โลกที่แตกออกเป็นหลายขั้ว ซึ่งกำลังปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เวลานี้ต้องครอบคลุมถึงตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศด้วยแล้ว เมื่อทั้งจีนและรัสเซีย 2 ชาติผู้ท้าทายความยิ่งใหญ่ของสหรัฐฯรายสำคัญ เพิ่มระดับการค้าขายโดยตรงระหว่างสกุลเงินของพวกเขามากยิ่งขึ้นทุกที
มูลค่ารายเดือนของการแลกเปลี่ยนกันระหว่างรูเบิลกับหยวน เพิ่มขึ้นถึง 1,067% สู่ระดับเกือบๆ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับตั้งแต่สงครามในยูเครนเริ่มต้นขึ้น ขณะที่ทั้ง 2 ประเทศลดพึ่งพิงดอลลาร์ และเพิ่มการค้าทวิภาคี เพื่อเอาชนะมาตรการคว่ำบาตรของอเมริกาทั้งในปัจจุบันและที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ทั้งนี้ การแลกเปลี่ยนเพิ่มสูงขึ้นระหว่างรูเบิล-หยวน เกิดขึ้นในเวลาเดียวกับที่รูเบิลแข็งค่าสูงสุดในรอบ 5 ปี เมื่อเทียบกับเงินหยวน
ข้อมูลเช่นนี้เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่ารัสเซียกำลังหันหน้าสู่สินค้าของจีนเพิ่มมากขึ้น เพื่อทดแทนการนำเข้าจากตะวันตกที่หยุดชะงักและแบรนด์ดังข้ามชาติที่หายไปจากชั้นวางสินค้า สำหรับในส่วนของจีน มันเป็นตัวเสริมล่าสุดสำหรับกระบวนการไปสู่ความเป็นสากลของสกุลเงินหยวน ในการแลกเปลี่ยนทางการค้าระหว่างประเทศ ในจังหวะเวลาที่ความตึงเครียดกับสหรัฐฯซึ่งหนักหน่วงขึ้นเรื่อย ๆ กำลังเป็นตัวชะลอกระบวนการนี้
"พวกผู้เล่นหลักๆในตลาดหยวน-รูเบิล คือบริษัทและธนาคารต่างๆ แต่ก็มีความสนใจเพิ่มมากขึ้นเช่นกันจากพวกนักลงทุนรายย่อย" ยูริ โปปอฟ นักยุทธศาสตร์ด้านเงินตราและอัตราดอกเบี้ยของ สเบอร์แบงก์ ของรัสเซีย กล่าว "ปริมาณการค้าในตลาดซื้อขายทันที (Spot market) ของตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรามอสโกเพิ่มสูงขึ้นมาก นี่สืบเนื่องจากมาตรการแซงก์ชั่นรัสเซีย เช่นเดียวกับจากความตั้งใจของรัสเซียและจีนในการสนับสนุนใช้สกุลเงินของประเทศในการค้าทวิภาคี"
ตามการคำนวณของบลูมเบิร์ก ในช่วงเดือนพฤษภาคมนับจนถึงช่วงปลายๆ เดือน มีเงินหยวนประมาณ 25,910 ล้านหยวน (3,900 ล้านดอลลาร์) ถูกแลกเปลี่ยนเป็นรูเบิลในตลาดซื้อขายทันทีของมอสโก ปริมาณสูงขึ้นเกือบๆ 12 เท่าตัวทีเดียวจากเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นเดือนที่รัสเซียเข้ารุกรานยูเครน
สตีเฟน ชิว นักยุทธศาสตร์จากบลูมเบิร์ก อินเทลลิเจนซ์ ในฮ่องกง ให้ความเห็นว่า การแลกเปลี่ยนระหว่างหยวนและรูเบิล ทำท่าจะเพิ่มสูงขึ้นอยู่แล้วตามกระบวนการที่เงินหยวนก้าวสู่การเป็นสกุลเงินโลก และสงครามยูเครนเพียงเป็นตัวช่วยเร่งรัดเรื่องนี้ เขากล่าวด้วยว่า รัสเซียจะซื้อขายด้วยสกุลเงินหยวนมากขึ้นและถือครองหยวนเป็นเงินสำรองต่างประเทศมากขึ้น
ตามความเห็นของ ชิว จากการที่จีนเตรียมเปิดประตูมากขึ้นอีก หลังจากปิดล็อกดาวน์บางส่วนเพราะโควิด-19 ขณะที่อุปสงค์น้ำมันของแดนมังกรก็น่าจะกลับมาสูงขึ้นอย่างช้าๆ ดังนั้นรัสเซียจึงสามารถมองหาอุปสงค์จากจีน มาชดเชยความเป็นไปได้ที่จะถูกยุโรปแบน และก็จะยิ่งผลักดันให้มีการใช้หยวน-รูเบิลมากขึ้นไปอีก
แต่ในอีกด้านหนึ่ง ปริมาณการแลกเปลี่ยนระหว่างดอลลาร์กับรูเบิล ไหลรูดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 1 ทศวรรษ ทั้งนี้เมื่อคำนวณโดยอิงกับความเคลื่อนไหวโดยเฉลี่ยในรอบ 20 วัน เวลาเดียวกับที่ในช่วงต้นเดือนมีนาคมจนถึงปลายเดือนพฤษภาคมนั้น เงินรูเบิลแข็งค่าขึ้นถึง 118% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ ถึงแม้พวกเทรดเดอร์ส่วนใหญ่พากันหลีกหนีการแลกเปลี่ยนสกุลเงินคู่นี้ ขณะที่รัสเซียประกาศใช้มาตรการควบคุมเงินทุนและบังคับขายดอลลาร์ ซึ่งทำให้ตลาดอยู่ในสภาพไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างปกติ
เมื่อมองกันในระดับโลกแล้ว ความพยายามของรัสเซียและจีนในการหาทางทำธุรกรรมโดยไม่ใช้ดอลลาร์เช่นนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ลดความเสี่ยงซึ่งกำลังได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่พวกประเทศตลาดเกิดใหม่จำนวนมาก
เป็นต้นว่า ซาดีอาระเบียมีแผนกำหนดราคาน้ำมันในสัญญาบางส่วนเป็นสกุลเงินหยวน ส่วนอินเดียกำลังสำรวจโครงสร้างการชำระเงินแบบใช้รูปี-รูเบิล ด้านธนาคารกลางของประเทศจำนวนมากทั่วโลก ก็กำลังกระจายทุนสำรองของตนให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น ฉุดให้สัดส่วนการถือครองดอลลาร์ลดลงเหลือ 59% ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2020 ต่ำที่สุดในรอบ 25 ปี ตามข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)
มาตรการแซงก์ชั่นที่ตะวันตกและพันธมิตรนำมาเล่นงานรัสเซียต่อกรณีรุกรานยูเครน เน้นย้ำให้จีนเห็นถึงจุดอ่อนเปราะของตนเองจากความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ โดยความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ใดๆ ระหว่างทั้ง 2 ชาติ อาจทำให้เศรษฐกิจจีนถูกโดดเดี่ยวจากระบบการเงินโลกที่ดอลลาร์ครองอิทธิพล ขณะเดียวกัน มันก็อาจผลักประเทศอื่นๆ และนักลงทุนต่างชาติลดทอนการถือครองเงินหยวน
สำหรับรัสเซียแล้ว จุดประสงค์คือความอยู่รอดในเฉพาะหน้านี้ เวลานี้แดนหมีขาวต้องพึ่งพาจีนยิ่งกว่าสหรัฐฯนักหนาในการประคับประคองให้การค้าของตนยังคงไหลเวียนต่อไป โดยรัสเซียนำเข้าสินค้าจากจีน คิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของการนำเข้าทั้งหมด ขณะการนำเข้าจากสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 11%
"รัสเซียมีอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศที่อ่อนแออย่างมาก ดังนั้นเมื่อเจอมาตรการคว่ำบาตร จึงหมายความว่ารัสเซียจำเป็นต้องพึ่งพิงจีนมากกว่าเดิม ทั้งสำหรับเรื่องเครื่องจักรและสินค้าอุปโภคบริโภค" แอลวิน ตัน หัวหน้านักยุทธศาสตร์สกุลเงินเอเชียของสถาบันอาร์บีซี แคปิตอล มาร์เก็ต ในสิงคโปร์ กล่าว "ขณะเดียวกัน พวกผู้ซื้อจีนก็กำลังถูกล่อใจจากราคาที่ลดลงมาของพวกสินค้าโภคภัณฑ์ส่งออกของรัสเซีย"
แต่ถึงมีการปรับเปลี่ยนดังที่กล่าวมาในช่วงหลังๆ นี้ เงินดอลลาร์ก็ยังคงเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของโลก และเป็นคู่แลกเปลี่ยนหลักสำหรับสกุลเงินส่วนใหญ่ ในนั้นรวมถึงรูเบิลด้วย
อย่างไรก็ตาม ในรายงานเสถียรภาพทางการเงินรายครึ่งปี ธนาคารกลางรัสเซียยืนยันว่าสัดส่วนของหยวนในตลาดเงินตราของรัสเซีย กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ "แนวโน้มหลักของตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของรัสเซียในอนาคตอันใกล้นี้ จะเป็นการที่บทบาทของดอลลาร์สหรัฐฯและเงินยูโร ลดต่ำลงในทุกแง่มุมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางบทบาทที่เพิ่มขึ้นของพวกสกุลเงินบรรดาประเทศที่เป็นมิตรและของรูเบิล"
สำหรับจีนนั้น ส่วนแบ่งของเงินหยวนในธุรกรรมระหว่างประเทศยังถือว่ามีปริมาณเพียงน้อยนิด รวมทั้งยังลดต่ำลงด้วยซ้ำนับแต่สงครามยูเครนเริ่มต้นขึ้นมา
“พวกธนาคารกลางรายใหญ่ๆ อาจมีความลังเลมากขึ้นที่จะถือครองเงินหยวนเอาไว้ สืบเนื่องจากมีความเสี่ยงที่อาจจะเจอการแซงก์ชั่นของฝ่ายตะวันตก และอาจทำให้จีนต้องตอบโต้ด้วยการหันมาใช้มาตรการควบคุมเงินทุนเอากับชาวต่างประเทศอีก” จีน ฟรีดา นักยุทธศาสตร์แห่งบริษัทบริหารจัดการการลงทุน แปซิฟิก อินเวสต์เมนต์ แมเนจเมนต์ (พิมโก) เขียนเอาไว้ในรายงานสั้นส่งถึงลูกค้าเมื่อเดือนที่แล้ว แต่เขามองว่า “เงินหยวนยังควรที่จะสามารถดึงดูดให้พวกประเทศรายเล็กๆ ที่จีนมีอิทธิพลครอบงำในฐานะคู่ค้า นำไปใช้หมุนเวียนเป็นทุนสำรองต่อไปอีก”
(ที่มา: บลูมเบิร์ก)