xs
xsm
sm
md
lg

รัสเซียถล่มหนักที่มั่นยูเครนในดอนบาส สงครามครบ 100 วันมอสโกยึดดินแดนได้แล้ว 20%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กองกำลังรัสเซียถล่มฐานที่มั่นต่างๆ ของยูเครนในภูมิภาคดอนบาสในวันพฤหัสบดี (2 มิ.ย.) ในขณะที่เคียฟยอมรับว่ามอสโกควบคุมดินแดนของยูเครนได้ราวๆ 20% ก่อนหน้าที่สงครามจะครบ 100 วัน

ทหารของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เล็งเป้ายึดครองภาคตะวันออกของยูเครน นับตั้งแต่ถูกตีโต้ล่าถอยจากกรุงเคียฟในช่วงปลายเดือนมีนาคม หลังเปิดฉากรุกรานประเทศเพื่อนบ้านในวันที่ 24 กุมภาพันธ์

แม้รุกคืบได้ล่าช้ากว่าที่มอสโกคาดหมายไว้ กองกำลังรัสเซียสามารถขยายการควบคุมเกินกว่าพื้นที่ 43,000 ตารางกิโลเมตร ครั้งที่รัสเซียยึดไครเมียและหลายพื้นที่ของภูมิภาคดอนบาสในปี 2014

"วันนี้ พื้นที่ของเราราว 20% อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้รุกราน" ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครนกล่าวปราศรัยกับรัฐสภาลักเซมเบิร์ก

นับตั้งแต่สงครามเริ่มต้นขึ้น มีประชาชนเสียชีวิตไปแล้วหลายพันคนและอีกหลายล้านคนต้องอพยพหลบหนี และเวลานี้ทางตะวันออกของยูเครนกำลังเผชิญการจู่โจมของรัสเซียอย่างหนัก ซึ่งทาง เซเลนสกี ระบุว่าสังหารทหารยูเครนสูงสุดถึง 100 นายในแต่ละวัน

ตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ ระดมอาวุธและเสบียงทางทหารป้อนแก่ยูเครน ช่วยให้พวกเขาอยู่รอดจากการโจมตีจนถึงตอนนี้ อย่างไรก็ตาม เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต้เตือนในวันพฤหัสบดี (2 มิ.ย.) หลังจากพูดคุยกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ว่าพันธมิตรของยูเครนจำเป็นต้องเตรียมพร้อมสำหรับสงครามพร่ากำลัง (WAR OF ATTRITION) กล่าวคือ ก่อการร้ายเชิงรุกทางยุทธวิธีไปเรื่อยๆ ฆ่าฟันทำร้ายเจ้าหน้าที่ชาวบ้านไปเรื่อยๆ

"เราจำเป็นต้องเตรียมพร้อมสำหรับสงครามที่ยาวนาน" สโตลเทนเบิร์ก กล่าว แต่เน้นย้ำว่านาโต้ไม่ต้องการเผชิญหน้าโดยตรงกับรัสเซีย

ในทางภาคพื้นมีการต่อสู้บนท้องถนนอย่างดุเดือดในศูนย์กลางอุตสาหกรรมของเมืองซีวีโรโดเนตสก์ ในแคว้นลูฮันสก์ ส่วนหนึ่งของภูมิภาคดอนบาส

เมืองยุทธศาสตร์แห่งนี้คือเป้าหมายหลักของมอสโก ซึ่งควบคุมพื้นที่ของเมืองแห่งนี้ได้แล้ว 80% แต่ทาง เซอร์กีย์ เกเดย์ ผู้ว่าการแคว้นลูฮันสก์ ประกาศว่ากองกำลังยูเครนจะสู้จนหยดสุดท้าย

โรงงานอาซอตของซีวีโรโดเนตสก์ หนึ่งในโรงงานเคมีใหญ่ที่สุดของยุโรป ตกเป็นเป้าหมายของทหารรัสเซีย ซึ่งยิงถล่มหนึ่งในอาคารบริหารของโรงงานแห่งนี้ และคลังสินค้าที่ใช้จัดเก็บเมทานอล

เกเดย์ ระบุว่า ทหารยูเครนยังคงหลบซ่อนอยู่ในเขตอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง สถานการณ์ที่ย้อนให้นึกถึงในมาริอูโปล เมืองที่โรงงานถลุงเหล็กขนาดใหญ่ถูกใช้เป็นป้อมปราการสุดท้ายของทหารยูเครน ก่อนท้ายที่สุดจะยอมจำนนในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม

บริดเจ็ต บริงค์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงเคียฟ ให้สัญญาในวันพฤหัสบดี (2 มิ.ย.) ว่าอเมริกาจจะช่วยยูเครนมีชัยเหนือการรุกรานของรัสเซีย หลังยื่นสาสน์ตราตั้งทูตของเธอต่อเซเลนสกี

ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ สหรัฐฯ แถลงกำลังส่งอาวุธล้ำสมัยแก่ยูเครนเพิ่มเติม ในนั้นรวมถึงระบบจรวดหลายลำกล้อง Himar ที่สามารถยิงกระสุนนำวิถีอย่างแม่นยำหลายลูกพร้อมๆกัน และมีพิสัยโจมตีสูงสุด 80 กิโลเมตร

ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกเครมลินแถลงเมื่อวันพุธ (1 มิ.ย.) กล่าวหาอเมริกาเติมเชื้อไฟให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้าย หลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศจัดส่งแพกเกจอาวุธใหม่มูลค่า 700 ล้านดอลลาร์ให้เคียฟ ซึ่งจะรวมถึงระบบจรวดล้ำสมัย HIMARS ที่มีพิสัยการโจมตีถึง 80 กิโลเมตรและเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งเครื่องกระสุน เรดาร์สำหรับการสอดแนมทางอากาศ ขีปนาวุธต่อสู้รถถังชนิดประทับบ่ายิงแบบ “เจฟลิน” และอาวุธต่อสู้ยานยนต์หุ้มเกราะ

นอกเหนือจากส่งอาวุธให้ยูเครนแล้ว พันธมิตรตะวันตกยังหาทางบีบรัดสายเลี้ยงชีพทางการเงินของรัสเซีย ในความพยายามกดดันประธานาธิบดีปูตินเปลี่ยนเส้นทาง

ในการยกระดับคว่ำบาตร สหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำผู้จัดการการเงินของปูติน และบริษัทโมนาโกแห่งหนึ่ง ที่มอบเรือยอชต์หรูแก่บรรดานักธุรกิจและนักการเมืองทรงอิทธิพลของรัสเซีย ส่วนอียูเห็นพ้องมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ ที่จะระงับการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย 90% ในช่วงปลายปี

รัสเซียเตือนว่าบรรดาผู้บริโภคยุโรปจะเป็นลำดับต้นๆ ที่ต้องเป็นผู้ชดใช้จากมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันของอียู อย่างไรก็ตาม ในความเบาใจอยู่บ้างในมุมมองที่มีต่อตลาดน้ำมัน หลังบรรดาผู้ผลิตทั้งหลาย ในนั้นรวมถึงซาอุดีอาระเบียเห็นพ้องเพิ่มกำลังผลิต 648,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนกรกฎาคม เพิ่มจากระดับ 432,000 บาร์เรลต่อวัน

สงครามทุบทำลายเศรษฐกิจของยูเครน บีบให้ธนาคารกลางของประเทศต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเท่าตัวในวันพฤหัสบดี (2 มิ.ย.) เพื่อพยุงค่าเงินฮริฟเนีย นอกจากนี้แล้วสงครามยังก่อผลกระทบในวงกว้างเช่นกัน ในนั้นรวมถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจโหมกระพือวิกฤตอาหารโลก

ยูเครน หนึ่งในผู้ผลิตหลักของโลก มีความเป็นไปได้ว่าจะส่งออกข้าวสาลีได้เพียงครึ่งหนึ่งจากที่เคยส่งออกในฤดูกาลก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกัน ความขัดแย้งยังผลักให้ราคาสินค้าต่างๆ พุ่งสูงขึ้น ไล่ตั้งแต่ซีเรียล น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน ไปจนถึงข้าวโพด

(ที่มา : เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น