบิดาด้วยการลงมือปฏิบัติด้วยพระองค์เองเพื่อเป็นแบบฉบับที่ดีให้แก่พสกนิกร โดย ณ พระชนมายุ 19 พรรษาซึ่งเป็นผู้ใหญ่พอสมควร ทรงเข้าร่วมภารกิจของหน่วยปฏิบัติการสมทบในอาณาเขต หรือ Auxiliary Territorial Service ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติการสตรีภายใต้กองทัพอังกฤษระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งนี้ ทรงเป็นราชนิกูลสตรีพระองค์แรกที่เข้าร่วมปฏิบัติการทางทหารในฐานะสมาชิกปฏิบัติการเต็มตัว

ภาพถ่ายปี 1941 เจ้าฟ้าหญิงเอลิซาเบธ (ที่สองจากขวา) ทรงประทับนั่งในพระราชยานยนต์คู่กับเจ้าฟ้าหญิงมาร์กาเรต (ซ้ายสุด) ขณะที่ พระเจ้าจอร์จที่ 6 พระราชบิดา ทรงพระกรุณาเป็นโชเฟอร์บรรดาศักดิ์ให้แก่สาวๆ ทั้งสามพระองค์ โดยมีพระราชินีเอลิซาเบธทรงประทับนั่งเคียงข้าง ทั้งนี้ เป็นเหตุการณ์ขับพระราชยานยนต์วนรอบปราสาทวินด์เซอร์
1945-1947: ในฐานะประเทศชนะสงคราม อังกฤษบอบช้ำหนักซึ่งรวมถึงในทางเศรษฐกิจและผลกระทบด้านภาระการใช้หนี้ที่เกิดจากค่าใช้จ่ายการสู้รบ ยิ่งกว่านั้นในปี 1946 อังกฤษยอมรับสถานภาพล้มละลายไม่สามารถชำระหนี้ได้ พร้อมกับรับเงินกู้จำนวนมหาศาลจากสหรัฐอเมริกา พร้อมกับต้องรับมือกับขบวนการต่อต้านลัทธิอาณานิคมที่พัฒนาขึ้นอย่างรุนแรงและกว้างขวาง นอกจากนั้น ในปี 1945 พรรคแรงงาน (ซึ่งเสนอแนวทางยุติอาณานิคมโดยประเมินว่ามีแต่เสียมากกว่าได้) ชนะการเลือกตั้ง ได้เป็นรัฐบาล การล่มสลายอย่างเป็นรูปธรรมของจักรวรรดิอังกฤษเริ่มขึ้น รัฐบาลอังกฤษเลือกเดินนโยบายปล่อยอาณานิคมโดยทยอยถอนทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาเอกราชอินเดียซึ่งร้อนระอุที่สุด

- ในห้วงเดียวกัน อังกฤษได้รับผลกระทบมหาศาลจากความเปลี่ยนแปลงพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินในภูมิภาคต่างๆ ของโลก ไม่ว่าจะสงครามเย็นระหว่างสหภาพโซเวียตกับสหรัฐฯ และประเทศต่างๆ ในยุโรป ตลอดจนการที่จีนกลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ในปี 1949 ไปจนถึงความระทึกใจในความเสี่ยงต่อสงครามโลกครั้งที่ 3 อันเกี่ยวเนื่องกับสงครามเกาหลีในช่วง 1950-53

- ปัญหาหนักหนาเหล่านี้เป็นปัญหาในมือรัฐบาล แต่แรงกดดันมหาศาลพุ่งเข้ารุมเร้าสถาบันกษัตริย์ โดยเฉพาะความหวาดหวั่นในใจประชาชนว่า อังกฤษจะอยู่รอดได้อย่างไรในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนรอบด้าน

พฤศจิกายน 20, 1947: หลังจากที่อินเดียได้รับเอกราช หลุดจากอำนาจของอังกฤษในเดือนสิงหาคม 1947 แล้ว อังกฤษมีพระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่าง เจ้าหญิงเอลิซาเบธ กับ เรือเอกฟิลิป เมาท์แบตเตน พระนามเดิมคือ เจ้าชายฟิลิปแห่งกรีซและเดนมาร์ก ณ โบสถ์เวสต์มินสเตอร์แอบบี้ กรุงลอนดอน เมื่อ 20 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน โดยทรงมีพระราชบุตรและพระราชธิดารวม 4 พระองค์ ได้แก่ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ (ประสูติในปี 1948) เจ้าฟ้าหญิงแอนน์ (1950) เจ้าฟ้าชายแอนดรูว์ (1960) และเจ้าฟ้าชายเอดเวิร์ด (1964)

กุมภาพันธ์ 1952: เจ้าหญิงเอลิซาเบธและพระสวามีเสด็จเยือนออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ และเคนยา ในฐานะผู้แทนพระองค์พระเจ้าจอร์จที่ 6 ผู้ทรงมีพระอาการประชวรด้วยโรคมะเร็ง และปรากฏว่าในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ขณะประทับในประเทศเคนยา ทรงได้รับข่าวร้าย พระหทัยสลาย ว่าพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระราชบิดาเสด็จสวรรคต ซึ่งเป็นการพลัดพรากที่พระองค์มิได้ทรงกล่าวลาและมิได้ทรงประทับเคียงข้างเมื่อพระราชบิดาเสด็จสู่สวรรคาลัย ทั้งนี้ พระองค์ทรงประกาศพระองค์เป็นพระมหากษัตริยาณีแห่งสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพพระองค์ใหม่หลังจากที่รีบเสด็จกลับกรุงลอนดอน

มิถุนายน 2, 1953: พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ 2 มีขึ้นในวันที่ 2 มิถุนายน 1953 ณ โบสถ์เวสต์มินสเตอร์แอบบี ในการนี้ ทรงสวมมงกุฎอิมพีเรียลสเตตอย่างเป็นทางการพร้อมกับมีการถ่ายทอดผ่านโทรทัศน์เป็นครั้งแรก

ไฮไลท์สำคัญของพระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่าง เจ้าหญิงเอลิซาเบธ กับ เรือเอกฟิลิป เมาท์แบตเตน เจ้าชายฟิลิปแห่งกรีซและเดนมาร์ก เมื่อ 20 พฤศจิกายน 1947 คือการเสด็จออกสีหบัญชร ณ พระราชวังบัคกิ้งแฮม กรุงลอนดอน พร้อมด้วยพระราชบิดา พระเจ้าจอร์จที่ 6 (ซ้ายสุด) และพระราชมารดา พระราชินีเอลิซาเบธ (ที่สองจากขวา) เพื่อให้เป็นวโรกาสที่พสกนิกรจะได้เข้าเฝ้าและแสดงความยินดีในการอภิเษกสมรส ในภาพนี้ ยังมีสมเด็จย่า พระราชินีแมรี (ขวาสุด) เจ้าฟ้าหญิงมาร์กาเรต (ที่สองจากซ้าย) และเลดีแมรี เคมบริดจ์

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงประทับพระราชยานทองคำเทียมม้า Gold State Coach เสด็จสู่โบสถ์เวสต์มินสเตอร์แอบบี เพื่อเข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อ 2 มิถุนายน 1953

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทรงสวมมงกุฎอิมพีเรียลสเตตอย่างเป็นทางการ เมื่อ 2 มิถุนายน 1953 ณ โบสถ์เวสต์มินสเตอร์แอบบี

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (หน้าสุด) ซึ่งมีเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ตามเสด็จใกล้ชิด ทรงพระราชดำเนินอย่างกระฉับกระเฉงในพระพักตร์แจ่มใสงดงาม ผ่านพระระเบียงหลักของพระราชวังบักกิงแฮม เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 1953 อันเป็นวันแห่งพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พฤศจิกายน 24, 1953: พระราชกรณียกิจเสด็จเยือน 13 ประเทศเครือจักรภพ ครอบคลุมเส้นทางทั้งสิ้น 43,618 ไมล์

1948 - ปลายทศวรรษ 1960: อาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษต่อสู้จนกระทั่งทยอยกันชนะและได้รับเอกราช อาทิ พม่าได้รับเอกราชปี 1948 ซูดาน 1956 มาเลเซีย 1957 สิงคโปร์ 1959 และในช่วงปลายทศวรรษ 1960 เกือบทุกประเทศในทวีปแอฟริกา (ยกเว้น โรดีเซียซึ่งในเวลาต่อมาเปลี่ยนนามเป็นซิมบับเว) สามารถต่อสู้จนได้รับเอกราชจากอังกฤษ

ปี 1970: ขณะเยือนนิวซีแลนด์ซึ่งเป็นประเทศเอกราชที่มีกษัตริย์อังกฤษเป็นประมุข สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงใช้กลยุทธ์การพระราชดำเนินทักทายประชาชน

ปี 1971: พระราชโอรสพระองค์โตของสมเด็จพระราชินีนาถฯ ทรงได้รู้จักและทรงหลงรักในสตรีสามัญชนท่านหนึ่งผู้ซึ่งสดใส ร่าเริง และนำความสุขล้นเหลือสู่ดวงพระทัยของพระองค์ ทว่าเธอมีประวัติส่วนตัวอื้อฉาวหนักมาก กระทั่งว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่พระราชมารดาจะอนุญาตให้พระองค์ได้อภิเษกสมรสด้วย ความสัมพันธ์กับพระคู่รักดำเนินไปอย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษ ไม่จืดจาง

ปี 1977: พระราชพิธีรัชดาภิเษก หรือ Silver Jubilee แห่งการครองราชย์ครบรอบ 25 ปี มีพสกนิกรนับล้านรายแห่กันออกมาถวายความจงรักภักดีและแสดงความรักชื่นชมในองค์พระประมุข สิ่งเหล่านั้นเป็นกำลังใจอันใหญ่หลวง อันเกิดจากสิ่งถูกต้องดีงามมหาศาลที่สมเด็จพระราชินีนาถฯ ทรงได้กระทำไว้ พร้อมนี้ มีการเสด็จประพาสเยี่ยมเยือนประเทศเครือจักรภพ ตลอดจนการเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ภายในอังกฤษ

ในงานเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบรอบ 25 ปี Silver Jubilee ณ ศักราช 1977 ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเสด็จพระราชดำเนินทักทายประชาชนด้วยพระหทัยเปี่ยมสุข ก่อนเสด็จเข้าพระราชพิธีรัชดาภิเษก ณ มหาวิหารเซนต์ปอล เมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 1977

ภาพนี้เป็นอีกห้วงหนึ่งของการเสด็จพระราชดำเนินทักทายประชาชนในวโรกาสพระราชพิธีรัชดาภิเษก ณ มหาวิหารเซนต์ปอล เมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 1977

ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทรงแย้มพระสรวลขณะทรงทักทายประชาชน 2 รายที่รอถวายพระพร ในบริเวณท่าเรือเซนต์แคเธอริน กรุงลอนดอน ซึ่งเป็นช่วงท้ายๆ ของการเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคไปตามแม่น้ำเทมส์ เมื่อ 9 มิถุนายน 1977

ในความสัมพันธ์ที่อังกฤษและ ซาอุดิ อาระเบีย เป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างกัน ตลอดจนมีผลประโยชน์ทางธุรกิจร่วมกันมหาศาล สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จเยือนซาอุดิ อาระเบียอย่างเป็นทางการในปี 1979 ในการนี้ สมเด็จพระราชาธิบดีคอลิด บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด (ขวาสุด) ทรงเสด็จไปถวายการต้อนรับตั้งแต่ประตูเครื่องบินที่สนามบินริยาด ทั้งนี้ มีพระอนุชาธิราชผู้จะทรงเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีในเวลาต่อมา โดยเสด็จด้วย 2 พระองค์ ได้แก่ เจ้าชายฟะฮัด บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด (ซ้ายของควีนเอลิซาเบธที่ 2 โดยขึ้นครองราชย์ในปี 1982) และเจ้าชายอับดุลลอฮ์ บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด (ซ้ายของเจ้าชายฟะฮัด โดยขึ้นครองราชย์ในปี 2005)  อนึ่ง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 อิบน์ ซะอูด ลงนามในสนธิสัญญาดารินปี 1915 กับรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งส่งผลในการยอมรับสถานภาพการเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ  แต่ในเดือนพฤษภาคม 1927 ได้มีการเปลี่ยนแปลงตามสนธิสัญญาเจดดาห์ โดยสหราชอาณาจักรเป็นหนึ่งในรัฐแรกๆ ที่รับรองประเทศซาอุดิฯ ในปี 1926 และมีการแต่งตั้งคณะผู้แทนทางการทูตไว้ในซาอุดิฯ ขณะที่ซาอุดิฯ เปิดสถานทูตในกรุงลอนดอนในปี 1930
ยุคยามแห่งปัญหาจากพระราชโอรส พระราชธิดา พระสุณิสา สู่การวิพากษ์จากมรณกรรมไดอานา 1981-1997

ปี 1981: พระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าฟ้าชายชาร์ลและเลดี้ไดอานา สเปนเซอร์ มีขึ้นอย่างอลังการและงามสง่า โดยมีชาวโลกกว่า 750 ล้านรายใน 74 ประเทศ เฝ้าชมผ่านการถ่ายทอดโทรทัศน์ ขณะที่พสกนิกรในอังกฤษ 28.4 ล้านรายเฝ้าชมผ่านสถานีช่องบีบีซีและไอทีวี พร้อมกับอีก 600,000 รายที่หลั่งไหลลงสู่ท้องถนนสายต่างๆ ในกรุงลอนดอนเพื่อร่วมเฉลิมฉลอง เมื่อ 29 กรกฎาคม 1981

การอภิเษกสมรสนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในฐานะพระราชมารดา ที่ทรงสามารถจัดให้องค์รัชทายาทได้มีพระชายาที่พร้อมพรั่งด้วยคุณสมบัติเหมาะสมตามราชประเพณีได้อย่างเป็นทางการ หลังจากที่เจ้าชายแห่งเวลส์ทรงรักใคร่สัมพันธ์อย่างเนิ่นนานกับสตรีสามัญชนผู้มีประวัติส่วนตัวอื้อฉาว โดยกระทั่งว่าสตรีสามัญชนท่านนี้จะแต่งงานไปแล้ว เจ้าชายแห่งเวลส์ก็ทรงหวนสู่สัมพันธ์ชู้สาวกับเธออีกในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทั้งปวงเกี่ยวกับสัมพันธ์ลึกซึ้งกับสตรีสามัญชนท่านนี้ ไม่ถูกส่งไปยังสื่อมวลชนจนกระทั่งปี 1992

ปี 1982: เจ้าชายวิลเลียมประสูติ และอีก 2 ปีต่อมา เจ้าชายแฮร์รีประสูติ

ปี 1986: เจ้าฟ้าชายแอนดรูว์เสกสมรสกับซาราห์ เฟอร์กูสัน นักธุรกิจคนดังของอังกฤษ พร้อมนี้ ทั้งสองได้รับแต่งตั้งเป็นดยุกและดัชเชสแห่งยอร์ก

เจ้าชายแห่งเวลส์และ ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ประทับราชรถเทียมม้าเสด็จในพิธีแห่ หลังจบพิธีอภิเษกสมรส เมื่อ 29 กรกฎาคม 1981

ครอบครัวอบอุ่นและพระราชโอรสน่ารักสองพระองค์ของเจ้าชายแห่งเวลส์และ ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์
1987-1992: ข้อมูลสัมพันธ์ร้าวระหว่างเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ รัชทายาทแห่งสหราชอาณาจักร กับพระชายา ถูกปล่อยสู่สื่อมวลชน องค์รัชทายาทถูกสารพัดสื่อเขย่าอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง โดยในเดือนมิถุนายน 1987 ทรงตกเป็นข่าวอื้อฉาวในประเด็น “เตียงหัก” และการดำเนินชีวิตแยกทางจากกัน แรงกดดันเหล่านี้ดุเดือดหนักหนาตลอดปี 1990 ก่อนจะร้อนแรงปรอทแตกเมื่อสื่อมวลชนได้ข้อมูลลับและตีข่าวในเดือนกุมภาพันธ์ 1991 ว่าองค์รัชทายาททรงทอดทิ้งพระชายา และหวนซบแฟนเก่า

วิกฤตชีวิตสมรสเข้าสู่ภาวะอื้อฉาวฉกาจฉกรรจ์ เมื่อมีการนำหนังสือโจมตีเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เรื่อง Diana: Her True Story เขียนโดยแอนดรูว์ มอร์ตัน ออกวางตลาดอย่างครึกโครมในวันที่ 1 มิถุนายน 1992 ภาพลักษณ์ของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ คือ ย่อยยับ เท่านั้นยังไม่พอ ภายในเดือนเดียวกันนั้นเอง มีการส่งข้อมูลและภาพถ่ายของสตรีผู้เป็นที่รักแห่งเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ไปยังมือสื่อมวลชน โดยหน้าปกนิตยสาร People สัปดาห์ปลายเดือนมิ.ย. 1992 นำภาพของเธอขึ้นคู่กับภาพเจ้าหญิงไดอานา พร้อมพาดหัวข่าวว่า “มือที่สาม - คู่แข่งไดอานา”

สิ่งที่ตามมาคือ การแฉข้อมูลพระสุณิสา หรือก็คือสะใภ้หลวง ของสมเด็จพระราชินีนาถฯ บ้าง อันได้แก่ การโต้ตอบด้วยภาพถ่ายและข้อมูลชายชู้ 2 รายของเจ้าหญิงไดอานา โดยสื่อมวลชนนำเสนอสู่สาธารณชนในเดือนสิงหาคมและกันยายน 1992

- พฤศจิกายน 1992 มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์และพระชายาตกลงแยกทางกัน

ในท่ามกลางข่าวอื้อฉาวที่กระหน่ำเข้าไปมากมาย องค์รัชทายาทตกเป็นจำเลยสังคม อีกทั้งต้องเผชิญกับปฏิกิริยาย่ำแย่และคำวิพากษ์วิจารณ์แรงๆ จากสาธารณชน พร้อมนี้ เอพีรายงานว่าการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทวีตัวมหาศาล โดยลุกลามไปเล่นงานในประเด็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตลอดจนการจับจ่ายของพระราชวงศ์

ช่วงกลางปี 1992 การปล่อยข้อมูลลับและภาพถ่ายพุ่งเป้าเล่นงานคามิลลา คุณน้าวัย 44 ปี ว่าเป็นมือที่สามที่แย่งพระสวามีของเจ้าหญิงไดอานาผู้ทรงแสนสวยแสนสาวด้วยวัย 31 ปี – ภาพปกนิตยสาร People

ภาพถ่ายและข้อมูลลับเกี่ยวกับสองชายชู้ของเจ้าหญิงไดอานาเริ่มถูกปล่อยสู่มือสื่อในเดือน ส.ค. และ ก.ย. 1992
ปี 1992: ณ ปีที่ทรงครองราชย์ครบ 40 ปี นั้น สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเรียกค.ศ. 1992 ว่าปีอันเลวร้ายของพระองค์ อันได้แก่

- ข่าวอื้อฉาวขั้นอุกฤษฏ์ของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์และพระชายา ซึ่งลงท้ายปิดปีด้วยการประกาศแยกทางกันอย่างเป็นทางการ

- การแยกทางกันระหว่างเจ้าฟ้าชายแอนดรูว์กับพระชายาซาราห์ เฟอร์กูสัน

- การหย่าร้างระหว่างเจ้าฟ้าหญิงแอนน์กับพระสวามีซึ่งมีพระโอรสและพระธิดาด้วยกัน 2 องค์

- เดือนพฤศจิกายน เกิดเพลิงไหม้ปราสาทวินด์เซอร์ จนเสียหายอย่างหนัก

- สมเด็จพระราชินีนาถฯ ทรงประกาศที่จะชำระภาษีเงินได้ ตลอดทั้งจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ภายในพระราชวงศ์

1994-1997: วิบากกรรมแห่งรักอับปางระหว่างเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์กลายเป็นหนังซีรีส์ มิได้สรุปจบลงง่ายๆ

- ปี 1994 เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงโปรดให้มีการจัดทำภาพยนตร์ครบรอบ 25 ปีแห่งการดำรงพระยศเจ้าชายแห่งเวลส์ และในโอกาสการออกฉายทางโทรทัศน์ในเดือนมิถุนายน ทรงประทานสัมภาษณ์ พร้อมเปิดพระทัยตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมาว่า ทรงได้รักษาซื่อสัตย์อยู่ในชีวิตสมรส จนกระทั่งชีวิตสมรสนั้นแตกหัก ไม่สามารถจะกอบกู้ได้ อันเป็นนัยไปสู่การยอมรับต่อประเด็นความสัมพันธ์ลึกซึ้งที่มีอยู่กับพระคู่รักที่คบหากันต่อเนื่องมากกว่า 20 ปี

เดือนตุลาคม หนึ่งในชายชู้ของเจ้าหญิงแห่งเวลส์ คือ เจมส์ ฮิววิตต์ จัดทำหนังสือแฉหมดเปลือกเรื่อง Princess in Love และมีการวางตลาดอย่างอื้อฉาว และเป็นอีกคราวหนึ่งที่สถานภาพอันสง่างามของราชวงศ์อังกฤษถูกสั่นคลอน เนื่องจากเป็นการเผยการกระทำผิดประเวณีของไดอานา สะใภ้หลวง

- ปี 1995 ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ออกโทรทัศน์ประทานสัมภาษณ์ในเดือนพฤศจิกายน ยอมรับเรื่องการผิดประเวณีในความสัมพันธ์กับเจมส์ ฮิววิตต์ หนึ่งเดือนต่อมา สมเด็จพระราชินีนาถฯ ทรงมีหนังสือแนะนำให้พระราชโอรสและพระสุณิสาหย่าร้างกันให้เรียบร้อย

บรรดาสื่อหัวสีค่ายใหญ่ตัวจี๊ดทั้งปวงพร้อมใจกันเล่นข่าวที่เจ้าหญิงไดอานายอมรับการกระทำผิดประเวณีในเรื่องของชายชู้นาม เจมส์ ฮิววิตต์ ในรายการ Panorama โดยเลือกหยิบวลีเด็ดประเด็นเพชรของเจ้าหญิงไปพาดหัวข่าวหน้าหนึ่งกันเป็นที่ครึกโครม เดลีเมล์เสนอว่า ดิฉันมีชู้รักเช่นกัน  เดอะซันจอมเก๋าใช้อักษรตัวมโหฬารเสนอว่า ฮิววิตต์เคยเป็นชู้รักของดิฉัน  อินดิเพนเดนท์เลือกภาพสวยเศร้าของไดอานามาประกบกับคำพูดว่าดิฉันไม่ซื่อสัตย์ ส่วนเดอะการ์เดียนและเดอะไทมส์ฉีกไปยังประเด็นอนาคตด้วยประโยคอาฆาตว่า ดิฉันจะไม่จากไปอย่างเงียบๆ
- ปี 1996 การหย่าร้างเสร็จสิ้นในวันที่ 28 สิงหาคม โดยไดอานาได้รับสิทธิ์ให้ใช้คำนำหน้าว่าเจ้าหญิง ซึ่งเป็นคำลอยๆ ที่ไม่สามารถต่อด้วยคำว่า แห่งเวลส์ และไม่มีบรรดาศักดิ์ Her Royal Highness เพราะมิได้เป็นพระชายาของเจ้าชายแห่งเวลส์แล้ว

ในการนี้ อานิสงส์จากการรณรงค์สร้างภาพลักษณ์ผ่านสื่อมวลชนว่าถูกพระราชวงศ์อังกฤษรังแก ถูกทอดทิ้ง ต้องคบชู้เพราะถูกกดดันจวนเจียนจะฆ่าตัวตาย ฯลฯ ตลอดจนผลบุญจากการรณรงค์ในด้านมนุษยธรรม อาทิ ปัญหาเด็กยากจน ผู้ป่วยเอดส์ การเคลียร์กับระเบิด ฯลฯ ซึ่งทีมประชาสัมพันธ์ของเธอมีศักยภาพสูงในการถ่ายทอดความรู้สึกอันงดงามผ่านดวงตาและท่าที สู่ภาพถ่ายและคลิปต่างๆ ทำให้เธอเป็นที่รักของผู้คนมหาศาล พร้อมกับช่วยรักษาคะแนนสงสารจากสาธารณชนได้อย่างยั่งยืน

- ปี 1997 อดีตพระสุณิสาได้เลิกราจากสัมพันธ์ลึกซึ้งซึ่งดำเนินอย่างหลบๆ ซ่อนๆ นานกว่าสองปีกับนายแพทย์ฮัสนัต ข่าน ศัลยแพทย์หัวใจชาวปากีสถาน โดยคุณหมอแต่งงานมีภรรยาและลูกครบเครื่องแล้ว ทั้งนี้ การตัดขาดเกิดขึ้นเมื่อไดอานาปลูกต้นรักใหม่ในราวกลางปี 1997 กับ โดดี้ ฟาเยด มหาเศรษฐีพันล้านเชื้อสายอียิปต์ ทั้งสองประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์และเสียชีวิตในประเทศฝรั่งเศสเมื่อ 31 สิงหาคม 1997 ปิดฉากปัญหาเรื้อรังรายการใหญ่ที่บั่นทอนสถาบันราชวงศ์อังกฤษได้หนึ่งประเด็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม แรงกดดันดุเดือดถาโถมใส่พระราชตระกูลแบบว่า ส่งท้ายช่วงหนึ่งสั้นๆ ภายใต้ข้อกล่าวหาว่าพระราชวงศ์อังกฤษทำไม่ถูกที่งดแสดงท่าทีต่อมรณกรรมของอดีตพระสุณิสา ประดาแฟนคลับไดอานาโกรธเกรี้ยวกันมาก “แสดงให้เราเห็นสิว่าพระองค์แคร์” หนังสือพิมพ์หัวสีฉบับหนึ่งโวยวายด้วยข้อความพาดหัวข่าวหน้าหนึ่งอย่างนั้น

พิธีปลงศพที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ให้แก่ไดอานา เจ้าหญิงในดวงใจมหาชนและพระมารดาของเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รี เมื่อ 6 กันยายน 1997 เป็นอีเวนต์ระดับโลก และในขบวนแห่ศพก็มีเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ อดีตพระสสุระ เจ้าชายแห่งเวลส์อดีตพระสวามี ตลอดจนพระโอรสทั้งสองพระองค์ ร่วมเดินในขบวนแห่อย่างสมเกียรติ

- เดือนพฤศจิกายน พสกนิกรจำนวนมหาศาลออกมาร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีครบรอบราชาภิเษกสมรสของสมเด็จพระราชินีนาถฯ กับเจ้าชายฟิลิปผู้เป็นพระสวามี หรือก็คือ Golden Wedding Anniversary นั่นเอง

ปี 1998: กองทัพสาธารณรัฐไอร์แลนด์ หรือ IRA อันเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนโดยชนกลุ่มน้อยชาวไอริชในไอร์แลนด์เหนือเพื่อไปรวมกับประเทศไอร์แลนด์ เริ่มปฏิบัติการต่อสู้เรียกร้องเอกราชจากสหราชอาณาจักรตั้งแต่ปี 1969 ด้วยวิธีรุนแรง เช่น การลอบสังหาร การปล้นธนาคาร และการวางระเบิดสังหารประชาชน ได้ร่วมกับกลุ่มซันเฟนประกาศวางอาวุธและลงนามสนธิสัญญาสงบศึกกับอังกฤษในปี 1998

ความงามแห่งเสื้อผ้า หน้า ผม และช่วงขาเรียวตรงของเจ้าหญิงไดอานาสร้างความประทับใจแก่ผู้คนที่ได้พบเห็น ยิ่งชุดออกงานราตรีของไดอานาโฉบเฉี่ยวไม่แคร์ราชประเพณีเพียงใด แฟนคลับนับล้านก็ยิ่งมีความสุขเพียงนั้น

แต่เหนืออื่นใด บทบาททางสังคมสงเคราะห์ของเจ้าหญิงไดอานาเรียกคะแนนนิยมได้อย่างมหาศาลและยั่งยืน เมื่อสนทนากับเด็กๆ ไดอานาจะยอบกายลงคุย ไม่ปล่อยให้เด็กๆ แหงนหน้าอยู่ข้างเดียว  ความใส่ใจต่างๆ เหล่านี้ถูกสื่อมวลชนนำไปชมไปเชียร์ ขยายความชื่นชมไม่รู้จบ

สิ่งหนึ่งซึ่งผู้คนระลึกถึงเจ้าหญิงไดอานามากที่สุด คือ ความเห็นอกเห็นใจผู้ด้อยโอกาสและผู้ป่วย  ไดอานานำความสนใจของผู้คนไปยังปัญหากับระเบิดในประเทศแองโกลาได้อย่างอื้ออึง เพียงปรากฏตัวเดินไปบนพื้นที่กับระเบิดที่ถูกเคลียร์แล้วในชุดเก๋และในออร่าของนางฟ้า  ใครๆ พากันรักไดอานาผู้ซึ่งจับมือเช็กแฮนด์กับผู้ป่วยเอชไอวี พร้อมกล่าวกับสื่อมวลชนว่า “ขอเพียงคุณเช็กแฮนด์กับพวกเขา กอดให้กำลังใจพวกเขา สวรรค์ทรงทราบว่าพวกเขาต้องการสิ่งนี้เหลือเกิน” อานิสงส์จากบุญเหล่านี้ส่งผลให้แฟนคลับนับล้านไม่แคร์เรื่องคบชู้และโกหก แฟนๆ ยังรักและชื่นชมความดีงามของไดอานาตราบจนทุกวันนี้
ยุคยามแห่งปัญหาก่อการร้ายยุคใหม่ และภัยใหญ่หลวงจากโรคระบาดโควิด กับหลายๆ ศักราชแห่งความพลัดพราก: 2001-2022

อังกฤษมีประสบการณ์อันเจ็บปวดมากมายจากขบวนการก่อการร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขบวนการแบ่งแยกดินแดนในไอร์แลนด์เหนือ ผลการวิจัยที่ปรากฏในฐานข้อมูลของรัฐสภาอังกฤษระบุว่าในช่วง 1970 – 2020 มีผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายรวม 3,416 ราย โดยที่ว่า 84% เกิดขึ้นในไอร์แลนด์เหนือ และมีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงลิ่ว 2 รายการ ได้แก่ ยอดผู้ถูกสังหารรวม 344 รายภายในปี 1972 กับยอดผู้ถูกสังหารในเหตุการณ์วางระเบิดเครื่องบินโดยชาวลิเบียในเที่ยวบินแพนแอม 103 เหนือเมืองล็อกเคอร์บี ประเทศสกอตแลนด์ในปี 1988 ส่งผลให้มีผู้ถูกสังหารทั้งสิ้นถึง 270 ราย

อย่างไรก็ตาม ในทศวรรษ 1990 แนวโน้มโดยรวมปรากฏว่าลดลงเป็นส่วนใหญ่ และแผ่วลงมหาศาลหลังขบวนการ IRA วางอาวุธและลงนามสนธิสัญญาสงบศึกกับอังกฤษในปี 1998

เมื่อเข้าสู่สหัสวรรษที่ 3 ภัยก่อการร้ายที่อังกฤษเผชิญเป็นฝีมือของขบวนการก่อการร้ายระหว่างประเทศ โดยในห้วงปี 2003-2020 มีผู้เสียชีวิตภายในอังกฤษและเวลส์ 95 ราย

ปี 2001: การก่อการร้ายข้ามชาติอุบัติขึ้นในเหตุโศกนาฏกรรม 9 กันยายน 2001 ในสหรัฐฯ ส่งผลกระทบเป็นการเปลี่ยนแปลงชีวิตของชาวโลกทั้งมวล ซึ่งรวมถึงประเทศอังกฤษที่ยังมีบทบาทสูงมากบนเวทีการเมืองโลก ในท่ามกลางการก่อการร้ายยุคใหม่ที่ขยายตัวและแสดงอิทธิฤทธิ์อันร้ายกาจอย่างมากมาย ซ้ำแล้วซ้ำอีก

ปี 2002: ปีแห่งการพลัดพรากซึ่งสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ต้องทรงสูญเสียพระราชมารดาและพระขนิษฐาที่ทรงรักและทรงผูกพันมาตลอดพระชนม์ชีพ และปีแห่งการเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีการครองราชย์ของสมเด็จพระราชินีนาถฯ

- วันที่ 9 กุมภาพันธ์ เจ้าหญิงมาร์กาเรต พระขนิษฐาหนึ่งเดียวของสมเด็จพระราชินีนาถฯ สิ้นพระชมน์ ณ พระชนมายุ 71 พรรษา

- วันที่ 30 มีนาคม สมเด็จพระพันปีหลวง พระราชินีเอลิซาเบธในรัชสมัยของพระเจ้าจอร์จที่ 6 และพระราชมารดาและที่พึ่งทางจิตใจที่สำคัญยิ่งของสมเด็จพระราชินีนาถฯ เสด็จสวรรคต ณ พระชนมายุ 101 พรรษา

- วันที่ 1-4 มิถุนายน 2002 พระราชพิธีกาญจนาภิเษก หรือ Golden Jubilee แห่งการครองราชย์ครบรอบ 50 ปี มีขึ้นอย่างยิ่งใหญ่

พสกนิกรหลายหมื่นรายหลั่งไหลไปออกันตลอดแนวถนนเดอะมอลล์ กลางกรุงลอนดอน รอรับเสด็จควีนเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระราชสวามี ซึ่งเสด็จออกจากพระราชวังบัคกิ้งแฮมมุ่งสู่มหาวิหารเซนต์ปอล เพื่อเข้าพิธีกาญจนาภิเษก เมื่อ 4 มิถุนายน 2022

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และดยุกออฟเอดินบะระ อยู่ในพระราชพิธีมิสซารับพระพรในโอกาสเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบรอบ 50 ปี หรือ Golden Jubilee เมื่อ 4 มิถุนายน 2002 ในภาพนี้มีเจ้าหญิงเบียทริซ  เจ้าชายแฮร์รี  เจ้าชายวิลเลียม  และเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์

ควีนเอลิซาเบธที่ 2 และพระราชสวามี เสด็จออกสีหบัญชร ณ พระราชวังบัคกิ้งแฮม โดยมีพระราชวงศ์โดยเสด็จอย่างพร้อมหน้า ทุกพระองค์แหงนมองการแสดงโชว์ทางอากาศโดยฝูงบินเรด แอร์โรว์ของกองทัพอากาศอังกฤษอย่างสนุกสนาน ท่ามกลางเสียงโห่ร้องเชียร์จากประชาชนที่เข้าเฝ้าเนืองแน่น
ปี 2005: หลังจากที่เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงเปิดพระทัยตรัสอย่างตรงไปตรงมาว่า ทรงได้รักษาซื่อสัตย์อยู่ในชีวิตสมรส จนกระทั่งชีวิตสมรสนั้นแตกหัก ไม่สามารถจะกอบกู้ได้ อันเป็นนัยไปสู่การยอมรับถึงเรื่องความสัมพันธ์ลึกซึ้งที่มีอยู่กับพระคู่รักผู้เป็นสตรีสามัญชน นามว่า คามิลลา แชนด์ พาร์กเกอร์-โบลส์ ผู้ที่ทรงคบหาในหลายๆ สถานภาพต่อเนื่องมากกว่า 20 ปี ในปีรุ่งขึ้น 1995 คามิลลากับสามีเดิมเสร็จสิ้นกระบวนการหย่าร้าง และต่อมาในปี 1996 เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ก็เสร็จสิ้นกระบวนการหย่าร้างเลิกราเด็ดขาดจากไดอานา เจ้าหญิงของประชาชน นั้น เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์และคามิลลา แชนด์ ก็ครองคู่กันโดยห่างไกลสื่อมวลชน และไม่ปรากฏต่อสาธารณชนจนกระทั่งปี 1999 โดยประมาณว่าทรงตั้งใจรอให้พระโอรสทั้งสองทรงเป็นผู้ใหญ่เข้าใจโลกตามสมควร และสองปีต่อมา ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถฯ

- วันที่ 9 เมษายน 2005 เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงจัดพระราชพิธีอภิเษกสมรสกับคามิลลาแบบจดทะเบียนตามกฎหมาย โดยไม่มีพระราชพิธีทางศาสนาเพื่อรับศีลสมรส แต่มีพระราชพิธีทางศาสนาเพื่อการถวายพระพร ซึ่งเทียบเท่ากับการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ยั่งยืน 35 ปีที่ทรงรักใคร่ผูกพันเหนียวแน่นกันมา

- วันที่ 7 กรกฎาคม ขบวนการก่อการร้ายอิสลามิสต์ก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตาย 4 จุดกลางกรุงลอนดอน (London Bombing) ด้วยความตั้งใจสังหารประชาชนที่เดินทางกันอย่างหนาแน่นในชั่วโมงเร่งด่วน ทั้งนี้ 3 จุดเกิดขึ้นกับรถไฟใต้ดิน และ 1 จุดเกิดขึ้นบนรถเมล์ การโจมตีเหล่านี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 56 ราย และมีผู้บาดเจ็บมหาศาลกว่า 700 ราย

ปี 2011: สมเด็จพระราชินีนาถฯ ทรงเข้าร่วมพระราชพิธีอภิเษกสมรสของพระราชนัดดา คือ เจ้าชายวิลเลียม กับนางสาวแคเธอริน มิดเดิลตัน สุภาพสตรีสามัญชนรูปโฉมงาม การศึกษาสูง ภูมิหลังทางบ้านมั่นคงในความเป็นชนชั้นกลางฐานะดี ประมาณการกันว่าชาวโลกกว่า 2,000 ล้านรายเฝ้าชมพิธีที่ถ่ายทอดทางโทรทัศน์

ปี 2012: พระราชพิธีพัชราภิเษกสมโภช หรือ Diamond Jubilee แห่งการครองราชย์ครบรอบ 60 ปี มีขึ้นอย่างอลังการ พสกนิกรหนึ่งล้านรายเข้าร่วมขบวนแห่บนแม่น้ำเทมส์ และอีกหลายล้านรายร่วมเฉลิมฉลองในปาร์ตี้บนท้องถนน

เจ้าชายวิลเลียมและนางสาวแคเธอริน มิดเดิลตัน กิ่งทองใบหยกที่สวยสมกัน นิสัยดีและรู้หน้าที่มีความรับผิดชอบหนุนเนื่องกันและกัน ได้เข้าสู่พระราชพิธีอภิเษกสมรสในปี 2011 และในพระราชพิธีพัชราภิเษกสมโภช เฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปีการครองราชย์ของสมเด็จย่าในปี 2012 ทั้งสองขโมยซีนด้วยความน่ารักเฉพาะตัวบ่อยๆ  ล่าสุดนี้ คะแนนนิยมที่ประชาชนมีต่อดัชเชสเคทได้ทะยานสูง เป็นที่น่าอนุโมทนา ในภาพนี้ ดยุกและดัชเชสแห่งเวลส์เตรียมลงเรือพระที่นั่ง

ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทรงประทับบนเรือพระที่นั่ง “Spirit of Chartwell” ซึ่งนำกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคแห่ไปตามแม่น้ำเทมส์ภายใต้ท้องฟ้าแจ่มกระจ่าง เมื่อ 3 มิถุนายน 2012

ควีนเอลิซาเบธที่ 2 และพระราชสวามี ทรงเปี่ยมด้วยความสุขและเพลิดเพลินในกิจกรรมพยุหยาตราทางชลมารค และทรงสบายพระทัยในแวดล้อมของลูกสะใภ้หลวง ดัชเชสออฟคอร์นวอลล์ และหลานสะใภ้หลวง ดัชเชสออฟเคมบริดจ์

ในโมงยามแสนสุขนี้ เจ้าชายแฮร์รียังทรงเป็นโสด ความสัมพันธ์กับพระเชษฐายังแข็งแกร่งเป็นกำลังใจให้กันและกันอย่างชื่นมื่น
ปี 2013: เจ้าชายจอร์จ พระโอรสของเจ้าชายวิลเลียมทรงประสูติ ต่อด้วยเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ (2015) และเจ้าชายหลุยส์ (2018)

ปี 2014: สมเด็จพระราชินีนาถฯ ทรงเสด็จเยือนเยอรมนี ซึ่งเป็นพระราชกรณียกิจในต่างประเทศรายการสุดท้าย

- วันที่ 9 กันยายน ณ เวลา 17.30 น. ของประเทศอังกฤษ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเป็นกษัตริยาณีที่ปกครองประเทศยาวนานที่สุดเมื่อเทียบกับสถิติตัวเลขสูงสุดดั้งเดิมที่ 62 ปี ที่ทำไว้โดยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย พระราชมารดาของเสด็จทวด (พระเจ้าเอดเวิร์ดที่ 7) โดยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียครองราชสมบัติยาวนาน 62 ปี (1839-1901)

- วันที่ 21 เมษายน 2016: สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงฉลองครบรอบวันประสูติ 90 พรรษา ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดตลอดกาลยาวนานกว่ากษัตริย์และกษัตริยาณีพระองค์ใดของอังกฤษ

ปี 2017: เป็นปีที่เหตุก่อการร้ายโดยกลุ่มอิสลามิสต์บ่อยครั้งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

- เดือนมีนาคม ผู้ก่อการร้ายอิสลามิสต์ ขับรถพุ่งชนผู้คนมากมายที่เดินข้ามสะพานเวสต์มินสเตอร์ มีผู้ถูกสังหาร 4 ราย บาดเจ็บกว่า 50 ราย แล้วยังวิ่งไปในบริเวณพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ แทงเจ้าหน้าที่ตำรวจ 1 รายเสียชีวิต ก่อนจะถูกตำรวจทำวิสามัญฆาตกรรมตายตกตามเหยื่อรายอื่นๆ ไป

- เดือนพฤษภาคม ระเบิดฆ่าตัวตายโดยผู้ก่อการร้ายอิสลามิสต์อุบัติในพื้นที่แมนเชสเตอร์ สังหารประชาชนที่กำลังทยอยออกจากคอนเสิร์ต ส่งผลให้มีผู้ถูกสังหาร 22 ราย บาดเจ็บ 139 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยรุ่น

- เดือนมิถุนายน ผู้ก่อการร้ายอิสลามิสต์ 3 ราย ไล่แทงผู้คนบนสะพานลอนดอน บริดจ์ และตามผับบาร์ต่างๆ ในย่านตลาดโบโร่ มีผู้ถูกสังหาร 8 ราย และบาดเจ็บไม่น้อยกว่า 48 ราย ผู้ก่อการร้ายทั้งหมดถูกตำรวจวิสามัญฯ

พฤศจิกายน 2017: สมเด็จพระราชินีนาถฯ กับเจ้าชายฟิลิปผู้เป็นพระสวามี ฉลองครบรอบ 60 ปีการอภิเษกสมรส โดยทรงจัดปาร์ตี้เป็นการภายใน ณ ปราสาทวินด์เซอร์

ปี 2018: พระราชพิธีอภิเสกสมรสถูกจัดขึ้นระหว่างเจ้าชายแฮร์รีกับนางเมแกน มาร์เคิล นักแสดงหญิงอเมริกันผู้เป็นแม่ม่ายหย่าร้าง

เรือพายหนึ่งพันลำของประชาชนได้เข้าร่วมกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคแห่ไปตามแม่น้ำเทมส์ ติดตามเรือพระที่นั่ง “Spirit of Chartwell” มุ่งหน้าสู่สะพานทาวเวอร์ บริดจ์ ต่อเนื่องกันไปเป็นช่วงยาวเหยียดสุดสายตา เมื่อ 3 มิถุนายน 2012

บรรดาอาคารริมแม่น้ำเทมส์ล้วนแน่นขนัดด้วยประชนชนหลายหมื่นรายที่เข้าไปจับจองที่นั่งและที่ยืน เพื่อชื่นชมความอลังการของกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค และเพื่อจะเป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมเฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปีการครองราชย์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

เอพีบันทึกภาพให้เห็นได้ชัดๆ กับบรรยากาศของประชาชนบนระเบียงอาคารที่เฝ้าชมกระบวนแห่บนลำน้ำเทมส์ เมื่อ 3 มิถุนายน 2012 โดยเป็นหนึ่งในสี่วันซึ่งรัฐบาลอังกฤษจัดมหกรรมสมโภชถวายแด่สมเด็จพระราชินีนาถ
ปี 2019: - เดือนตุลาคม ความขัดแย้งระหว่างเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รีตกเป็นข่าว โดยเจ้าชายแฮร์รีตรัสยืนยันข่าวความร้าวฉานดังกล่าว

- เดือนพฤศจิกายน เจ้าฟ้าชายแอนดรูว์ประทานสัมภาษณ์แก่สถานีโทรทัศน์บีบีซี ยอมรับในเรื่องที่มีความสนิทสนมคุ้นเคยกับเจฟฟรีย์ เอปสไตน์ ผู้ซึ่งถูกจำคุกในข้อหาล่วงละเมิดทางเพศต่อเยาวชน หลังจากนั้นไม่กี่วัน ทรงถูกสั่งให้ถอยจากพระราชกิจต่างๆ ทั้งหมด

ปี 2020: - โรคระบาดโควิด 19 แพร่ระบาดรุนแรงในอังกฤษตั้งแต่ต้นปี 2020 และตลอดทั้งปี 2020 ด้วย รวม 2 ระลอก พร้อมกับการล็อกดาวน์ประเทศ

- มกราคม เจ้าชายแฮร์รีและดัชเชสเมแกนประกาศถอนตัวจากภารกิจพระราชวงศ์ และในเดือนมีนาคมก็ย้ายครอบครัวไปปักหลักในสหรัฐฯ

ปี 2021: สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงสูญเสียเจ้าชายฟิลิป พระราชสวามี ผู้ทรงสิ้นพระชนม์อย่างสงบในเดือนเมษายน หลังจากที่เจ้าชายฟิลิปทรงมีพระอาการประชวรด้วยโรคโควิด 19 และพระอาการกระเตื้องขึ้นมาก และได้ทรงตัดสินพระทัยเสด็จกลับไปพักฟื้นในปราสาทวินด์เซอร์

ทั้งนี้ ในพระราชพิธีพระศพซึ่งจัดขึ้นในแนวปฏิบัติเว้นระยะห่างทางสังคมทุกประการ สมเด็จพระราชินีนาถฯ ทรงสวมหน้ากากสีดำ ทระประทับนั่งเพียงลำพังพระองค์เดียวอย่างเงียบงัน ทรงแสดงให้สาธารณชนตระหนักว่า กฎระเบียบทุกอย่างต้องบังคับใช้กับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับพระองค์เอง

- เดือนพฤศจิกายน ประเทศบาร์เบโดสเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประเทศสาธารณรัฐ สมเด็จพระราชินีนาถจึงทรงเป็นประมุขของประเทศต่างๆ ลดลงเหลือ 15 ประเทศ

เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์และดัชเชสคามิลลา ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ เข้าร่วมมหกรรมอาหารเที่ยง “Big Jubilee Lunch” เมื่อ 3 มิถุนายน 2012 อันเป็นส่วนหนึ่งของการสมโภชเฉลิมฉลอง Diamond Jubilee แห่งการครองราชย์ครบรอบ 60 ปีของสมเด็จพระราชินีนาถ เมื่อเสร็จจากจุดนี้แล้ว ก็ไปลงเรือพระที่นั่งเพื่อร่วมกระบวนพยุหมาตราทางชลมารค ล่องแม่น้ำเทมส์

บรรยากาศงานเฉลิมฉลองรื่นเริงที่จัดบนถนนเดอะมอลล์ด้านหน้าพระราชวังบัคกิ้งแฮม ซึ่งเป็นวันคอนเสิร์ตแสนสนุกครึกครื้นด้วยผู้เข้าร่วมหลายพันราย เมื่อ 4 มิถุนายน 2012

การสมโภชเฉลิมฉลอง Diamond Jubilee แห่งการครองราชย์ของสมเด็จพระราชินีนาถ ครึกครื้นด้วยคอนเสิร์ตที่จัดอย่างมโหฬารในเขตพระราชวังบัคกิ้งแฮม โดยมีโปรแกรมอัดแน่นไปด้วยสุดยอดศิลปินขวัญใจประชาชน ในภาพนี้ เป็นช่วงคอนเสิร์ตโดยเอลตัน จอห์น ในวันที่ 4 มิถุนายน 2012  ผู้คนหลายพันรายสนุกกันมากในมือโบกธงยูเนียนแจ็กเป็นสีสันของมหกรรม

คอนเสิร์ตฉลอง Diamond Jubilee ปิดท้ายด้วยพลุและดอกไม้ไฟเป็นแสงสีมะลังมะเลืองด้านหน้าพระราชวังบัคกิ้งแฮม  บรรดาศิลปินนักร้องนักแสดงตั้งแถวร้องเพลงถวายพระพรกึกก้อง ผู้เข้าร่วมมหกรรมบอกว่าวโรกาสครบรอบการครองราชย์ 60 ปี ไม่ได้มีขึ้นง่ายๆ โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์
ปี 2022: - เดือนมกราคม เจ้าฟ้าชายแอนดรูว์ทรงเป็นเหตุให้สถาบันกษัตริย์อังกฤษได้รับความเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงอีกวาระหนึ่ง เมื่อทรงตกเป็นข่าวอื้อฉาวกรณีถูกฟ้องร้องในคดีเก่าในข้อหาการล่วงละเมิดทางเพศต่อเยาวชน และทรงถูกถอดจากตำแหน่งทางทหาร และต้องต่อสู้คดีดังกล่าวที่ทรงถูกฟ้องร้องในสหรัฐฯ

- วันที่ 6 กุมภาพันธ์ สมเด็จพระราชินีนาถฯ ทรงเป็นประมุขแห่งสหราชอาณาจักรครบ 70 ปี ในพระราชวโรกาสนี้ ทรงมีพระราชดำรัสว่า เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตและเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์เสด็จขึ้นครองราชย์ ขอให้พสกนิกรมอบความสนับสนุนแก่คามิลลา พระชายาและดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ ในฐานะพระราชินีคู่พระราชบัลลังก์

- วันที่ 15 กุมภาพันธ์ เจ้าฟ้าชายแอนดรูว์ทรงสามารถไกล่เกลี่ยคดีด้วยเงินก้อนใหญ่ ในการนี้ ทรงยืนยันว่ามิได้กระทำความผิดใดๆ กระนั้นก็ตาม ทรงตกเป็นจำเลยสังคมในคดีนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

- วันที่ 20 กุมภาพันธ์ สมเด็จพระราชินีนาถฯ ทรงมีอาการพระประชวรด้วยโรคติดเชื้อโควิด 19 แบบที่มีลักษณะเป็นหวัดเล็กน้อย และในเวลาไม่นาน ทรงกลับสู่พระราชกรณียกิจต่างๆ ได้

หลังเสร็จสิ้นพิธีมิสซาถวายพระพรในวโรกาสเฉลิมฉลอง Diamond Jubilee แห่งการครองราชย์ครบรอบ 60 ปี สมเด็จพระราชินีนาถฯ และพระราชวงศ์ เสด็จออกจากมหาวิหารเซนต์ปอล และเคลื่อนไปยังพระราชวังบัคกิ้งแฮม เพื่อเสด็จออกสีหบัญชรในวันที่ 5 มิถุนายน 2012

ถนนเดอะมอลล์ด้านหน้าพระราชวังบัคกิ้งแฮมท่วมท้นด้วยสีแดง ขาว น้ำเงิน ที่ประชาชนหลายหมื่นรายพากันไปรอเข้าเฝ้าและถวายพระพร เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถ เสด็จออกสีหบัญชร ในวันที่ 5 มิถุนายน 2012

การแสดงทางอากาศโดยฝูงบินเรด แอร์โรว์ ของกองทัพอากาศอังกฤษที่บินเหนือพระราชวังบัคกิ้งแฮมเป็นไปอย่างอลังการ ท่ามกลางเสียงโห่ร้องเชียร์จากประชาชนที่เข้าร่วมเฉลิมฉลองวโรกาสพัชราภิเษก ครบรอบการครองราชย์ 60 ปี

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พร้อมด้วยเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ และดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ ตลอดจนเจ้าชายวิลเลียม และดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ เสด็จออกสีหบัญชร ณ พระราชวังบัคกิ้งแฮม กรุงลอนดอน และชมการแสดงทางอากาศของฝูงบินเรด แอร์โรว์ ในวันที่ 5 มิถุนายน 2012 อันเป็นการสรุปจบครบซีรีส์ 4 วันแห่งการเฉลิมฉลองพัชราภิเษกสมโภช Diamond Jubilee วโรกาสที่สมเด็จพระราชินีนาถฯ ทรงครองราชย์บัลลังก์ยาวนาน 60 ปี
70 ปีแห่งการครองราชย์ เป็นเส้นทางพระชนม์ชีพที่มิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ทรงประสบความสำเร็จอย่างสูงยิ่ง

ในท่ามกลางความเปลี่ยนอันมากมายและมหาศาลทั่วโลก สมเด็จพระราชินีนาถฯ ทรงเป็นความมั่นคงและหลักอิงแก่พสกนิกร ทรงเป็นองค์ผู้แทนของอังกฤษในทางระหว่างประเทศ ทรงเป็นที่เคารพนับถือและชื่นชมด้วยบทบาทแห่งการเป็นแบบอย่างแห่งความถูกต้องและการรักษามาตรฐานระดับสูงให้แก่พสกนิกร ทรงชื่นชมความสำเร็จของประเทศ และทรงปลอบประโลมเมื่อชาติต้องเผชิญกับวิกฤต และทรงอยู่เหนือการต่อสู้ทางการเมืองทั้งปวง

ตลอด 70 ปีที่ทรงครองราชย์ สมเด็จพระราชินีนาถฯ ทรงรับนานาแรงกระแทกจากรอบด้าน ซึ่งบ่อยครั้งที่แรงกดดันเหล่านั้นเป็นปัจจัยลบต่อความสง่างามและน่าเชื่อถือของสถาบันกษัตริย์อังกฤษ โดยทรงรับมือด้วยกลยุทธ์ใช้ความสงบสยมความเคลื่อนไหว และ Keep Calm and Carry On ทั้งนี้ เคลลี บีเวอร์ ซีอีโอบริษัทอิปโซสที่ทำสำรวจทัศนคติในอังกฤษชี้ว่า พระองค์ทรงขึ้นไปเหนือข่าวลือข่าวอื้อฉาวทั้งปวง และจึงทรงรักษาความนิยมมาได้ด้วยดีโดยตลอด 7 ทศวรรษ

เอพีรายงานข้อสังเกตของเอมิลี แนช บรรณาธิการข่าวสายราชวงศ์ของนิตยสารเฮลโล HELLO! ว่า “พระองค์ประทับอยู่ตรงนั้นเสมอ ทรงปฏิบัติสิ่งต่างๆ ที่ต้องดูแล ทรงดำเนินพระราชกรณียกิจโดยไม่ปริปากบ่น ไม่มีดรามาส่วนพระองค์หลุดออกมา และผู้คนก็เคารพคุณลักษณ์เหล่านี้ของพระองค์”

กระนั้นก็ตาม ทิว่า อาดีบาโย นักวิจารณ์คนดังแห่งสื่อสังคมเชื่อว่าคนหนุ่มสาวต้องการ “ความโปร่งใสมากขึ้น” โดยต้องการให้พระราชวงศ์มีความเคลื่อนไหวมากขึ้นกว่ากลยุทธ์ “ไม่บ่น ไม่อธิบาย” แบบเดิมๆ ซึ่งพระราชวงศ์รุ่นใหม่ที่จะทรงรับสืบทอดพระราชภารกิจในอนาคต อาทิ เจ้าชายวิลเลียม รัชทายาทลำดับที่ 2 และดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ ก็น่าจะเจริญรอยตามแนวปฏิบัติอันเป็นเลิศของเสด็จย่าสืบต่อไป เพราะกลยุทธ์ประการนี้พิสูจน์ผลดีมาอย่างเนิ่นนาน

โดย รัศมี มีเรื่องเล่า

(ที่มา: รอยเตอร์ เอพี บีบีซี ฐานข้อมูลรัฐสภาอังกฤษ)
กำลังโหลดความคิดเห็น