เด็กหญิงวัย 11 ปี ทบทวนให้เหล่า ส.ส.ฟัง ถึงเหตุการณ์ที่เธอต้องเอาเลือดของเพื่อนร่วมห้องที่เสียชีวิตมาป้ายตามตัวและแกล้งตายเพื่อเอาชีวิตรอด ระหว่างเหตุกราดยิงสังหารหมู่ 21 ศพในโรงเรียนประถมที่เทกซัสเมื่อปลายเดือนที่แล้วที่ทำให้อเมริกันชนช็อกทั่วประเทศ
มิอาห์ เซอร์ริลโล นักเรียนเกรด 4 ของโรงเรียนประถมศึกษาร็อบบ์ในเมืองยูวัลดี รัฐเทกซัส เล่าเหตุการณ์ตอนที่เพื่อน 19 คน และครู 2 คนถูกมือปืนวัยรุ่นกราดยิงเสียชีวิตเมื่อเดือนที่แล้วให้คณะกรรมาธิการกำกับตรวจสอบและปฏิรูปของสภาผู้แทนราษฎรฟังในวันพุธ (8 มิ.ย.)
เธอบอกว่า เธอและเพื่อนในห้องที่กำลังดูหนังกันอยู่ กรูกันไปหลบหลังโต๊ะครูและเป้สะพายหลัง ตอนที่มือปืนบุกเข้าไปในห้อง
“เขาบอกครูว่า ‘ราตรีสวัสดิ์’ แล้วยิงเข้าที่อกครู ก่อนยิงใส่เพื่อนของหนูบางคนและกระดานไวต์บอร์ด” มิอาห์เล่าสั้นๆ แต่สะเทือนใจในการให้สัมภาษณ์ที่บันทึกเสียงเอาไว้ล่วงหน้า
“ตอนที่หนูวิ่งไปที่เป้ เขายิงเพื่อนที่อยู่ติดกับหนู และหนูคิดว่า เขาจะกลับมาอีก หนูเลยเอาเลือดที่ตัวเพื่อนมาป้ายตัวเอง”
เธอเล่าว่า เธอพยายามอยู่นิ่งๆ และไม่ส่งเสียงใดๆ ออกมา ก่อนสบโอกาสคว้าโทรศัพท์มือถือของครูที่เสียชีวิตและแจ้ง 911
“หนูบอกว่า เราต้องการความช่วยเหลือ และต้องการให้ตำรวจมาที่ห้องเรียนของเรา”
ตำรวจในเมืองยูวัลดีกำลังถูกสอบสวนอย่างเคร่งเครียด หลังมีการเปิดเผยว่าตำรวจกว่า 10 นายรอกันอยู่หน้าประตูห้องเรียนของมิอาห์ โดยไม่ได้ช่วยเหลืออะไร ขณะที่เด็กในห้องเสียชีวิต หรือกำลังจะเสียชีวิต
“อยากให้โรงเรียนปลอดภัย หนูไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกแล้ว” มิอาห์ย้ำว่า กลัวมือปืนสังหารหมู่จะเข้าไปก่อเหตุในโรงเรียนของเธออีก
เรื่องราวของมิอาห์ ที่ทำให้ ส.ส.บางคนกลั้นน้ำตาไม่อยู่หรือเบิกตาค้างอย่างไม่เชื่อว่าเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นจริง ซึ่งยังคงทำให้เธอฝันร้ายและต้องรักษาแผลจากการถูกสะเก็ดกระสุนเจาะเข้าที่หลัง
“เธอไม่ใช่เด็กหญิงตัวเล็กๆ ที่ผมเคยเล่นด้วยอีกต่อไป” มิเกล เซอร์ริลโล พ่อของมิอาห์ กล่าวกับคณะกรรมาธิการ
การให้การของมิอาห์เกิดขึ้นขณะที่คองเกรสกำลังถูกกดดันให้จัดการกับเหตุการณ์รุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกราดยิงที่เกิดขึ้นทั่วอเมริกาครั้งแล้วครั้งเล่า
การสังหารหมู่ในโรงเรียนของมิอาห์ และที่ซูเปอร์มาร์เกตในเมืองบัฟฟาโล รัฐนิวยอร์กก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน ทำให้คนอเมริกันทั่วประเทศช็อกไปตามๆ กัน และจุดชนวนการเร่งเร้าให้ปฏิรูปกฎหมายควบคุมปืนอีกครั้ง
คณะกรรมาธิการชุดนี้ยังรับฟังการให้ปากคำของ รอย เกอร์เรโร กุมารแพทย์ที่ดูแลเหยื่อหลายคนในยูวัลดี ที่เล่าว่า “ผมเห็นเด็ก 2 คนที่ตัวกระจุยกระจายจากคมกระสุน
“สิ่งเดียวที่ระบุตัวตนของทั้งคู่คือเสื้อลายการ์ตูนเปื้อนเลือดที่ยังคงสวมอยู่บนร่าง”
อย่างไรก็ตาม แม้สมาชิกสภาบางคนปาดน้ำตาเช่นเดียวกับพวกพยานผู้เห็นเหตุการณ์ แต่การให้ปากคำครั้งนี้โดยภาพรวม ยังคงสะท้อนภาพเดิมๆ ของการถกเถียงอย่างดุเดือดเกี่ยวกับการควบคุมอาวุธปืนอย่างเข้มงวดแข็งขัน ที่ระอุขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกครั้งที่เกิดการสังหารหมู่
ส.ส.หลายคนของรีพับลิกันเบี่ยงเบนการสนทนาให้มุ่งสนใจไปที่ตัวบุคคลผู้ใช้อาวุธปืนไปในทางมิชอบ ตลอดจนเรื่องวิธีในการทำให้โรงเรียน “เข้มแข็งขึ้น” เพื่อช่วยปกป้องนักเรียน เช่น การมีอาสาสมัครที่ได้รับการฝึกฝนอย่างดี และเจ้าหน้าที่ติดอาวุธ
พ่อแม่เด็กที่เสียชีวิตและรอดชีวิตวิงวอนสมาชิกสภาอย่าปล่อยให้ลูกหลานของพวกเขาตายฟรี
หลังสิ้นสุดการรับฟังการให้การ สภาผู้แทนราษฎรที่ควบคุมโดยพรรคเดโมแครตได้ผ่านร่างกฎหมายเพิ่มเกณฑ์อายุที่สามารถซื้อปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติ และห้ามจำหน่ายตลับกระสุนที่มีกระสุนเกิน 10 นัด
อย่างไรก็ดี ร่างนี้แทบจะไม่มีโอกาสได้บังคับใช้เป็นกฎหมายเนื่องจากต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้ง 2 สภา ขณะที่ในวุฒิสภาตอนนี้หันไปเน้นการอภิปรายเพื่อปรับปรุงโครงการสุขภาพจิต ยกระดับการรักษาความปลอดภัยของโรงเรียน และการตรวจประวัติผู้ซื้ออาวุธปืนแทน
กระนั้น เห็นกันว่า ร่างกฎหมายของสภาล่างเป็นการเปิดทางให้ ส.ส.สังกัดพรรคเดโมแครตมีโอกาสขอคะแนนจากผู้มีสิทธิออกเสียงในการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งทางพรรคยืนหยัดชูนโยบายเรื่องนี้ที่ผลสำรวจชี้ว่าถูกใจผู้คนส่วนใหญ่
ทั้งนี้ คนอเมริกันวัยผู้ใหญ่ส่วนใหญ่คิดว่า การกราดยิงอาจเกิดขึ้นน้อยลงหากสามารถเข้าถึงปืนได้ยากขึ้น อีกทั้งลงความเห็นว่า โรงเรียนและสถานที่สาธารณะอื่นๆ ในปัจจุบันปลอดภัยน้อยกว่าเมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว
แคโรลีน มาโลนีย์ ประธานคณะกรรมาธิการกำกับตรวจสอบ ซึ่งเป็น ส.ส.พรรคเดโมแครต ปิดการรับฟังคำให้ปากคำคราวนี้โดยกล่าวกับครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้รอดชีวิตว่า คณะกรรมาธิการจะผลักดันเรื่องนี้ต่อไป โดยหลังเกิดเหตุที่ยูวัลดี คณะกรรมาธิการชุดนี้ได้เปิดการไต่สวนบริษัท 5 แห่งที่เป็นผู้ผลิตปืนกึ่งอัตโนมัติที่ถูกใช้ในเหตุกราดยิงช่วงที่ผ่านมา เพื่อหาคำตอบว่า เหตุใดบริษัทเหล่านั้นจึงยังขายอาวุธที่เป็นตัวเลือกของฆาตกรสังหารหมู่
(ที่มา : เอเอฟพี, เอพี)